ภาวะโลกร้อน จะเปลี่ยนโฉมหน้าโลกเราไปอย่างไร?
ภาพแผนที่ทั้งหมดในนี้ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากแผนที่ในปัจจุบัน เว้นเพียงแต่อย่างเดียวนั่นคือ น้ำแข็งทั้งหมดบนโลกได้ละลายหายไปสิ้น นี่คือแผนที่ของทวีปต่างๆที่จะจำลองให้เห็นถึงผลกระทบจาก ภาวะโลกร้อน หากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 65 เมตร ชายฝั่งใหม่ๆและทะเลในแผ่นดินจะถือกำเนิดขึ้น และหน้าตาของทวีปต่างๆ จะแตกต่างไปจากภาพที่ทุกคนคุ้นตา นี่อาจเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน
ทั่วโลกมีน้ำแข็งรวมกันคิดเป็นปริมาณ 20 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร นักวิทยาศาสตร์เคยประมาณไว้ว่า หากมนุษย์ยังคงเดินหน้าผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไป จะใช้เวลาราว 5,000 ปี จึงจะละลายน้ำแข็งทั้งหมดที่มีลงได้ เมื่อถึงเวลานั้นโลกที่ปราศจากน้ำแข็งจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น อยู่ที่ประมาณ 26.6 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 14.4 องศาเซลเซียส
ทวีปอเมริกาเหนือ
ชายฝั่งทะเลแอตแลนติกเดิมจะหายไป ในที่นี้รวมไปถึงชายฝั่งฟลอริดา และชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกด้วย ในแคลิฟอร์เนีย หุบเขาซานฟรานซิสโกจะกลายเป็นกลุ่มเกาะ บริเวณ Central Valley จะกลายเป็นอ่าวแทน
ทวีปอเมริกาใต้
พื้นที่ลุ่มน้ำแอมะซอนจะกลายเป็นอ่าว ส่วนกรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินาจะจมอยู่ใต้น้ำ เมื่อน้ำทะเลท่วมเข้าไปในแผ่นดินก่อให้เกิดชายฝั่งใหม่ๆ
ทวีปแอฟริกา
เทียบกับทวีปอื่น แอฟริกาได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลน้อยที่สุด แต่อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของโลกจากภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้หลายพื้นที่ในทวีปไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ในอียิปต์ กรุงไคโร และนครอเล็กซานเดรียจะถูกน้ำจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนท่วม
ทวีปยุโรป
กรุงลอนดอนจะกลายเป็นแค่ความทรงจำ นครเวนิสจะจมอยู๋ใต้ทะเลเอเดรียติก อีกหลายพันปีนับจากนี้ เนเธอร์แลนด์จะค่อยๆจมลงสู่ทะเล เดนมาร์กเองก็ด้วย จากการขยายตัวของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลดำและทะเลแคสเปียนก็เช่นกัน
ทวีปเอเชีย
พื้นที่อยู่อาศัยของชาวจีนจำนวน 600 ล้านคนจะถูกน้ำท่วม รวมไปถึงบังกลาเทศที่มีประชากร 160 ล้านคนด้วย บริเวณแนวชายฝั่งทางตะวันออกของอินเดียจะถูกรุกล้ำเข้ามามากขึ้น ที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น้ำจากแม่น้ำโขงจะเอ่อท่วมและส่งผลให้ประเทศกัมพูชากลายเป็นเกาะ
ทวีปออสเตรเลีย
อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจากโลกร้อน ส่งผลให้ทะเลทรายขยายตัว ระดับน้ำทะเลจะส่งผลให้เกิดทะเลในทวีปเพิ่ม พื้นที่ชายฝั่งทางตะวันออกของทวีปจะถูกน้ำทะเลหลากเข้าท่วม ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากประชากรของประเทศราว 4 ใน 5 จากทั้งหมดอาศัยอยู่ในบริเวณนี้
แอนตาร์กติกา
แอนตาร์กติกาตะวันออก : พืดน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันออกมีขนาดใหญ่มาก และบรรจุน้ำแข็งปริมาณ 4 ใน 5 จากทั้งหมดทั่วโลก แต่แม้จะมากมายแค่ไหน ก็ไม่อาจต้านทานการละลายได้ อย่างไรก็ตามผลการศึกษาล่าสุด ดูเหมือนว่าชั้นน้ำแข็งบริเวณนี้จะมีความหนาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้เกิดไอน้ำ และกลั่นตัวตกลงมาเป็นหิมะมากขึ้น
แอนตาร์กติกาตะวันตก : เช่นเดียวกับกรีนแลนด์ พื้นที่ของแอนตาร์กติกาตะวันตกมีขนาดเล็กมากหากปราศจากน้ำแข็งและผืนทวีปส่วนใหญ่ก็อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ภาวะโลกร้อนส่งผลให้ชั้นน้ำแข็งค่อยๆยุบตัวลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา มีปริมาณน้ำแข็งราว 65 ล้านเมตริกตันละลายลงทะเลไปในทุกๆปี
อ่านเพิ่มเติม