น้ำแข็งละลายในกรีนแลนด์มีความหมายอะไรต่อโลก

น้ำแข็งละลายในกรีนแลนด์มีความหมายอะไรต่อโลก

แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ กำลังละลายรวดเร็วที่สุดในรอบ 350 ปี และเพิ่มระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้นทั่วโลก

ประมาณสองถึงสามวันในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2012  เป็นช่วงที่ร้อนมากสำหรับอาร์กติกจน แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ ทั้งหมดเกือบกลายเป็นโคลน มันอุ่นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นักวิทยาศาสตร์ที่ออกมาจากเต็นท์ของตัวเองบนยอดแผ่นน้ำแข็ง นั่งคุกเข่าลงไปบนหิมะ และพบว่าจู่ๆ หิมะที่พื้นก็อ่อนนุ่มขึ้นมา แล้วก็เริ่มละลาย

ใกล้กับขอบแผ่นน้ำแข็ง โคลนสีฟ้าสดใสสะสมตัวกันอยู่บนพื้นผิวน้ำแข็งสีขาวเรียบ ธารน้ำที่ละลายย้อยลงมาประสานกันกลายเป็นแม่น้ำใหญ่ที่ไหลทะลัก น้ำที่เกิดจากการละลายผลักตัวผ่านร่องธารล้นกระเด็นลงไปในรอยแยก แม่น้ำสายหนึ่งที่อยู่ใกล้ขอบแผ่นน้ำแข็งขยายใหญ่จนกวาดเอาสะพานที่เคยอยู่ตรงนั้นมาหลายสิบปีหายไป น้ำในปริมาณมากทะลักออกมาจากรางน้ำของแผ่นน้ำแข็งส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าหนึ่งมิลลิเมตรในปีนั้น

แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์
ภาพประกอบ ได้รับการอนุเคราะห์จาก Nicolo E. Digirolamo and Jesse Allen / นาซ่า

การละลายของน้ำแข็งที่เกิดขึ้นช่างน่าตื่นตระหนก ไม่เหมือนสิ่งไหนที่นักวิทยาศาตร์เคยเห็นมาก่อนเลย แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นผิดปกติอย่างไรและน่าเป็นห่วงขนาดไหนกันแน่ ทว่า ณ ตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วว่า ปริมาณการละลายของน้ำแข็งกรีนแลนด์ในช่วงหน้าร้อนปี 2012 นั้นคือเหตุรุนแรงมากที่สุดในรอบ 20 ปี เมื่อความเร็วของการละลายเร็วกว่าการพุ่งสูงขึ้นของอุณหภูมิความร้อนในอากาศเสียอีก ดังนั้นจึงถูกต้องตามที่พวกเขาค้นพบ ปี 2012 คือปีที่แย่เป็นพิเศษ แต่นั่นก็แค่ตัวอย่างของสิ่งน่ากลัวที่กำลังมาถึง

“การละลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์รุนแรงกว่าเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นในรอบสามถึงสี่ศตวรรษที่ผ่านมา และอาจจะยาวนานกว่านั้น” Luke Trusel นักวิจัย จาก Rowan University รัฐนิวเจอร์ซีย์ และ นักเขียนนำของงานวิจัยใหม่ๆ ที่เผยแพร่อยู่ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature กล่าว

และผลกระทบของการละลายที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ความคิดในเชิงทฤษฎี การละลายอย่างสมบูรณ์ของแผ่นน้ำแข็งหนาเป็นไมล์ในกรีนแลนด์จะไปเพิ่มปริมาณน้ำให้กับมหาสมุทรทั้งโลกที่สูงขึ้น 7 เมตร (23 ฟุต) ดังนั้นแล้ว นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับขั้วโลกนั้นกำลังเป็นปัญหาสำคัญสำหรับใครก็ตามที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ ชายฝั่ง บริโภคอาหารทะเลที่ส่งตรงจากท่าเรือ หรือพึ่งพาเที่ยวบินไปกลับสนามบินที่อยู่ใกล้มหาสมุทร

(รับชมรับฟังสัมภาษณ์เพิ่มเติมจาก Luke Trusel เกี่ยวกับน้ำแข็งในกรีนแลนด์ได้ที่วิดีโอด้านล่าง)

 

อ่านน้ำแข็งให้เหมือนอ่านหนังสือแห่งอดีต

นักวิทยาศาตร์ต่างก็รู้อยู่แล้วว่ากรีนแลนด์กำลังละลายอย่างรวดเร็ว เพราะพวกเขาสามารถตามรอยขนาดของแผนน้ำแข็งที่หดตัวลงได้จากดาวเทียม แต่ ข้อมูลทางดาวเทียมสามารถย้อนกลับไปถึงแค่ช่วงต้นของทศววรษ 1990 เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าเราควรจะตื่นตกใจแค่ไหนกับการละลายที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า เคยมีเหตุกาณ์ภาวะอากาศอุ่นขึ้นแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่ หรือมันผิดปกติอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับตอนก่อนที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากน้ำมือมนุษย์จะเริ่มต้นขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ต้องหาวิธีในการมองย้อนกลับไปในอดีต ดังนั้น พวกเขาเลยเดินทางไปที่แหล่งกำเนิดหรือก็คือตัวแผ่นน้ำแข็งเอง พวกเขาออกสำรวจทั่วพื้นผิวและเจาะเอาแกนน้ำแข็งชุดหนึ่งที่บันทึกร่องรอยต่างๆ ซึ่งบ่งบอกว่ามีการละลายของแผ่นน้ำแข็งเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนในช่วงสองสามร้อยปีที่ผ่านมา และเปรียบเทียบร่องรอยที่ได้กับแบบจำลองซึ่งจะช่วยคำนวณความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการละลายของแผ่นน้ำแข็ง

แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์
นักวิจัยสองคนมองไปยังน้ำจากการละลายที่ขอบแผ่นน้ำแข็ง ภาพถ่ายโดย Ginny Catania, Nat Geo Image Collection

จากการวัดและการเปรียบเทียบ พวกเขาเห็นสัญญาณหนึ่งที่ชัดเจน การละลายและการไหลออกของของเหลวเพิ่มขึ้น เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากน้ำมือมนุษย์ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นแรกได้ส่งผลกระทบต่ออาร์กติกในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 แต่สถานการณ์อันยุ่งยากที่แท้จริงเผยออกมาให้เห็นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เพราะความรุนแรงของการละลายพุ่งสูงขึ้นอย่างกะทันหันเกือบ 6 เท่าจากที่เคยเป็นก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

“มันเหมือนกับการกดเปลี่ยนสวิตช์มากๆ” Beata Csatho นักวิทยาธารน้ำแข็งจาก University of Buffalo ผู้ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษานี้กล่าว

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากการละลายของน้ำแข็งได้ที่บทความด้านล่าง)

น้ำแข็งละลาย ชีวิตล่มสลาย

 

ผลกระทบจากปรากฎการณ์ภาวะน้ำทะเลอุ่นขึ้น

ชัดเจนอยู่ที่การละลายนั้นเร็วขึ้นกว่าการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิ ยิ่งอุ่นเท่าไหร่ ตัวแผ่นน้ำแข็งก็ยิ่งไวต่อความอุ่นของสภาพอากาศ เหตุผลตั้งต้นเลยก็เพราะว่าการละลายตัวที่พื้นผิวของแผ่นน้ำแข็งทำให้สีของมันเปลี่ยนไป

“ลองคิดถึงเกล็ดหิมะขาวนุ่มปุยสิ” Trusel อธิบาย “ในขณะที่มันละลาย มันจะกลายเป็นก้อน”

และก้อนเหล่านี้ซึมซับความร้อนจากดวงอาทิตย์มากกว่าที่ตัวเกล็ดหิมะทำ และยิ่งพวกมันซึมซับความร้อนเข้าไปมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งละลายเป็นก้อนมากขึ้นเท่านั้น “ดังนั้น แม้จะปราศจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ เมื่อพวกมันเริ่มเป็นก้อน การละลายก็จะเพิ่มมากขึ้น” Trusel กล่าว

ถือว่าเป็นลางไม่ดีสำหรับอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะในอาร์กติก เนื่องด้วยอุณหภูมิของอากาศพุ่งสูงขึ้นเร็วกว่าที่ไหนๆ บนโลก

 


 

อ่านเพิ่มเติม:

โลกร้อน : น้ำแข็งผืนสุดท้ายในอาร์กติก

Recommend