มองใหม่เรื่องเพศสภาพ
พวกเราส่วนใหญ่เรียนในชั้นเรียนชีววิทยามัธยมปลายว่า โครโมโซมเพศเป็นตัวตัดสินเพศของทารก กล่าวคือโครโมโซมเอกซ์เอกซ์ (XX) หมายถึงเด็กผู้หญิง ส่วนโครโมโซมเอกซ์วาย (XY) หมายถึงเด็กผู้ชาย แต่ในบางครั้งโครโมโซมก็ไม่ได้บอกทุกอย่าง
ปัจจุบัน เรารู้ว่าองค์ประกอบต่างๆที่ใช้พิจารณาความเป็น “เพศชาย” และ “เพศหญิง” นั้นไม่ได้ตรงไปตรงมา อย่างที่คิด ไม่จำเป็นว่าคนที่มีโครโมโซมเอกซ์เอกซ์จะต้องมีทั้งรังไข่ ช่องคลอด เอสโทรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) อัตลักษณ์ทางเพศหญิง และพฤติกรรมของเพศหญิงเสมอไป หรือคนที่มีโครโมโซมเอกซ์วายจะต้องมีทั้งอัณฑะ องคชาต เทสโทสเตอโรน (ฮอร์โมนเพศชาย) อัตลักษณ์ทางเพศชาย และพฤติกรรมของเพศชายเสมอไป มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ที่มีโครโมโซมเอกซ์เอกซ์อาจมีลักษณะของเพศชายในเชิงกายวิภาค สรีรวิทยา และจิตวิทยา เช่นเดียวกับผู้ที่มีโครโมโซมเอกซ์วายอาจมีลักษณะของเพศหญิง
เอ็มบริโอแต่ละตัวจะเริ่มต้นจากอวัยวะพื้นฐานเป็นคู่ๆที่เรียกว่า โพรโท-โกแนด (proto-gonad) ซึ่งจะเจริญไปเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศชายหรือเพศหญิงภายหลังตั้งครรภ์ได้หกถึงแปดสัปดาห์ ตามปกติการเปลี่ยนแปลงทางเพศถูกกำหนดโดยยีนบนโครโมโซมวายที่มีชื่อว่ายีน เอสอาร์วาย (SRY) ซึ่งทำให้โพรโท-โกแนดเปลี่ยนเป็นอัณฑะ จากนั้นอัณฑะจะหลั่งฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและฮอร์โมนเพศชายอื่นๆ (เรียกรวมๆว่า แอนโดรเจน) ทำให้ทารกในครรภ์พัฒนาต่อมลูกหมาก ถุงอัณฑะ และองคชาต หากไม่มียีน เอสอาร์วาย โพรโท-โกแนดจะกลายเป็นรังไข่และหลั่งฮอร์โมนเอสโทรเจน ทารกในครรภ์จะสร้างอวัยวะเพศหญิง (เช่น มดลูก ช่องคลอด และคลิตอริสหรือปุ่มกระสัน)
แต่การทำงานของยีน เอสอาร์วาย ไม่ได้ตรงไปตรงมาเช่นนั้นเสมอ ยีนนี้อาจขาดหายไปหรือทำงานผิดปกติ ทำให้เอ็มบริโอที่มีโครโมโซมเอกซ์วายไม่สามารถพัฒนาลักษณะทางกายวิภาคของเพศชายได้ และถูกระบุตั้งแต่เกิดว่าเป็นเด็กผู้หญิง หรือความผิดปกติอาจเกิดขึ้นในโครโมโซมเอกซ์ ทำให้เอ็มบริโอที่มีโครโมโซมเอกซ์เอกซ์พัฒนาลักษณะทางกายวิภาคของเพศชายและถูกระบุตั้งแต่เกิดว่าเป็นเด็กผู้ชาย
การแปรผันทางพันธุกรรมอาจเกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับยีน เอสอาร์วาย ก็ได้ อย่างเช่นกลุ่มอาการไม่ตอบสนองต่อแอนโดรเจนอย่างสมบูรณ์หรือซีเอไอเอส (complete androgen insensitivity syndrome: CAIS) ซึ่งเซลล์ของเอ็มบริโอที่มีโครโมโซมเอกซ์วายตอบสนองต่อสัญญาณฮอร์โมนเพศชายได้เพียงเล็กน้อย แม้ว่าโพรโท-โกแนดยังคงเปลี่ยนแปลงไปเป็นอัณฑะ และทารกในครรภ์สร้างแอนโดรเจนได้ แต่ไม่มีการพัฒนาอวัยวะเพศชายเกิดขึ้น ทารกจะดูเหมือนเพศหญิงคือมีทั้งคลิตอริสและช่องคลอด และส่วนใหญ่จะเติบโตโดยมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นหญิง
เพศสภาพเป็นการผสมผสานขององค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งโครโมโซม (เอกซ์และวาย) กายวิภาค (อวัยวะเพศภายในและภายนอก) ฮอร์โมน (ระดับของเทสโทสเตอโรนและเอสโทรเจน) จิตวิทยา (อัตลักษณ์ทางเพศที่ตนเป็นผู้กำหนด) และวัฒนธรรม (พฤติกรรมทางเพศที่สังคมเป็นผู้กำหนด) และบางครั้งผู้ที่เกิดมาพร้อมกับโครโมโซมและอวัยวะเพศของเพศหนึ่งก็ตระหนักว่า พวกเขาเป็นคนข้ามเพศซึ่งหมายความว่า พวกเขามีอัตลักษณ์ทางเพศภายในที่เป็นไปในทางเพศตรงข้าม หรือแม้แต่ไม่ตรงกับเพศใด
ในทางชีววิทยา นักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่า การเป็นคนข้ามเพศอาจย้อนรอยกลับไปถึงช่องว่างในพัฒนาการของทารกในครรภ์ “การเปลี่ยนแปลงทางเพศของอวัยวะเพศเกิดขึ้นในช่วงสองเดือนแรกของการตั้งครรภ์” ดิ๊ก สวาบ นักวิจัยจากสถาบันประสาทวิทยาศาสตร์เนเธอร์แลนด์ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เขียนไว้ “ขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางเพศของสมองเริ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์” ดังนั้นอวัยวะเพศและสมองจึงได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมที่ต่างกันทั้งในเรื่อง “ฮอร์โมน สารอาหาร ยา และสารเคมีอื่นๆ” ในช่วงเวลาที่ห่างกันหลายสัปดาห์ในครรภ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเพศ
นี่ไม่ได้หมายความว่ามีสมองของ “ชาย” และ “หญิง” อย่างชัดเจน แต่อย่างน้อยก็มีลักษณะบางอย่าง เช่น ความหนาแน่นของส่วนเนื้อสีเทาของสมอง หรือขนาดของไฮโปทาลามัสที่มีแนวโน้มแตกต่างกันในระหว่างเพศ และปรากฏว่าคนข้ามเพศมีสมองที่ดูจะใกล้เคียงกับสมองของเพศที่พวกเขาระบุด้วยตัวเองในภายหลังมากกว่าเพศกำเนิด (หรือเพศที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด)
มีบางสิ่งที่ต้องพูดเกี่ยวกับการแบ่งเป็นสองเพศ (binary) เราอาจกล่าวได้อย่างค่อนข้างแน่นอนว่า คนส่วนใหญ่ หรือมากกว่าร้อยละ 99 จัดตนเองไว้ตรงปลายของเพศใดเพศหนึ่ง การเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งเป็นสองเพศทำให้การใช้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น ทั้งการซื้อเสื้อผ้า เข้าทีมกีฬา และทำหนังสือเดินทาง แต่ผู้คนในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว กำลังตั้งคำถามไม่เพียงต่อเพศสภาพที่พวกเขาถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิด แต่ยังรวมถึงการแบ่งเป็นสองเพศด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ การสำรวจคนยุคสหัสวรรษซึ่งมีอายุระหว่าง 18 ถึง 34 ปีจำนวนหนึ่งพันคนพบว่า ครึ่งหนึ่งของพวกเขาคิดว่า “เพศสภาพเป็นเหมือนสเปกตรัมหรือแถบสีระหว่างสองขั้ว และบางคนก็อยู่นอกกรอบหรือการจำแนกเพศสภาพแบบเดิมๆ” และมีจำนวนไม่น้อยทีเดียวในครึ่งหนึ่งเหล่านั้นมองตัวเองว่าเป็นพวกไม่แบ่งเป็นสองเพศ [nonbinary – ไม่ระบุหรือถูกตีกรอบว่าเป็น “ชาย” หรือ “หญิง”] ย้อนหลังไปเมื่อปี 2012 องค์กรฮิวแมนไรต์สแคมเปญ (Human Rights Campaign) ทำการสำรวจหญิงรักร่วมเพศ ชายรักร่วมเพศ ผู้รักร่วมสองเพศ และคนข้ามเพศ อายุระหว่าง 13 ถึง 17 ปี จำนวน 10,000 คน พบว่า ร้อยละหกระบุว่าตนเองเป็น “เพศที่เลื่อนไหลไปมา” (genderfluid) “ทั้งสองเพศรวมกัน” (androgynous) หรือคำอื่นๆที่อยู่นอกช่องของเพศชายและเพศหญิง
เรื่อง โรบิน มาแรนตซ์ เฮนิก
ภาพถ่าย ลินน์ จอห์นสัน
อ่านเพิ่มเติม