เจน กูดดอลล์ กับภารกิจส่งต่อความหวังสู่คนรุ่นใหม่
เจน กูดดอลล์ นักอนุรักษ์ผู้สร้างแรงบันดาลใจ ให้สัมภาษณ์ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ในโอกาสที่เดินทางมาประเทศไทย เพื่อเป็นองค์ปาฐกในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลก หรือวาซา (World Association of Zoos and Aquarium: WAZA) โดยมีองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นเจ้าภาพ
สัมภาษณ์และเรียบเรียง โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ
NGThai: คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า คุณเดินทางไปแอฟริกาในฐานะนักวิทยาศาสตร์ แต่คุณออกจากแอฟริกาในฐานะนักรณรงค์เคลื่อนไหว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
เจน กูดดอลล์: ตอนอายุ 10 ขวบ ฉันตัดสินใจว่าโตขึ้นจะต้องไปแอฟริกาและใช้ชีวิตอยู่กับสัตว์ป่าที่ฉันอ่านพบในหนังสือ ซึ่งต้องพูดว่าเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเรา ครอบครัวเราไม่มีเงินมากขนาดนั้น แอฟริกาอยู่ไกลเหลือเกิน และสงครามโลกครั้งที่สองก็กำลังลุกลาม ใครๆ บอกฉันว่า ‘เจน ทำไมไม่ฝันในสิ่งที่เอื้อมถึง’ แต่ไม่ใช่สำหรับแม่ แม่บอกฉันว่า ‘ถ้าลูกต้องการอะไรอย่างแรงกล้า ก็ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากโอกาสทั้งหมดที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และทำงานหนักเพื่อสิ่งนั้น อย่ายอมแพ้’ แล้วโอกาสนั้นก็มาถึง เมื่อเพื่อนคนหนึ่งโรงเรียนชวนฉันไปเที่ยวเคนยา ที่นั่นฉันได้พบกับ ดร.หลุยส์ ลีคีย์ [นักบรรพมานุษยวิทยาผู้โด่งดัง] แม้ว่าฉันไม่เคยเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ลีคีย์อยากได้คนที่จิตใจไม่ถูกครอบงำจากสิ่งที่เขามองว่าเป็นการมองโลกแบบแยกส่วนของวิทยาศาสตร์ เขาคิดว่าผู้หญิงอาจเป็นคนเฝ้าสังเกตที่ดีกว่าผู้ชาย ฉันโชคดีมากที่เขาเสนอโอกาสให้ไปใช้ชีวิตไม่ใช่กับสัตว์อะไรก็ได้ แต่เป็นสัตว์ที่มีอะไรคล้ายกับเรามากที่สุด พอฉันไปที่กอมเบ [อุทยานแห่งชาติกอบเบ] ในปี 1960 ฉันใช้ทักษะที่ได้จากการเฝ้าสังเกตสัตว์มาตลอดชีวิต จากนั้น ดร.ลีคีย์ก็หาทางให้ฉันไปทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษ ซึ่งต้องบอกว่าน่าเบื่อและก็มีประโยชน์ ทั้งๆที่ฉันไม่มีปริญญาตรีด้วยซ้ำ จากนั้นฉันก็กลับไปที่กอมเบ ใช้เวลาช่วงที่ดีที่สุดในชีวิต ฉันสร้างสถานีวิจัยขึ้นที่นั่น ฉันใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงอยู่กลางป่า ไม่ว่าจะมีชิมแปนซีอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม ได้เข้าใจถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของสรรพสิ่ง และความสำคัญของแต่ละชนิดพันธุ์ไม่ว่าจะเล็กแค่ไหน
“ฟลินต์” เป็นลูกชิมแปนซีตัวแรกที่เกิดในกอมเบหลังเจนเดินทางมาถึง ฟลินต์ช่วยให้เจนสามารถศึกษาพัฒนาการของชิมแปนซีและได้สัมผัสกันทางกายภาพ ซึ่งปัจจุุบันถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับชิมแปนซีในธรรมชาติ (ภาพถ่าย: ฮูโก ฟาน ลาวิก)
จากนั้น เราจัดการประชุมขึ้นครั้งหนึ่งโดยเชิญนักวิจัย ซึ่งจนถึงขณะนั้นศึกษาชิมแปนซีในพื้นที่ต่างๆ กันถึงเจ็ดแห่งของแอฟริกา หลักๆก็เพื่อดูว่ามีความแตกต่างอะไรในเชิงพฤติกรรม เรายังมีหัวข้อที่ว่าด้วยการอนุรักษ์ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ภายในสถานเพาะเลี้ยงซึ่งรวมถึงการนำไปใช้เพื่องานวิจัยทางการแพทย์ เราพบว่าหลายเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่ง ทั้งป่าไม้หดหาย ประชากรชิมแปนซีลดลงจากการถูกล่าเพื่อเอาเนื้อไปบริโภค เรายังเห็นฟุตเทจที่แอบถ่ายจากห้องปฏิบัติการวิจัยทางการแพทย์ ญาติใกล้ชิดที่สุดของเราใช้ชีวิตอยู่ในกรงขนาด 5×5 ฟุต บางตัวอยู่ในนั้นมานาน 20-30 ปี ฉันไม่อาจข่มตาหลับได้ ตอนที่ไปร่วมการประชุมครั้งนั้น ฉันจบปริญญาเอกแล้ว มีสถานีวิจัยของตัวเอง ฉันมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ฉันออกจากแอฟริกาในฐานะนักรณรงค์ นับจากนั้นเป็นต้นมา ฉันก็แทบไม่ได้อยู่ที่ไหนนานเกินสามสัปดาห์ติดต่อกัน ไม่ใช่เรื่องของการตัดสินใจ ฉันแค่รู้สึกว่าต้องพยายามทำอะไรสักอย่าง
NGThai: โลกทุกวันนี้รุมเร้าไปด้วยปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆ ถ้าเลือกได้เพียงข้อเดียว คุณจะเลือกจัดการกับปัญหาอะไร
เจน กูดดอลล์: จริงอยู่ที่ว่าโลกทุกวันนี้มีปัญหามากมาย แต่ฉันขอพูดตามตรงว่า ถ้าคุณเลือกแก้ปัญหาเดียว โดยไม่คำนึงถึงองค์รวมทั้งหมด ฉันคิดว่าเปล่าประโยชน์ ถ้ามีคนถามว่า ฉันจะเลือกแก้ปัญหาอะไร ฉันจะบอกว่า แก้ปัญหาอะไรก็ได้ตราบใดที่คุณทำได้ด้วยตัวเอง ไม่เพียงเท่านั้น คุณต้องสร้างเครือข่ายหรือความร่วมมือกับคนอื่น เพื่อที่ว่าคุณและคนอื่นๆ จะสามารถจัดการกับแง่มุมต่างๆ ของปัญหาหรือภาพรวม จะว่าไปก็เหมือนป่าดิบชื้น ทุกสิ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหมด ฉันนึกถึงตอนที่นั่งเครื่องบินอยู่เหนืออุทยานแห่งชาติกอมเบในช่วงทศวรรษ 1990 ฉันตกใจมากกับภาพที่เห็น เราเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ของป่าไม้ ล้อมรอบไปด้วยภูเขาหัวโล้น มีผู้คนมากมายเกินกว่าที่ผืนดินจะหล่อเลี้ยง และยากจนเกินกว่าจะหาซื้ออาหารจากที่อื่น สิ่งที่พวกเขาทำได้คือต้องตัดต้นไม้เพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัวด้วยการเผาถ่าน นั่นคือจุดที่กระทบใจฉันมาก เพราะตราบใดที่เราไม่สามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนที่นั่นได้ ไม่สามารถให้ทางเลือกอื่นแก่พวกเขาเพื่อให้อยู่ได้โดยไม่ต้องตัดต้นไม้ เรื่องจะช่วยชิมแปนซียิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย ดังนั้นสถาบันเจน กูดอลล์ (Jane Goodall Institute) จึงดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน ดึงเข้ามาเป็นพันธมิตรในการอนุรักษ์ ช่วยสอดส่องดูแลป่า รายงานการพบเห็นชิมแปนซี เป็นต้น
NG: เด็กๆ ในยุค 80 ปีก่อนเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับเด็กๆ ในปัจจุบัน เราจะเลี้ยงดูเด็กๆ ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความอ่อนโยน เมตตาต่อผู้คนรอบข้างและชีวิตอื่นๆ อย่างไร
เจน กูดดอลล์: สมัยฉันเป็นเด็ก เราไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีคอมพิวเตอร์ เราเล่นสนุกกันนอกบ้าน สนามเด็กเล่นสำหรับฉันคือธรรมชาติ ได้เฝ้าดูสัตว์ ดูนก เห็นแม่นกกกไข่จนลูกฟักเป็นตัว เก็บหนอนผีเสื้อมาเลี้ยงจนกลายเป็นดักแด้และผีเสื้อ สิ่งเหล่านี้สำหรับฉันช่างมีมนตร์สะกด ฉันปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนต้นไม้ดูนกได้เป็นชั่วโมงๆ ทุกวันนี้ คุณมองไปรอบตัว เห็นเด็กๆ ส่งข้อความหากัน เด็กมากมายไม่มีโอกาสได้อยู่กับธรรมชาติ ทั้งๆที่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่า การได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมีผลต่อพัฒนาการด้านจิตใจของเด็ก ฉันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องช่วยเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมืองให้มีโอกาสได้ออกไปสัมผัสธรรมชาติถ้าเป็นไปได้ หากเป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องนำธรรมชาติมาสู่ห้องเรียน ให้พวกเขาเฝ้าสังเกต เช่น ได้เห็นเมล็ดพันธุ์ในขวดแก้วค่อยๆ หยั่งรากและแทงยอด
ตอนนั้นราวปี 1991 จากการได้พบปะคนหนุ่มสาวมากมายที่ดูเหมือนจะสิ้นหวังกับอนาคต ฉันถามพวกเขาว่า ทำไมรู้สึกเช่นนั้น พวกเขาตอบว่า ก็พวกคุณกำลังเอาอนาคตของพวกเราไปเสี่ยง ลองดูสิ่งที่พวกเราทำกับธรรมชาติ วิธีที่เราตักตวงประโยชน์จากทรัพยากร จนหลายครั้งรวดเร็วเกินกว่าที่ธรรมชาติจะทดแทนได้ทัน หัวหน้าเผ่าอเมริกันพื้นเมืองคนหนึ่งเคยพูดไว้ ซึ่งฉันเชื่อว่าเป็นจริงเช่นนั้น ตอนที่เขาพูดเมื่อสักราว 40 ปีก่อน เขาพูดว่า เราไม่ได้รับมรดกตกทอดโลกใบนี้มาจากพ่อแม่ แต่เราหยิบยืมมาจากลูกหลานของเราต่างหาก แต่ความจริง เราไม่ได้หยิบยืม แต่เราขโมยต่างหาก และก็ยังคงขโมยอยู่ แต่ฉันไม่เชื่อว่าทุกอย่างสายเกินไป ฉันเชื่อว่าเรายังมีโอกาส อย่างน้อยถ้าเราร่วมมือกันเริ่มเยียวยาความเสียหายบางส่วนที่เราก่อขึ้น
“ถ้ามีคนถามว่า ฉันจะเลือกแก้ปัญหาอะไร ฉันจะบอกว่า แก้ปัญหาอะไรก็ได้ตราบใดที่คุณทำได้ด้วยตัวเอง ไม่เพียงเท่านั้น คุณต้องสร้างเครือข่ายหรือความร่วมมือกับคนอื่น เพื่อที่ว่าคุณและคนอื่นๆ จะสามารถจัดการกับแง่มุมต่างๆ ของปัญหาหรือภาพรวม”
NGThai: อยากให้คุณพูดถึงโครงการ Roots and Shoots ที่สถาบันเจน กูดอลล์ ทำมาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ในหมู่คนหนุ่มสาว
เจน กูดดอลล์: ฉันเริ่มทำโครงการนี้เมื่อปี 1991 ในชื่อ Roots and Shoots ลองนึกถึงต้นไม้ใหญ่สักต้นที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเมล็ดพันธุ์เล็กๆ รากน้อยๆของมันที่หยั่งลึกไปหาแหล่งน้ำ สามารถชอนไชไปตามก้อนหิน หรือแม้แต่ดันก้อนหินออกไปให้พ้นทาง ขณะที่ยอดอ่อนก็หาทางแทงขึ้นไปหาแสงอาทิตย์ แทรกตัวผ่านซอกหลืบและรอยแยกในหินหรือกำแพงอิฐ สุดท้ายก็ทลายกำแพงนั้นลงได้ เรามองก้อนหินหรือกำแพงเหมือนปัญหาต่างๆ ที่มนุษย์ก่อขึ้นกับโลก ดังนั้นโครงการ Roots and Shoots คือความหวัง คนรุ่นใหม่หรือคนหนุ่มสาวนับร้อยนับพัน ถ้าพวกเขารวมตัวกันได้ ก็สามารถเปลี่ยนทิศทางที่เรากำลังเดินไปได้ ทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นมาจากเด็กนักเรียนมัธยม 12 คนในแทนซาเนีย ตอนนี้เราทำโครงการอยู่ในเกือบ 80 ประเทศ สมาชิกมีตั้งแต่เด็กนักเรียนอนุบาลไปจนถึงนักศึกษาในมหาวิทยาลัย พวกผู้ใหญ่เองก็รวมตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หลักๆ แล้วโครงการนี้พุ่งเป้าไปที่คนรุ่นใหม่
สารหลักของเราคือ ปัจเจกบุคคลแต่ละคนมีความหมาย มีบทบาท เราแต่ละคนสร้างผลกระทบต่อโลกได้ในทุกๆวัน และเราก็มีทางเลือกว่าจะสร้างผลกระทบแบบไหน อย่างน้อยสำหรับคนรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมาหน่อย พวกเขาเลือกได้ว่า จะซื้ออะไร สวมใส่อะไร กินอะไร สิ่งที่คุณกินได้มาอย่างไร สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า หรือกระบวนการได้มามีส่วนในการทารุณกรรมสัตว์หรือเปล่า อย่างเช่นฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบเข้มข้น ที่มีราคาถูกเพราะมีส่วนใช้แรงงานเด็กเยี่ยงทาสหรือไม่ ถ้าเราเริ่มตัดสินใจเลือกเชิงจริยธรรม (ethical choice) จากคนนับร้อย นับพัน ไปจนถึงหลักล้านหรือพันล้าน เราย่อมสามารถขับเคลื่อนไปสู่โลกที่แตกต่างออกไปได้ จนถึงตอนนี้ เรามีกลุ่มคนที่ทำงานอย่างแข็งขันอยู่ราว 150,000 กลุ่ม และคนที่เคยเข้าร่วมโครงการก็เติบโตออกไปสู่สายงานของตน คนอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของแทนซาเนียเองก็เป็นศิษย์เก่าของ Roots and Shoots เมื่อโครงการขยายวงกว้างออกไป เราก็เริ่มเห็นมรรคผลในการสร้างความแตกต่างได้ ในการทำงาน เราให้แต่ละกลุ่มคิดโครงการอย่างน้อยสามโครงการ โครงการแรกมุ่งช่วยเหลือผู้คน จะเป็นชุมชนของคุณหรือกลุ่มคนที่อยู่ไกลออกไป เช่น คนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวในต่างแดน โครงการที่สองมุ่งช่วยเหลือสัตว์ จะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่าก็ได้ และอีกโครงการมุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิ่งที่เกิดตามมาคืออะไร เมื่อเราพยายามดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาหากัน ถ้าเจอหน้ากันได้ก็ยิ่งดี แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะสามารถสื่อสารกันผ่านช่องทางอย่างสไกป์ เป็นต้น พวกเขาเริ่มตระหนักว่า คุณอาจมีสีผิวต่างจากฉัน วัฒนธรรมหรือศาสนาแตกต่างกัน สวมใส่เสื้อผ้าต่างกัน กินอาหารไม่เหมือนกัน แต่ถ้าหกล้ม เราเลือดออกเหมือนกัน เราร้องไห้ น้ำตาเราไหลเหมือนกัน ถ้ามีอะไรมาทำให้เราขบขัน ถึงจะต่างกันไปบ้างในแต่ละวัฒนธรรม แต่การหัวเราะนั้นเหมือนกัน นี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วทางวิทยาศาสตร์ เราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวมนุษยชาติ สิ่งนี้จะทลายกำแพงที่เราสร้างขึ้นเพื่อกั้นแบ่งระหว่างชนชาติ วัฒนธรรม ศาสนา คนหนุ่มสาวและคนแก่
“ปัจเจกบุคคลแต่ละคนมีความหมาย มีบทบาท เราแต่ละคนสร้างผลกระทบต่อโลกได้ในทุกๆวัน และเราก็มีทางเลือกว่าจะสร้างผลกระทบแบบไหน”
NGThai: คุณเคยพูดว่า คุณไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวหรือคำขวัญที่เรามักได้ยินเสมอว่า Think Globally, Act Locally. (คิดหรือตระหนักถึงโลกก่อน แล้วลงมือทำจากจุดเล็กๆ ในท้องถิ่น)
เจน กูดดอลล์: แน่นอนว่า ฉันไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ เพราะอะไรน่ะหรือ ถ้าคุณเริ่มจากคิดถึงโลกก่อน คุณจะรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ถ้าคุณมองไปยังปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกทุกวันนี้ คุณจะคิดว่า ฉันจะทำอะไรได้หรือ ดังนั้น ผู้คนจึงเลือกที่จะไม่ทำอะไร แต่ถ้าคุณมองกลับกัน โดยเริ่มจากลงมือทำในท้องถิ่นหรือชุมชน แล้วมองไปยังภาพใหญ่ในระดับโลก (Act Locally, Think Globally) คุณจะเห็นว่ามีสิ่งที่คุณทำได้ โครงการ Roots and Shoots พิสูจน์ให้เห็นว่า การลงมือทำในระดับท้องถิ่นคือกุญแจสำคัญ คุณอาจคิดว่าเด็กๆ สักกลุ่มรวมตัวกันทำความสะอาดแม่น้ำหรือธารน้ำเล็กๆ สักสายจะมีประโยชน์อะไร แต่ถ้ามองต่อไปว่า เรามีเด็กกลุ่มเล็กๆ แบบนี้กำลังทำในสิ่งเดียวกันอยู่ในอีก 80 ประเทศ ธารน้ำเล็กๆ ก็จะกลายเป็นแม่น้ำ เมื่อแม่น้ำสะอาดขึ้น ขยะที่ถูกพัดพาไปสู่ทะเลและมหาสมุทรก็น้อยลง ลองคิดถึงผลกระทบที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจทำโครงการนับล้านที่เด็กๆ และคนรุ่นใหม่ทำร่วมกัน คุณจะเห็นว่ามันสร้างความแตกต่างได้
NGThai: โลกกำลังเผชิญกับหายนะทางสิ่งแวดล้อมมากมาย โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่หก (6th Mass Extinction) ท่ามกลางวิกฤติเหล่านี้ เราจะรักษาความหวังไว้ได้อย่างไร และคุณจะบอกกับผู้คนที่อาจรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังกับอนาคตอย่างไร
เจน กูดดอลล์: ฉันพบผู้คนมากมายที่บอกฉันว่า ‘เจน คุณยังมีความหวังอยู่ได้อย่างไรกับอนาคต ทั้งๆที่คุณพบเห็นการทำลายล้างมากมาย’ สิ่งที่ทำให้ฉันมีความหวังน่ะหรือ ประการแรกก็คือ คนหนุ่มสาว พวกเขาคิดต่างและทำอะไรด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในหลายพื้นที่ของโลก ประการที่สองคือ สมองของเรา ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจใช้ทำอะไรแย่ๆ แต่ทุกวันนี้ เรากำลังใช้มันคิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราอยู่กับโลกอย่างสอดประสานกลมกลืนมากกว่าที่ผ่านมา และยังรวมถึงการใช้ชีวิตของเราแต่ละคนที่ทิ้งรอยเท้านิเวศ (ecological footprint) หรือผลกระทบต่อระบบน้อยลง
ประการที่สามคือความยืดหยุ่นหรือความสามารถในการฟื้นตัวของธรรมชาติ รอบๆ [อุทยานแห่งชาติ] กอมเบที่เคยเป็นภูเขาหัวโล้น ตอนนี้ไม่มีภูเขาหัวโล้นอีกแล้ว ต้นไม้กลับคืนมา ชิมแปนซีมีผืนป่าให้อาศัยมากกว่าเมื่อยี่สิบปีก่อน มีฉนวนเชื่อมระหว่างประชากรชิมแปนซีกลุ่มต่างๆ ที่เคยอยู่อย่างกระจัดกระจาย ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเพศเมียและลดความเสี่ยงของการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด ประการที่สี่คือโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็เป็นอย่างที่รู้กันว่าถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์เลวร้าย แต่ในเวลาเดียวกัน อาจเรียกว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็ว่าได้ เมื่อมีประเด็นเร่งด่วนเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราสามารถเข้าถึงผู้คนทั่วโลกได้พร้อมกัน และเสียงของพวกเขาก็ถูกรับฟัง รวมถึงคนหนุ่มสาวในเมืองหรือหมู่บ้านห่างไกลซึ่งมีความมุ่งมั่นแรงกล้ากับบางเรื่อง แต่กลับรู้สึกโดดเดี่ยวและท้อแท้ ทุกวันนี้ พวกเขาไม่รู้สึกเช่นนั้น เพราะรู้ว่ายังมีคนใส่ใจ สามารถแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความคิด ประการสุดท้ายคือจิตวิญญาณที่ไม่เคยยอมแพ้ของมนุษย์ เรามีคนที่ต่อสู้กับประเด็นปัญหาที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่เคยยอมแพ้ ลองดูอย่างเนลสัน แมนเดลา ที่เดินออกจากค่ายกักกันใช้แรงงานอยู่นานถึง 17 ปี พร้อมกับจิตใจที่สามารถให้อภัย หรือจะเป็นคนที่ร่างกายผิดปกติอย่างรุนแรงจนคนคิดว่า น่าจะยอมแพ้และแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่พวกเขากลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนอีกมากมาย
“ลองนึกภาพเด็กกลุ่มเล็กๆ ทำความสะอาดธารน้ำสายเล็กๆ ใน 80 ประเทศ ธารน้ำเล็กๆ ก็จะกลายเป็นแม่น้ำ เมื่อแม่น้ำสะอาดขึ้น ขยะที่ถูกพัดพาไปสู่ทะเลและมหาสมุทรก็น้อยลง ลองคิดถึงผลกระทบที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจทำโครงการนับล้านที่เด็กๆ และคนรุ่นใหม่ทำร่วมกัน คุณจะเห็นว่ามันสร้างความแตกต่างได้ “
NGThai: ทุกวันนี้ คุณยังเดินทางไปทั่วโลก ตารางเวลาของคุณแน่นขนัด คุณมีแผนที่จะทำอะไรช้าลงหรือน้อยลงบ้างไหม
เจน กูดดอลล์: มีคนถามคำถามนี้กับฉันตลอดเวลา ฉันใช้เวลาราวๆ 300 วันในแต่ละปีเดินทางไปที่ต่างๆ ความจริงก็คือ ทุกที่ที่ฉันไป เวลาไปพูดให้คนฟัง ที่พูดนี่ไม่ได้ต้องการโอ้อวดหรืออะไร พอฉันพูดเสร็จ มักมีคนเข้ามาหาฉัน หลายคนร้องไห้และบอกว่า ‘คุณทำให้ฉันมีความหวังที่จะเดินหน้าต่อไป และฉันทำให้ดีที่สุด’ แสดงว่า [สิ่งที่ฉันทำ] มีผลกระทบต่อคนอื่น โครงการอย่าง Roots and Shoots ที่ฉันพยายามปลูกฝังในทุกที่ก็สร้างผลกระทบเชิงบวก ยังมีสถานที่และผู้คนอีกมากมายที่ฉันคิดว่าต้องไปด้วยตัวเอง เพราะนั่นสร้างความแตกต่างได้มากกว่าการแค่ส่งคลิปวิดีโอไป เพราะฉะนั้น แทนที่จะทำอะไรน้อยลงหรือช้าลง เพราะฉันจะอายุ 85 เร็วๆนี้ และใกล้จุดหมายปลายทางของชีวิตเข้าไปทุกที ฉันต้องเร่งมือต่างหาก
NGThai: คุณอยากเป็นที่จดจำของคนรุ่นหลังอย่างไร
เจน กูดดอลล์: ฉันอยากเป็นที่จดจำในอนาคตสักสองเรื่อง เรื่องแรกคือ มีส่วนช่วยเปลี่ยนทัศนคติที่ผู้คนมีต่อสัตว์ ตอนเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี 1962 วิทยาศาสตร์ในตอนนั้นบอกว่า มนุษย์กับสัตว์นั้นต่างกันราวกับคนละโลก เราอยู่บนยอดสุด มนุษย์แบ่งแยกจากชนิดพันธุ์อื่นๆ โดยเส้นที่เราคิดจินตนาการขึ้น ชิมแปนซีที่เหมือนกับเรามากในเชิงพฤติกรรมและลักษณะทางชีวิทยา ยีนหรือพันธุกรรมของเรากับชิมแปนซีต่างกันเพียงแค่ร้อยละหนึ่ง เมื่อสารคดีที่เราถ่ายทำเผยให้เห็นชิมแปนซีรู้จักทำเครื่องมือ กอดจูบกัน ดูแลซึ่งกันและกัน หรือแม้แต่แสดงให้เห็นด้านมืดอันโหดร้ายไม่ต่างจากเรา [เช่น การทำสงครามระหว่างฝูง พฤติกรรมกินพวกเดียวกันเอง] ในไม่ช้า วิทยาศาสตร์ก็ค่อยๆ ตระหนักว่า มนุษย์หาใช่สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวบนโลกที่มีบุคลิกเฉพาะตัว จิตใจที่รู้จักใช้ความคิด และอารมณ์ความรู้สึก เรื่องที่สองคือการริเริ่มโครงการ Roots and Shoots ที่ให้ความหวังแก่คนหนุ่มสาว ซึ่งแปลไปสู่การให้ความหวังแก่ทุกคนในที่สุด
(บทสัมภาษณ์ได้รับการขัดเกลาเพื่อความกระชับและชัดเจน; ขอขอบคุณ น.สพ. ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์)
อ่านเพิ่มเติม
กว่าจะมาเป็นเจน กูดดอลล์