สำรวจโลกซ่อนเร้นของเปรู

สำรวจโลกซ่อนเร้นของเปรู

เรื่อง เอมมา แมร์ริส
ภาพถ่าย ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์

เอลิอัส มาชีปังโก ชูเวรีเรนี คว้าธนูและลูกธนูที่ทำจากไม้ไผ่เหลาแหลมขึ้นมา  เราจะออกล่าลิงในอุทยานแห่งชาติมานูของเปรู ป่าดิบชื้นผืนใหญ่ที่ได้รับการคุ้มครองและพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

การล่านี้ถูกกฎหมาย เอลิอัสเป็นชนพื้นเมืองเผ่ามาชีเกงคา เผ่าที่มีประชากรไม่ถึงหนึ่งพันคนซึ่งดำรงชีวิตอยู่ในอุทยาน โดยส่วนใหญ่อยู่ตามริมแม่น้ำมานูและลำน้ำสาขา  ชนพื้นเมืองที่นี่ทุกเผ่ามีสิทธิ์เก็บพืชพรรณและล่าสัตว์ป่ามาใช้ประโยชน์ แต่ห้ามนำทรัพยากรในอุทยานไปขายถ้าไม่ได้รับอนุญาต  และห้ามใช้ปืนล่าสัตว์ พวกเขาเรียกขานกันด้วยชื่อต้น เอลิอัสกับภรรยาปลูกฝ้ายและพืชผลอื่นๆในลานเล็กๆริมแม่น้ำโยมีบาโต ลูกๆของพวกเขาเก็บผลไม้และพืชสมุนไพร เอลิอัสจับปลาตัดไม้ และล่าสัตว์ โดยเฉพาะลิงแมงมุมและลิงขนปุย อันเป็นอาหารโปรดของชาวมาชีเกงคา

สรรพสิ่งดำเนินเช่นนี้มาช้านาน แต่ประชากรชนเผ่ามาชีเกงคากำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้นักชีววิทยาที่รักอุทยาน   เริ่มวิตกว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพวกเขาเริ่มใช้ปืน ฝูงลิงจะอยู่รอดหรือไม่ และหากไม่ได้ลิงเหล่านี้ช่วยแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ระหว่างที่มันตระเวนหากินไปทั่วผืนป่าแล้ว สภาพป่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ขณะที่ป่านอกอุทยานเริ่มแหว่งเว้าขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ การทำเหมือง และการตัดไม้ การปกป้องอุทยานก็ทวีความสำคัญยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า การมีคนอยู่ในอุทยานส่งผลดีหรือผลเสียต่ออุทยานกันแน่ และการมีอุทยานส่งผลดีต่อชีวิตพวกเขาหรือไม่

เอลิอัสวัย 53 ปี มีผมหยักศกสีดำและสายตาเข้มลึก เขาสวมเสื้อฟุตบอลสีเขียว กางเกงขาสั้น และรองเท้าแตะที่ทำจากยางรถเก่าๆ เราเดินตัดทุ่งเข้าป่า โดยมีทาเลียกับมาร์ติน ลูกสาวและลูกเขยของเขา กับหลานปู่วัยรุ่นอีกคนติดตามไปด้วย ทาเลียสะพายย่ามทอมือสำหรับใส่ต้นไม้กลับบ้าน นอกจากนี้ ฉันยังมีเกลนน์ เชปเพิร์ด นักมานุษยวิทยาผู้กินอยู่และทำงานกับชาวมาชีเกงคามานาน 30 ปี ร่วมขบวนมาอีกคนหนึ่ง

ลิงแทมารีนที่โยอีนา มาเมเรีย นอนต์โซเตกา เด็กหญิงชาวมาชีเกงคาเลี้ยงไว้ เกาะศีรษะเธอไว้แน่นขณะที่เธอลงแช่ในแม่น้ำโยมีบาโต ลึกเข้าไปในอุทยานแห่งชาติมานู

หลังเข้าป่ามาได้ไม่นาน เราก็ได้ยินเสียงฝูงลิงคาปูชิน เอลิอัสปล่อยพวกมันไป เขาอดใจรอลิงชนิดอื่นที่ โปชีนี หรืออร่อยกว่า ผ่านไปอีกหนึ่งชั่วโมง ในที่สุด ทาเลียก็ยิ้มกว้างแล้วกระซิบบอกว่า โอเชโต ซึ่งหมายถึงลิงแมงมุม

เราเห็นพวกมันกระโจนแผล็วไปตามยอดไม้รกครึ้มสูง 20 ถึง 30 เมตรเหนือศีรษะ การล่าเปิดฉากขึ้น และมีแต่ฉันคนเดียวที่สะดุดรากไม้ กระแทกเถาวัลย์ ลื่นล้มบนดินเลน และเดินชนดงหนามกับใยแมงมุมเพราะมัวแต่คอยระวังงู เอลิอัสกับครอบครัวทรงตัวได้ดีกว่า แต่การเดินในป่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแม้แต่สำหรับพวกเขา การล่าสัตว์ที่ระดับพื้นดินอย่างหมูป่าเพ็กคารีอ้วนๆว่ายากแล้ว ทว่าในการยิงลิงแมงมุม นักล่าชาวมาชีเกงคาต้องตามมันให้ทัน แล้วยิงเป้าซึ่งไม่เคยอยู่นิ่งที่ความสูงเกินตึกหกชั้น

เอลิอัสนำหน้า พอเจอลิงเพศเมียเข้า เขาก็เล็งแล้วยิง แต่พลาดเป้า ถ้าเขามีปืนสั้น ลิงตัวนั้นคงตายไปแล้ว

อุทยานเนื้อที่ 17,169 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ครอบคลุมบริเวณลุ่มน้ำทั้งหมดของแม่น้ำมานู  จากทุ่งหญ้าที่ะดับความสูงเกือบ 4,000 เมตรทางตะวันออกของเทือกเขาแอนดีส ผ่านป่าเมฆที่มีมอสปกคลุมลงไปถึงป่าดิบชื้นในที่ลุ่มต่ำทางตะวันตกสุดของลุ่มน้ำแอมะซอน ดินแดนแห่งนี้มีสมเสร็จท่องอยู่ในป่า นกแก้วมาคอว์สีแดงโผบินอยู่บนท้องฟ้า และงูเลื้อยอยู่ตามพื้นดิน ค้างคาว 92 ชนิดครอบครองท้องฟ้ายามราตรี ไพรเมต 14 ชนิดป่ายปีนต้นไม้หลบหนีนกอินทรีฮาร์ปีที่มีช่วงปีกกว้างถึงสองเมตร ผีเสื้อร่อนบินไปทั่ว และบนทุกพื้นผิวก็มีมดไต่อยู่ทั่วไป

อุทยานแห่งนี้มีต้นไม้น้อยใหญ่นับพันชนิด หลายชนิดเกี่ยวกระหวัดกันเป็นเถาหนา ต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญสูงสุดในระบบนิเวศคือมะเดื่อ ซึ่งให้ผลทั้งปีจึงช่วยประทังชีวิตสัตว์หลายชนิดตลอดฤดูแล้ง

ระหว่างทัศนศึกษา เด็กนักเรียนชาวมาชีเกงคากินปลาที่จับได้ด้วยวิธีดั้งเดิม นั่นคือการนำรากไม้บาร์บัสโกมาตำให้เหนียวแล้วนำลงไปกวนในแม่น้ำ รากไม้จะปล่อยสารชีวพิษออกมา ทำให้ปลาแน่นิ่งไป แต่ไม่เป็นอันตรายกับ คนที่กินปลา

“ผมเห็นลิงนับร้อยตัวบนต้นไม้ต้นเดียวเลยละครับ” จอห์น เทร์โบ นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก เล่า “คืนที่มีแสงจันทร์ส่อง ถ้าหิวขึ้นมา พวกมันจะตื่นตอนตีสองแล้วไปที่ต้นไม้ตอนตีสี่” เขากับเพื่อนร่วมงานเข้าประจำการที่สถานีชีววิทยาโคชาคาชูไม่นานหลังอุทยานก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1973

“มานูเป็นป่าเขตร้อนหนึ่งในไม่กี่ผืนที่เราจะได้สัมผัสและศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในสภาพสมบูรณ์” เคนต์ เรดฟอร์ด นักนิเวศวิทยาของบริษัทอาร์คิเพลาโกคอนซัลติงในพอร์ตแลนด์ รัฐเมน บอก

แม้จะอุดมสมบูรณ์ แต่อุทยานแห่งชาติมานูก็ไม่ใช่สวนสวรรค์อันพิสุทธิ์ ที่นี่มีประวัติศาสตร์มากมายเหลือเกิน ผู้คนหลายเผ่าที่พูดภาษาแตกต่างกันไปอาศัยอยู่ริมแม่น้ำมานูอย่างหนาแน่นจนชนเผ่าหนึ่งถึงกับเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า สายธารแห่งบ้านเรือน ชาวอินคาและผู้พิชิตชาวสเปนที่บุกเข้ามาในภายหลังไม่อาจสยบชนเผ่าที่นี่ลงได้ แต่การค้ากับชาวอินคากลับเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับภูมิภาคที่กว้างใหญ่กว่า ขณะที่โรคภัยของชาวสเปนซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากมายก็เริ่มยึดโยงภูมิภาคนี้เข้ากับโลกภายนอก

 

อ่านเพิ่มเติม : ชีวิตบนรถไฟเส้นทางยาวที่สุดในอินเดีย5 แหล่งผจญภัยตามสไตล์ Game of Thrones

Recommend