ประติมากรรมแห่งลาวา

ประติมากรรมแห่งลาวา

การปะทุของภูเขาไฟคีเลเวอาบนเกาะใหญ่ (Big Island) ของหมู่เกาะฮาวายเมื่อปีก่อน ส่งธารลาวาไหลลงสู่ทะเล หินหลอมละลายบางส่วนกัดเซาะผ่านอุโมงค์ที่ก่อตัวขึ้นจากการปะทุครั้งก่อนๆ ขณะที่บางส่วนให้กำเนิดอุโมงค์ลาวาใหม่ๆ เพิ่มเข้าไปในเครือข่ายระบบอุโมงค์ใต้ดิน

 

ประติมากรรมแห่งลาวา

ย้อนหลังไปสองสามปีก่อน ระหว่างที่ ปีเตอร์และแอน โบสเต็ด สองนักสำรวจถ้ำผู้ช่ำชองขับรถเล่นในย่านฮาวายเอียนโอเชียนวิวบนเกาะฮาวายหรือเกาะใหญ่ (Big Island) ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะฮาวาย แอนสังเกตเห็นหลุมเล็กๆ ข้างทาง  หลุมดังกล่าวกว้างไม่เกินหนึ่งเมตร แต่ก็ใหญ่และเย้ายวนพอให้ทั้งคู่จอดรถและพยายามแทรกตัวลงไป

ปีเตอร์เล่าให้ผมฟังว่า  “เรามีเวลาอยู่สองสามชั่วโมง  เลยเริ่มสำรวจกันครับ ปรากฎว่าเจอทางเดินด้านข้างที่วกวนมากกว่าที่คิดไว้เสียอีก” พอกลับถึงบ้าน ปีเตอร์กำหนดจุด พูกา (puka)  หรือปากทางเข้าถ้ำลงในแผนที่ดิจิตอล และวางแผนที่จะกลับไปอีกครั้ง หากได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดิน  เพื่อสำรวจว่าทางเข้าถ้ำนั้นจะพาไปถึงไหน

กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา โอเชียนวิวกลายเป็นจุดหมายปลายทางระดับนานาชาติของนักท่องถ้ำที่เดินทางมาเพื่อสำรวจและทำแผนที่ของคิพูกาคาโนฮีนา (Kipuka Kanohina) หรือโครงข่ายถ้ำลาวาที่อยู่ลึกลงไป 5-25 เมตรใต้เมือง

ถ้ำกำเนิดขึ้นได้สองทาง  คือ เร็วหรือช้า  ถ้ำระดับตำนานของโลกส่วนใหญ่ เช่น ถ้ำคาร์ลส์แบดและถ้ำเลชูกียาในนิวเม็กซิโก ถ้ำแมมมอทในเคนทักกี ใช้เวลานับล้านๆปีในการก่อร่างจากหยดน้ำและธารน้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรดซึ่งไหลผ่านและกัดเซาะหินปูนในพื้นที่

ในทางตรงข้าม ถ้ำลาวา  (lava cave) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า  อุโมงค์ลาวา (lava tube – ช่องกลวงภายใต้ผิวของลาวาหลากที่แข็งตัวแล้ว)  เกิดขึ้นในช่วงพริบตาทางธรณีวิทยา กล่าวคือ เพียงหนึ่งหรือสองปี บางครั้งแค่ไม่กี่สัปดาห์ จากการปะทุของเปลือกโลก

อุโมงค์ลาวาส่วนใหญ่ในฮาวายเกิดจากกระแสลาวาหลากชนิดเหลวที่เรียกว่า ปาโฮอีโฮอี (pahoehoe)  เมื่อลาวาหลากนี้ไหลลงสู่ด้านล่างของภูเขาไฟ   ส่วนที่อยู่บนผิวหน้าจะเย็นตัวลงเพราะอากาศด้านนอกและจับตัวแข็งเกิดเป็นผิวด้านบนที่มีลักษณะยืดหยุ่นคล้ายผิวหนัง  ส่วนด้านล่างเป็นลาวาร้อนที่ยังเลื่อนไหล กัดกร่อนชั้นดินที่อยู่ต่ำลงไปและกัดเซาะจนเกิดเป็นทางเดินหรืออุโมงค์ใต้ดิน  เมื่อมีฉนวนกั้นอากาศด้านบน  ลาวาร้อนสามารถปะทุไปได้อย่างไร้ขีดจำกัด บ่อยครั้งไปได้ไกลอีกหลายกิโลเมตร  เมื่อการปะทุเริ่มสงบลงและทางไหลของลาวาต่างๆ นำพาของเหลวที่หลอมละลายออกมาหมดแล้ว สิ่งที่ทิ้งไว้เบื้องหลังคือระบบถ้ำวกวนราวกับสวนสนุกสามมิติ

คงไม่มีที่ไหนบนโลกที่มีอุโมงค์ลาวาซึ่งสามารถเข้าถึงได้มากเท่าฮาวายอีกแล้ว  และคงไม่มีเมืองไหนที่มีสภาพทางธรณีวิทยาเอื้อแก่การสำรวจมากเท่ากับโอเชียนวิว

ในช่วงทศวรรษ 1990 สองสามีภรรยาโบสเต็ด เป็นสมาชิกผู้แข็งขันของทีมที่ทำแผนที่ถ้ำเลชูกียาความยาว 222 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นถ้ำที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ปัจจุบัน ทั้งคู่อยู่ในวัย 60 เศษ และกึ่งเกษียณ  พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของนักสำรวจถ้ำมากประสบการณ์ไม่กี่คนที่พำนักอยู่ในโอเชียนวิวเต็มเวลา ทั้งคู่เล่าว่าตอนนี้ใช้เวลาสำรวจถ้ำมากกว่าที่เคยทำมาทั้งชีวิตเสียอีก และจำได้ว่าบางปีใช้เวลาอยู่ใต้ดินมากกว่า 200 วันเสียด้วยซ้ำ

ปีเตอร์และแอนพาผมกลับไปสำรวจพูกาข้างถนนแห่งใหม่ที่พวกเขาเพิ่งค้นพบ  พร้อมกับดอนและบาร์บ คูนส์ คู่สามีภรรยานักสำรวจถ้ำผู้โชกโชนที่มาพำนักในโอเชียนวิวช่วงฤดูหนาว

เราจัดแจงสวมหมวกนิรภัย ไฟฉายคาดศีรษะ และแผ่นกันกระแทกแบบนักวอลเลย์บอลที่ศอกและหัวเข่า แล้วหงายหลังแทรกตัวลงไปในหลุม  จากนั้นคลานต่อไปอีกราว 100 เมตรผ่านเส้นทางสูงไม่ถึงหนึ่งเมตรที่ทำแผนที่ไว้ก่อนหน้านี้ ลาวาไหลผ่านถ้ำแห่งนี้มาหลายศตวรรษแล้ว

ด้วยเครื่องเคราประดับประดาน่าตื่นตาตื่นใจ  ทำให้อุโมงค์ลาวาในฮาวายดูเหมือนมาจากดาวดวงอื่น ลาวาย้อยบอบบางที่ห้อยลงมาจากผนังและเพดานอุโมงค์ราวหินย้อย  ก่อตัวเป็นรูปร่างแปลกตา  ทั้งแหลมเฟี้ยวราวฟันฉลามหรือ    ขดห้อยย้อยระย้าราวฟองสบู่  บ้างเป็นแท่งกลวงราวหลอดดูดเพราะถูกดันออกจากเพดานด้วยแก๊สขณะที่ถ้ำเย็นตัวลง ในบางจุดคราบเถ้าลอยสีเงินยวงที่เกาะบนผนังถ้ำดูยับย่นราวสีที่หลุดลอกจากผนัง   ในจุดอื่นๆ ชั้นยิปซั่มบางๆทำให้ผนังส่วนนั้นเป็นสีขาวสว่างโพลง

การคืบคลานของเราสิ้นสุดลงที่ทางแยก  จุดที่เพดานอุโมงค์ทิ้งตัวลงต่ำกว่า 30 เซนติเมตรเหนือพื้นตะปุ่มตะป่ำแหลมคม  ปีเตอร์พูดแบบไร้อารมณ์ว่า  “เห็นทีสนุกแน่งานนี้”  ตอนที่เราค่อยๆ กระดืบตัวไปตามทางที่แคบมากจนเสื้อผมขาดดังแควกเมื่อเจอพื้นตะปุ่มตะป่ำ  เส้นทางแคบเกินกว่าหมวกนิรภัยจะเบียดผ่านไปได้   เราจึงถอดหมวกออกแล้วมะงุมมะงาหราไปในความมืด

บ่อน้ำจืดที่ใสราวกระจกพบได้ยากมากในอุโมงค์ลาวาบนเกาะฮาวาย แม้จะเย้ายวนเพียงใด แต่นักสำรวจบอกว่า นักดำน้ำอาจหลงทิศเมื่ออยู่ในทางที่คดเคี้ยวเลี้ยวลด หรือติดอยู่ในซากกองหินหรือหินที่ร่วงลงมาจนขาดอากาศหายใจได้

สำหรับเช้านี้ แผลถลอกปอกเปิก รอยฟกช้ำดำเขียว และเสื้อผ้าที่ขาดวิ่นของเรา  มีรางวัลตอบแทนเป็นเส้นทาง 47.06 เมตรของถ้ำน้องใหม่ที่เพิ่มเติมลงในแผนที่โครงข่ายคิพูกาคาโนฮีนา  ฟังดูเหมือนไม่มากเท่าไร แต่วันแบบนี้รวมๆ กันช่วยให้แผนที่คืบหน้าไปสู่เป้าหมายในอัตรา 5-7 กิโลเมตรต่อปี   ทำให้อีกไม่ช้าคาโนฮีนาอาจเป็นระบบอุโมงค์ลาวายาวที่สุดในโลกที่ได้รับการสำรวจก็เป็นได้

ดูเหมือนจะมี กฎแห่งความเงียบ ที่รายล้อมอุโมงค์ลาวาบนเกาะใหญ่  ในแง่ที่ว่านักสำรวจถ้ำและนักอนุรักษ์ส่วนมากเลือกที่จะไม่ให้คนนอกรับรู้ตำแหน่งหรือที่ตั้งของอุโมงค์ที่พวกเขาค้นพบ  ตอนที่สองสามีภรรยาโบสเต็ดเสนอตัวพาผมไปถ้ำชื่อมานูนูอี (Manu Nui) ที่พวกเขาสำรวจเพื่อทำแผนที่มาตั้งแต่ปี 2003  ก็มาพร้อมเงื่อนไขว่า เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จะไม่เปิดเผยตำแหน่งที่ตั้งชัดเจน นอกจากระบุแค่ว่า  เป็นถ้ำที่เกิดจากฮูอาลาไล  ภูเขาไฟมีพลังมากที่สุดเป็นอันดับสามในประวัติศาสตร์รองจากเมานาโลอาและคีเลเวอา

ไลแมน เพอร์รี จากกรมป่าไม้และสัตว์ป่าของฮาวายบอกว่า “เรายังไม่เข้าใจระบบนิเวศของถ้ำเหล่านี้อย่างถ่องแท้ เลยไม่อยากให้คนเข้าไปครับ  ความเป็นจริงก็คือ ถ้าผู้คนค้นพบสถานที่เหล่านี้เมื่อไร  ที่สุดแล้วพวกเขาคงไม่พ้นที่จะทำลายมันครับ”

เรื่อง  โจชัว โฟเออร์

ภาพถ่าย คาร์สเทน ปีเตอร์

 

อ่านเพิ่มเติม

แมกมากับลาวา ต่างกันอย่างไร? วิทยาศาสตร์มีคำตอบ

Recommend