คุยเรื่อง ‘กำแพงกันคลื่น’ เมื่อผู้พิทักษ์ กลายเป็นผู้ทำลาย

คุยเรื่อง ‘กำแพงกันคลื่น’ เมื่อผู้พิทักษ์ กลายเป็นผู้ทำลาย

มองต่างมุมเรื่อง กำแพงกันคลื่น เมื่อการปกป้องชีวิตและสินทรัพย์ของมนุษย์ อาจเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติ

แดนสวรรค์ ทรายสีขาวนวล กับทะเลสีเขียวมรกต คือภาพจำของชาวโลกที่มีต่อชายหาดของประเทศไทยมายาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก แต่ทว่าท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงามนี้กลับเริ่มมีการก่อสร้างแนวกำแพงป้องกันคลื่นตลอดแนวชุมชนริมทะเล 23 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะที่ชายหาดบางแสนและชะอำ อันเป็นสถานที่แรก ๆ ที่คนกรุงเทพฯ มักเดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจในยามว่าง ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญในโลกออนไลน์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่าการมีอยู่ของกำแพงกั้นคลื่นนั้นเป็นคุณหรือโทษกันแน่

วิชญุตร์ ลิมังกูร บุณยเนตร ที่ปรึกษาด้านงานสื่อความหมายธรรมชาติทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เราเลือกไปคุยนักสื่อสารความหมายธรรมชาติทางทะเล ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงการอนุรักษ์ทะเล และมีผลงานการออกแบบกราฟิกนำเสนอข้อเท็จจริง และแนวทางปกป้องชายหาด สัตว์ทะเล และมหาสมุทรเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียอยู่บ่อยครั้ง เขาถือว่าเป็นตัวแทนของผู้ที่กลั่นกรองข้อมูลจากรายงาน การวิจัยออกมาสื่อสารให้เป็นกราฟิกที่เข้าใจง่าย เล่าได้เพียงภาพเดียวหรือไม่กี่ภาพ เพื่อสร้างการตระหนักรู้เบื้องต้นให้บุคคลทั่วไป งานของนักสื่อสารที่เหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างงานวิชาการกับผู้อ่านเป็นงานที่สำคัญมาก เราต้องการประตูบานแรกเพื่อเปิดสู่การหาข้อมูลและความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น

งานออกแบบโดย วิชญุตร์ ลิมังกูร บุณยเนตร

“แรกเริ่มเดิมทีกำแพงกั้นคลื่นถูกสร้างขึ้นมา เพื่อปกป้อง ชีวิต ทรัพย์สิน และที่อยู่อาศัย”

คุณวิชญุตร์ ลิมังกูร บุณยเนตร ที่ปรึกษาด้านงานสื่อความหมายธรรมชาติทางทะเล ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงเจตนาดีที่ทางรัฐบาลและกองทัพเรือไทยได้นำเทคโนโลยีการสร้างแนวกำแพงป้องกันคลื่นด้วยโครงสร้างเหล็กและคอนกรีตเข้ามายังประเทศไทยในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 หรือราว ๆ 100 ปีที่แล้ว โดยมีต้นแบบมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่น ซึ่งประสบความสำเร็จในการปกป้องแนวชายฝั่งของตนจากการกัดเซาะด้วยกำแพงกันคลื่น

อย่างไรก็ตามประเทศไทยของเรามีบริบททางธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไปจากประเทศเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่นอยู่มาก กล่าวคือชายทะเลของไทยนั้นเป็นทะเลน้ำอุ่นเขตร้อน (Tropical Warm-Water) ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับทะเลน้ำเย็น  (Cold-Water) จึงทำให้การสร้างกำแพงกั้นคลื่นนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้นตามไปด้วย 

“ชายหาดเป็นสิ่งที่ไม่เสถียรที่สุดตามธรรมชาติอยู่แล้ว มีการผันผวนตลอดเวลา” คุณ วิชญุตร์ เสริม ตามปกติพื้นที่ชายหาดอาจร่นถอยเข้าไปในแผ่นดินได้หลายร้อยเมตร ก่อนที่ลมฟ้าอากาศจะนำพาผืนทรายหวนกลับคืนมาอีกครั้งวนไปเป็นวัฏจักร เห็นได้จากในอดีตที่ถนนในประเทศไทยมักเว้นระยะห่างจากชายหาดออกไปไกล จนเมื่อมนุษย์ได้เข้ามาสร้างที่อยู่อาศัย ท่าเรือ โรงแรม ร้านอาหารต่าง ๆ และกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น มนุษย์จึงพยายามหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของชายหาดด้วยการสร้างแนวกำแพงกันคลื่นขึ้นมา

งานออกแบบโดย วิชญุตร์ ลิมังกูร บุณยเนตร

และถึงแม้ว่าชุมชนหลังแนวกำแพงกันคลื่นจะได้รับการปกป้องจากคลื่นทะเลจริง แต่ชายหาดที่อยู่บริเวณด้านหน้าและด้านข้างของแนวกันคลื่นนั้นก็กลับถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากกำแพงกั้นคลื่นได้ไปขัดขวางการเคลื่อนตัวของตะกอนทรายเลียบชายฝั่งตามธรรมชาติ (Longshore Drift) ถึงขนาดที่ว่าทางจังหวัดชลบุรีต้องนำเข้าทรายมาจากที่อื่นเพื่อมาปรับปรุงภูมิทัศน์ที่หาดบางแสนและหาดพัทยาเป็นประจำ เพื่อให้ธุรกิจการท่องเที่ยวสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายจากผลกระทบจากแนวกำแพงกั้นคลื่น ที่ทางการและประชาชนผู้จ่ายภาษีทุกคนต้องแบกรับ

ทั้งการเข้ามาของชุมชนและกำแพงกันคลื่นนั้นยังได้ตัดขาดระบบนิเวศชายฝั่งและท้องทะเลออกจากกัน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเหล่าสัตว์และพืชพรรณอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ‘เต่าทะเล’ ที่มักกลับมาวางไข่ ณ ชายหาดที่ตัวเองเกิด ก็จะไม่มีพื้นที่ฟูมฟักเต่ารุ่นถัดไป หรือแม้แต่จากเดิมที่ในอดีตแนวชายหาดไทยมักอุดมไปด้วย ‘ผักบุ้งทะเล’ พืชคลุมชายหาดที่เป็นหนึ่งในกันชนคลื่นตามธรรมชาติ และสามารถรักษาพิษแมงกะพรุนได้ ก็แทบไม่มีให้เห็นแล้ว จนเรียกได้ว่ากำแพงกันคลื่นมีแต่จะก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อระบบนิเวศตามมาอยู่เสมอ และอาจย้อนกลับมาทำร้ายชุมชนได้เช่นกัน

เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น คุณ วิชญุตร์ ได้ตีความและชี้แจงผลกระทบ (Impact) เป็น 3 ระยะด้วยกัน

ระยะที่ 1 : มีการกัดเซาะชายฝั่งตามธรรมชาติเกิดขึ้น ซึ่งนำไปสู่การสร้างกำแพงกันคลื่น

ระยะที่ 2 : กำแพงกันคลื่นก่อให้เกิดความเสียต่อระบบนิเวศรอบข้าง

ระยะที่ 3 : ในที่สุดกระแสน้ำก็จะเคลื่อนที่ผ่านแนวกำแพงไปกัดเซาะพื้นที่อื่นแทน

โดยจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นขึ้นแล้ว ผลกระทบที่ตามก็อาจนำไปสู่การสร้างกำแพงกันคลื่นที่ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นวงจร ยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ปัญหาด้านภาวะโลกร้อน (Global Warming) และสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ก็ยังได้กระตุ้นให้เกิดการสร้างแนวกำแพงกั้นคลื่นเพิ่มมากขึ้น ใหญ่มากขึ้น หนาแน่นขึ้น เพื่อป้องกันชุมชนชายฝั่งจากพายุที่แรงขึ้นและน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นในทุก ๆ ปี ตามไปด้วย ทั้ง ๆ ที่ธรรมชาตินั้นได้สร้างแนวปราการปกป้องชายฝั่งจากพายุไว้ให้มนุษย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้วไล่ตั้งแต่ แนวป่าชายหาด แนวป่าชายเลน แนวหญ้าทะเล ไปจนถึงแนวปะการัง แต่ก็น่าเสียดายที่กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้ปราการธรรมชาตินั้นหายไปแทบจะไม่เหลือแล้ว

“อย่ามองแค่ว่าการสูญเสียพื้นที่ชายหาดทำให้ระบบนิเวศหายไปเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้พลัดพรากคุณค่าทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณบางอย่างให้หายไปด้วย” คุณ วิชญุตร์ ได้ยกตัวอย่างถึงกรณีของ ‘เรือหัวโทง’ ซึ่งเป็นเรือที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทยภาคใต้ฝั่งอันดามันดั้งเดิม ว่าอาจสูญหายไปได้เมื่อพื้นที่หาดเหลือน้อยลง ก่อนที่ คุณ วิชญุตร์ จะเน้นถึงประเด็นของ ‘ต้นทุนในการบำบัดจิตใจที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน’ เพราะการสูญเสียชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ไปจากการการสร้างกำแพงกันคลื่นและการขยายตัวของชุมชนริมทะเลนั้น ทำให้คนเมืองต้องเดินทางไปไกลมากขึ้นถึงจะได้สัมผัสกับธรรมชาติ จากเดิมที่แค่ขับรถไปบางแสน ไปชะอำ ก็ต้องนั่งเรือไปตามเกาะแก่งในอ่าวไทยและทะเลอันดามันที่อยู่ไกลออกไปแทน หรือแม้แต่ไปต่างประเทศ อาทิ มัลดีฟส์ ที่มีระบบนิเวศชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์อันดับต้น ๆ ของโลกอยู่ 

“เมื่อก่อนชายหาดบนแผ่นดินไทยนั้นสวยงามมาก ไม่แพ้เกาะไหน ๆ เลย” คุณ วิชญุตร์ เล่าเท้าความว่า ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในอดีตได้ให้แรงบันดาลใจเขาในการร่ำเรียนวิชาการออกแบบ และเลือกมาทำงานด้านการสื่อสารกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในที่สุด ซึ่งแรงบันดาลใจที่ทำธรรมชาติมอบให้กับมนุษย์นี้เองอาจเป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดที่เราอาจมองข้ามมาโดยตลอด

งานออกแบบโดย วิชญุตร์ ลิมังกูร บุณยเนตร

“ผมเคยเห็นคนหนึ่ง ๆ เล่าเรื่องราวผ่านเฟสบุ๊กว่าเขาเสียใจมากที่กำแพงกันคลื่นได้ทำลายสภาพแวดล้อมของหาดคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เขามักไปวิ่งเล่นในวัยเด็กไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งไม่สามารถหวนคืนมาได้อีกแล้ว”

ในปัจจุบันชายหาดบนแผ่นดินใหญ่ของไทยที่ยังรักษาสภาพแวดล้อมดั้งเดิมเหมือนในอดีตมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ซึ่งมีป่าชายหาดและพืชพรรณดั้งเดิม เช่น ต้นรักทะเล ต้นจิกทะเล เรียงตัวกันเป็นแนวยาวอยู่ และยังคงมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่อยู่เป็นประจำทุกปีอีกด้วย เนื่องจากที่ตั้งของหาดที่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ธรรมชาติจึงได้รับการปกป้องเป็นอย่างดี 

“เราต้องมามองกันว่าทิศทางของประเทศเรา เราจะเลือกอะไร ระหว่างเลือกปกป้องทรัพย์สิน สิ่งของ หรือ ระบบนิเวศ ซึ่งผมตอบแทนทุกคนไม่ได้” 

คุณ วิชญุตร์ ได้เสนอว่าฉากทัศน์ที่ดีที่สุดก็คือการเลือกที่จะปกป้องระบบนิเวศและชีวิตมนุษย์ไปพร้อม ๆ กัน โดยใช้วิธีการให้รัฐเวนคืนที่ดินบริเวณชายฝั่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศอยู่เป็นประจำ และย้ายถิ่นฐานผู้คนไปยังที่ปลอดภัยเพื่อปล่อยให้ธรรมชาติดำเนินไปเหมือนในอดีต โดยที่ไม่ไปรบกวนวัฏจักรการเคลื่อนตัวของตะกอนทรายเลียบชายฝั่ง แต่ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการเวนคืนที่ดินได้ตราบใดที่ประเทศไทยยังคงพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวของชุมชนริมทะเลอยู่ 

เพราะฉะนั้นหนทางการแก้ไขปัญหาอาจจะต้องมองย้อนกลับไปที่มาตราการป้องกันชายฝั่งที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของชุมชนตั้งแต่แรก หรือไม่ก็พยายามหาวิธีประณีประนอมปัญหาของทั้งสองฝ่ายแทน เหมือนกับที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำลังนำร่องทำอยู่ ณ หาดปากเมง จังหวัดตรัง เป็นต้น ซึ่งก็คือ ‘การปักแนวรั้วไม้’ ที่สามารถช่วยป้องกันการกัดเซาะได้ระดับหนึ่ง โดยน้ำทะเลสามารถยังคงพัดพาตะกอนทรายขึ้นมาผ่านช่องว่างระหว่างเสาไม้แต่ละต้นได้อยู่ ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งและท้องทะเลไม่ถูกตัดขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิงเหมือนกับกำแพงกั้นคลื่นที่สร้างมาจาก หิน เหล็ก และคอนกรีต 

แต่ถึงแม้ว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะมีวิธีการที่สามารถช่วยทั้งชุมชมและรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้ ปัญหาเชิงโครงสร้างก็ยังคงเอื้อให้เกิดจากก่อสร้างกำแพงกันคลื่นใหม่ ๆ อยู่เสมอ บางโครงการก็มาจากหน่วยงานโยธาธิการและผังเมืองของแต่ละจังหวัดก็เป็นผู้ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อบรรเทาปัญหาชายฝั่งกัดเซาะที่ชาวบ้านมาร้องเรียน บ้างก็เป็นงบประมาณของท้องถิ่นที่ต้องการสร้างพื้นที่สาธารณะให้แก่ชุมชน บ้างก็เป็นภาคเอกชนที่ต้องการทำทางเดินริมหาดให้แก่รีสอร์ทและโรงแรมต่าง ๆ ซึ่งสามารถเล็ดรอดผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมออกมาได้

“ประเด็นเรื่องกำแพงก้นคลื่นควรเป็นประเด็นสำคัญที่ควรเป็นที่ถกเถียงกันว่าเราจะช่วยกันแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างไรได้บ้าง เพราะตอนนี้เรารู้แค่ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว” คุณ วิชญุตร์ ทิ้งท้าย

แท้จริงแล้วหากเรามองในภาพใหญ่ เรื่องราวของปัญหากำแพงกันคลื่นในประเทศไทยนั้น ก็คือส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติ ไม่ต่างอะไรไปจากปัญหาการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากอุตสหกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน จากเจตนาดีที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์กลับกลายเป็นพิษร้ายต่อดาวโลกและตัวเราเอง 

ซึ่งสิ่งนี้ได้มอบบทเรียนที่สำคัญแก่เราว่าการที่จะอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างสงบสุข หาใช่การกุมบังเหียนควบคุมทุกอย่าง แต่เป็นความรู้ความเข้าใจกันและกัน เฉกเช่นการหาวิธีป้องกันชายฝั่งด้วยแนวรั้วไม้จากวัสดุธรรมชาติที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หวังว่า แดนสวรรค์ ทรายสีขาวนวล กับทะเลสีเขียวมรกต จะเป็นภาพจำที่อยู่คู่กับชายหาดไทยให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมต่อไปตราบนานเท่านาน

เรื่อง ชินะพงษ์ เลี่ยนพานิช

ภาพถ่ายสัมภาษณ์ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

ภาพกราฟิก วิชญุตร์ ลิมังกูร บุณยเนตร


อ่านเพิ่มเติม เต่ามะเฟือง: บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์

Recommend