ภาพถ่ายดาวเสาร์ภาพท้ายๆ จากยานกัสซีนี
แพซาดินา, แคลิฟอร์เนีย ไม่กี่ชั่วโมงก่อนรุ่งเช้า (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ของวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2017 ยานกัสซีนี (Cassini) ขององค์การนาซามุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางสุดท้ายที่มันใช้เวลาสำรวจอยู่นานถึง 13 ปี นั่นคือดาวเสาร์
ขณะที่ยานมุ่งหน้าสู่ดาวเสาร์จุดหมายปลายทาง นักวิทยาศาสตร์ในศูนย์ควบคุมภารกิจที่ห้องปฏิบัติการเครื่องยนต์ขับดัน (Jet Propulsion Laboratory) ในเมืองแพซาดินา ต่างจับตาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
แน่นอนว่า พวกเขารู้ตอนจบของเรื่องทั้งหมด
หลังจากใช้เวลาสำรวจดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวารอยู่นานกว่าสิบปี ยานกัสซีนีก็มุ่งหน้าเข้าสู่บรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนั้น เก็บรวบรวมข้อมูลและส่งกลับมายังโลกให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
จากนั้น จรวดขับดันของยานก็เริ่มล้มเหลวจากแรงกระทำมหาศาลของแรงโน้มถ่วงและการเสียดสีกับบรรยากาศ ยานเริ่มหมุนคว้าง สูญเสียการติดต่อกับโลก ก่อนจะสิ้นเสียงไปตลอดกาล ณ เวลาราว 04.55น. ตามเวลาในสหรัฐฯ
แม้นักวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถสังเกตการณ์จุดจบนี้ได้ พวกเขาก็รู้ว่าภายในหนึ่งหรือสองนาทีหลังสัญญาณจากยานกัสซีนีขาดหายไป ดาวเสาร์จะฉีกยานออกเป็นชิ้นๆ และลุกไหม้ผ่านบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนั้น ไม่ต่างอะไรจากดาวตกที่พาดผ่านฟากฟ้า
จุดจบนั้นสั้นและรวดเร็ว ยานกัสซีนีที่ช่วยสร้างความกระจ่างมากมายเกี่ยวกับดาวเสาร์ ได้กลายเป็นอดีตอย่างสวยงาม
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2004 ยานกัสซีนีเริ่มสำรวจระบบดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวาร ตลอดระยะเวลา 13 ปี กัสซีนีส่งภาพกลับมายังโลกมากกว่า 450,000 ภาพ
ยานกัสซีนียังปล่อยยานลงจอด (lander) ชื่อ เฮยเคินส์ ลงสู่ไททัน ดวงจันทร์บริวารสีส้มของดาวเสาร์ ซึ่งถือเป็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในระบบสุริยะ ไททันปกคลุมด้วยบรรยากาศก๊าซไนโตรเจนหนาทึบที่ซุกซ่อนทะเลสาบและทะเลเอาไว้ ปัจจุบัน ข้อมูลจากยานกัสซีนีเผยว่า ไททันเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดที่จะมองหาร่องรอยชีวิตนอกโลก
ไม่นานหลังจากนั้น กัสซีนีตรวจพบกีเซอร์หรือน้ำพุร้อนขนาดใหญ่พวยพุ่งออกมาจากรอยแยกที่ขั้วใต้ของเอนเซลาดัส ดวงจันทร์บริวารขนาดเล็กของดาวเสาร์ เอนเซลาดัสเป็นดวงจันทร์น้ำแข็งที่มีมหาสมุทรขนาดใหญ่ซุกซ่อนอยู่ เช่นเดียวกับไททัน เอนเซลาดัสเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เป็นไปได้ในการมองหาร่องรอยชีวิตนอกโลกในระบบสุริยะ และดวงจันทร์สองดวงนี้เองคือเหตุผลที่กัสซีนีไม่สามารถอยู่ในวงโคจรของดาวเสาร์ได้ตลอดกาล
เมื่อพลังงานสำรองของยานร่อยหรอขณะโคจรรอบระบบดาวเสาร์จนยากจะควบคุม ความเสี่ยงที่ยานจะพุ่งชนดวงจันทร์บริวารมากมายของดาวเสาร์ก็เพิ่มสูงขึ้น แม้จะรู้ว่าการทำลายยานกัสซีนีเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับนักวิทยาศาสตร์ แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างรู้สึกเสียดายและผูกผันกับภารกิจนี้
ต่อไปนี้คือภาพถ่ายท้ายๆ ที่ยานกัสซีนีส่งกลับมายังโลก และภาพถ่ายอันน่าตื่นตาอื่นๆจากภารกิจสำรวจดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวารตลอดระยะเวลายาวนาน 13 ปี (2004-2017)
โดย นาเดีย เดรก
ชมชุดภาพที่ถูกส่งไปกับยานอวกาสเพื่อใช้สื่อสารกับมนุษย์ต่างดาว