ภาวะโลกร้อน กับวิกฤติหมอกควัน คลื่นความร้อนมรณะ และภัยหนาวสุดขั้ว
ภาวะโลกร้อน
- วิกฤติมลพิษทางอากาศ “PM 2.5” ทำให้จากภาพหมอกควันปกคลุมท้องฟ้าเหนือเมืองใหญ่คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับเราอีกต่อไป หมอกควันเหล่านี้คือมลพิษทางอากาศที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุด ในความเป็นจริงมลพิษทางอากาศมีทั้งที่มองเห็นได้ และไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทั้งหมดล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แทบไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ เกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากหมอกควันเหล่านี้ ในความเป็นจริง สารใดๆ ก็ตามที่มนุษย์สร้างและปล่อยสู่บรรยากาศซึ่งส่งผลเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อม ล้วนแล้วแต่ถือว่าเป็นมลพิษทางอากาศทั้งสิ้น
- คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งถือเป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่ง คือตัวก่อมลพิษหลักที่ทำให้โลกร้อนขึ้น แม้สิ่งมีชีวิตจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการเมแทบอลิซึม ทว่าก๊าซชนิดนี้กลับเป็นตัวก่อมลพิษเมื่อผูกโยงกับแหล่งที่มาอย่างรถยนต์ เครื่องบิน โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในช่วงเวลาเพียง 150 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมเหล่านี้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศรวมกันมากกว่าที่เคยเป็นมาในรอบหลายร้อยปีหรือหลายพันปีรวมกันเสียอีก ตัวก่อมลพิษที่สำคัญอีกตัวและเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน คือก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของฝุ่นควัน (smog) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และสารเคมีที่เกี่ยวข้องบางตัวคือสาเหตุสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า ฝนกรด (acid rain)
- แม้จะถูกโจมตีจากผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ยังคงพูดเสียดสีเรื่องภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะเมื่อเกิดสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว เช่น ภัยหนาวที่กำลังเกิดขึ้นในหลายรัฐของสหรัฐฯ ทรัมป์ใช้คำพูดประมาณว่า อันที่จริงเราอาจต้องการ “ภาวะโลกร้อน” ด้วยซ้ำ สะท้อนให้เห็นความคลางแคลงที่เขามีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไม่นำพากับสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ชัดว่า สภาพอากาศที่หนาวจัดไม่ได้หมายความว่า ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องหลอกลวง อีกทั้งการนำสภาพอากาศ (weather) ที่เกิดขึ้นชั่วครั้งคราวมาอธิบายปรากฏการณ์หรือรูปแบบที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลายาวนานอย่างสภาพภูมิอากาศ (climate) เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้
- ทว่าเราจะอธิบายฤดูหนาวอันทารุณผิดปกติในโลกที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่ากำลังอุ่นขึ้นอย่างไร ตอนที่คำว่า ภาวะโลกร้อน (global warming) เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเมื่อหลายสิบปีก่อน สิ่งนี้หมายถึงปรากฏการณ์ที่ก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) กักหรือดักจับความร้อนไว้ในบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น แม้ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในหลายพื้นที่ของโลกจะเป็นผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงซึ่งกินเวลาหลายสิบปีนี้ ทว่าปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เข้าใจมากขึ้นแล้วว่า บรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากการมีก๊าซ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายลักษณะ (รวมถึงสภาพอากาศสุดขั้วหรือ extreme weather) มากกว่าแค่การอุ่นขึ้นหรือร้อนขึ้น
- ปรากฏการณ์ “ลมวนขั้วโลก” หรือ Polar Vortex คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความหนาวเย็นสุดขั้วขนาดติดลบ 40-50 องศาเซลเซียสที่กำลังเกิดขึ้นในรัฐแถบมิดเวสต์ของสหรัฐฯ บางรัฐเผชิญอุณหภูมิต่ำกว่าอาร์กติกเสียอีก ปรากฏการณ์ลมวนขั้วโลกนี้หมายถึงมวลอากาศที่หมุนวนอยู่รอบขั้วโลกเหนือและมหาสมุทรอาร์กติกตลอดทั้งปี กระแสวนทวนเข็มนาฬิกานี้แผ่ขยายและหดตัวตามฤดูกาล ในช่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ ลมวนขั้วโลกจะแผ่กว้างขึ้นและลงใต้มากขึ้น เมื่อลมวนมีขนาดใหญ่ขึ้น กระแสอากาศเย็นจะแผ่ลงสู่ทางใต้พร้อมกระแสลมกรดขั้วโลก (polar jet stream หรือ polar front) ลมวนขั้วโลกที่หดและขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นช่วงๆ เกิดขึ้นเมื่อกระแส ลมวนไม่เสถียร โดยจะหมุนวนในลักษณะคล้ายคลื่นมากกว่าจะเป็นวงกลม องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐหรือโนอาชี้ว่า อากาศเย็นทางเหนือที่หนาแน่นกว่าและกระแสอากาศอุ่นทางใต้ ล้วนสามารถทำให้ลมวนขั้วโลกไม่เสถียร ภาวะนี้จะส่งผลให้บางส่วนของทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ได้รับผลกระทบจากกระแสอากาศเย็นอันหนาวเหน็บของอาร์กติก
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ลมวนขั้วโลกไม่เสถียรมากขึ้นหรือไม่ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มเข้าใจว่า สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้เกิดฤดูหนาวที่รุนแรงขึ้นได้อย่างไร ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้พบความเชื่อมโยงระหว่างอากาศที่อุ่นขึ้นในแถบอาร์กติกและฤดูหนาวที่รุนแรงขึ้นในสหรัฐฯ ในเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้ เจนนิเฟอร์ ฟรานซิส ผู้เขียนผลการศึกษาระบุว่า “อุณหภูมิที่สูงขึ้นในแถบอาร์กติกทำให้กระแสลมวนปั่นป่วนมากขึ้น และเมื่อลมวนแผ่ลิ่มลงใต้มากขึ้น ย่อมนำพาอากาศหนาวเย็นลงใต้มากขึ้นนั่นเอง
- ขณะที่ในสหรัฐฯ กำลังเผชิญภัยหนาวขั้นวิกฤติ ออสเตรเลียเองก็ประสบกับคลื่นความร้อนมรณะที่อุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 50 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนที่ทำให้เกิดไฟป่า ภัยแล้ง และการเสียชีวิตจากความร้อนในหลายพื้นที่ทั่วโลก “ไม่น่าจะเกิดขึ้นหากปราศจากภาวะโลกร้อนอันเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์” และยังอาจกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเป็นประจำในอนาคตอันใกล้ เป็นข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศของนาซา
อ่านเพิ่มเติม