มหาสมุทรจะพอเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นไหม?

มหาสมุทรจะพอเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นไหม?

มหาสมุทรจะพอเลี้ยง ประชากรโลก ที่เพิ่มขึ้นไหม?

หากจำนวนประชากรในปัจจุบันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญประมาณการณ์ว่าภายในปี 2050 นี้ เราจำเป็นต้องผลิตอาหารเพิ่มเป็น 2 เท่า จึงจะพอเลี้ยงดูคนทั้งโลก และปลาทะเลคือคำตอบ

“บนบกเราไม่มีพื้นที่เพียงพออีกแล้ว” Vera Agostini เจ้าหน้าที่จากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO กล่าว ในปี 2016 ทั่วโลกบริโภคปลาเป็นปริมาณ 171 ล้านตัน ในปี 2030 ที่จะถึงนี้ ตัวเลขดังกล่าวคาดกันว่าจะพุ่งสูงถึง 201 ล้านตัน และกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ บรรดาอุตสาหกรรมการประมงต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมตลอดจนการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยมองว่าการจับปลาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

เมื่อต้นฤดูร้อนที่่ผ่านมา FAO เผยแพร่เอกสารประมวลความรู้ที่ “The State of World Fisheries and Aquaculture” ซึ่งให้ข้อมูลประวัติความเป็นมาของอุตสาหกรรมการประมง ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ โดยมุ่งหวังให้เป็นแนวทางทำการประมงอย่างยั่งยืน

ในฐานะทรัพยากรอาหารที่สำคัญ ปลาอุดมไปด้วยโปรตีน เนื้อปลาน้ำหนัก 150 กรัม ให้ปริมาณโปรตีนเฉลี่ยมากพอแก่ปริมาณที่ร่างกายของผู้ใหญ่ต้องการในครึ่งวัน ในประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งรายบุคคลสูงเช่น จีน ปัจจุบันการบริโภคปลากำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และจากรายงานในปี 2016 ยุโรป, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาเองถือเป็นสามประเทศใหญ่ที่มีอุตสาหกรรมการประมงคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของทั้งโลก และหากวัดกันเป็นทวีปแล้ว ในปี 2015 การบริโภคปลาในเอเชียคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 จากปริมาณปลาทั้งหมด

 

ปลาจากทะเล

บรรดานักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ปลาทะเลสามารถกลายมาเป็นอาหารหลักเลี้ยงคนทั้งโลกได้ไหม โดยพิจารณาจากปลาทะเลที่มิได้อยู่ในทะเลอาณาเขตของประเทศใดโดยเฉพาะ (high seas)

งานวิจัยใหม่ที่เพิ่งเผยแพร่ลงในวารสาร Science Advances เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2018 พบว่า บรรดาปลาที่มาจากทะเลไกล (อาณาเขตห่างจากชายฝั่ง 321 กิโลเมตร) มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยในอุตสาหกรรมการประมงทั่วโลก

“ส่วนใหญ่ปลาจากทะเลไกลจะถูกขายในฐานะอาหารหรู” Enric Sala นักนิเวศวิทยา และนักสำรวจจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ผู้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้กล่าว “อุตสาหกรรมขนาดเล็กไม่จับปลาในทะเลไกล ดังนั้นปลาจึงตกเป็นของอุตสาหกรรมใหญ่ๆ”

นั่นเป็นเพราะ การจับปลาจากทะเลไกลนั้นมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิง และค่าแรงที่ค่อนข้างสูง ในรายงานอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่โดย Sala เองเมื่อเดือนมิถุนายน ทีมนักวิจัยพบว่าร้อยละ 54 ของการประมงในทะเลไกลไม่ได้กำไร เนื่องจากไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และหากต้องการจะครอบครองทรัพยากรเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เข้าถึงได้มักมาจากประเทศร่ำรวย เช่น จีน, สเปน, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

และไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมจากการประมงในทะเลไกลเท่านั้นที่ถูกครอบครองโดยประเทศร่ำรวย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา Science Advances เองระบุว่า หากไม่ใช่การประมงจากทะเลไกล ห้าประเทศข้างต้นนี้ก็ยังคงครอบครองอุตสาหกรรมการประมงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ด้านนักวิจารณ์อุตสาหกรรมประมงคนอื่นๆ ชี้ว่า FAO ควรโฟกัสไปที่อุตสาหกรรมการประมงขนาดเล็กมากกว่า เมื่อพิจารณาว่าจะเลี้ยงอาหารคนทั้งโลกอย่างไร

 

ความสนใจในตัวสัตว์น้ำที่เพิ่มมากขึ้น

แตกต่างจากปลาตามธรรมชาติ ปัจจุบันธุรกิจฟาร์มปลากำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว รายงานจากธนาคารโลก เมื่อปี 2014 คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 นี้ 62% ของอาหารทะเลทั่วโลกจะมาจากฟาร์มเลี้ยง และเมื่อผ่านมา 2 ปี FAO พบว่า ปัจจุบันอาหารทะเลที่เลี้ยงประชากรทั่วโลกนั้น ขณะนี้มาจากฟาร์มเลี้ยงแล้ว 47%

งานวิจัยที่เผยแพร่ลงในวารสาร Nature เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ชี้ว่าความทะเยอทะยานในการเติบโตของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทะเลเหล่านี้ คือกุญแจสำคัญที่จะรองรับปริมาณความต้องการอาหารโลก โดยไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากมหาสมุทร นอกจากนั้นยังพบว่าในมหาสมุทรบางพื้นที่ที่ระดับความลึก 650 ฟุต สามารถใช้เป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ ซึ่งจากการคำนวณการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ว่างที่พวกเขาคาดการณ์ไว้ ในอนาคตการเพาะเลี้ยงปลาในมหาสมุทรอาจช่วยผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกมากถึง 15,000 ล้านเมตริกตัน ต่อปีเลยทีเดียว

 

แล้วผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมล่ะ?

เมื่อทั่วโลกพากันให้ความสำคัญกับการประมงเพิ่มขึ้น ในฐานะทรัพยากรอาหารโลก สิ่งนี้กำลังสร้างความกังวลให้แก่บรรดานักสิ่งแวดล้อม

ในทะเล จำนวนของอุตสาหกรรมการประมงที่เพิ่มมากขึ้นจะนำไปสู่การประมงเกินขนาด ซึ่งในประเด็นนี้สามารถป้องกันได้ด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดว่าพื้นที่ใดสามารถจับได้ และพื้นที่ใดไม่สามารถจับได้ ในปี 2017 ข้อมูลจากดาวเทียม NOAA ของสหรัฐฯ พบว่าอัตราการประมงเกินขนาดยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทว่ายังคงต้องปรับตัวให้ลดลงอีก เนื่องจากในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า สายพันธุ์สัตว์ทั่วไปอาจกลายมาเป็นสัตว์เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ได้

อวนประมงเองก็เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์น้ำบางชนิด หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในน้ำอาจเผลอเข้าไปติดในอวน และการใช้อวนลากยังเป็นการทำลายแนวปะการัง นอกจากนั้นอวนประมงเก่ายังถือได้ว่าเป็นขยะที่พบได้มากที่สุดในมหาสมุทรอีกด้วย

สหประชาชาติเตรียมแผนเพิ่มพื้นที่คุ้มครองในมหาสมุทร รวมทั้งออกมาตรการจำกัดปริมาณการจับปลา ด้าน Sala และ Agostini คาดหวังว่าการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองเหล่านี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมการประมงเป็นไปอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดีการทำฟาร์มปลา แทนที่จะจับปลาตามธรรมชาตินั้น ใช่ว่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาใหญ่ เนื่องจากปลาบางสายพันธุ์ต้องการพื้นที่กว้างขวางในการเจริญเติบโต และการจำกัดพื้นที่ปิดนั้นยังส่งผลให้ปลาในฟาร์มเสี่ยงต่อโรคระบาดได้ง่ายขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้นการทำฟาร์มปลานอกชายฝั่ง หากมีพายุเกิดขึ้น และปลาที่ติดโรคหลุดหนีไป ก็จะยิ่งเป็นการสร้างปัญหาให้แก่ประชากรปลาตามธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียง

เรื่อง ซาราห์ กิบเบ็นส์

 

อ่านเพิ่มเติม

แหล่งน้ำเป็นพิษ ทำปลาไหลยุโรปติดโคเคน

Recommend