ทางการออสเตรเลียออกมารายงานว่า หนูหางโมเสก หรือ Bramble Cay melomys (Melomys rubicola) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรกที่สูญพันธุ์ เนื่องจาก สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change)
รัฐบาลออสเตรเลียได้ออกมาประกาศว่าหนูหางโมเสก ชนิด Melomys rubicola ได้สูญพันธุ์ลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ที่มีส่วนจากกิจกรรมของมนุษย์ หลังจากนักวิทยาศาตร์ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 ว่าพวกหนูตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในเกาะ Bramble Cay น่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรกๆ ที่ตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ถิ่นฐานของหนูหางโมเสก อยู่บนเกาะเล็กๆ ในแนวปะการัง Great Barrier Reef บริเวณช่องแคบทอร์เรส ครั้งสุดท้ายที่มีคนพบเห็นเจ้าหนูตัวเล็กพวกนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2552 เลยทีเดียว โดยในปี พ.ศ. 2557 นักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานอนุรักษ์สัตว์ได้พยายามกอบกู้พันธุ์สัตว์ชนิดนี้เอาไว้ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
Bramble Cay melomys หรือที่เป็นที่รู้จักกันในนาม “หนูหางโมเสก” (mosaic-tailed rat) เป็นสัตว์ฟันแทะที่ได้รับการตั้งชื่อตามเกาะที่มันอาศัยอยู่อย่าง Bramble Cay เกาะเล็กๆ ที่มีความสูงอยู่เหนือน้ำทะเลเพียงแค่ 3 เมตร
หนูหางโมเสกปรากฏตัวให้มนุษย์เห็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2387 แต่แล้วในปี พ.ศ. 2541 ก็มีข่าวร้ายเกิดขึ้นเมื่อแผ่นดินบางส่วนของเกาะได้ทรุดตัวลง ทำให้พื้นที่จากตอนแรกที่มีพื้นที่น้อยอยู่แล้วจาก 40,000 ตารางเมตร ลดลงไปอีกเหลือเพียงแค่ 25,000 ตารางเมตรเท่านั้น เรียกได้ว่าหายไปเกือบครึ่งเลยทีเดียว นั่นแปลว่า เหล่าบรรดาพืชและต้นไม้บนเกาะก็ต่างมีจำนวนที่ลดลงไปด้วย ทำให้หนูหางโมเสก สูญเสียที่อยู่อาศัยของพวกมันไปประมาณร้อยละ 97 เลยทีเดียว จึงพอสรุปได้ว่าการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล กลายเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้พวกมันสูญพันธุ์
ทั้งนี้ ทั่วโลกต่างประสบปัญหาน้ำทะเลสูงขึ้นเกือบ 20 เซนติเมตร ในระหว่างปี พ.ศ. 2444 ถึง พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 6,000 ปีที่ผ่านมา และในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2536 ถึงปี พ.ศ. 2557 ระดับน้ำทะเลบริเวณรอบๆ ช่องแคบทอร์เรส ก็ได้เพิ่มสูงขึ้นเกือบสองเท่าของอัตราเฉลี่ยทั่วโลก
จนถึงตอนนี้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอย่างหนูหางโมเสก อาจจะเป็นเพียงสายพันธุ์แรกของสัตว์อีกหลากหลายสายพันธุ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่มีปัจจัยส่วนหนึ่งจากกิจกรรมของมนุษย์
“ทั้งที่พวกเราก็ทำใจไว้ก่อนแล้ว ว่าจะต้องมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแน่ๆ แต่ก็อดที่จะใจหายไม่ได้เลย” ลี แฮนนาห์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านชีววิทยาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ Conservation International บอก
นอกจากนี้ ลียังได้เผยแพร่รายงาน กล่าวว่าสัตว์ที่มีถิ่นอาศัยอยู่บนเกาะเล็กๆ หรือภูเขาอาจจะถูกคุมคามจากภาวะโลกร้อนนี้มากที่สุด เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่ ทำให้สัตว์พวกนั้นไม่มีที่จะอพยพ หรือย้ายถิ่นฐานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
“แน่นอนว่าสัตว์บางชนิดอาจได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ถือเป็นแค่ส่วนน้อยเท่านั้น”
แต่ถึงอย่างไร พวกเราเองก็สามารถหาทางออกที่ส่งผลเสียน้อยที่สุด โดยการออกแบบพื้นที่คุ้มครองที่สามารถรองรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“สำหรับผม หากเราตื่นตระหนักกันเรื่องภาวะโลกร้อนกันมากกว่านี้ พวกมัน (หนูหางโมเสก) คงไม่ต้องมาพบเจอกับชาตะกรรมที่เลวร้ายแบบนี้”
***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
อ่านเพิ่มเติม : เพราะเหตุใดแมลงสาบถึงไม่สูญพันธุ์