การตระหนักถึงพลังของคนหนุ่มสาว ทำให้ดร.ป๋วยตัดสินใจรับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยอมควบสองตำแหน่งในเวลาเดียวกัน โดยขอลดเงินเดือนตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยลงครึ่งหนึ่ง จากเดิมรับสี่หมื่นบาทลดลงเหลือสองหมื่นบาท แต่ไปรับเงินเดือนเต็มที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แค่เจ็ดพันบาท เขาชี้ว่า “ถ้าเราไม่สามารถเจียดเงินมาเพื่อการศึกษา ก็ไม่น่าจะสามารถเจียดเงินไปสำหรับเรื่องอื่น เพราะปัญหาอื่่นๆ เช่น อาชญากรรม วัยรุ่น การปกครองประชาธิปไตย หรือแม้แต่การเศรษฐกิจและการผลิตต่ำ ปัญหาเหล่านี้จะป้องกันแก้ไขไม่ได้ ถ้าเราไม่ยอมลงทุนในสิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือคน”
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม เล่าว่า“อาจารย์ป๋วยไม่ถือว่าเศรษฐศาสตร์เป็นคำตอบสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ดังพวกนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ประชุมกันเป็นประจำทุกปีที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ถือว่าเศรษฐศาสตร์อยู่เหนือการเมืองการปกครองเลยด้วยซ้ำ ป๋วยวิพากษ์ทั้งเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมและเศรษฐศาสตร์สังคมนิยม โดยที่ท่านมีความอ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมจะรับฟังคำเตือนจากบัณฑิต ดัง ม.จ.สิทธิพร กฤดากร (ผู้บุกเบิกการทำเกษตรกรรมแนวใหม่) รับสั่งกับท่านว่า ‘คุณป๋วย เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง’”
อาจพูดได้ว่านี่เป็นประโยคที่เปลี่ยน ดร.ป๋วยให้หันมาสนใจคนยากจนก็ว่าได้ กอปรกับพื้นฐานชีวิตที่มาจากความยากจน ทำให้ ดร.ป๋วยมองว่า เศรษฐศาสตร์ไม่ควรมองแค่การเติบโตทางตัวเลข เขาเคยเขียนถึงความผิดพลาดของตัวเองไว้ว่า “ผมเสียดายที่รู้สึกว่า ได้บกพร่องไปในการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ คือดูแต่ความเจริญเติบโตของส่วนรวมเป็นใหญ่ (จีดีพี) ไม่ได้เฉลียวถึงความยุติธรรมในสังคม ข้อนี้จึงพยายามแก้ด้วยวิธีพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง อาจารย์บางท่านบอกว่า ควรพัฒนาเศรษฐกิจเสียก่อน ถึงคนมีจะมีมากขึ้น คนจนจะจนลงก็ตาม ในไม่ช้าความเจริญก็จะลงมาถึง คนจนเอง เราได้ใช้วิธีนี้มา 20 – 30 ปีแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้ผล”
ใน พ.ศ. 2510 ดร.ป๋วยจัดตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดช่องว่างระหว่างเมืองและชนบท ต่อมาจึงริเริ่มก่อตั้งสำนักบัณฑิตอาสาสมัครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านและนำมาพัฒนาชุมชน จนเป็นแบบอย่างของค่ายอาสาพัฒนาชนบทตามมหาวิทยาลัยหลายแห่งในทุกวันนี้
หลังผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มาได้ระยะหนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายซ้ายซึ่งโน้มเอียงไปทางสังคมนิยม และฝ่ายขวาซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าลุกลามรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เกิดขบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย” มีการลอบสังหาร นักกิจกรรมและคู่ขัดแย้งทางความคิดจำนวนมาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นสถานที่จัดการชุมนุมบ่อยครั้ง และดร.ป๋วยซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีอยู่ขณะนั้น ต้องคอยรับแรงปะทะจากทั้งสองฝ่ายอย่างตึงเครียด
กระทั่งวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เกิดเหตุวิปโยคครั้งใหญ่ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ป๋วยถูกฝ่ายขวา ตามล่าตัวจนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศอย่างเร่งด่วน และเย็นวันนั้นเองก็เกิดรัฐประหาร ต่อมาเมื่อบรรยากาศทางการเมืองในประเทศเริ่มผ่อนคลาย ดร.ป๋วยจึงกลับมาเมืองไทยเป็นครั้งคราว ทว่าด้วยความชราและสภาพร่างกายที่ไม่ปกติอีกต่อไปจากอาการเส้นเลือดในสมองแตกระหว่างที่อาศัยในต่างประเทศ ในที่สุดดร.ป๋วยก็ถึงแก่กรรมที่ประเทศอังฤษเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ญาติได้ประกอบพิธีฌาปนกิจศพของเขาเช่นเดียวกับข้อความย่อหน้าสุดท้ายที่เขาเขียนไว้ใน “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” แล้วจึงนำอัฐิกลับมาประเทศไทย บรรจุไว้ในระเบียงคดวัดปทุมคงคา ย่านตลาดน้อยอันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด
เรื่อง ใบพัด นบน้อม
ภาพถ่าย สิทธิชัย จิตตะทัต
อ่านเพิ่มเติม