4.
สมพงษ์ และสมจิตร ปัทมอมรกุล สองสามีภรรยาผู้เปิดกิจการร้านค้าเหล็ก ติดกับร้านอาหารตั้งจั๊วหลีกล่าวว่า พวกเขาไม่ทราบชื่อของต้นไม้สองต้นนี้ แต่เห็นมันมาหลายปีแล้ว และเจ้าหน้าที่เองก็จะมาตัดมันทุกๆ ปี เมื่อถึงช่วงก่อนหน้าฝน “มันสูงประมาณสามชั้นครับ ใบมันจะออกเป็นพุ่มๆ นะ ไม่ใหญ่เท่าไหร่” เขาบรรยายถึงลักษณะของต้นไม้ต้นนี้ เมื่อถามถึงผลกระทบจากการตัดแต่งที่เกินจำเป็น เช่นเดียวกับใครหลายคน คำว่า “ร้อน” เป็นคำแรกที่ผุดออกมาจากปาก “ช่วงเย็นแดดจะส่องมาทางนี้พอดี พอไม่มีร่มเงาแล้วก็ไม่มีอะไรบังแดดให้” เขากล่าว
5.
จากต้นไม้ไม่ทราบชื่อหน้าตั้งจั๊วหลี เดินข้ามถนนมายังอีกฝั่งคุณจะประหลาดใจที่พบต้นไม้ในลักษณะเดียวกัน “เขาไล่ตัดทั้งแนวแหละครับ” ยันยง พวงศรี พนักงานร้านค้าเหล็กเส้นกล่าว ต้นไม้ฝั่งตรงข้ามที่ถูกตัดยอดไปนี้ เป็นต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ที่สูงที่สุด และมีกิ่งก้านแผ่เยอะที่สุดจนถึงสายไฟ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มันถูกตัด
“เคยอาศัยร่มเงามันอยู่ครับ เย็นๆ พอช่วงว่างจากงานเราก็ชอบไปนั่ง ไปนอนเล่นใต้ต้นไม้ แต่ก่อนนี้นะมีกระรอกตัวหนึ่งอาศัยอยู่มันจะกระโจนไปมาระหว่างต้นไม้แต่ละต้น เดี่ยวนี้พอต้นไม้โกร๋นแล้วกระรอกก็หายไปด้วย” ยันยงพูดด้วยความเสียดาย น่าแปลกที่ว่าต้นไม้ต้นนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในแนวเสาไฟ แต่ก็ยังถูกบั่นยอดเช่นเดียวกับต้นอื่นๆ
6.
ในบรรดาต้นไม้ที่เราเดินสำรวจมา ต้นนี้ถือได้ว่าน่าอดสูที่สุด เพราะถูกตัดจนไม่เหลือแม้แต่ใบเดียว สอบถามจาก เสนีย์ จันทะศรี คนขับรถโรงเรียนที่จอดอยู่บริเวณนั้นจึงได้ความว่า หางนกยูงที่โชคร้ายต้นนี้กิ่งของมันโน้มเอียงมามาหาถนน ทางการจึงต้องตัดมันทิ้งเสีย “มันมีแค่ 2 กิ่งใหญ่แหละครับ มันเอียงลงมาที่ถนนเลยถูกตัด ก็เสียดายนะเล่นตัดซะโกร๋นเลย แบบนี้กิ่งอ่อนพอโตขึ้นมามันมีโอกาสตายได้นะ เพราะไม่มีร่มเงา น่าจะเหลือไว้ให้สักหน่อยก็ยังดี” ตัวเขาเล่าด้วยความอัดอั้นตันใจ หลังจากทำงานผ่านเส้นทางนี้มา 2 ปี และเห็นต้นไม้ต้นนี้ทุกวัน แต่ในวันนี้กลับกลายสภาพเหลือแค่ตอไม้
สำหรับวิธีการตัดต้นไม้ตามแนวสายไฟอย่างถูกวิธีนั้น ครูต้อ ธราดล ทันด่วน หมอต้นไม้ผู้ช่วยชีวิตต้นไม้ในเมืองมานานกว่า 20 ปี ได้ใช้เฟซบุ๊กในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่บรรดาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และบุคคลทั่วไป สำคัญเลยก็คือก่อนเริ่มต้นที่จะตัดต้นไม้นั้น เจ้าหน้าที่ควรรู้ว่าปัญหาคืออะไร ปกติแล้วต้นไม้จะมีกิ่งสองแบบคือกิ่งแนวตั้ง และกิ่งแนวนอน กิ่งใดที่เป็นปัญหาก็ตัดกิ่งนั้นออกเสียเช่น ต้นไม้สูงเกะกะสายไฟก็ตัดกิ่งแนวตั้งออก เหลือกิ่งแนวนอนเอาไว้ หากต้นไม้แผ่ขยายพุ่มออกมามากเกินจนกีดขวางทางจราจร ก็ให้ตัดกิ่งแนวนอนออก เหลือกิ่งแนวตั้งเอาไว้ ไม่ใช่การตัดแบบบั่นเอาทุกยอดของต้นไม้ออกไป เพราะนั่นนอกจากจะเป็นการทำลายต้นไม้แล้ว กิ่งเล็กกิ่งน้อยที่แตกออกมาแบบผิดปกติในภายหลัง ยังจะเป็นการสร้างงานที่มากขึ้นให้แก่เจ้าหน้าที่เองในการตัดครั้งต่อไปอีกด้วย
ในบางครั้งการที่ต้นไม้ไม่ได้เคลื่อนไหว หรือเรียกร้องใดๆ ก็ทำให้ใครหลายคนหลงลืมไปว่า ต้นไม้เองก็เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นกัน พวกเขามีความต้องการพื้นที่อยู่อาศัย และมีสุขภาพที่ให้ใส่ใจดูแล แน่นอนว่าสถานะของการเป็นต้นไม้ในเมืองนั้นจำต้องเผชิญกับการถูกตัด บั่นกิ่งเป็นแน่แท้ แต่จะดีกว่าไหมหากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายลงมือทำงานนี้ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และทำเพื่อผลประโยชน์ทั้งสองฝั่ง ไม่ใช่แค่มนุษย์ ให้ต้นไม้ยังคงสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ในอนาคต เพราะในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์กับต้นไม้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ ยังมีผู้คนอีกมากมายที่มีความผูกพันกับต้นไม้ นอกเหนือจากที่ The Perspective ได้สำรวจมา การบั่นต้นไม้ที่พวกเขาเห็นและผูกพันมาหลายปีโดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งทางร่างกายและจิตใจของพวกเขา
ลองจินตนาการดูเอาว่าเมืองใดที่ไม่มีต้นไม้อยู่เลยสักต้น เมืองนั้นจะอัปลักษณ์ขนาดไหน และใครจะอยากให้ลูกหลานของเราเติบโตขึ้นมาในเมืองอัปลักษณ์ เพราะเมืองที่ดีนั้นสะท้อนถึงคุณภาพชีวิต และคุณภาพจิตใจของผู้อยู่อาศัย ต้นไม้ในเมืองก็เช่นกัน
เรื่อง ธนเสฏฐ์ ศิริวัฒนาดิเรก
ภาพ พิสิษฐ์ สีเมฆ และ พันวิทย์ ภู่กฤษณา
อ่านเพิ่มเติม : บทเรียนจากต้นไม้, 7 เคล็ดลับถ่ายต้นไม้ให้ว้าว!, สืบสานแรงบันดาลใจจากดาบวิชัย คนบ้าปลูก สู่กัปตันการบินไทยผู้ใช้เวลาว่างปลูกต้นไม้ให้ กรุงเทพฯ มานานร่วม 8 ปี