สิ่งที่ผู้ลี้ภัยนำติดตัวไปด้วย
เมื่อสงครามหวนคืนกลับมาชาวเซาท์ซูดานหลายแสนคนจําต้องพลัดที่นาคาที่อยู่อีกคราโดยมีเพียงสมบัติติดตัวแค่เพียงที่พอหยิบฉวยได้
ในวันแรกของเธอที่นิคมบิดีบิดีของชาวเซาท์ซูดานในยูกันดา ซึ่งเป็นบ้านของผู้ลี้ภัยเกือบ 300,000 คน ช่างภาพ โนรา โลเร็กเข้าหาผู้หญิงคนหนึ่งแล้วถามเธอว่านำอะไรติดตัวมาจากบ้านบ้าง “แค่เสื้อผ้าไม่กี่ชุดที่ห่อมากับผ้าปูที่นอนค่ะ” หญิงผู้นั้นตอบ
เมื่อปี 2011 เซาท์ซูดานกลายเป็นประเทศใหม่ล่าสุดของโลก ทว่าไม่นานหลังจากนั้น ในปี 2013 กลับดิ่งลงสู่สงครามกลางเมืองเมื่อข้อตกลงสันติภาพล้มพังพาบในปี 2016คลื่นผู้ลี้ภัยก็ไหลบ่าข้ามพรมแดนเข้าสู่ยูกันดาที่ซึ่งพวกเขาได้รับอนุญาตให้ทำงานเพาะปลูกและเด็ก ๆ สามารถไปโรงเรียนได้ สำหรับหลายคน นี่เป็นครั้งที่สอง สาม หรือสี่ ที่พวกเขาต้องหนีจากบ้านเกิดเมืองนอน
เมื่อโลเร็กตระเวนถามเกี่ยวกับผ้าปูที่นอน ผู้คนในบิดีบิดีก็ดึงเอา มีลาญา ผืนผ้าปักลวดลายรูปนก ดอกไม้ และลายอื่น ๆ ที่งามวิจิตร พวกผู้หญิงเรียนรู้วิธีทำจากแม่และย่ายาย ผ้านี้ใช้คลุมเตียง แขวนผนัง และมักรวมอยู่ในสินสอดสำหรับผู้ลี้ภัยจำนวนมาก มีลาญาเหล่านี้คือสิ่งเดียวที่นำติดตัวมาได้จากบ้าน และเป็นหนทางหาเลี้ยงชีพเล็ก ๆ น้อย ๆ
โรส จอน วัย 38 ปี รวมกลุ่มผู้หญิงในบิดีบิดีเพื่อทำงานเย็บปักถักร้อยและขายมีลาญา “งานนี้ทำให้พวกเรามีเวลาได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดและสร้างรายได้ค่ะ” เธอบอกโลเร็ก ผู้หญิง 60 คนช่วยกันทำมีลาญาได้สัปดาห์ละสองผืนจนกระทั่งผ้าเริ่มขาดแคลน
พวกผู้หญิงในนิคมเลี้ยงดูลูก ๆ ของตนเอง และมักรับเลี้ยงลูก ๆ ของคนอื่นด้วย หลายครอบครัวสามีถ้าไม่ถูกฆ่าตายก็เลือกอยู่ในเซาท์ซูดานเพื่อต่อสู้หรือปกป้องที่ดินทำกินของตนเอง หลังความพยายามจากทั้งสองฝ่ายในการแสวงหาสันติภาพประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า การได้กลับบ้านอีกครั้งกลายเป็นความหวังอันเลือนรางสำหรับผู้อพยพ แม่คนหนึ่งบอกโลเร็กว่า “เราเลือกอยู่ที่นี่เองเพราะไม่มีทางกลับไปได้ถ้าไม่มีสันติภาพ”
ภาพถ่าย โนรา โลเร็ก
อ่านเพิ่มเติม