จนถึงหยดสุดท้าย

จนถึงหยดสุดท้าย

เรื่อง ลอรา ปาร์กเกอร์
ภาพถ่าย แรนดี โอลสัน

“โอ๊ะ” บราวนี วิลสัน ร้องเสียงหลงเมื่อเทปวัดระยะทางที่ฉันกำลังหย่อนลงไปในบ่อบาดาลกลางทุ่งหญ้าแพรรี ของรัฐแคนซัสหลุดมือหายวับไปในความลึกเบื้องล่าง

บ่อที่กว้างพอจะตกลงไปได้นี้สูบน้ำจากชั้นหินอุ้มน้ำโอกัลลาลา (Ogallala Aquifer) แอ่งน้ำจืดใต้ดินขนาดใหญ่ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตสมัยใหม่ในหลายรัฐอันแห้งแล้งทางตอนกลางของสหรัฐฯ เรามาที่นี่เพื่อตรวจสอบสภาพชั้นหินอุ้มน้ำมาตรวัดแตะน้ำที่ระดับ 60 เมตร ต่ำกว่าปีที่แล้ว 30 เซนติเมตร ระดับที่ลดลงนี้บ่งชี้ว่าน้ำใกล้แห้งขอดเต็มที “บ่อนี้มีน้ำไม่พอสำหรับการชลประทานตลอดฤดูร้อนนี้แล้วครับ” วิลสันว่า

วิลสันเป็นผู้จัดการฝ่ายข้อมูลน้ำของหน่วยสำรวจทางธรณีวิทยาของรัฐแคนซัส และเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่มุ่งหน้ามายังภาคตะวันตกของแคนซัสทุกฤดูหนาวเพื่อเก็บข้อมูลว่า  ชั้นหินอุ้มน้ำแห่งนี้แห้งเหือดไปรวดเร็วเพียงใด น้ำใต้ดิน เบื้องล่างสะสมตัวอยู่ในชั้นหินที่มีรูพรุนมาราว 15,000 ปี หรือก่อนสิ้นสมัยน้ำแข็งครั้งสุดท้าย  ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาน้ำจากชั้นหินอุ้มน้ำโอกัลลาลาถูกสูบขึ้นมาในอัตราเร็วเกินกว่าน้ำฝนและหิมะที่ละลายจะซึมลงไปทดแทนได้ทัน สาเหตุหลักเป็นเพราะเครื่องจักรกลชลประทานแบบที่อยู่ใกล้ๆนั่นเอง  ในบางพื้นที่ทางตะวันตกของแคนซัสชั้นหินอุ้มน้ำ ลดลงกว่าร้อยละ 60  ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว  และในบางพื้นที่ชั้นหินอุ้มน้ำก็แห้งไปแล้ว  ขณะนี้การลดลงเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ว่าปีนั้นจะมีน้ำมากหรือน้อย  เช่น เมื่อปี 2015 ฝนตกหนักกว่าปกติถึงร้อยละ 50-100   ทว่าระดับน้ำในบ่อยังลดลงอีก

การนั่ง “รถถัง” หรือแท็งก์พลาสติกใส่น้ำเลี้ยงปศุสัตว์ ล่องไปตามแม่น้ำแคละมัสสายตื้นๆทางตอนกลางของรัฐเนแบรสกา คือแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว ปริมาณน้ำสองในสามของชั้นหินอุ้มน้ำโอกัลลาลาอยู่ใต้รัฐนี้ จึงมีน้ำใต้ดิน หล่อเลี้ยงน้ำพุ ลำธาร และแม่น้ำนับไม่ถ้วนไม่ขาดสาย

ฉันติดสอยห้อยตามวิลสันมาจนเกือบสิ้นสุดการเดินทางไกล 8,000 กิโลเมตรตามแนวเขตของโอกัลลาลา ซึ่งทอดยาวจากเซาท์ดาโคตาถึงเทกซัส  ฉันขับรถผ่านพื้นที่การเกษตรอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดภูมิภาคหนึ่งและเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมการเกษตรมูลค่าอย่างน้อย 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปลูกข้าวสาลี ข้าวโพด และเลี้ยงวัวเนื้อเกือบหนึ่งในห้าของทั้งประเทศ  เวลานี้คนที่นี่กำลังเผชิญกับการตัดสินใจอันยากเย็น กล่าวคือ เกษตรกรอาจลดการใช้น้ำเพื่อยืดอายุชั้นหินอุ้มน้ำ หรือดำเนินชีวิตไปบนหนทางเดิมซึ่งทอดสู่จุดจบที่มองเห็นอยู่รำไร บางคนไม่อยากมองสถานการณ์นี้ ในแง่ลบเกินไป แต่ถ้าไม่หยุดสูบน้ำและชั้นหินอุ้มน้ำแห้งเหือดไปจริงๆ ตลาดอาหารทั่วโลกจะได้รับผลกระทบใหญ่หลวงวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆนี้จะค่อยๆเผยให้เห็นในช่วงหลายสิบปีข้างหน้า ซึ่งโลกต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 เพื่อเลี้ยงปากท้องประชากรกว่าเก้าพันล้านคนในช่วงกลางศตวรรษ

การลดระดับของชั้นหินอุ้มน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อระดับน้ำใต้ดินในเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลางลดลงอย่างรวดเร็ว ชั้นหินอุ้มน้ำเหล่านี้ รวมถึงทางใต้ของโอกัลลาลา ยากจะฟื้นตัวได้  เมื่อไรน้ำหมด อาจต้องใช้เวลาหลายพันปีจึงมีน้ำเต็มเปี่ยมอีกครั้ง

ตะกอนที่ก่อตัวเป็นชั้นหินอุ้มน้ำโอกัลลาลาหลุดล่อนมาจากเทือกเขาร็อกกี ทำให้เกิดหินกรวดซึ่งนำไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง หินกรวดที่กองอยู่ใกล้เมืองสเลตัน รัฐเทกซัส กินพื้นที่ถึง 37.5 ไร่

จุดหมายของวิลสันพาเราออกจากพรมแดนโคโลราโดไปทางตะวันออก 30 กิโลเมตร ผู้ใช้น้ำจากโอกัลลาลาหรือที่เรียกกันว่าชั้นหินอุ้มน้ำไฮเพลนส์มักใช้คำว่า “หนา” หรือ “บาง” เวลาพูดถึงชั้นน้ำ ซึ่งก็คือคำอธิบายลักษณะของชั้นหินอุ้มน้ำเองด้วย  โอกัลลาลาเป็นเสมือนฟองน้ำใต้ดินขนาดยักษ์ที่ประกอบด้วยหิน ทรายแป้ง ทราย และดิน น้ำทั้งหมดแทรกอยู่ในซอกพรุนของฟองน้ำ วิลสันอธิบายว่า ถ้าม้วนผิวดินด้านบนออกเหมือนพรม ฟองน้ำข้างใต้จะดูคล้ายถาดไข่ว่างเปล่าที่ประกอบด้วยยอดเขาและหุบเขาความลึกแตกต่างกันไป  ในบางพื้นที่ทางตะวันตกของเนแบรสกาซึ่งโอกัลลาลายังมีน้ำเหลือเฟือ ฟองน้ำอาจแผ่ขยายขึ้นไปถึง 300 เมตรจากผิวดิน นั่นหมายความว่าชั้นหินอุ้มน้ำดังกล่าว มีน้ำเป็นชั้น “หนา” ส่วนทางตะวันตกของแคนซัสที่เราอยู่ ชั้นหินอุ้มน้ำมีลักษณะลุ่มๆดอนๆจนทำให้ในบางพื้นที่ชั้นน้ำ “บาง” มักอยู่ห่างจากชั้นน้ำ “หนา” เพียงไม่กี่กิโลเมตร

ขณะมุ่งหน้าลงใต้ ฉันรู้สึกถอดใจขึ้นมา วลีที่ว่า “สูญสิ้นแบบมีการจัดการ” (managed depletion) กลายเป็นส่วนหนึ่งของคำศัพท์ประจำท้องถิ่นไปแล้ว ไม่ว่าแวะที่ไหน ฉันเป็นต้องถามใครต่อใครว่าจะเกิดอะไรขึ้นและจะทำอะไรได้บ้าง หลายคนกังวลว่าน้ำจะแห้งก่อนถึงคนรุ่นต่อไป แต่ไม่มีใครมองเห็นทางออกที่จะไม่ก่อผลกระทบทางการเงินหรือที่แย่กว่านั้นคือการล้มละลาย หลายคนบอกว่าจะปล่อยให้น้ำในบ่อเป็นผู้ตัดสิน ผู้จัดการน้ำคนหนึ่งบอกว่า เกษตรกรบางคน “คิดว่าน้ำเป็นของตัวเองและจะสูบขึ้นมาเท่าไรก็ได้จนกว่าจะหมด” ฟาร์มโคเนื้อซึ่งเป็นธุรกิจมูลค่าสูงจะยืนหยัดต่อไปได้ แต่ข้าวโพดต้องย้ายไปยังรัฐที่มีฝนชุกกว่า  ความหวังอยู่ที่เทคโนโลยี  เกษตรกรบางรายอวดแอปพลิเคชันในไอโฟนที่ตรวจสอบการใช้น้ำได้แม่นยำถึงขั้นนำน้ำซึ่งมีอยู่เพียงหนึ่งในสี่เซนติเมตรไปใช้รดพืชผลได้ให้ฉันดู

ขณะที่พายุยามค่ำทำให้ท้องฟ้าใกล้เมืองวูดริเวอร์ รัฐเนแบรสกา สว่างเรืองรอง นกกระเรียนราว 413,000 ตัวก็บินมา หากินในท้องน้ำตื้นๆของแม่น้ำแพลตต์ ซึ่งรับน้ำจากชั้นหินอุ้มน้ำโอกัลลาลา

เพื่อแก้ปัญหารายได้ลดลงเมื่อบ่อแห้ง เกษตรกรบางส่วนหันไปพึ่งแหล่งทรัพยากรหมุนเวียนแท้จริงเพียงอย่างเดียวในไฮเพลนส์  นั่นคือลม ฉันขับรถผ่านพื้นที่ซึ่งติดตั้งกังหันลมใหม่ๆไว้เป็นบริเวณกว้าง นอกเมืองฟรีโอนา รัฐเทกซัส เวสลีย์ บาร์เน็ตต์ ให้บริษัทพลังงานเช่าสิทธิการใช้ลมในอัตราราวปีละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อกังหันลมหนึ่งตัว “ถึงอย่างไรเราก็ไม่มีน้ำจะทำอะไรได้อีกแล้ว สำหรับบางคน ลมคือเครื่องช่วยชีวิตครับ” เขาบอก

พื้นที่บางส่วนของโอกัลลาลาอาจยังมีน้ำไปอีกอย่างน้อย 100 ปี แต่ใจกลางชั้นหินอุ้มน้ำแห่งนี้คือจุดที่เสี่ยงต่อการแห้งเหือดมากที่สุด เขตอันตรายนี้พาดขวางภูมิภาคเทกซัสแพนแฮนเดิลหรือพื้นที่รูปด้ามกระทะตอนเหนือสุดของรัฐเทกซัส พื้นที่ดังกล่าวก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งการแห้งเหือดถาวรแล้ว

การลดลงของชั้นหินอุ้มน้ำจะดำเนินควบคู่ไปกับผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าจะทำให้ฤดูร้อนยาวนานขึ้น  เช่นเดียวกับภัยแล้งที่เกิดถี่ขึ้นและกินเวลานานมากขึ้น

Recommend