เบื้องหลังการสร้างแบบจำลองเรือไวกิ้งในแผนที่พิเศษ “ไวกิ้ง” ฉบับเดือนมีนาคม 2560

เบื้องหลังการสร้างแบบจำลองเรือไวกิ้งในแผนที่พิเศษ “ไวกิ้ง” ฉบับเดือนมีนาคม 2560

โปรเจ็คนี้ใช้เวลานานแค่ไหน

ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงเสร็จสิ้นก็ใช้เวลาประมาณสองเดือนครึ่ง โดยใช้ทำงานกันทั้งวันและในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย ตอนนั้นเฟร์นันโดยังมีงานอื่นอีกสองชิ้น แต่เขาก็ไม่อาจตอบปฏิเสธนี้ได้ (รวมทั้งยังรับทำภาพปกอีกด้วย) ถึงแม้ว่าเขาจะมีเวลาในการทำงานไม่มากก็ตาม

นี่ไม่ใช่งานแรกเกี่ยวกับชาวไวกิ้งของเฟร์นันโดใช่ไหม

เขาเป็นแฟนพันธุ์แท้ไวกิ้งเลยละครับ แถมยังมีหนังสือเกี่ยวกับไวกิ้งเป็นตั้งก่อนหน้าจะเข้ามาทำงานกับ NGM เสียด้วยซ้ำ

เฟร์นันโดเคยสร้างเรือจำลองไวกิ้งยาว 1 เมตรขึ้นมาลำหนึ่งตอนยังอยู่บ้านพ่อแม่ที่สเปนและมีอายุ 23 ปี ต่อมา เมื่อสามปีก่อน เขาได้ไปเที่ยวพักผ่อนกับภรรยาในเดนมาร์ก และหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเพื่อหาพิพิธภันฑ์ที่ดีที่สุดใกล้โคเปนเฮเกน เขาพบว่ามีพิพิธภันฑ์เรือไวกิ้งที่รอสกิลด์และอยากไปที่นั่นมาก พอถามภรรยาว่าอยากไปด้วยกันไหม เธอตอบว่า “ก็ไม่เชิงค่ะ…” แต่เธอก็ไปกับเขา เขาจำได้ว่านั่งรถทัวร์ไปถึงรอสกิลด์ในวันที่มีอากาศหนาวเย็นและขมุกขมัวไปด้วยหมอกในฤดูหนาว ทั้งคู่ใช้เวลาชมเรืออยู่ถึงสี่ชั่วโมงเต็ม แต่เขาไม่รู้ตัวหรอกว่า อีกสองสามปีต่อมาจะได้กลับมาเยือนรอสกิลด์อีกครั้งในฐานะหนึ่งในทีมงานของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

ขั้นตอนในการสร้างภาพเรือจำลองในแผนที่พิเศษไวกิ้ง

เฟร์นันโดมีภาพอยู่ในหัวแล้วเกี่ยวกับฉากที่ว่า ชาวไวกิ้งล่องเรืออย่างไรและนำเรือเทียบท่าอย่างไร จากนั้นก็วาดภาพฉากเหล่านั้นขึ้นมา

เขาเริ่มลงมือทำงานชิ้นนี้โดยใช้เวลา 2-3 วันแรกไปกับการตะลุยอ่านทุกอย่างเกี่ยวกับไวกิ้งเท่าที่หาได้ เมื่อได้ข้อมูลมาจำนวนหนึ่งแล้ว เขาก็เข้าใจว่า หัวใจสำคัญของการขยายอิทธิพลของชาวไวกิ้งอยู่ที่เรือของนั่นเอง เขาจึงตั้งใจวาดให้เรือเป็นพระเอก ในแผนที่ด้านที่เป็นรูปเรือ เขาได้ลองออกแบบเรือมาหลายแบบ แบบหนึ่งมีภาพร่างของเรือหกลำ อีกแบบเจาะไปที่เรือลำเดียว หลังจากหารือกับ Creative Director แล้ว พวกเขาก็ตัดสินใจกันว่า ภาพที่สื่อเรื่องราวได้ดีที่สุดควรจะเป็นภาพที่เจาะให้เห็นรายละเอียดของเรือลำเดียว แต่ควรจะเลือกลำไหนล่ะ เฟร์นันโดเลือกเรือ Gokstad เพราะเป็นเรือสัญลักษณ์ของชาวไวกิ้ง มีหน้าที่การใช้งานหลากหลาย สง่างาม และแข็งแกร่ง และยังเป็นเรือที่ไวกิ้งที่คนรู้จักกันดีที่สุดด้วย

ในการทำงานชิ้นนี้ เฟร์นันโดต้องเดินทางสองครั้ง ในเดือนกรกฎาคม ปี 2016 เขาเดินทางจากชิคาไปที่เมืองเจนีวาในรัฐอิลลินอยส์ เพื่อดูเรือจำลองของเรือ Gokstad ปี 1893 ลำจริง ซึ่งค้นพบที่เนินฝังศพจากยุคไวกิ้งใกล้ Sandefjord ในนอร์เวย์ (http://www.vikingship.us/tours.htm) และเป็นเรื่องบังเอิญที่ในตอนนั้น เรือไวกิ้งจำลองลำใหญ่ที่สุดชื่อ Draken Harald Hårfagre (หรือ Harald Fairhair) ก็เดินทางจากนอร์เวย์ไปถึงชิคาโกโดยการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกพอดี เฟร์นันโดไปชมเรือลำนั้นและพูดคุยกับกะลาสีกับหัวหน้าช่างต่อเรือ ซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับลูกเรือและการต่อเรือ กะลาสีแต่ละคนจะมีตำแหน่งเฉพาะอยู่บนเรือ และเรือก็มีพื้นที่น้อย ฉะนั้นทุกคนจึงต้องอยู่บนดาดฟ้าเรือตลอดเวลา เพราะเรือมีท้องเรือแบนและไม่มีที่ให้อยู่ใต้ดาดฟ้าเรือแต่อย่างใด เฟร์นันโดได้เห็นกับตาว่า กะลาสีแต่ละคนยกไม้กระดานออกจากดาดฟ้าเรือเพื่อจะได้มีที่นั่ง เขายังได้เห็นว่าทุกคนกางเต๊นท์กลางเรือเพื่อกันแดดและลมฝนอย่างไร  จากนั้นก็ใช้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์จริง มาปรับภาพร่างของเขา

อีกสองสามเดือนให้หลัง เฟร์นันโดก็เดินทางไปเดนมาร์ก

เขาได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่งานเสวนางานหนึ่งในกรุงโคเปนเฮเกน และใช้โอกาสนี้ในการทำงานเรือไวกิ้งของเขา

อะแมนดา ฮอบส์ นักค้นคว้าวิจัยซึ่งอาศัยอยู่ในสวีเดน เป็นธุระจัดแจงให้เขาได้พบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่พิพิธภัณฑ์เรือไวกิ้ง (Viking Ship Museum หรือ VikingeskibsMuseet) ที่เมืองรอสกิลด์ และเข้าร่วมงานกับเฟร์นันโดที่เดนมาร์ก ทั้งคู่ใช้เวลาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เรือไวกิ้งตลอดทั้งวัน ที่นั่นเฟร์นันโดได้ชมเรือ Skuldelev ของจริงห้าลำแบบใกล้ชิด ซึ่งขุดพบในฟยอร์ดรอสกิลด์ อีกทั้งได้ชมเรือจำลองของเรือเหล่านี้ทั้งห้าลำซึ่งจอดอยู่ในอ่าว

เฟร์นันโดกับอะแมนดา ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ และสถาปนิกนาวี (มอร์เตน ราฟน์ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ ยังแนะนำให้ผู้ที่ชื่นชอบชาวไวกิ้งให้ดูซีรี่ส์เรื่อง Vikings ของ History Channel ด้วย และนีล ไพรซ์ ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่เบื้องหลังการผลิตสารคดีของ History Channel อีกคน ก็ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับอะแมนดา) เฟร์นันโดกับอะแมนดาได้ข้อมูลทางภาพจากห้องสมุดของพิพิธภัณฑ์ และถ่ายรูปไว้มากมาย เฟร์นันโดได้รู้ว่ากัปตันเรือมักอยู่ที่ท้ายเรือ ยามสังเกตการณ์จะอยู่ด้านหัวเรือ และทาสจะอยู่กลางเรือเพื่อถ่วงน้ำหนักให้เรือสมดุลย์ ข้อมูลนี้เป็นจุดเริ่มของการวางตำแหน่งผู้คนบนเรือในแผนที่ เฟร์นันโดยังได้รู้อีกด้วยว่า ชาวไวกิ้งไม่ได้ผูกเกราะไว้ที่ข้างเรือด้วยเชือกตอนแล่นเรืออย่างที่เขาเคยคิดมาก่อน

ระหว่างที่เขาศึกษาไม้กระดานดาดฟ้าเรือของเรือ Skuldelev ลำดั้งเดิมลำหนึ่ง เฟร์นันโดก็สังเกตเห็นว่า เขาสามารถยกไม้ออกได้อย่างสบายๆ เขาจึงสอบถามผู้เชี่ยวชาญซึ่งยืนยันว่าทำเช่นนั้นได้จริงๆ เพราะชาวไวกิ้งไม่ตอกตะปูบนดาดฟ้าเรือ ไม้กระดานจึงยกออกได้โดยง่าย เรือไวกิ้งจะต้องมีความยืดหยุ่นสูงเพื่อให้ปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวการณ์ และต้องทนทานต่อคลื่นแรงลมทุกประเภทในท้องทะเล

เฟร์นันโดกับอะแมนดาอยู่ที่พิพิธภันฑ์นั้นครึ่งวัน เขาได้รู้ว่านักรบไวกิ้งจะมีอายุมากไม่ได้ โดยจะอยู่ในช่วงราว 35 ปี อะแมนดา ฮอบส์ ใช้เวลาค้นคว้าอยู่ 140 ชั่วโมงเพื่อทำแผนที่พิเศษนี้

จากนั้น เฟร์นันโดก็ปรับเปลี่ยนแผนที่จากข้อมูลที่ได้อีกครั้ง

หลังจากร่างภาพเบื้องต้นเสร็จแล้ว เฟร์นันโดก็สร้างแบบจำลอง 3 มิติของจริงขึ้นมา เขานิยมใช้มือในการสร้างแบบจำลอง และพยายามไม่ใช้คอมพิวเตอร์ เพราะเขาชอบความรู้สึกว่าได้สัมผัสตัวงานด้วยมือของตนเองจริงๆ เขาสร้างแบบจำลองขึ้นมาอย่างรวดเร็วและง่ายดาย แถมยังรู้สึกสนุกไปกับทุกขั้นตอน แบบจำลองเรือทำให้เขารู้ข้อมูลเกี่ยวกับพลวัตทางกายภาพ (physical dynamic) แสง และพื้นผิวสัมผัสของเรือ จากนั้นเขาก็ใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการปรับปรุงภาพร่างเรือให้ดีขึ้น

 

Recommend