เสามังกร: ความภาคภูมิแห่ง ลูกหลานชาวจีน โพ้นทะเล
เมื่อมองเผินๆ จากสายตาคนนอก และแม้แต่ ลูกหลานชาวจีน เองอย่างผม เสาหินสี่ต้นนั้นดูเหมือนของประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมจีนที่เรามักพบเห็นตามศาลเจ้าทั่วไปในประเทศไทย แต่ตอนนี้ เราอยู่ที่ไหนสักแห่งในอำเภอหนานจิ้ง มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน เบื้องหน้าเราคือกลุ่มศาลเจ้าที่เราได้รับการบอกกล่าวว่า เป็นศาลเจ้าประจำตระกูลเซียว แม้จะไม่ใช่คนที่รู้เรื่องหลักฮวงจุ้ยอะไร แต่ภาพกลุ่มศาลเก่าแก่ตามแบบสถาปัตยกรรมจีน ตั้งเด่นอยู่กลางท้องทุ่ง แวดล้อมไปด้วยบ้านเรือนและร้านค้า ด้านหลังคือทิวเขาเตี้ยๆ ด้านหน้าคือสระน้ำ ผมนึกถึงคำบอกเล่าที่มักได้ยินจากพ่อแม่เวลาครอบครัวเราไปไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลเช็งเม้ง สุสานหลายแห่งต่างมองหาทำเลที่ตั้ง “หน้าน้ำหลังภูเขา” เช่นนี้
ถ้าเป็นวันอื่นทั่วไป กลุ่มศาลเจ้าหรือศาลบรรพชนตระกูลเซียวแห่งนี้คงมีบรรยากาศเงียบสงบ แต่วันนี้เป็นวันสำคัญ พวกเราได้รับการต้อนรับตั้งแต่ลงจากรถด้านหน้าศาลาว่าการเมืองหรือ town hall ด้วยขบวนสิงโต มังกร กลองหลายขนาด คนตีกลองมีทั้งที่แต่งตัวด้วยสีแดงสดใสเหมือนพนักงานต้อนรับในโรงแรม และกลุ่มนักดนตรีพื้นเมืองในชุดสีเทาคุ้นตาแบบที่เรามักเห็นในภาพยนต์จีนรุ่นเก่าๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ทยอยเดินมาสมทบ บ้างออกมาจากบ้านเรือนที่อยู่รอบๆ จับจองที่นั่งบนเก้าอี้พลาสติกที่ทางเจ้าภาพจัดเตรียมไว้รองรับ
พวกเราเกือบร้อยชีวิต กว่าครึ่งเป็นสมาชิกตระกูลเซียวที่มากันหลายรุ่น ตั้งแต่สมาชิกตัวน้อยไปจนถึงวัยรุ่น คนหนุ่มสาว และรุ่นพ่อแม่ ในเมืองไทย เรารู้จักพวกเขาในนามสกุล “สีบุญเรือง” นำคณะโดย ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
“ย้อนหลังไปเมื่อสองปีก่อนคือเมื่อปี 2559 พวกเราตระกูลสีบุญเรืองในเมืองไทยสืบเสาะจนพบว่า บ้านบรรพบุรุษของเราอยู่ที่ตำบลซูหยาง อำเภอหนานจิ้ง โดยมีเบาะแสสำคัญคือ เสามังกรที่สลักชื่อของ เซียวฮุดเส็ง ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับคุณทวดชื่อ เซียวฮุดติ้น เราก็เลยมาสำรวจกันก่อนเป็นคณะเล็กๆ ประมาณสิบคน พอมาดูจึงแน่ใจว่าใช่ ตั้งใจว่ากลับเมืองไทยแล้ว คงจะหาโอกาสพาญาติตระกูลสีบุญเรืองมาไหว้บรรพบุรุษให้เป็นเรื่องเป็นราวอีกสักครั้งหนึ่ง” ดร.อรรชกา เล่าความเป็นมา
“เสามังกร” ที่ดร.อรรชกากล่าวถึงก็คือเสาสี่ต้นที่เราเห็นรอบศาลเจ้าตระกูลเซียวนั่นเอง เสาหินแกรนิตที่คะเนด้วยสายตาน่าจะสูงเกือบสิบเมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม บริเวณท่อนสุดท้ายก่อนถึงยอดเสาสลักเสลาลวดลายมังกรดั้นเมฆตามคติจีน ผมทราบจากมัคคุเทศก์ของเราว่า ยอดหรือหัวเสามังกรมักสลักเป็นรูปพู่กันหรือไม่ก็สิงโต พู่กันคือสัญลักษณ์แทนข้าราชการฝ่ายบุ๋นหรือจอหงวนที่เราคนไทยคุ้นเคยจากภาพยนตร์จีน หากหัวเสาสลักเป็นรูปสิงโตจะหมายถึงข้าราชการฝ่ายบู๊ เช่น แม่ทัพในอดีต และนายพลในยุคหลัง ประเพณีการยกเสามังกรจึงเป็นการยกย่องลูกหลานที่สร้างคุณงามความดีและชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล เป็นคตินิยมที่ทำกันในหมู่ชาวจีนฮั่นโดยเฉพาะในภูมิภาคแถบนี้ (ตะวันออกเฉียงใต้) ของจีน
“ประจวบกับเมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน มร.หวาง จิ้น อู่ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เขตหนานจิ้ง ฝูเจี้ยน ได้มาเยือนเมืองไทยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างเมืองไทยกับหนานจิ้ง และต่อมาเราก็ได้ทราบว่า ทางตระกูลเซียวที่ตำบลซูหยางดำริจะสร้างเสามังกรโดยสลักชื่อดิฉันซึ่งเป็นลูกหลานตระกูลเซียวรุ่นที่ 19 และกำหนดทำพิธียกเสามังกรในวันที่ 16 มีนาคม จึงเป็นที่มาของการนำมาคณะมาที่นี่ในวันนี้” ดร.อรรชกาอธิบายและเสริมว่า “แต่เพื่อให้การมาเยือนครั้งนี้มีประโยชน์ต่อบ้านเกิดเมืองนอนของบรรพบุรุษ มากกว่าการมาประกอบพิธียกเสามังกรและเซ่นไหว้บรรพชนของพวกเรา คณะจึงดำริว่าควรสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวและโอกาสทางการค้าและการลงทุนตั้งแต่เมืองเซียะเหมิน-จางโจว-หนานจิ้ง และนำคณะสื่อมวลชนติดตามมาด้วย”
ที่ศาลบรรพชนตระกูลเซียว พิธีการต่างๆ จัดเตรียมไว้พร้อมสรรพ นอกเหนือจากขบวนสิงโต มังกร และกลอง เราเห็นปะรำพิธียกพื้นเหนือสระน้ำ บนโต๊ะเซ่นสังเวยมีทั้งหมูและแพะทั้งตัวที่ถูกชำแหละจัดวางไว้ ผลหมากรากไม้ และกระดาษเงินกระดาษทอง ไม่ต่างจากที่เราเห็นเวลาชาวจีนประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ข้างๆ นั้นคือเสามังกรต้นใหม่ที่จะทำพิธีในวันนี้