หากถามถึงความฝันสักครั้งในชีวิตของนักวิ่งสายเทรล เชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยเลยที่ตั้งเป้าหมายอยากไปวิ่งในงาน Ultra-Trail du Mont-Blanc หรือที่นักวิ่งเทรลเรียกกันว่า “UTMB” ซึ่งถือเป็นมหกรรมระดับโลกที่รวมนักวิ่งใจแกร่งที่อยากจะมาทดสอบสภาพร่างกายและจิตใจกับเส้นทางการวิ่งบนภูเขาสูงในระดับมากกว่า 2,500 เมตร และสภาพอากาศสุดหฤโหดที่มีทั้งแดดร้อน หิมะตก และพายุ ทว่าแลกมาด้วยความท้าทายในการได้ทลายขีดจำกัดของตัวเองและทิวทัศน์อันสวยตระการตาตลอดเส้นทางการวิ่งผ่าน 3 ประเทศ คือ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส โดยมีจุดเริ่มต้นที่เมืองชาโมนิกซ์ (Chamonix) ประเทศฝรั่งเศส
แน่นอนว่างานนี้ไม่ใช่แค่มีเงินก็มาวิ่งได้ แต่คุณต้องผ่านการเก็บคะแนนสะสมมาจากสนามวิ่งต่างๆที่กำหนดไว้ แล้วจึงนำคะแนนเหล่านั้นมาเป็นข้อมูลในการสมัคร เพื่อรอลุ้น Lottery จากผู้จัดว่าจะได้ไปไหม ดังนั้นการได้มาวิ่งในงานนี้ถือเป็นที่สุดของการวิ่งเทรลแล้วจริงๆ
คุณไก่ – จินตนา เกษเพ็ชร คือสาวนักบัญชีที่ผมได้รู้จักตอนไปทดสอบสนามวิ่งเทรลที่จังหวัดระยองเมื่อปีกลาย เธอคนนี้คือหนึ่งในผู้ที่มีโอกาสได้วิ่งในงานระดับโลกนี้ถึง 2 ครั้ง โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการวิ่งเลย กระทั่งสั่งสมประสบการณ์ด้วยตัวเองมาจนมีวันนี้ คุณไก่เล่าว่าเธอลงวิ่งในระยะ CCC เป็นระยะทาง 101+ กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นระยะน้องๆของ UTMB (ระยะทาง 171+ กิโลเมตร) มีจุดปล่อยตัวที่เมืองคูมาเยอร์ในประเทศอิตาลี แล้ววิ่งผ่าน 3 ประเทศเช่นกัน
แรงบันดาลใจในการวิ่งมาจาก “ตูน บอดี้สแลม”
ก่อนหันเหชีวิตเข้าสู่วงการวิ่งเทรล คุณไก่เป็นพนักงานบัญชีที่วันๆอยู่แต่ในออฟฟิศ ไม่เคยได้ออกกำลังกาย จนถึงวันหนึ่งก็รู้สึกเบื่อการทำงาน จึงเริ่มมองหาเป้าหมายที่อยากทำในชีวิตนี้
“วันๆอยู่แต่กับตัวเลข เหมือนความท้าทายของเรามันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านี้ ไก่อยากมีเป้าหมายอะไรบางอย่างในชีวิต ตอนแรกก็คิดไม่ออกว่าอยากทำอะไร จนเมื่อ 7 ปีที่แล้วได้เห็นพี่ตูน บอดี้สแลมวิ่ง โดยส่วนตัวชื่นชอบวงบอดี้สแลมมาก อยากไปเจอพี่ตูน ซึ่งถ้าเราไปวิ่งเราก็จะได้เจอพี่เขา ก็เลยขอวิ่งตามผู้ชาย วิ่งตามพี่ตูนค่ะ (หัวเราะ)
“เริ่มต้นวิ่งครั้งแรกด้วยระยะมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร ไก่ไปแบบไม่มีข้อมูลเลยนะ ไม่เคยวิ่งมาก่อนด้วย มีรองเท้าอยู่คู่เดียว ชุดวิ่งก็ไม่มี ตอนนั้นวิ่ง 10 กิโลเมตรใช้เวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที และได้วิ่งกับพี่ตูนแค่ 2 กิโลเมตรเท่านั้น
“จากนั้นก็ลงวิ่ง City Run อยู่ไม่ถึงปีก็เริ่มลงฮาล์ฟมาราธอน และในที่สุดก็ลงฟลูมาราธอน 42.195 กิโลเมตร ช่วงนี้เริ่มมีเพื่อนๆนักวิ่งมาแนะนำเรื่องการวิ่ง การกินอาหาร การซ้อม ไก่ก็อาศัยเรียนแบบครูพักลักจำ”
“ไก่เริ่มตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาวิ่งเลยค่ะ เรียกว่าปีแรกซัดหมดทุกอย่าง ไก่ไปเทรลแรกที่งานโคลัมเบียเทรลมาสเตอร์ที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ลงระยะ 25 กิโลเมตร ใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง พอกลับมาจากงานนี้ก็เริ่มจริงจังกับการวิ่งเทรลมากขึ้น”
เหตุผลที่หันมาวิ่งเทรล
“ชอบท่องเที่ยวค่ะ ได้เห็นวิวสวยๆ มันไม่น่าเบื่อเลยนะ ต่างจากการวิ่งบนถนน ซึ่งอาจจะเน้นที่การแข่งขัน ทุกก้าวมันจึงเร็ว หายใจก็ไม่สนุก วิวก็ไม่มีให้มอง มองแต่ถนน มองแต่คนด้านหน้า แต่พอมาวิ่งเทรล ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างไปเลย ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมทาง ได้ท่องเที่ยวผจญภัย”
เทคนิคการดูแลตัวเองสำหรับการวิ่งเทรล
“ถ้าเป็นการวิ่งเทรลแบบทั่วไป 1 อาทิตย์ก่อนแข่งไก่จะเริ่มเน้นการกินแป้งคาร์โบไฮเดรต และจะเริ่มดุเดือดขึ้น 3 วันก่อนแข่ง คือเน้นกินคาร์บมากขึ้น เน้นกินแป้ง ผักผลไม้ และลดเนื้อสัตว์ลง เอาจริงๆคือเราต้องรู้จักตัวเองให้ดีพอและค่อยๆปรับให้เข้ากับตัวเรา”
การซ้อมวิ่ง
“ก่อนอื่นต้องรู้ว่าเราจะลงวิ่งระยะอะไร ควรรู้ว่าพื้นฐานของตัวเราเองเป็นแบบไหน ไก่จะใช้วลา 1 เดือนในการปรับโหมดพื้นฐานของตัวเอง พื้นฐานตรงนี้หมายถึง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความต่อเนื่องของการซ้อมที่ผ่านมา และหัวใจ (Heart Rate) หลักๆ แค่ 3 อย่างนี้ โดยส่วนใหญ่การปรับพื้นฐานของไก่จะเป็นการวิ่งโซน 2 ซึ่งเป็นโซนที่เราสามารถพูดคุยได้ปกติโดยไม่หอบในขณะที่วิ่ง”
“เราจะได้รู้ว่าร่างกายพร้อมรับการซ้อมที่หนักไหม เพื่อลดอาการบาดเจ็บ ทำให้เราวางแผนการซ้อมสเต็ปต่อไปได้ถูกต้อง การไม่รู้จักปรับพื้นฐานให้ร่างกายก็จะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้มาก รู้สึกว่านักวิ่งสมัยนี้ขาดตรงนี้ เขาจะมองข้ามช็อตไปที่การซ้อมเพื่อแข่งเลย”
ศึกษาข้อมูลเรื่องการวิ่งจากไหน
“มีหลากหลายมาก ทั้งจากหนังสือ พี่ๆ เพื่อนๆ เล่าให้ฟัง และที่สำคัญเลยคือประสบการณ์ตรงของตัวเอง เราต้องหัดวางแผนซ้อมเพื่อการแข่งขัน ไปจนถึงเรื่องการกินการพักผ่อนให้เหมาะสม หากเราฟังคนอื่นเล่าว่าเขาทำแบบนี้ ซ้อมแบบนี้ แล้วเรานำแผนการซ้อมของเขามาใช้ มันอาจใช้ไม่ได้ก็ได้ เพราะร่างกายและกล้ามเนื้อของเขากับของเราต่างกัน หรือถ้าปรับใช้ได้ แต่มันจะดีกับเราจริงๆหรือเปล่า อย่าลืมว่าเป็นคนละคนกัน กล้ามเนื้อเราก็มีพื้นฐานไม่เหมือนกัน ส่วนตัวแล้วจะมองและศึกษาตัวเองควบคู่ไปกับการซ้อมในแต่ละครั้ง เวลาซ้อมถ้าเป็นเสาร์-อาทิตย์ก็จะซ้อมช่วงเช้า แล้วก็จะไปหาสถานที่วิ่งเทรลต่อ หากเป็นวันธรรมดาก็ทำงานตามปกติ หลังเลิกงานจึงไปซ้อมเล่นกีฬากันได้”
สนามซ้อมประจำ
“ชอบเขายายดา จังหวัดระยองค่ะ จะมี 2 พาร์ต คือพาร์ตที่เป็นถนน ขึ้นและลง 15 กิโลเมตร ความชัน 750 ทางเทรลเส้นเดียวกันจะอยู่ที่ 4 กิโลเมตร ความชัน 300 ไก่มีกลุ่มวิ่งอยู่ที่นั่นด้วย ตั้งชื่อว่า ‘โรงเรียนจินตนา’ ที่ใช้ชื่อจริงของไก่เป็นชื่อกลุ่มก็อาจเป็นเพราะไก่ค่อนข้างจะเป็นคนที่จริงจังแล้วก็เข้มงวด น้องๆหรือใครที่มาฝึกด้วยกันกับเราแล้วเกิดท้อหรือไปไม่ไหว เราก็จะต้องสร้างแรงจูงใจให้เขาว่าถ้าไปแล้วจะได้อะไร เป็นการเสริมสร้างกำลังใจค่ะ แต่ก็มีบางครั้งที่ต้องคอยบังคับให้ทำนะคะ (หัวเราะ)
“วิ่งค่ะ วิ่งจนโคลัมเบียประเทศไทยรู้จัก คือจะมีรายชื่อนักกีฬาที่รายการต่างๆส่งไปให้ทางโคลัมเบีย ไก่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของโคลัมเบียว่าสนใจอยากเป็นนักกีฬาสังกัดโคลัมเบียไหม เราก็เลยบอกว่าสนใจ เขาเลยให้ส่งประวัติมา ก็ผ่านการคัดเลือกจนได้เป็นหนึ่งในห้านักกีฬาของโคลัมเบีย และมีโอกาสได้ไปวิ่งในงาน UTMB ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของเรา”
เตรียมความพร้อมกับการวิ่งในงาน UTMB อย่างไร
“ก็ทำทุกอย่างเองเหมือนเช่นเคย ฝึกซ้อมเอง วางแผนเอง ต้องรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งจุดอ่อนอะไร ปี 2018 เป็นปีแรกที่เริ่มเข้ามาอยู่ในโคลัมเบีย แล้วเขาก็ส่งไปแข่งที่ UTMB เลย มันยากมากนะกับการวิ่งเทรลในระยะ 100+ กิโลเมตร ไก่เตรียมตัวฝึกซ้อมต่อเนื่องทั้งปีเลย ซึ่งในระหว่างนี้ก็มีการแข่งขันที่อื่นๆในประเทศ ทั้งการวิ่งเทรล 25 กิโลเมตร 50 กิโลเมตร และการวิ่งมาราธอน ถือเป็นการซ้อมไปในตัว
“นอกนั้นคือการซ้อมปกติ ใช้เวลาในการซ้อมรวมๆแล้ว 7 เดือน ถือว่าซ้อมหนักมากจนที่บ้านบอกว่าเขาไม่ได้กลัวเรื่องไก่แข่ง เขากลัวเรื่องไก่ซ้อม คือตอนนั้นตัดทุกอย่างออกไปเลย เพราะเป้าหมายของเราคืองาน UTMB สนามนี้คือที่สุดของนักวิ่งสายเทรลแล้ว ไก่ศึกษามาระดับหนึ่งจนรู้ว่ามันยากขนาดไหน นี่เป็นสนามที่นักวิ่งเทรลทุกคนใฝ่ฝันที่จะไป ไหนจะภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และปัจจัยอีกหลายอย่างที่เราไม่เคยเจอ ดังนั้นสิ่งเดียวที่เราทำได้คือการซ้อม”
“ปี 2018 ถือเป็นปีแรกที่ไก่ได้ไป บอกได้เลยว่าไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อนค่ะ คือระดับปล่อยตัว ช่วงทางธรรมดาที่ความสูงประมาณ 1,000 เมตรจากระดับทะเล ความชันประมาณ 10 องศา ซึ่งเวลาเราขึ้นไปอยู่ในที่สูงอุณหภูมิก็ลดลงเหลือเลขตัวเดียว แล้วปีนั้นมีพายุอีก ยิ่งเพิ่มความหนาว พอตกดึกคืออากาศติดลบ แล้วเราต้องอยู่กับอากาศแบบนั้นตลอดเส้นทางจนกว่าจะเช้า ไก่เองไม่ได้วางแผนคิดเผื่อไปถึงว่าเราจะเจอพายุ พอเจอเข้าจังๆ ก็ต้องสู้ ใช้ความสามารถของเราฝ่าฟันไปให้ได้”
ผลของการวิ่งในงาน UTMB ปีแรกเป็นอย่างไร
“ก็ทำสำเร็จค่ะ ใช้เวลาไป 24 ชั่วโมง ซึ่งการวิ่งเทรลระยะ 101 กิโลเมตร เขาให้เวลา 26 ชั่วโมง”
การวิ่งเทรลระยะ 101 กิโลเมตรมีหยุดพักบ้างไหม
“มีหยุดพักค่ะ คือตอนนั้นเราทั้งเหนื่อยทั้งหนาวมาก เป็นความผิดพลาดของไก่เองที่เลือกใช้อุปกรณ์ผิดไปหน่อย คือปกติการวิ่งในสภาพอากาศหนาวๆแบบนี้ก็ต้องมีเสื้อออมนิฮีต (omni-heat) อยู่ข้างในคอยกันลมหรือกันฝน พวกนี้เป็นอุปกรณ์บังคับที่ต้องมี แต่ไก่หยิบอุปกรณ์ผิดชิ้นมาใช้แบบไม่ถูกเวลา เช่น เราหยิบเบสเลเยอร์มาตอนที่ฝนตก เบสเลเยอร์มีไว้กันหนาว แม้ฝนตกอากาศจะหนาวก็จริง แต่เสื้อมันเปียกไง ที่จริงเราควรหยิบเสื้อแบบกันฝนมาหรือว่ากันลมมาก่อน ตอนนั้นไก่เลยตัวเปียกตั้งแต่กิโลเมตรที่ 25 แล้วไก่ก็อยู่กับเสื้อผ้าที่เปียก 75 กิโลเมตร แถมตอนกลางคืนอุณหภูมิก็ลดลงไปจนถึงติดลบ แต่เสื้อผ้าข้างในคือเปียกหมด ด้วยความที่เราตั้งใจแล้วว่ายังไงเราก็ต้องไปให้จบ เราก็ต้องอดทนทำให้ได้ค่ะ”
การเตรียมความพร้อมของการวิ่งเทรลในงาน UTMB ปีที่สอง
“ปี2019 ถือว่าดีขึ้น ไก่ลดการซ้อมลง เพราะมีประสบการณ์แล้วว่าเราจะไปเจอความชันแบบไหนหรือว่าร่างกายต้องเสริมอะไร จึงเหลือแค่ 5 เดือนในการซ้อม ไม่ลงวิ่งมาราธอน ไม่มีการแข่งขันอื่นมาช่วย ตารางซ้อมก็คิดเองแต่ก็ยังอิงกับอันเดิม คือมีตั้งแต่โหมดปรับสภาพ โหมดแข่งขัน และโหมดฟื้นฟู”
อาหารสำหรับการเตรียมตัวไปวิ่งเทรลระยะ 100+ กิโลเมตร
“แป้งคาร์โบไฮเดรตนี่แหละค่ะ ขนมปังก็ได้ แต่ส่วนตัวไก่พกข้าวเหนียวหมูปิ้ง มื้อประจำวันก็กินตามปกติ เพียงแต่ว่าอาจเน้นพวกแป้งเยอะหน่อย เราต้องซ้อมกินด้วยนะ สำคัญเลยละ เราต้องกินให้ได้ อะไรก็ได้ที่กินแล้วไปเพิ่มแคลอรี่ให้ร่างกายได้มีพลังงานเดินหน้าไปให้ถึงเป้าหมาย เคยเห็นเพื่อนหรือคนรู้จักหลายคนกินไม่ได้เลย เพราะพอเวลาที่ร่างกายเราเหนื่อยไปถึงจุดที่เขาเรียกว่าต่ำ ร่างกายจะไม่รับอะไรแล้ว การซ้อมกินจึงสำคัญมาก กินอะไรก็ได้ที่เราชอบแล้วสามารถกลืนลงไปถึงท้องได้โดยไม่อาเจียนออกมาก่อน”
การเลือกใช้อุปกรณ์
“ไก่เลือกจากความถนัดมากกว่าเน้นยี่ห้อ อย่างเป้กันน้ำที่สามารถจุของที่เขาบังคับได้หมดและสิ่งที่เราต้องการกินหรือใช้ เช่น ยาดม ต้องมีช่องเก็บให้เราหยิบได้คล่อง หรือรองเท้าก็เป็นคู่ที่เราฝึกซ้อมมาจนชินโดยไม่กัดไม่บีบหรือว่าพื้นไม่กระแทกจนทำให้เราเจ็บ”
คนที่สนใจอยากไปวิ่งในงาน UTMB บ้าง ต้องทำอย่างไร
“ตามกฎกติกาของงาน UTMB นักวิ่งจะต้องมีแต้มสะสมเริ่มต้นอย่างน้อย 4 แต้มใน 2 สนาม งานนี้เปิดรับในช่วงเดือนธันวาคม แล้วรอลุ้นผลการจับฉลาก ซึ่งประกาศผลช่วงเดือนมกราคม หากได้รับการคัดเลือกจะต้องจ่ายเงินแล้วก็ดำเนินการตามแผนได้เลย โดยการหาสถานที่ฝึกซ้อมและที่พักก็สำคัญ เพราะในละแวกที่จัดงานจะเต็มเร็วมาก ปีนี้งานจะมีในวันที่ 24 – 28 สิงหาคม 2563”
เพื่อนๆประหลาดใจไหมที่จากนักบัญชีกลายเป็นนักวิ่งเทรล
“ถ้าเป็นเพื่อนในที่ทำงานก็อาจตกใจกับสิ่งที่เราทำ แต่ถ้าเป็นเพื่อนกลุ่มวิ่งก็เฉยๆ เพราะเขาจะเห็นว่าไก่ทุ่มเทกับการฝึกซ้อมมากๆจนชินไปแล้ว”
มีอะไรฝากถึงมือใหม่ที่อยากเป็นนักวิ่งเทรลบ้าง
“หาสนามฝึกที่เราชอบ หากลุ่มที่จะสามารถทำให้เราสนุกกับกิจกรรมได้ พื้นฐานก็ประมาณนี้ สิ่งสำคัญคือต้องสร้างแรงบันดาลใจ อย่างไก่ได้แรงบันดาลใจจากพี่ตูน และสุดท้ายก็กลายมาเป็นสิ่งที่เราชอบ เรารักที่จะวิ่ง อยากสร้างเป้าหมายของเราว่าต้องวิ่งได้ระยะนี้ ใช้เวลาเท่านี้ เราต้องไปสนามนี้ให้ได้ เหมือนอย่างที่ไก่ตั้งเป้าหมายว่าจะไปงาน UTMB ให้ได้ จนเมื่อเราเคยไปแล้ว มีประสบการณ์แล้ว เป้าหมายต่อไปคือต้องทำให้ดีกว่าปีแรก อาจไม่ต้องเป็นที่หนึ่ง แต่เราวิ่งจบคือเราทำสำเร็จค่ะ”
ขอขอบคุณ
คุณจินตนา เกษเพ็ชร
***ภาพถ่าย: ปรมัตถ์ เริงศาสน์
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
อ่านเพิ่มเติม งานวิ่งเทรลโคลัมเบีย 2019 : คำบอกเล่าจากสนามจริง