เสามังกร: ความภาคภูมิแห่งลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล

เสามังกร: ความภาคภูมิแห่งลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล

ลูกหลานชาวจีน
เสามังกรคือสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิของวงศ์ตระกูล ที่ศาลบรรพชนตระกูลจางซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอหนานจิ้งเช่นกัน มีเสามังกรมากถึง 24 ต้น บ่งบอกว่าลูกหลานในตระกูลประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ล่าสุดเพิ่งมีการยกเสามังกรเพื่อเป็นเกียรติแก่ มร.จาง หยาง นักธุรกิจไทย-จีน ผู้มีคุณูปการต่อการส่งเสริมความพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีน

หัวเสามังกรมักสลักเป็นรูปพู่กันหรือไม่ก็สิงโต พู่กันคือสัญลักษณ์แทนข้าราชการฝ่ายบุ๋นหรือจอหงวน หากสลักเป็นรูปสิงโตจะหมายถึงข้าราชการฝ่ายบู๊ เช่น แม่ทัพและนายพล ประเพณีการยกเสามังกรเป็นการยกย่องลูกหลานที่สร้างคุณงามความดีและชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล

ที่ศาลบรรพชนตระกูลเซียว พิธีการต่างๆ จัดเตรียมไว้พร้อมสรรพ นอกเหนือจากขบวนสิงโต มังกร และกลอง เราเห็นปะรำพิธียกพื้นเหนือสระน้ำ บนโต๊ะเซ่นสังเวยมีทั้งหมูและแพะทั้งตัวที่ถูกชำแหละจัดวางไว้ ผลหมากรากไม้ และกระดาษเงินกระดาษทอง ไม่ต่างจากที่เราเห็นเวลาชาวจีนประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ข้างๆ นั้นคือเสามังกรต้นใหม่ที่จะทำพิธีในวันนี้

หลังมาถึงศาลเจ้าบรรพชนได้ไม่นาน สมาชิกตระกูลสีบุญเรืองก็ได้รับการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายสำหรับประกอบพิธีไหว้บรรพชนและยกเสามังกร เป็นเสื้อผ้าแพรจีนสีน้ำเงินสดใส คาดสายสะพายเขียนตัวหนังสือสีทอง และหมวกสักหลาดสีดำ เป็นชุดแปลกตาน่าสนใจที่ผมไม่เคยพบเห็นที่ใดมาก่อน

พิธีการหลังจากนั้นเกิดขึ้นทั้งบริเวณปะรำพิธีภายนอกศาลบรรพชน เป็นการยากที่จะเข้าใจความละเอียดซับซ้อนของพิธีการเหล่านั้นเนื่องจากภาษาที่ใช้คือภาษาจีนกลาง แต่เราพอจะสันนิษฐานได้  เป็นต้นว่าน่าจะมีการบวงสรวงฟ้าดิน อัญเชิญเทพยดาต่างๆ ให้เสด็จลงมาเป็นสักขีพยาน  นานๆครั้งเราจะได้ยินเสียงประโคมกลอง สลับกับเสียงปะทัดดังกึกก้องราวกับจะเป็นป่าวประกาศให้สวรรค์เบื้องบนรับรู้

ลูกหลานชาวจีน
นักดนตรีรัวกลองสร้างบรรยากาศคึกคักตลอดการประกอบพิธี

เมื่อลูกหลานตระกูลสีบุญเรืองเดินเข้าสู่ศาลบรรพชนเพื่อประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ แสงแดดยามสายสาดส่องลงมาช่วยขับเน้นบรรยากาศให้ดูขรึมขลัง ตลอดระยะเวลาร่วมชั่วโมงของการประกอบพิธี ดร.อรรชกาเป็นตัวแทนลูกหลานในการถวายของไหว้ สลับกับการแจกจ่ายธูปให้ลูกหลานทุกคนได้กราบไหว้บรรพบุรุษ ในช่วงท้ายของพิธี เราได้ยินเสียงประกาศขานชื่อ แม้จะฟังยากอยู่สักหน่อยเพราะน่าจะเป็นการถอดเสียงชื่อจากภาษาไทยเป็นภาษาจีน แต่ก็พอคาดเดาได้ว่าเป็นการประกาศชื่อลูกหลานในแต่ละสาย

หลังเสร็จสิ้นพิธีเซ่นไหว้ภายในศาลบรรพชน ไฮไลต์สำคัญของพิธีในวันนี้คือการยกเสามังกรซึ่งเป็นเสาต้นที่สี่ของตระกูลเซียว บนเสาที่ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของสระน้ำเขียนข้อความด้วยตัวหนังสือสีทอง ใจความสำคัญเป็นการบันทึกเกียรติประวัติของบุคคลที่เสามังกรต้นนั้นอุทิศให้  ในกรณีนี้คือ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง

ลูกหลานชาวจีน
พิธียกเสามังกรถือเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ ส่วนหนึ่งของพิธีต้องมีการเซ่นสังเวยแด่เทพยดาฟ้าดิน เช่น การเชือดไก่และนำเลือดไปหยดบริเวณรอบๆ โคนเสา
ลูกหลานชาวจีน
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ขณะประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพชน ภายในศาลบรรพชนตระกูลเซียว

“เราเป็นลูกหลานตระกูลเซียวที่เกิดและเติบโตในเมืองไทย   เราทำงานรับราชการมาตลอดชีวิตและเป็นรัฐมนตรี [กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี] ตลอดเวลาที่รับราชการก็ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต สร้างเกียรติประวัติให้แก่ตระกูลสีบุญเรือง” ดร.อรรชกากล่าวถึงที่มาของการที่ทางตระกูลเซียวเสนอตั้งเสามังกรเพื่อเป็นเกียรติแก่เธอในวันนี้

ผมอดคิดไม่ได้ว่า การตั้งเสามังกรเป็นประเพณีเก่าแก่ของจีน ซึ่งในสมัยโบราณคงมีแต่ผู้ชายเป็นหลักที่ได้รับการยกย่องเช่นนี้  พิธียกเสามังกรเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้หญิงคงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก “ปกติเป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องเป็นผู้หญิงผู้ชาย ทำงานกับผู้ชายถ้าเค้าทำงานดีเราก็โปรโมต ผู้หญิงก็เช่นกัน แต่ยอมรับว่าอาจจะจริงที่คงไม่ค่อยมีเสามังกรที่ทำให้ผู้หญิง  ถ้าคิดอย่างนี้ก็ยิ่งน่าภาคภูมิใจ แต่ทางจีนก็ยอมรับว่า ในเมืองไทยผู้หญิงมีโอกาสค่อนข้างจะทัดเทียมกับผู้ชาย เมืองจีนเองก็ยังนับว่ายากโดยเฉพาะในตำแหน่งสูงๆ อาจจะมีบ้างในสายบริหาร แต่ในสายการเมืองก็นับว่ายังน้อย” ดร.อรรชกาพูดถึงความรู้สึกในฐานะผู้หญิงที่ได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้

เสียงปะทัดดังกึกก้องยาวนานอีกครั้งบอกให้เรารู้ว่า พิธีการในวันนี้เสร็จสิ้นลงแล้วอย่างสมบูรณ์

ในฐานะที่เป็นลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลเช่นกัน ผมรู้สึกทึ่งในความเข้มแข็งของวัฒนธรรมตระกูลแซ่ของชาวจีนที่แม้เวลาจะล่วงเลยไปเป็นร้อยหรือพันปี  หรือจะมีปราการทางภูมิศาสตร์ขวางกั้น ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไกลเพียงใด แต่ชาวจีนโพ้นทะเลก็ยังร้อยรัดอยู่ด้วยตระกูลแซ่สั้นๆเพียงคำเดียวที่สามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึงต้นกำเนิดอันเปรียบได้กับต้นน้ำเสมอ การได้เดินทางกลับมายังรากเหง้าของวงศ์ตระกูลจะให้ความรู้สึกอย่างไร คำพูดสั้นๆ ของตุนท์ มหาดำรงค์กุล ผู้บริหารหนุ่มจากโทรคาเดโรกรุ๊ป ทายาทผู้สืบสายตรงจากเซียวฮุดเส็ง (ผ่านทางมารดา – คุณดารารัตน์ มหาดำรงค์กุล) อาจจะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด

ลูกหลานชาวจีน
พรเทพ สีบุญเรือง (ซ้าย) และตุนท์ มหาดำรงค์กุล ทายาทผู้สืบสายตรงจากเซียวฮุดเส็ง ถ่ายภาพคู่กับเสามังกรของบรรพบุรุษ ณ ศาลบรรพชนตระกูลเซียว

“ขนลุกครับ” ตุนท์ตอบสั้นๆ เมื่อใครสักคนในกลุ่มสื่อมวลชนถามความรู้สึกเขา “เป็นครั้งแรกของผมที่ได้เข้าร่วมพิธียกเสามังกร  ต้องบอกว่าเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์มากๆ  พี่ๆน้องๆ ที่ได้เข้าร่วมพิธีนี้กลับไปจะเฮงๆทุกคน  เพราะเทวดาฟ้าดินและเทพเจ้าที่เสด็จลงมาประทานพรให้ทุกคน” ทายาทหนุ่มแห่งตระกูลเซียวกล่าวทิ้งท้าย

 

รายงานพิเศษโดย เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

ภาพถ่ายโดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

                                                         

ขอขอบคุณผู้สนับสนุนการเดินทาง

คุณฉฎา สีบุญเรือง สมาคมนักธุรกิจหนานจิ้งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวหนานจิ้งประเทศไทย

มร. จาง หยาง นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานมูลนิธิสีบุญเรือง

คุณดารารัตน์ มหาดำรงค์กุล และคุณตุนท์ มหาดำรงค์กุล และทีมงาน Trocadero Group

 

อ่านเพิ่มเติม

จากตรุษจีนถึงเช็งเม้ง: แนวคิดชีวิตหลังความตายของชาวจีน

Recommend