มรดกภารกิจ แคสซีนี-ไฮเกนส์ กับการสำรวจ ดาวเสาร์

มรดกภารกิจ แคสซีนี-ไฮเกนส์ กับการสำรวจ ดาวเสาร์

มรดกภารกิจ แคสซีนี-ไฮเกนส์ กับการสำรวจดวงจันทร์ของ ดาวเสาร์

หลังเผยแพร่ภาพถ่ายที่ไม่เคยมีใครเห็นของระบบสุริยะ และการให้ข้อมูลใหม่ที่บ่งถึงความเป็นไปได้ของชีวิตบนดวงจันทร์บางดวงของดาวเสาร์  ภารกิจแคสซีนี-ไฮเกนส์ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ภารกิจนี้เป็นผลจากความร่วมมือของสามองค์การอวกาศ ได้แก่ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (นาซา) องค์การอวกาศยุโรป (อีซา) และองค์การอวกาศอิตาลี (เอเอสไอ) มีการรวบรวมข้อมูลปริมาณมหาศาลซึ่งนำไปสู่การค้นพบสำคัญหลายครั้งที่จะสนับสนุนการสำรวจอวกาศในอนาคต ตลอดจนยืนยันสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สังหรณ์อยู่แล้ว นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังใกล้เข้ามาจะเปลี่ยนทรรศนะที่เรามีต่อจักรวาลไปอย่างสิ้นเชิง

เรื่องของยานแคสซีนีเริ่มขึ้นเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว จากการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างนักวิทยาศาสตร์สองคนผู้เชื่อมั่นในความร่วมมือระดับนานาชาติ คนหนึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ชาวจีน เย่หยงเสวี่ยน อดีตนักวิจัยจากสถาบันมักซ์พลังค์เพื่ออากาศวิทยาในเยอรมนี (ปัจจุบันคือสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อการวิจัยระบบสุริยะ) ซึ่งขณะนั้นกำลังวางแผนส่งยานไปโคจรรอบดาวเสาร์ อีกคนหนึ่งคือนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ดานีแยล โกตีเย ผู้เพิ่งเสนอแผนยานสำรวจที่ออกแบบมาสำหรับการเข้าไปในบรรยากาศของดวงจันทร์ไททัน บริวารดวงหนึ่งของดาวเสาร์ แก่องค์การอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส (ซีเอ็นอีเอส)

เมื่อแสงอาทิตย์อันเจิดจ้าถูกดาวเสาร์บดบัง กล้องของยานแคสซีนีจึงสามารถจับภาพพานอรามาของดาวเสาร์และ วงแหวนได้อย่างที่เห็น ภารกิจที่ให้ข้อมูลซึ่งเป็นความรู้ใหม่คือผลจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างองค์การอวกาศ สามองค์การ (ภาพประกอบโดย NASA/JPL-CALTECH/SSI)

เย่เป็นคนคิดตั้งชื่อภารกิจตามโจวันนี กัสซีนี ชาวอิตาลี นักดาราศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ วิศวกร และผู้อำนวยการหอดูดาวปารีส ตั้งแต่ปี 1671 จวบจนวาระสุดท้ายของเขาเมื่อปี 1712 กัสซีนีค้นพบบริวารสี่ดวงของดาวเสาร์ (ไอยาพิตัส, ไดโอนี, เรีย และทีทิส) และอธิบายถึงเส้นแบ่งบนวงแหวนดาวเสาร์ด้วย

ภารกิจพัฒนายานแคสซีนีและยานสำรวจไฮเกนส์ (ลำหลังตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์ชาวดัตช์ คริสเตียน ไฮเกนส์) จึงเป็นความพยายามของทีม องค์การอีซาสร้างยานสำรวจ องค์การนาซาสร้างยานโคจรรอบ และองค์การเอเอสไอสร้างเสาอากาศขนาดใหญ่ของยาน

แม้จะพบความขลุกขลักในระบบเครื่องยนต์ในนาทีสุดท้าย และสภาพอากาศเลวร้ายทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการออกไป ในที่สุดจรวดไททันก็ถูกส่งขึ้นจากแหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ปี 1997 เป็นการนำยานอวกาศพร้อมยานสำรวจเดินทางสู่ดาวเสาร์ โดยใช้เวลาเดินทางเจ็ดปี บวกกับอีก 13 ปีที่ใช้ในการสำรวจอวกาศ

ด้วยความสูง 6.7 เมตร กว้างกว่าสี่เมตรเล็กน้อย และหนัก 5,712 กิโลกรัม ยานแคสซีนีเป็นยานอวกาศที่หนักที่สุดลำหนึ่งเท่าที่เคยขึ้นสู่อวกาศ การไปให้ถึงดาวเสาร์โดยใช้เชื้อเพลิงน้อยที่สุดทำให้ยานต้องอาศัยแรงส่งจากความโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ดวงอื่น แผนการบินจำต้องได้ดาวเคราะห์ที่เรียงตัวในรูปแบบเฉพาะ ยานแคสซีนีจึงบินผ่านดาวศุกร์สองหน โลกหนึ่งหน และดาวพฤหัสบดีหนึ่งหน (ตามลำดับนี้) กว่าจะได้ความเร็วที่จำเป็นสำหรับเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเสาร์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ปี 2004

 

Recommend