มังกรโคโมโด กำลังเผชิญอนาคตที่ไม่อาจคาดเดา
หากคิดจะจับมังกร ต้องเริ่มจากฆ่าแพะ ชำแหละเป็นชิ้น ๆ ขอให้เพื่อนที่แข็งแรงสองสามคนช่วยกันยกกับดักเหล็กยาวสามเมตรไปสักสามอันคว้าถุงเนื้อแพะ แล้วเดินขึ้นเขาลงห้วยไปอีกสองสามกิโลเมตร ไม่ต้องใส่ใจกับอากาศร้อนอบอ้าวกว่า 30 องศาเซลเซียส วางกับดักอันแรกพร้อมเนื้อชิ้นโต ๆ และแขวนถุงเนื้อแพะอีกสองสามถุงไว้ตามต้นไม้เพื่อให้ “กลิ่นคลุ้ง” ในอากาศ ทำซํ้าแบบนี้ทุกห้าหรือหกกิโลเมตรจนกับดักหมด ก่อนกลับมาที่แคมป์ ตักนํ้าเย็นใส่ถังราดศีรษะให้คลายร้อน เข้านอน แล้วค่อยย้อนกลับไปดูกับดักแต่ละอันในช่วงเช้าและบ่ายของวันรุ่งขึ้นและวันถัดไป ซึ่งไม่น่าจะมีอะไรมาติดกับ แต่ถ้าโชคดี มันก็จะเข้ามาใกล้กับดัก และคุณจะได้พบกิ้งก่าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ยักษ์ใหญ่หน้าถมึงทึงที่เรียกกันว่า มังกรโคโมโด
ชายที่คิดแผนนี้ขึ้นมาคือ เกลาดีโอ โชฟี นักชีววิทยาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์ หนุ่มใหญ่วัยสี่สิบปลายผู้นี้เดินทางมาอินโดนีเซียเมื่อปี 1994 เพื่อหาข้อมูลทำวิจัยปริญญาเอกด้านพันธุศาสตร์ของมังกรโคโมโด เขาได้เห็นสัตว์โบราณชนิดนี้อย่างใกล้ชิดและหลงใหลพวกมันทันที ขณะที่นักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ไม่ได้ใส่ใจพวกมันเท่าใดนักโชฟีเท้าความหลังว่า “ผมคาดหวังว่าจะพบองค์กรที่ศึกษาเรื่องมังกรโคโมโด พวกมันเป็นสัตว์ที่มีเสน่ห์และน่าสนใจพอ ๆ กับเสือและอุรังอุตัง แต่ไม่มีองค์กรที่ว่าเลยสักแห่งครับ มังกรโคโมโดอยู่กันตามลำพังจริง ๆ”
ดังนั้น โชฟีจึงขยายขอบเขตงานวิจัยของเขา เพื่อทำความเข้าใจชีวิตมังกรโคโมโดในทุกแง่มุม ด้วยความทุ่มเททำงานแบบปิดทองหลังพระ พร้อมกับทีมนักวิจัยระดับหัวกะทิชาวอินโดนีเซียและออสเตรเลีย โชฟีไม่เพียงเป็นแหล่งความรู้ส่วนใหญ่ของเราเกี่ยวกับมังกรโคโมโด แต่ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมโอกาสอยู่รอดของพวกมันท่ามกลางความท้าทายมากมายในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด แม้ว่ามังกรเหล่านี้อาจเติบโตได้ถึงสามเมตรและหนักร่วม90 กิโลกรัม แต่พวกมันก็ยังสุ่มเสี่ยงต่ออุปสรรคมากมายในปัจจุบันซึ่งส่งผลต่อสัตว์หลายชนิด ตั้งแต่การสูญเสียถิ่นอาศัยไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อันที่จริง ตะกวดซึ่งเป็นชื่อวงศ์ของมังกรโคโมโด เอาชีวิตรอดผ่านวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงของโลกมาหลายยุคหลายสมัย ชนิดพันธุ์ที่ว่านี้น่าจะถือกำเนิดขึ้นเมื่อห้าล้านปีก่อน แต่สกุลของมันอาจย้อนหลังกลับไปถึงราว 40 ล้านปีและบรรพบุรุษที่เป็นไดโนเสาร์ของมันก็เคยท่องโลกเมื่อ 200 ล้านปีล่วงมาแล้ว
มังกรโคโมโด (Varanus komodoensis) ใช้ชีวิตเยี่ยงกิ้งก่าอย่างสมบูรณ์ ทั้งนอนอาบแดด ล่าเหยื่อและกินซากสัตว์ วางไข่และปกป้องไข่ โดยไม่คิดจะเลี้ยงดูหลังจากฟักเป็นตัว โดยทั่วไปมังกรโคโมโดมีอายุขัยระหว่าง 30 – 50 ปี และใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตอาศัยตามลำพัง ขณะที่ถิ่นกระจายพันธุ์ของพวกมันมีอยู่อย่างจำกัด โดยพบได้บนเกาะเพียงไม่กี่แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเกาะอินโดนีเซีย
ในฐานะสัตว์นักล่ามือฉมัง มังกรโคโมโดสามารถวิ่งได้เร็วถึง 19 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นช่วงสั้น ๆ พวกมันซุ่มโจมตีเหยื่อและฉีกเนื้อส่วนที่อ่อนที่สุด เช่น ท้อง หรือกัดให้ขาขาด นอกจากนี้ มังกรยังพ่น “ไฟ” ได้สมชื่ออีกด้วย เพราะในปากมีนํ้าลายพิษที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัว เหยื่อที่ถูกกัดจึงเสียเลือดอย่างรวดเร็ว พวกที่บาดเจ็บและหนีรอดไปได้มักได้รับเชื้อโรคจากแอ่งนํ้า และลงเอยด้วยการติดเชื้อไม่ว่าทางใด จุดจบก็ดูเหมือนไม่อาจหลีกเลี่ยง มิหนำซํ้ามังกรยังมีนํ้าอดนํ้าทนเป็นเลิศอีกด้วย
กิ้งก่าพวกนี้ยังกินซากด้วย พวกมันเป็นนักฉวยโอกาสที่สอดส่ายสายตาหาอาหารตลอดเวลา ไม่ว่าจะยังเป็น ๆหรือตายแล้ว การหากินซากใช้พลังงานน้อยกว่าการล่า และมังกรโคโมโดก็สามารถดมกลิ่นซากเน่าเปื่อยได้ไกลหลายกิโลเมตร กิ้งก่ายักษ์ยังไม่จู้จี้เลือกกิน พวกมันไม่กินทิ้งกินขว้าง และแทบไม่ปล่อยให้อะไรเสียของเลย
แม้นิสัยของมังกรโคโมโดออกจะน่าสะอิดสะเอียน แต่ก็ใช่ว่าชาวเกาะจะมีทีท่าหวาดกลัวหรือรังเกียจพวกมันเสมอไปที่หมู่บ้านโคโมโด ฉันปีนบันไดไม้หงิก ๆ งอ ๆ ขึ้นไปบนบ้านใต้ถุนสูงของผู้เฒ่าชื่อจาโจซึ่งเดาว่าตัวเองน่าจะอายุ 85 ปี คนนำทางของฉันบอกว่า ชายร่างเล็กผู้นี้เป็นหมอมังกร
ซึ่งผู้เฒ่าก็ไม่ได้ปฏิเสธ ฉันถามแกว่าชาวบ้านรู้สึกกับมังกรและอันตรายที่พวกมันอาจก่อขึ้นอย่างไร “คนที่นี่เชื่อว่ามังกรเป็นบรรพบุรุษของเรา เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ครับ” ผู้เฒ่าจาโจตอบและเล่าต่อว่า สมัยก่อนเมื่อชาวเกาะฆ่ากวาง พวกเขาจะทิ้งเนื้อไว้ครึ่งหนึ่งเพื่อแบ่งปันให้ญาติมีเกล็ดของพวกเขา
จากนั้น ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป แม้จะไม่มีใครมีตัวเลขที่แน่ชัด แต่ดูเหมือนว่าประชากรมังกรโคโมโดจะลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 50 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียออกกฎหมายคุ้มครอง นัยว่าเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันจากนักอนุรักษ์ และตระหนักถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับมังกรโคโมโด พอถึงปี 1980 ถิ่นอาศัยส่วนใหญ่ของมังกรโคโมโดได้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติโคโมโด (Komodo National Park: KNP) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของเกาะโคโมโด เกาะรินจา และเกาะขนาดเล็กอีกหลายเกาะ ต่อมา เขตอนุรักษ์ธรรมชาติอีกสามแห่งก็เกิดขึ้นโดยสองในสามแห่งอยู่บนเกาะฟลอเรส