วาฬสีน้ำเงิน อาจไม่ใช่สัตว์ที่ใหญ่ที่สุดอีกต่อไป! พบกระดูกฟอสซิลอายุ 37 ล้านปีที่มีหนัก 300 ตัน คาด! อาจเป็นสัตว์หนักที่สุดเท่าที่เคยมีมา

วาฬสีน้ำเงิน อาจไม่ใช่สัตว์ที่ใหญ่ที่สุดอีกต่อไป! พบกระดูกฟอสซิลอายุ 37 ล้านปีที่มีหนัก 300 ตัน คาด! อาจเป็นสัตว์หนักที่สุดเท่าที่เคยมีมา

วาฬสีน้ำเงิน ครองตำแหน่งสัตว์ใหญ่ที่สุดตลอดกาลมาอย่างยาวนาน จากความยาวที่มีได้มากกว่า 30 เมตร และน้ำหนักกว่า 200 ตัน

แต่ตอนนี้ กระดูกโบราณจากชายฝั่งของประเทศเปรูในปัจจุบันอาจทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องเปลี่ยนใจ โดยผู้ค้นพบเชื่อว่ามันอาจหนักมากกว่า 300 ตัน และยาวกว่า 18 เมตร

จิโอวานี เบียนุคชี (Giovaniii Bianucci) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยปิซาและเพื่อนร่วมงานตั้งชื่อสัตว์ยักษ์ตัวนี้ว่า ‘Perucetus colossus’ กระดูกชิ้นแรกของมันถูกพบเมื่อ 13 ปีที่แล้วท่ามกลางโขดหินของหุบเขาอิกาทางตอนใต้ของเปรู ซึ่งใหญ่มากจนผู้เชี่ยวชาญคิดว่ามันเป็นก้อนหิน

อีไล แอมสัน (Eli Amson) นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติสตุตการ์ตในเยอรมนีได้ใช้เวลานับ 10 ปีเพื่อปลดปล่อยมันออกจากหิน ฟอสซิลที่ขุดได้ประกอบด้วยกระดูกสันหลัง 13 ชิ้น ซี่โครง 4 ชิ้น และสะโพกบางส่วน กายวิภาคของมันชี้ให้เห็นว่าเป็นญาติกับบาซิโลซอรัส (ปลาวาฬยักษ์โบราณชนิดหนึ่ง)

สิ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขาระบุว่าซากนี้มีสัญญาณของภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งเป็นภาวะกระดูกหนาและแน่นที่พบได้ในพะยูนและวาฬยุคแรก ๆ สิ่งนี้ช่วยให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลมีน้ำหนักมากพอที่จะอยู่ใต้น้ำได้โดยไม่หนักเกินไปที่จะกลับขึ้นมาบนผิวน้ำ

“ร่างกายที่หนาแน่นเกินไปหมายถึงการจมลงสู่ก้นบึ้งและต้องต้องใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเคลื่อนตัวกลับขึ้นมา” แอมสันกล่าว “เราใช้อัตราส่วนของเนื้อเยื่อโครงร่างต่อเนื้อเยื่ออื่น ๆ ทั้่งหมดที่รู้จักในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลหลายสายพันธุ์เพื่อประมาณมวลกาย”

ทีมวิจัยกำหนดช่วงน้ำหนักที่ Perucetus สามารถมีได้คือ 93 ตันถึง 370 ตัน หากมันอยู่ในน้ำหนักช่วงบนสุด มันจะกลายเป็นสัตว์ใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าจำเป็นต้องมีฟอสซิลเพิ่มเติมเพื่อระบุขนาดที่แท้จริง และการขาดโครงกระดูกครึ่งบนก็ทำให้ยากต่อการชี้ถึงน้ำหนักจริง ๆ ของมัน

กระนั้น แม้ว่า Perucetus จะไม่ได้มีขนาดยาวกว่าวาฬสีน้ำเงินปัจจุบัน แต่มันก็ยังเป็นสัตว์ยักษ์ใหญ่ในยุคนั้น นิโคลัส เพนย์สัน (Nicolas Pyenson) นักวิจัยวาฬที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้นพบกล่าวว่า แม้มันจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 60 ถึง 80 ตันก็ยังใหญ่อย่างน่าทึ่งอยู่ดี

“สิ่งที่ชัดเจนก็คือว่า มันเป็นสัตว์ขนาดมหึมา และดูเหมือนว่ามวลร่างกายของมันคล้าย ๆ กับวาฬสีน้ำเงิน แม้จะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงก็ตาม” ทราวิส พาร์ค (Travis Park) นักวิจัยวาฬอีกท่านหนึ่งกล่าวเสริม

วาฬสีน้ำเงินนั้นกินคริลล์และแพลงก์ตอนอื่น ๆ เป็นอาหาร แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า Perucetus น่าจะกินปลาตัวใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่ามันสามารถจับอาหารได้เพียงพอเพื่อเป็นเชื้อเพลิงให้กับร่างกายขนาดมโหราฬของมันได้อย่างไร แน่นอนว่าร่างกายที่ใหญ่โตก็ต้องการอาหารปริมาณมหาศาลมากขึ้นไปด้วย

“ยังคงเป็นปริศนาอย่างยิ่ง” แอมสันระบุ นักวิทยาศาสตร์ได้แต่เดาว่าจริง ๆ แล้วสัตว์ยักษ์ตัวนี้กินอะไรเป็นอาหาร อาจเป็นหอยกาบ กุ้ง เหยื่อที่มีเปลือกแข็ง หรืออาจจะเป็นซากสัตว์ แต่ไม่น่าจะเป็นพืช เพราะไม่มีวาฬตัวไหนกินพืชเป็นอาหาร

ทีมวิจัยหวังว่าจะมีการค้นพบเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์โบราณตัวนี้ และตอบคำถามว่าทำไมมันถึงพัฒนาโครงกระดูกที่หนาขึ้นเช่นนี้ และเมื่อพบวาฬยักษ์ตัวนี้ปรากฎขึ้น ก็น่าจะมีตัวอื่น ๆ เช่นกัน

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ Alberto Gennari via nationalgeographic .com

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/premium/article/ancient-whale-perucetus-colossus-largest-animal-ever

อ่านเพิ่มเติม วาฬเพชฌฆาต ออกล่าวาฬสีน้ำเงินอีกครั้ง ถือเป็นข่าวดีของธรรมชาติได้อย่างไร

Recommend