ปลาโลงศพ (Coffinfish) ใช้เหงือกอันพองโตของมันในการเติมน้ำทะเลให้กับร่างกาย นับเป็นการค้นพบครั้งแรกในสัตว์ประเภทปลา
ด้วยชื่อที่แปลกประหลาดอย่าง ‘ปลาโลงศพ’ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ปลาทะเล หน้าตาประหลาดชนิดนี้จะมีวิวัฒนาการเพื่อให้เจริญเติบโตได้ในบริเวณก้นทะเลอันมืดมิด
นักวิทยาศาสตร์ทราบอยู่ก่อนแล้วว่า สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่บางครั้งเรียกว่า คางคกทะเล เหล่านี้ มีครีบพิเศษที่ใช้ในการ “เดิน” บนพื้นทะเล แต่ปัจจุบัน งานวิจัยชิ้นใหม่ค้นพบการปรับตัวอีกอย่างหนึ่งของปลาโลงศพ กล่าวคือ ช่องเหงือกที่พองตัวได้ทำให้ร่างกายขยายใหญ่ขึ้นด้วยน้ำทะเล ทำให้พวกมันสามารถกักเก็บออกซิเจนได้มากขึ้นและยังสามารถกลั้นหายใจได้นานถึงสี่นาที
พฤติกรรมที่ว่านี้ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในปลา อาจเป็นวิธีช่วยกักเก็บพลังงานในสภาพแวดล้อมที่อาหารหายาก
การศึกษาการปรับตัวของสัตว์ทะเลลึกเหล่านี้ ช่วยให้นักชีววิทยาได้เรียนรู้วิธีการอันหลากหลายที่สิ่งมีชีวิตวิวัฒน์ขึ้นเพื่ออาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมสุดขั้ว
ทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์พบปลาโลงศพมากกว่า 20 ชนิด ซึ่งจริง ๆ แล้วจัดอยู่ในประเภทของปลาตกเบ็ด (anglerfish) ที่ความลึกสูงสุดประมาณ 2,500 เมตร โดยพวกมันวิวัฒน์จนกลายเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นทะเลเต็มตัวโดยแทบไม่ว่ายน้ำเลย
(เชิญรับชมวิดีโอ การหายใจของปลาโลงศพใต้น้ำ)
ชีวิตสโลไลฟ์ใต้น้ำ
ในการศึกษาเรื่องนี้ นักวิจัยใช้วิธีชำแหละและทำซีทีแสกนตัวอย่างของปลาโลงศพที่พิพิธภัณฑ์สัตววิทยาเปรียบเทียบ ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นอกจากนี้พวกเขายังได้ศึกษาฟุตเทจบันทึกภาพพฤติกรรมของปลาโลงศพหลายชนิดที่ได้จากโดรนใต้น้ำของสำนักงานบริหารมหาสมุทรและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือโนอา
ผลการวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Fish Biology พบว่า ช่องเหงือกของคางคกทะเลที่สามารถพองตัวได้นั้นช่วยเพิ่มปริมาตรร่างกายของพวกมันถึงร้อยละ 30 หากเปรียบเทียบกับมนุษย์ก็คือปอดที่ขยายใหญ่จนเต็มหน้าท้องนั่นเอง
ทีมวิจัยรู้สึกประหลาดใจที่พบว่า ปลาชนิดนี้สามารถกลั้นหายใจได้ และดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการหายใจปกติของมัน ปกติแล้ว พฤติกรรมเช่นนี้พบในสัตว์ที่ใช้ปอดในการหายใจ อย่างไรก็ตาม ปลาจำพวกปลาดุกหรือปลากด (catfish) มักกลั้นหายใจเป็นระยะ ๆ เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนต่ำ นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าปลาโลงศพนี้พองตัวเพื่อกักเก็บพลังงาน เพราะถึงที่สุดแล้ว แม้แต่การหายใจเองก็ต้องอาศัยพลังงาน
แม้ปลาโลงศพจะกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ตั้งแต่ปลาถึงหมึกสายและหนอน
John Caruso ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยทูเลนกล่าวว่า ความกังวลเดียวของเขาคือ ปลาโลงศพที่เราเห็นในฟุตเทจอาจจะกลั้นหายใจเพราะถูกรบกวนจากแสงไฟที่มาจากกล้องโดรนใต้น้ำ การสำรวจและการเฝ้าสังเกตเพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยืนยันว่า การกลั้นหายใจนั้นเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการหายใจปกติของสัตว์ชนิดนี้
หรือนี่จะเป็นกลไกการป้องกันตัว?
การพองตัวของปลาโลงศพนอกจากจะเป็นการกักเก็บพลังงานแล้ว ยังอาจเป็นกลไกการปกป้องตัวเองจากบรรดาสัตว์นักล่า คล้ายกันกับปลาปักเป้า อย่างไรก็ตาม ปลาปักเป้าสามารถกักเก็บน้ำทะเลไว้ในช่องท้องเพื่อคงรูปร่างไว้เมื่อถูกรบกวน เช่น ถูกบีบหรือกัด แต่ช่องเหงือกของปลาโลงศพกลับเปิดไว้ นั่นหมายความว่า หากพวกมันถูกกัดหรือถูกโจมตีน้ำย่อมสามารถรั่วออกมาจากร่างกาย กระนั้นศาสตราจารย์ Caruso เชื่อว่า สมมติฐานที่ว่าพฤติกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกป้องกันตัวมีความเป็นไปได้
***แปลและเรียบเรียงโดย ศุภพิชา คุณวุฒิ
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย