กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย กะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลก

กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย กะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลก

“กะท่างน้ำจากดอยสอยมาลัย ถูกศึกษาและตั้งชื่อว่า กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย

 นับว่าเป็นกะท่างน้ำชนิดที่ 7 ของประเทศไทย”

 

กะท่างน้ำ (crocodile newt) เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง (vertebrate) อยู่ในกลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (amphibian) อันดับซาลาแมนเดอร์และนิวท์ (order Urodela) กะท่างน้ำถูกจัดเป็นนิวท์ (newt) เพราะมีผิวหนังแห้งและขรุขระ ถูกจัดอยู่ในสกุล Tylototriton นอกจากมีรายงานการกระจายตัวที่ประเทศไทยแล้ว ยังมีการพบเจอตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยตะวันออก ตอนกลางและตอนใต้ของจีน รวมถึงเกาะไหหลำ และตอนเหนือของอินโดจีน ในประเทศไทยนั้น กะท่างน้ำมักอาศัยอยู่บนเทือกเขาสูงที่ชุ่มชื้นและเย็น ในช่วงฤดูแล้งและฤดูหนาวกะท่างน้ำจะอาศัยอยู่ในโพรงดิน โพรงต้นไม้ หรือใต้ขอนไม้ที่ชุ่มชื้น และจะไปยังแหล่งน้ำในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูสืบพันธุ์ ออกลูกเป็นไข่ที่มีเปลือกคล้ายวุ้น จากนั้นตัวอ่อน (larva) จะออกจากไข่และเจริญเติบโตโดยมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปร่างระหว่างการเจริญ (metamorphosis) จนถึงระยะตัวเด็ก (juvenile หรือ eft) จึงจะขึ้นมาอาศัยอยู่บนบก

กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย (Doi Soi Malai crocodile newt) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Tylototriton​ soimalai ถูกศึกษาและตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่ที่พบกะท่างน้ำชนิดนี้เป็นครั้งแรก ที่ ดอยสอยมาลัย หรือ หลังคาเมืองตาก จังหวัดตาก เป็นกะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลกและเป็นชนิดที่ 7 ที่มีรายงานในประเทศไทย โดยทีมนักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศสและญี่ปุ่น

กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย (T. soimalai)

การค้นพบกะท่างน้ำดอยสอยมาลัย

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2558 มีการเผยแพร่ข่าวการพบกะท่างน้ำบริเวณยอดดอยสอยมาลัย โดย ททท. ท่องเที่ยวไทย จึงนำมาสู่การติดตามและค้นหากะท่างน้ำดังกล่าวเป็นเวลาหลายปี โดยทีมวิจัยนำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ และรองศาสตราจารย์ ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ทีมวิจัยได้สำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนยอดดอยสอยมาลัยที่ระดับความสูงประมาณ 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล และค้นพบกะท่างน้ำตัวเต็มวัยและตัวอ่อนอยู่ในแอ่งน้ำ

กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย มีความใกล้ชิดทางวิวัฒนาการกับชนิดกะท่างน้ำเหนือ (T. uyenoi) ที่มีการกระจายตัวทางภาคเหนือของประเทศไทยมากที่สุด แต่กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย มีลักษณะเฉพาะ เช่น พื้นตัวสีดำ แต่มีสีสดบนร่างกายมีสีส้ม มีสันกระดูกกลางหัวที่แคบและสั้น เป็นต้น และจากการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรม ทำให้สามารถยืนยันได้ว่า กะท่างน้ำที่พบที่ดอยสอยมาลัย เป็นกะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลก

กะท่างน้ำดอยสอยมาลัยมีลักษณะสัณฐานที่แตกต่างจากกะท่างน้ำชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน โดยมีลักษณะเฉพาะคือ หัวมีความยาวมากกว่าความกว้าง ปลายจมูกทู่หรือเป็นปลายตัด สันกระดูกกลางหัวแคบ สั้น และชัดเจน แนวสันกระดูกข้างหัวเด่นชัดและขรุขระ มีต่อมพิษหลังตาที่เห็นได้ชัดเจน สันกระดูกสันหลังเด่นชัด กว้าง และไม่แบ่งเป็นท่อน มีต่อมพิษข้างลำตัว 14–16 ตุ่มซึ่งมีลักษณะกลมและแยกออกจากกัน ยกเว้นส่วนหลังที่เชื่อมต่อกัน     สีพื้นลำตัวเป็นสีดำและส่วนอื่น ๆ มีสีส้ม การวิเคราะห์ระดับโมเลกุลในยีน NADH dehydrogenase subunit 2 (ND2) ในไมโทคอนเดรีย พบว่ากะท่างน้ำดอยสอยมาลัยเป็นชนิดที่แยกต่างหาก โดยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกะท่างน้ำเหนือ (T. uyenoi) มากที่สุด โดยมีความแตกต่างของลำดับพันธุกรรม 4.1%

ปัจจุบันการค้นพบกะท่างน้ำดอยสอยมาลัยนี้ยังอยู่ในวงแคบเฉพาะบริเวณยอดดอยสอยมาลัยเท่านั้น ยังไม่มีการค้นพบในพื้นที่อื่น ๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอนุรักษ์และดูแลพื้นที่ดังกล่าวให้ปราศจากการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งกะท่างน้ำดอยสอยมาลัยจะอาศัยอยู่ในบริเวณแอ่งน้ำบนถนนเพื่อสืบพันธุ์และการเติบโตของตัวอ่อนจนกว่าจะถึงระยะโตเต็มวัย

จากการศึกษาและตั้งชื่อกะท่างน้ำดอยสอยมาลัยทำให้ปัจจุบันกะท่างน้ำที่พบในประเทศไทยมี 7 ชนิด ได้แก่

  • กะท่างหรือกะทั่งหรือกะท่างน้ำหิมาลัย (T. verrucosus) ถูกศึกษาและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดย Anderson 1871 มีสันกระดูกนูนข้างหัวค่อนข้างเรียบ มีสันกระดูกกลางหลังแคบและแบ่งเป็นท่อน เป็นต้น พบการกระจายตัวทางภาคเหนือ เช่น จ.เชียงราย
  • กะท่างน้ำเหนือหรือกะท่างน้ำอุเอะโนะ (T. uyenoi) ถูกศึกษาและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดย Nishikawa และคณะ 2013 มีปลายหัวมนหรือทู่ มีสันกระดูกกลางหลังกว้างและแบ่งเป็นท่อน เป็นต้น พบการกระจายตัวทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นชนิดที่พบเจอได้ง่ายที่สุด เช่น ดอยอินทนนท์ ดอยสุเทพ ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นต้น
  • กะท่างน้ำอีสานหรือกะท่างน้ำปัญหา (T. panhai) ถูกศึกษาและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดย Nishikawa และคณะ 2013 มีขาหน้าและขาหลังสีเดียวกับลำตัว แต่ปลายนิ้วมีสีส้มหรือเหลือง เป็นต้น พบทางภาคเหนือตอนล่างและบนเทือกเขาเลย-เพชรบูรณ์
  • กะท่างน้ำดอยลังกา (T. anguliceps) ถูกศึกษาและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดย Le และคณะ 2015 มีสันกระดูกกลางหัวขนาดใหญ่ มีสันกระดูกนูนข้างหัวที่ชันและส่วนปลายโค้งเข้าหาแนวกลางตัว เป็นต้น พบทางภาคเหนือ เช่น ดอยลังกา จ.เชียงราย
  • กะท่างน้ำดอยภูคา (T. phukhaensis) ถูกศึกษาและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดย Pomchote และคณะ 2020 มีสันกระดูกกลางหัวแคบและยาว เป็นต้น พบเจอที่ จ.น่าน
  • กะท่างน้ำอุ้มผาง (T. umphangensis) ถูกศึกษาและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดย Pomchote และคณะ 2021 มีหัวโต เนื่องจากกระดูกขากรรไกรบนมีขนาดใหญ่และมีติ่งกระดูกขนาดเล็กที่ปลายของขากรรไกรล่าง เป็นต้น พบเจอที่ภาคตะวันตก เช่น อ.อุ้มผาง
  • กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย (T. soimalai) ถูกศึกษาและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดย Pomchote และคณะ 2024 สันกระดูกกลางหัวแคบและสั้น และมีสันกระดูกสันหลังกว้างและไม่แบ่งเป็นท่อน เป็นต้น พบเจอที่ดอยสอยมาลัย จ.ตาก
กะท่างน้ำดอยภูคา (T. phukhaensis)
กะท่างน้ำดอยลังกา (T. anguliceps)
กะท่างน้ำเหนือหรือกะท่างน้ำอุเอะโนะ (T. uyenoi)
กะท่างน้ำอีสานหรือกะท่างน้ำปัญหา (T. panhai)
กะท่างหรือกะทั่งหรือกะท่างน้ำหิมาลัย (T. verrucosus)
กะท่างน้ำอุ้มผาง (T. umphangensis)

แม้ว่ากะท่างน้ำทั้ง 7 ชนิดจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่สำหรับผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญจะจัดจำแนกชนิดได้ไม่ง่ายนัก การนำข้อมูลพื้นที่ที่พบเจอมาประกอบกันจะช่วยในการระบุชนิดของกะท่างน้ำในเบื้องต้นได้

กะท่างน้ำเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ มีบทบาททั้งเป็นผู้ล่าและเหยื่อ สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพที่สามารถบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีศักยภาพในการนำสารต่าง ๆ จากเมือกและพิษมาศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ในมนุษย์ในอนาคต แม้ว่ากะท่างน้ำในประเทศไทยอาศัยอยู่บนเทือกเขาสูง โดยเทือกเขาสูงเหล่านี้มักอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งถูกคุ้มครองด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า การตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เข้าไปใช้พื้นที่ในป่าทั้งทางตรงและทางอ้อม ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบไม่เพียงแต่กะท่างน้ำแต่ยังรวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายคนที่จะได้รับผลกระทบก็หนีไม่พ้นมนุษย์นั่นเอง ดังนั้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจึงจำเป็นเพื่อการใช้ประโยชน์ในอนาคตอย่างยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง

Pomchote P, Peerachidacho P, Khonsue W, Sapewisut P, Hernandez A, Phalaraksh C, Siriput P, Nishikawa K (2024) The seventh species of the newt genus Tylototriton in Thailand: a new species (Urodela, Salamandridae) from Tak Province, northwestern Thailand. ZooKeys 1215: 185–208. https://doi.org/10.3897/ zookeys.1215.116624


อ่านเพิ่มเติม : กะท่างน้ำอุ้มผาง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดใหม่ของโลก

Recommend