คนล้นเมือง ปัญหาประชากรล้นชุมชน และคนจนเมืองในฟิลิปปินส์
เสียงบีบเเตรรถจี๊ปนีย์ ท่ามกลางการจราจรที่แออัดในกรุงมะนิลา อัลวิน โลบริกาโด ทำอาชีพยอสซี่บอย(คนขายบุหรี่) ตามสี่แยกไฟแดง กล่าวว่า “เวลาเร่งรีบในช่วงเช้าของกรุงมะนิลาเป็นเวลาทองในการขายบุหรี่ผู้คนชอบซื้อบุหรี่เวลารถติด ๆ” อัลวินวัย 48 ปี มาจากภูมิภาคบีโกล ทางใต้ของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ เขาย้ายเข้ามาอยู่ในสลัมบนพื้นที่ทิ้งขยะขนาดใหญ่ของเมืองเกซอนซิตี ซึ่งคนในพื้นที่แถวนั้นรู้จักกันในชื่อปายาตัสดั๊มไซต์
ตั้งแต่ปี 1994 อัลวินอาศัยอยู่กับครอบครัวซึ่งมีภรรยาและลูก ๆ อีก 8 คนในบ้านหลังเดียวกัน คริสตินา ภรรยาของอัลวิน ทำอาชีพรับจ้างซักผ้าและทำความสะอาด ทั้งคู่มีความเชื่อและศรัทธาในคำสอนของศาสนาคริสต์ ผมตั้งคำถามกับเมอา ลูกสาวคนโตวัย 20 ปี ซึ่งมีลูกสาววัยสองขวบชื่อ โจนา หลานคนเเรกของคุณตาอัลวินและคุณยายคริสตินาว่า “คุณไม่คิดจะคุมกำเนิดหรือวางเเผนครอบครัวบ้างหรือ” เธอตอบสั้น ๆ ว่า “เด็กทุกคนเป็นพรและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า พวกเราไม่มีสิทธิ์ที่จะทำลายชีวิตเขาค่ะ”
ปัจจุบัน ฟิลิปปินส์มีประชากร 101,802,706 คน โดยเฉลี่ยมีประชากร 66,140 คนต่อพื้นที่หนึ่งตารางกิโลเมตร และในบางพื้นที่ที่เป็นสลัมอาจมีประชากรหนาแน่นถึง 171,300 คนต่อตารางกิโลเมตร ลำพังกรุงมะนิลาเพียงเมืองเดียวก็มีประชากรมากถึง 25.3 ล้านคนปัญหานี้เป็นสาเหตุของปัญหาอื่น ๆ หลายด้าน เช่น การขาดการศึกษา บริการสาธารณสุขไม่เพียงพอ คนว่างงานและความยากจน
ปัญหาประชากรล้นและคนจนเมืองในฟิลิปปินส์เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อทางศาสนาอย่างชัดเจน ทั้งยังเชื่อมโยงไปถึงทุกชนชั้นในฟิลิปปินส์ ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มคนยากจนที่ไม่มีเงินซื้อยาคุมกำเนิดหรือทำหมัน แพทย์หญิงแอนเดรีย เมนโดซา แห่งแผนกกุมารเวชของโรงพยาบาลโจเซฟาเบียร์ลาบอกว่า ตอนนี้ตัวเธออายุ 29 ปี มีลูกแล้ว 3 คน แต่ก็ยังไม่สามารถวางแผนคุมกำเนิดได้เพราะขัดหลักศาสนา
เธอกล่าวอีกว่า แพทย์ที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวบอกว่า เธอยังอายุน้อยเกินไปที่จะทำหมันหรือคุมกำเนิด “ในฟิลิปปินส์ คุณต้องอายุ 35 ปีขึ้นไปถึงจะมีการวางแผนครอบครัวค่ะ” คุณหมอเดินนำผมเข้าไปดูในวอร์ดเด็กแรกคลอด ”นี่แหละค่ะปัญหาหลัก ๆ ของเรา” ผมมองเห็นคุณแม่และทารกจำนวนมากนอนแชร์เตียงกันอยู่สี่คู่แปดชีวิต
ปัญหาประชากรล้นและคนจนเมืองในฟิลิปปินส์ยังสร้างผลกระทบระยะยาวต่อปัญหาการรุกลํ้าพื้นที่สาธารณะในเมืองใหญ่ต่าง ๆ ในสุสานกลางกรุงมะนิลาเหนือที่สร้างโดยรัฐบาล แต่ถูกรุกลํ้าโดยคนไร้บ้าน นิด้า เดลกุซแมน กับสามีและลูก ๆ อาศัยอยู่ในสุสานแห่งนี้มานานกว่า 40 ปีแล้ว สามีของเธอเป็นคนรับจ้างดูแลหลุมศพ คอยทำความสะอาด และซ่อมบำรุง เธอเล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีคนที่อาศัยอยู่ในสุสานแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นคนดูแลสุสาน แต่ภายหลังมีกลุ่มคนเข้ามาอาศัยในสุสานมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเข้ามาจับจองพื้นที่หลุมศพเป็นบ้านของตัวเอง
ปัญหาชุมชนแออัดเป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาอย่างฟิลิปปินส์ที่มักมีการพัฒนาในลักษณะเอกนคร หรือเมืองโตเดี่ยว เมืองและชนบทมีการพัฒนาความเจริญแตกต่างกันอย่างมาก ส่งผลให้เมืองใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาเผชิญกับภาวะของการกลายเป็นเมืองเกินระดับ กล่าวคือมีประชากรมากเกินกว่าที่จะอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ระบบสังคมและเศรษฐกิจของเมือง เกิดกลุ่มคนที่มีรายได้ตํ่าจำนวนมากในเมือง มีความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงปัญหาทางสังคมอื่น ๆ ตั้งแต่ปัญหาจราจร ปัญหาการขาดแคลนสาธารณูปโภค ปัญหาที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ ปัญหาสุขภาพจิตของคนในเมือง ไปจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ
เรื่อง อธิวัฒน์ ศิลปเมธานนท์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง จากโครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2015 โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย