การปฏิวัตินีโอลิทิคซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า การปฏิวัติเกษตรกรรม คือการเปลี่ยนจากการล่าสัตว์และหาของป่าไปสู่การทำเกษตรกรรม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงมนุษยชาติไปตลอดกาล
เชื่อกันว่า การปฏิวัตินีโอลิทิค (Neolithic) หรือ การปฏิวัติเกษตรกรรม เกิดขึ้นเมื่อราว 12,000 ปีก่อน มันเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างการสิ้นสุดของยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายกับการเริ่มต้นของสมัย (Epoch) ทางธรณีวิทยาที่ในยุคปัจจุบันคือโฮโลซีน (Holocene) การปฏิวัติในครั้งนี้เปลี่ยนแปลงการกินอยู่ และการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ไปตลอดกาล และได้เบิกทางสู่อารยธรรมมนุษย์สมัยใหม่
ในยุคนีโอลิทิค นักล่าหาของป่า (Hunter-Gatheres) เร่ร่อนอยู่ตามธรรมชาติเพื่อตามล่าและหาอาหาร แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น นักล่าอาหารกลายเป็นเกษตรกร และเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตนักล่าหาของป่ามาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่งมากขึ้น
สาเหตุของการตั้งรกราก
แม้ว่าช่วงเวลาและสาเหตุที่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยเป็นมาจะยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ โดยมีการคาดเดาว่าการเพาะปลูกของมนุษย์เกิดขึ้นครั้งแรกในบริเวณพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ (Fertile Crescent หรือบริเวณเมโสโปเตเมีย) ในแถบตะวันออกกลาง อันเป็นบริเวณที่ผู้คนหลายกลุ่มพัฒนาการเกษตรตามแบบของตัวเอง จึงเป็นไปได้ว่า “การปฏิวัติเกษตรกรรม” เป็นการปฏิวัติที่มีการพัฒนาในตัวเองอยู่หลายครั้ง
มีหลายสมมติฐานที่ให้คำตอบว่าเหตุใดมนุษย์จึงหยุดเร่ร่อนเพื่อหาอาหารและเริ่มเพาะปลูก ความกดดันทางประชากร (Population Pressure) อาจทำให้เกิดการแย่งชิงอาหารที่มากขึ้น และนำไปสู่ความจำเป็นของการเพาะปลูกอาหารใหม่ๆ ผู้คนอาจเปลี่ยนมาทำการเพาะปลูกเพื่อให้คนชราและเด็กมีส่วนร่วมในการผลิตอาหาร มนุษย์อาจเรียนรู้ที่จะพึ่งพาพืชซึ่งถูกคัดเลือกและผสมผสานในช่วงต้นของการนำมาปลูก และในทางกลับกัน พืชเหล่านั้นอาจจำเป็นต้องพึ่งพามนุษย์ด้วยเช่นกัน เมื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆขึ้น ทฤษฎีใหม่ๆ เกี่ยวกับกับวิธีการและเหตุผลที่การปฏิวัติเกษตรกรรมเริ่มต้นขึ้นก็ตามมา และได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่ามนุษย์จะถอยห่างจากการล่าสัตว์และการออกหาอาหารด้วยด้วยวิธีการและเหตุผลใดก็ตาม พวกเขาก็เริ่มตั้งรกรากมากขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลบางส่วนของสิ่งนี้เกิดจากการเพาะเลี้ยงพืชที่มากขึ้นเรื่อยๆ มีการคาดว่ามนุษย์อาจเริ่มรวบรวมพืชและเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ 23,000 ปีก่อน และเริ่มมีการเพาะปลูกธัญพืชประเภทซีเรียล เช่นข้าวบาร์เลย์ ตั้งแต่ 11,000 ปีก่อน หลังจากนั้น พวกเขาเริ่มเปลี่ยนไปปลูกพืชโปรตีนสูงอย่างถั่วและถั่วเลนทิล เมื่อเกษตรกรยุคแรกเพาะปลูกเก่งขึ้น จึงมีเมล็ดพันธุ์และพืชผลที่ต้องเก็บรักษามากขึ้น สิ่งนี้อาจกระตุ้นการเติบโตของประชากรเนื่องจากการมีจำนวนอาหารที่คงที่มากขึ้น และการที่จำเป็นต้องอยู่อย่างลงหลักปักฐานขึ้น เนื่องจากความต้องการการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์และดูแลพืชผล
การเลี้ยงสัตว์
ขณะที่มนุษย์เริ่มทดลองการเพาะปลูก พวกเขาได้เริ่มการเลี้ยงสัตว์ด้วยเช่นกัน มีการค้นพบหลักฐานของการเลี้ยงแกะและแพะ ซึ่งอาจมีอายุย้อนไปถึง 12,000 ปีก่อน ในอิรักและอานาโตเลีย (ปัจจุบันอยู่ในตุรกี) การใช้สัตว์ที่ถูกเลี้ยงให้เป็นแรงงาน ช่วยให้การเพาะปลูกที่เคยยากลำบากนั้นง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ นมและเนื้อของพวกมันยังเป็นแหล่งโภชนาการเสริมที่ดีสำหรับประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การปฏิวัติเกษตรกรรมส่งผลหลายอย่างต่อมนุษย์ มันถูกเชื่อมโยงเข้ากับทุกสิ่ง ตั้งแต่ความไม่เท่าเทียมทางสังคม อันเป็นผลจากการที่มนุษย์ต้องพึ่งพาที่ดินมากขึ้นและความกลัวความขาดแคลน ไปจนถึงคุณภาพโภชนาการที่แย่ลงและการเพิ่มขึ้นของโรคติดต่อที่มาจากสัตว์ อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยใหม่ได้นำทางความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในสังคมสมัยใหม่ซึ่งเป็นอารยธรรมที่มีศูนย์กลางประชากร (Population Center) ขนาดใหญ่ มีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น และมีความก้าวหน้าด้านวิทยาการ ศิลปะ และการค้า
อ่านเพิ่มเติม: โครงกระดูกหนูนับพันชิ้น พลิกประวัติเรื่องราวมนุษย์ฮอบบิท