14 เดือนหลังขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวและสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ทำให้ ช้างไทย กำลังประสบกับอันตรายที่ยืดเยื้อ
“ขายช้างอัจฉริยะ 11 ตัว ตัวละ 3 ล้านบาท” นี่คือข้อความที่สวนเสือศรีราชา จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย ประกาศบน Facebook ของสวนสัตว์ เพื่อขาย ช้างไทย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา
สวนสัตว์ในประเทศไทยสร้างรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวผ่านตั๋วเข้าชม การขี่ช้าง และการแสดงสัตว์ แต่เนื่องจากประเทศไทยได้ออกมาตรการไม่ให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมสวนสัตว์ตามคำสั่งของรัฐบาลในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 ทำให้สวนสัตว์กำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเงินอย่างหนัก
ในโพสต์ Facebook เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่เกี่ยวกับปัญหาช้างเลี้ยง ทางสวนสัตว์ยังกล่าวอีกว่า “ณ จุดนี้เพื่อรักษาบาดแผลจากพิษ COVID เราจำเป็นต้องขายพวกเขาออก”
การท่องเที่ยว ช้างไทย ได้สร้างกำไรให้กับประเทศไทยมายาวนาน ผู้เยี่ยมชมจากทั่วโลกหลั่งไหลกันเข้ามายลโฉมช้างไทยพวกเขาต้องจ่ายเงินประมาณ 20-150 ดอลลาร์สหรัฐ (600-5,000 บาท) เพื่อขี่ช้างหรือดูการแสดงอันชาญฉลาดของช้างเช่น วาดรูป โยนห่วงและเต้นต่อครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นับตั้งแต่นั้น ส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้ได้เปลี่ยนบรรยากาศไปใช้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์เพื่อที่จะจัดวางช้างให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น
แม้ยังไม่ชัดเจนว่าการท่องเที่ยวช้างสร้างรายได้โดยรวมเท่าไร แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือก่อนเกิดโรคระบาด ปางช้างแห่งหนึ่งอาจต้องจ่ายเงินสูงถึง 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเป็นเงินประมาณ 2.4 ล้านบาท เพื่อซื้อช้างวัยหนุ่มที่ได้รับการฝึกฝนมาพอสมควร สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการขี่ช้าง การแสดง และกิจกรรมเชิงโต้ตอบอื่นๆ ของช้างนั้นทำเงินได้มากเพียงใด
“ไม่ตายก็ต้องสู้กันต่อไป”
อัญชลี กัลมาพิจิตร ได้ตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่เมื่อปลายปี 2019 ว่าเธอจะยุติการขี่ช้างและการแสดงที่ปางช้างแม่สา สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มาพร้อมกับช้าง 73 เชือกที่เธอได้รับเป็นมรดกมาจากพ่อเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
เธอมองว่าการปิดการแสดงช้างในช่วงการระบาดของไวรัส โควิด-19 เป็นช่วงเวลาที่บังเอิญอย่างพอดี และเป็นแรงผลักดันให้เธอเริ่มเปลี่ยนไปใช้พื้นที่เปิดซึ่งเป็นมิตรกับช้างอย่างที่เธอได้วางแผนไว้ และในวันที่ 20 มีนาคม 2020 ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลสั่งปิดธุรกิจที่ไม่จำเป็นทั้งหมด เธอบอกกับพนักงานว่าให้ทิ้งเบาะนั่งที่ติดอยู่บนหลังช้างทั้งหมดออก และเธอคิดว่า ต่อไปนี้หากไม่มีนักท่องเที่ยว เธอจะใช้เวลาวางแผนในอีกหลายเดือนข้างหน้าในการเตรียมช้างหลายเชือกให้ย้ายไปยังพื้นที่เปิด ในอาณาเขตของที่ดินแม่สาขนาดกว่า 228 ไร่
แรงกดดันทางการเงินในการดูแลช้าง 73 ตัวในช่วงการระบาดใหญ่นั้นโหดร้ายอย่างยิ่ง โดยปกติ ช้างกินอาหารประมาณ 136 กิโลกรัมต่อวัน (อาหารส่วนใหญ่จะเป็นหญ้าและผลไม้สด) โดยมีราคาประมาณ 500 บาทต่อหนึ่งเชือก หรือเท่ากับหนึ่งตันทุกๆ สามวัน ในการเลี้ยงช้าง 73 ตัว คุณอัญชลีใช้เงินอย่างน้อยต่อเดือนประมาณ 934,500 บาท และยังไม่รวมถึงเงินที่ใช้จ่ายไปกับยา วิตามิน และเงินเดือนสำหรับเจ้าหน้าที่ปางช้างกว่า 142 คนและควาญช้าง 120 คน ตลอดจนสัตวแพทย์และพนักงานบริการ ในเดือนเมษายน 2020 เธอบอกกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกว่า “ถ้าในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ถ้าโควิดยังอยู่ ฉันคงจะไม่มีเงินเหลือ แต่ถ้าฉันยังไม่ตายก็คงต้องสู้ต่อไป”
“วิกฤตระดับชาติ”
“สถานการณ์ของช้างเข้าขั้นวิกฤต” เล็ก – แสงเดือน ชัยเลิศ เจ้าของ Elephant Nature Park ซึ่งเป็นศูนย์ช่วยเหลือช้างที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีช้าง 103 ตัว กล่าว “ช้างหลายเชือกถูกมัดขาไว้เฉยๆ เป็นเวลานาน นานจนเหมือนถูกมัดไว้เป็นปี” เธอได้ช่วยเหลือช้างที่ทรมานจากโรคระบาดถึง 24 ตัว และได้หาที่พักชั่วคราวให้กับช้างเหล่านั้นอีกด้วย
แต่ผลที่ตามมาคือ “ตอนนี้มีคนโทรมาหาเกือบทุกวัน” พวกเขาเหล่านั้นบอกเป็นเสียงเดียวกันคือช่วยพาช้างไปที “แต่ฉันไม่สามารถช่วยเหลือทุกตัวได้ เพราะถึงแม้ฉันจะมีเงินซื้อช้างเหล่านั้นในราคาถูก ฉันก็ต้องจ่ายเงินเพื่อรักษาและดูแลมันอีก ฉันหวังเสมอว่าฉันจะช่วยพวกมันได้ แต่ฉันทำไม่ได้”
ควาญช้างบางตัวซึ่งเป็นเจ้าของช้างให้พวกมันมาขอทานที่วัดทั่วประเทศ คุณเล็กกล่าวว่า เธอได้รับการสนับสนุนในเรื่องการยุติการใช้ช้างในการแสดงและการขี่ช้างไปตามสถานที่ต่างๆ มานานหลายปี เนื่องจากเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติและโดยทั่วไป ช้างที่มีความชำนาญต้องอาศัยการฝึกโดยอาศัยความกลัวเพื่อให้เชื่อง แต่การขอทานช้างนั้นยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก
“การขี่ช้างอย่างน้อยมันก็ยังได้เดินโดยไม่มีโซ่ตรวน แต่การยืนขอทานอยู่ที่วัดนั้น พวกเขาต้องล่ามโซ่ไว้กับคอนกรีตอย่างแน่นหนาเป็นเวลาทั้งวัน” คุณเล็กกล่าว ควาญช้างสามารถหาเงินเลี้ยงสัตว์ได้ด้วยวิธีนี้ แต่ “ช้างต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส”
เอ็ดวิน เวียก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย ได้เห็นถึงปัญหาในช่วงการระบาดใหญ่ในปางช้างทั่วประเทศ มีช้างจำนวนมากถูกล่ามโซ่ไว้กลางแดดร้อนตลอดทั้งวัน อีกทั้งเขายังกล่าวว่าการขี่ช้างเพื่อแสวงหาผลประโยชน์นั้นเป็นสิ่งที่เห็นแก่ตัว ผิดธรรมชาติและสร้างความทุกข์ทรมานต่อช้าง แต่ตอนนี้ช้างที่ไม่ได้ถูกขี่เลยได้แต่ยืนอยู่ที่เดิมทุกคืน วันแล้ววันเล่า กล้ามเนื้อขาของช้างก็อ่อนแอลง ประกอบกับภาวะโภชนาการที่ไม่ดี เมื่อช้างอ่อนแอลง พวกมันก็จะป่วยได้ “มันเป็นความทุกข์ที่มากกว่าคนจะจินตนาการได้เสียอีก” เวียก กล่าว
“ยี่สิบปีที่แล้ว มีป่าที่ใหญ่กว่านี้ แต่ตอนนี้มีเกษตรกรรมทำให้มีพื้นที่สำหรับช้างอยู่ไม่มากเหมือนสมัยก่อน” คุณเล็กกล่าว “ทุกที่เป็นอันตรายต่อพวกเขา พวกเขาไม่สามารถดื่มน้ำได้อย่างอิสระอีกต่อไปเพราะยาฆ่าแมลงจากการเกษตร ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องหาพื้นที่ให้ช้างอาศัยอยู่ แต่ในหลายพื้นที่นั้นได้กลายเป็นของรัฐบาลไปเสียแล้ว”
กรมปศุสัตว์ หน่วยงานของรัฐที่ดูแลช้างเลี้ยงในประเทศไทยได้มอบหญ้าแห้งจำนวน 290 ตันให้กับปางช้างใน 22 จังหวัดของไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ศศิ เจริญพจน์ สัตวแพทย์จากหน่วยงานนี้ กล่าว ซึ่งก็เพียงพอที่จะเลี้ยงช้างหลายสิบตัวเป็นเวลา 72 วัน แต่ทว่า ประเทศไทยมีช้างเกือบ 4,000 ตัวอาศัยอยู่ในกรงขัง ซึ่งไม่เพียงพออย่างแน่นอน
เวียก กล่าวว่าเขาเคยได้รับ “หญ้าแก่และแห้ง” จำนวน 5 ตันจากรัฐบาลสำหรับช้าง 29 ตัวของเขา แน่นอนว่านั่นไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงช้างเลยแม้แต่น้อย “ครึ่งวันก็ยังไม่ถึงเลยด้วยซ้ำ” เวียกกล่าวว่าเขารู้สึกท้อแท้กับความช่วยเหลืออันเล็กน้อยของรัฐบาล
ด้านคุณเล็กได้เริ่มช่วยปางช้างต่างๆโดยการปลูกหญ้าของตัวเองเพื่อเป็นอาหารช้างที่จำเป็นอย่างยิ่ง “หลายครั้งที่ฉันไปดูช้าง น้ำตาก็เอ่อล้นออกมาอย่างไม่สามารถกลั้นไว้ได้ หัวใจของฉันเหมือนจะแตกสลาย”
คุณอัญชลีแห่งปางช้างแม่สากล่าวว่า แม้จะมีความยากลำบากเพียงใด แต่การได้เห็นช้างของเธอสนุกกับกิจวัตรประจำวันที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นก็เปรียบเหมือนรางวัลของเธอ “พวกเขาอยู่อย่างสงบสุข พวกเขาเป็นอิสระและผ่อนคลายมากขึ้น” เธอกล่าวอีกว่า “ฉันไม่ต้องการให้ปางช้างยุบหรือหายไป นั่นเป็นเหตุผลที่ฉันกำลังต่อสู้เพื่อพวกช้าง ตราบใดที่ฉันยังมีความหวังอยู่ฉันจะสู้จนถึงที่สุด”
ภาพ AMANDA MUSTARD
แปลโดย สิรภัทร จิตต์ชื่น
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย