องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เผยวงจรค้าสัตว์เลื้อยคลานระดับโลก เต็มไปด้วยความทารุณและเป็นแหล่งเพาะโรคร้าย
ปัจจุบัน สัตว์ป่านานาชนิดจำนวนนับล้านตัว กำลังถูกคุกคามและตกเป็นเหยื่อในธุรกิจค้าสัตว์แปลกทั่วโลกที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการลดจำนวนลงของประชากรสัตว์ป่าทั่วโลก ล่าสุด องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ได้จัดทำสารคดีชื่อว่า “Ball pythons are wildlife #NotPets” เพื่อแจ้งเตือนเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในสัตว์เลื้อยคลาน คือ งูหลามบอล แอฟริกา (African Ball Pythons)
งูหลามบอลแอฟริกามีการซื้อขายเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงมากที่สุดในทวีปแอฟริกา โดยในสารคดีได้เปิดเผยความน่าตกใจของอุตสาหกรรมลักลอบจับสัตว์ป่าพบว่าในช่วงระยะเวลา 45 ปีที่ผ่านมา งูหลามบอลมากกว่า 3 ล้านตัวถูกส่งออกจากแอฟริกาตะวันตก เพื่อนำไปขายเป็นสัตว์เลี้ยงยัง 3 ทวีป ได้แก่ ยุโรป เอเชีย และอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสัตว์เลื้อยคลานรายใหญ่ที่สุดของโลก
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเผยว่า “การค้าสัตว์ป่าเป็นเสมือนระเบิดเวลาสำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของมนุษย์” เนื่องจากสัตว์ที่ถูกจับมาจากป่าธรรมชาติ หรือถูกเพาะพันธุ์ในกรงขังแคบๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมสกปรก เสื่อมโทรม อาจกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต และในขณะเดียวกันก็สร้างความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานอย่างโหดร้ายต่อสัตว์ป่าเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม: เสือโคร่ง ข้างบ้าน : ตีแผ่ขบวนการค้าสัตว์ป่าในสหรัฐฯ
จากการสำรวจพบว่า การค้าขายสัตว์เลื้อยคลานคิดเป็นร้อยละ 20 ในธุรกิจค้าสัตว์แปลกทั่วโลก และผลจากการประเมินพบว่ามีงูมากกว่า 5,000 ตัวที่อยู่กับนักเพาะพันธุ์สัตว์ในอเมริกาเหนือและสหภาพยุโรป ถูกดูแลโดยไม่ได้มาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสม เนื่องจากพวกมันถูกเลี้ยงอยู่ในภาชนะพลาสติกหรือกล่องแก้วขนาดไม่ใหญ่กว่าตัวมันนักเพื่อรอการจำหน่าย โดยเฉพาะงูหลามบอล ที่มักมีภาพปรากฏอยู่บนโปสเตอร์ขายสัตว์แปลก ร่วมกับสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ซึ่งมีผลมาจากมนุษย์มักคิดว่ามันเป็นสัตว์ที่ไม่มีความรู้สึกจึงไม่เจ็บปวดหรือทรมาน และจากชื่อของมันที่ว่า “งูหลามบอล” ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของมันที่มักขดตัวเองจนกลมแน่นคล้ายลูกบอลเมื่อเกิดความรู้สึกตึงเครียดหรือหวาดกลัว รวมถึงความเข้าใจผิดที่ว่า พวกมันเป็นสัตว์ที่ไม่ต้องรับการดูแลเป็นพิเศษ ล้วนเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พวกมันกลายมาเป็นสัตว์แปลกที่ถูกนิยมนำมาเลี้ยง
ใจความสำคัญของรายงานเรื่องนี้ ซึ่งทำการตรวจสอบในแอฟริกาตะวันตก สหภาพยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่า
- กว่าร้อยละ 99 ของงูหลามบอลทั่วโลก นำเข้ามาจาก 3 ประเทศในแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ โตโก เบนิน และกานา
- การทำฟาร์มงูหลามบอลในแอฟริกาตะวันตก มักเกิดจากการจับลูกงูหลามจากธรรมชาติ (โดยทำการขุดพวกมันออกจากโพรงอาศัย ก่อนจะยัดเข้าไปในกระสอบที่เต็มไปด้วยงูชนิดอื่นๆ ) ซึ่งอาจส่งผลให้พวกมันเกิดการติดเชื้อโรค ทนทรมาน บาดเจ็บ และตายลง
- มีสัตว์แปลกมากกว่า 10 ล้านตัวที่ถูกเลี้ยงภายในบ้านทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาแห่งเดียวมีมากกว่าร้อยละ 51 ของสัตว์เลื้อยคลาน หรือประมาณเกือบ 9 ล้านตัวที่ถูกเลี้ยงโดยมนุษย์
- งูหลามบอลเป็นสัตว์ที่มีความต้องการที่ซับซ้อนและมีเอกลักษณ์โดยเฉพาะ เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานแม้ต้องถูกเลี้ยงในสถานที่กักขัง รวมถึงต้องการพื้นที่เพื่อที่จะเหยียดตัวเต็มความยาวของลำตัว ซึ่งสถานที่เดียวที่พวกมันจะแสดงออกทางพฤติกรรมทางธรรมชาติได้ดีที่สุดก็คือในป่า
- การกักขังงูหลามบอลมักถูกจำกัดในพื้นที่ขนาดเล็กกว่าแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมัน และโดยทั่วไปมักไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำ แหล่งอาศัย ถึงแม้ผู้เลี้ยงจะตกแต่งพื้นที่ให้ดูเป็นธรรมชาติ หรือให้การดูแลพวกมันอย่างเหมาะสมก็ไม่สามารถทดแทนที่อยู่ตามธรรมชาติได้
ปัจจุบันสื่อออนไลน์ต่างๆ ได้ร่วมผลักดันให้เกิดกระแสความนิยมให้กลุ่มผู้ซื้อ ซึ่งส่งผลต่อการค้าสัตว์แปลกที่โหดร้าย โดยมีช่องทางที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ Facebook, YouTube และ Instagram โดยร้านค้าสัตว์เลี้ยงและเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเหล่านี้ยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการของผู้ซื้อและตลาดที่เกิดขึ้นสำหรับสัตว์เลี้ยงแปลกใหม่ เช่น งูหลามบอล
การยุติห้ามค้าสัตว์ป่าทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาเพียงทางเลือกเดียวที่เหมาะสมที่สุด ทั้งเพื่อปกป้องสัตว์ป่า ช่วยให้สัตว์ป่าไม่ต้องถูกกักขังอย่างทรมาน และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อและเชื้อโรคต่างๆ อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม: ความจริงของตลาดค้าสัตว์ป่าจีนในยุคไวรัสโคโรนา
ทั้งนี้จากการระบาดของ “โคโรนาไวรัส” และการระบาดของการติดเชื้อ “ซาลโมเนลลา” เป็นตัวชี้ให้เห็นว่า สัตว์ป่าที่มีความตึงเครียดและได้รับบาดเจ็บ สามารถส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของมนุษย์ได้ ดังนั้น การดำเนินงานเพื่อยุติการค้าสัตว์แปลกจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่เพียงแต่เพื่อสวัสดิภาพและความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ แต่ยังเพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์เองด้วย
Edith Kabesiime ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก แอฟริกา กล่าวว่า “ตอนนี้เราเริ่มเห็นผลกระทบจากการแสวงหาผลประโยชน์จากประชากรงูโดยธรรมชาติที่โหดร้าย และความทุกข์ทรมานจากสัตว์ป่าที่ต้องถูกพรากจากถิ่นที่อยู่เดิม และถูกจับยัดลงในกระสอบเพื่อนำมาเพาะพันธุ์ในที่กักขัง ซึ่งไม่ใช่วิถีชีวิตที่สัตว์ป่าจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการค้างูหลามบอลแอฟริการะหว่างประเทศ นับเป็นแหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับชุมชนท้องถิ่นบางแห่ง แต่ในอนาคตเมื่องูหายไปหมด เงินก็จะหมดลงเช่นกัน ซึ่งจากการระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้เราก็เริ่มตระหนักถึงค่าใช้จ่ายในช่วงวิกฤต เนื่องจากความต้องการสัตว์เลี้ยงหรูหราเริ่มกลายเป็นราคาที่แพงเกินคุ้ม”
Cassandra Koenen หัวหน้าแคมเปญสัตว์ป่าไม่ใช่สัตว์เลี้ยง องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “การค้างูหลามบอล ซึ่งเป็นสัตว์แปลกที่ได้รับความนิยมมากในตลาดสัตว์แปลกขนาดใหญ่ทั่วโลก กำลังส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่านับล้านตัวในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งงูเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ถูกเข้าใจผิดกันมากที่สุด ทำให้สัตว์ป่าเหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างโหดร้ายจากการถูกจับไปกักขัง”
“ไม่ว่าจะเป็นการค้าที่ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย การมีสัตว์ป่าไว้เป็นสัตว์เลี้ยงถือเป็นการกระทำที่โหดร้าย อีกทั้งผู้ขายงูหลามบอลในอเมริกาเหนือและยุโรป ส่วนมากมักไม่ผ่านมาตรฐานการดูแลสัตว์ขั้นต่ำ โดยงูเหล่านี้ต้องถูกยัดลงไปในภาชนะพลาสติกขนาดเล็ก คับแคบ ไม่มีแม้ที่ว่างให้ขยับตัวเคลื่อนที่ และไม่มีน้ำ ที่พักพิง หรือสภาพแวดล้อมที่จำเป็นสำหรับการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย สภาพความเป็นอยู่ที่หดหู่เช่นนี้คือการทรมานสัตว์ทั้งสิ้น ซึ่งผู้ขายอาจจะลืมไปว่างูเหล่านี้เป็นสัตว์ป่า ไม่ใช่สินค้า และสัตว์ป่าไม่ใช่สัตว์เลี้ยง พวกมันสมควรที่จะได้อยู่ในป่าตามธรรมชาติ” Cassandra กล่าวปิดท้าย
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เรียกร้องให้ผู้คนไม่ซื้อหรือเพาะพันธุ์ งูหลามบอล เพื่อนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง เพราะชีวิตที่ถูกกักขังของงู เป็นโลกที่โหดร้ายและต่างจากชีวิตในป่าอย่างมาก ร่วมลงชื่อยุติการซื้อขายสัตว์แปลก และไม่นำสัตว์แปลก เช่น งูหลามบอล มาเป็นสัตว์เลี้ยง ได้ทาง https://www.worldanimalprotection.or.th/buy-exotic-pets
ภาพถ่าย Aaron Gekoski / World Animal Protection
ชมสารคดี “Ball pythons are wildlife #NotPets”
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ไดโนเสาร์ กลายเป็นสมบัติในห้องนั่งเล่น