ศาสนาเชน: วิถีแห่งอหิงสา

ศาสนาเชน: วิถีแห่งอหิงสา

ศาสนาเชน
อาจารยะ สัจจิทานันที นักบวชเชนนิกายทิคัมพร แม่ชีอารยิกา ฤทธิศรี และศาสตราจารย์ ชีวันธรกุมาร เค. เหตเปเฏยืนสนทนาธรรมระหว่างรอเข้าสักการะพระรูปพระโคมเฏศวร ที่เมืองศรวณพลโคละ

นครสีขาวนามอุทัยปุระ ล้อมรอบไปด้วยทะเลสาบที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมเยือน ในเขตเมืองเก่าของอุทัยปุระ ย่านถนนเนรูบาซาร์ บรรยากาศอบอวลไปด้วยการค้าขายรูปแบบดั้งเดิมตามวิถีภารตะ ผมเดินทางมาที่นี่ตามข้อมูลที่ได้จากสาธุชนชาวเชนในรัฐคุชราต “นเรศ” แนะนำให้เรารีบมาก่อนจะสายเกินไป ผมสังหรณ์ใจว่าเราอาจพบนักบวชทิคัมพรที่นี่

กลางตรอกเล็ก ๆ อันเป็นทางสัญจรของผู้คนและวัว ภายในอาคาร “อุมัรภวัน” อายุหลายร้อยปี ผมพบชายชาวอินเดียนั่งจับกลุ่มอ่านหนังสือพิมพ์กันอยู่ จึงยื่นกระดาษเขียนข้อความภาษาฮินดีให้พวกเขา ชายคนหนึ่งในกลุ่มนำทางเราไปยังห้องเล็ก ๆ ใต้อาคารเก่า ชายวัยกลางคนที่เฝ้าอยู่ที่นั่นแสดงท่าทีปฏิเสธ และห้ามไม่ให้เราเข้าไป ทันใดนั้นก็มีเสียงตะโกนจากภายในห้องทำนองว่าอนุญาตให้เราเข้ามาได้ ผมต้องถอดเข็มขัดหนัง ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายชิ้นเดียวที่ทำจากซากสัตว์ไว้นอกห้อง

ท่านปรมะ ปูชยะ มุนี ศรี เอกซออาฐ ศานติ สาคร มหาราช นักบวชทิคัมพร และแม่ชีอีก 3 คน พร้อมชาวบ้านอีกกว่าสิบชีวิต รวมตัวกันอยู่ ณ ที่แห่งนั้นผมประหลาดใจมาก เมื่อท่านปรมะ ปูชยะ มุนี ศรี เอกซออาฐ ศานติ สาคร ล่วงรู้ถึงการมาเยือนของพวกเรา ท่านบอกให้นั่งพัก ก่อนหันไปบอกกับสาธุชนภายในห้องให้มาสนทนาต่อในวันรุ่งขึ้น นี่เป็นการพบกับนักบวชนิกายทิคัมพรครั้งที่สองสำหรับผม หลังจากพบเจอโดยบังเอิญเมื่อหกปีก่อนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองอัครา ผมสังเกตว่า ทุกครั้งที่ผมขยับกายเข้าใกล้นักบวชทิคัมพร บรรดาลูกศิษย์จะแสดงกิริยาขัดขวางทันที

ศาสนาเชน
ยามเช้าภายในห้องอาหารเล็กๆ ในเมืองศรวณพลโคละ คลาคลํ่าไปด้วยนักแสวงบุญทั้งชาวเชนและชาวฮินดู แม้ความเชื่อจะต่างกัน แต่อาหารทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นอาหารมังสวิรัติ

ปัจจุบันมีนักบวชนิกายทิคัมพรอยู่ประมาณ 1,200 – 1,500 รูป เทียบง่าย ๆ คือ ประชากรอินเดียหนึ่งล้านคนต่อนักบวชทิคัมพรหนึ่งรูป นักบวชเหล่านี้จะอาศัยอยู่ตามป่าเขา ธรรมศาลา หรือในชุมชนโดยสาธุชนเป็นผู้จัดหาให้ บางครั้งรวมกลุ่มตั้งแต่สองถึงเจ็ดรูป หรือไม่ก็อยู่ตามลำพังทำให้ยากที่จะทราบจำนวนที่แน่นอน นักบวชทิคัมพรจะอาศัยอยู่แต่ในประเทศอินเดียเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยระยะทาง หรือกฎหมายห้ามเปลือยกายในที่สาธารณะของบางประเทศก็ตาม ทุก ๆ วัน นักบวชนิกายทิคัมพรจะเดินธุดงด์ด้วยเท้าเปล่าเป็นระยะทาง 20 – 30 กิโลเมตรเพื่อเผยแผ่ศาสนา โดยไม่ใช้ยานพาหนะอย่างเด็ดขาดมีเพียงไม้กวาดที่ทำจากขนนกยูงไว้คอยปัดแมลง และกานํ้าสำหรับบรรจุนํ้าดื่มเท่านั้น การจาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ จะถูกกำหนดในช่วงอาทิตย์แรกของปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและสถานที่ ในหนึ่งปีพวกเขาจะใช้เวลาเดินทางนานแปดเดือน และจำวัดที่เดิมได้นานไม่เกิน 30 วัน เว้นก็แต่ช่วงเข้าพรรษาสี่เดือนในฤดูฝนเท่านั้น นักบวชทิคัมพรถือศีล 108 ข้ออย่างเคร่งครัด พวกเขาเชื่อว่าการธุดงค์และบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายอย่างสุดโต่งคือวิถีทางทำลายกิเลสที่ติดตัวมาตั้งแต่อดีตชาติ เพื่อบรรลุโมกขธรรมในโลกปัจจุบัน

นักบวชทิคัมพรจะไม่อาบนํ้า และนอนบนพื้นราบเท่านั้น มีการถอนผมสองครั้งต่อปี และต้องถอนผมตัวเองให้เสร็จภายในหนึ่งชั่วโมง หากเกิดอุบัติเหตุ ต้องรักษาตัวเองแต่ในกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นต้องขึ้นรถพยาบาล เมื่อรักษาอาการบาดเจ็บหายดีแล้วจะต้องกลับมาบวชใหม่เพราะศีลขาด เมื่อนักบวชทิคัมพรแก่ตัวลงจนเดินทางจาริกต่อไม่ได้ จะต้องสาบานตนหรือที่เรียกว่า “สันเลขนา” เพื่ออาศัยอยู่ในสถานที่แห่งเดียวตราบจนร่างกายสิ้นอายุขัย ผู้คนในชุมชนจะเป็นผู้จัดการงานศพ เมื่อเผาร่างแล้วจะนำเถ้ากระดูกไปฝังดิน

ท่านปรมะ ปูชยะ มุนี อายุ 44 ปี บวชมาแล้ว 22 พรรษา ก่อนหน้านี้ท่านเป็นอาจารย์สอนหนังสือในโรงเรียน และได้ติดตามเป็นลูกศิษย์นักบวชทิคัมพรรูปหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจออกบวช “นี่ตะวันก็ใกล้จะตกแล้ว พวกคุณกลับมาในวันพรุ่งนี้แล้วกัน มีโรงแรมเล็ก ๆ อยู่ใกล้ ๆ คุณพักที่นี่ไม่ได้ เพราะพวกคุณไม่ได้เป็นสาธุชนชาวเชน” ท่านบอกเราอย่างเมตตา

 

กิจกรรมในเช้าวันรุ่งขึ้นเริ่มด้วยพิธีชลบูชาพระมหาวีระยามอรุณรุ่ง แม่ชีดีปา แม่ชีกัลปนา แม่ชีบะซันตี และพระผู้ประกอบพิธี พร้อมด้วยฆราวาสผู้ติดตามท่านปรมะ ปูชยะ มุนี ศรี เอกซออาฐ ศานติ สาคร มหาราช ต่างท่องบทสวดพร้อมกับสรงนํ้ารูปหล่อองค์พระมหาวีระ ก่อนออกเดินทางจากธรรมศาลาไปยังลานธรรมที่สาธุชนชาวเชนจัดเตรียมไว้เพื่อการเทศนาธรรมภายใน “ทาวน์-ฮอลล์” หรือศาลาประชาคมในเมืองอุทัยปุระ

ปลายนิ้วทั้งห้าของมือขวาที่จรดกันและแตะไว้บริเวณหัวไหล่ขวา เป็นภาษากายที่บอกให้ฆราวาสรู้ว่านักบวชทิคัมพรกำลังออกบิณฑบาต ก่อนรับบาตร ท่านปรมะปูชยะ มุนี จะเข้าฌานเพื่อนิมิตถึงรูปแบบอาหารหรือผู้ที่จะนำอาหารมาถวาย หากไม่ตรงตามนิมิตในวันนั้น ท่านจะไม่รับถวายอาหารไปตลอดทั้งวันจนถึงวันใหม่ นักบวชเชนนิกายทิคัมพรจะรับอาหารด้วยฝ่ามือ (แตกต่างจากนักบวชนิกายเศวตัมพรที่รับอาหารด้วยบาตร) โดยประกบฝ่ามือทั้งสองเข้าด้วยกัน และใช้นิ้วก้อยคล้องกันไว้ให้มีลักษณะเป็นรูปถ้วย หากระหว่างฉันอาหารนิ้วก้อยเกิดหลุดออกจากกัน นักบวชทิคัมพรจะหยุดฉันอาหารมื้อนั้นทันที พวกเขาฉันอาหารเพียงวันละมื้อและอาหารจะถูกบดขยี้ให้ละเอียดด้วยนิ้วมือเพื่อตรวจดูว่าไม่มีสัตว์ขนาดเล็กหรือเมล็ดพันธุ์ที่สามารถงอกหรือเจริญเติบโตซ่อนอยู่ หลังฉันอาหารเสร็จสิ้น นักบวชทิคัมพรจะดื่มนํ้าไม่ได้เลยแม้แต่หยดเดียวตลอดทั้งวันนั้น

ในหนึ่งวัน ท่านปรมะ ปูชยะ มุนี จะจำวัดเพียงสามชั่วโมง และจัดสรรเวลาที่เหลือสำหรับการทำสมาธิ ประกอบพิธีกรรม ศึกษาคัมภีร์ทางศาสนา และตำราเรียนต่าง ๆ ไม่จำกัดทุกองค์ความรู้ ในห้องของท่านมีตำราภาษาฮินดี ภาษาปรากฤต และภาษาอังกฤษมากมายวางกองอยู่ ผมถามท่านว่า ถ้ามีคนมาทำร้ายทุบตี ท่านจะปฏิบัติตอบเช่นไร “โดยหลักอหิงสาเป็นแก่นของการบำเพ็ญตบะ เราจะไม่โต้ตอบ ถ้าเราถูกทุบตีจนตายนั่นคงเป็นกรรมที่ติดตัวมาจากชาติปางก่อน แต่ถ้าการที่เรายึดหลักอหิงสาไม่โต้ตอบ แล้วทำให้ผู้ที่กระทำต่อเราสำนึกผิด เกิดแสงสว่างขึ้นในจิตใจได้นั้นย่อมเป็นเรื่องที่ดีจงมีชีวิตอยู่และให้ผู้อื่นมีชีวิตอยู่ด้วย” ท่านกล่าวทิ้งท้าย

 

Recommend