ลุ่มแม่น้ำสงคราม พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งชีวิต

ลุ่มแม่น้ำสงคราม พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งชีวิต

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแถลงข่าว เรื่องการขึ้นทะเบียนแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ไซต์ แห่งที่ 15 ของประเทศไทย

สำหรับความโดดเด่นและเอกลักษณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ ลุ่มแม่น้ำสงคราม คือ มีระบบนิเวศหายาก ได้แก่ ป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่ ที่สำคัญในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาน้ำจืด  แหล่งประมงพื้นบ้านและความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่ ตลอดจนเป็นแหล่งอพยพเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ของพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลาก

พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่างพบความหลากหลายของพันธุ์ปลา พันธุ์พืช รวมทั้งมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา จังหวัดนครพนม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานด้านการอนุรักษ์แม่น้ำสงครามตอนล่างในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี 2557 โดยได้ดำเนินงานโครงการด้านการอนุรักษ์แหล่งน้ำร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคาร HSBC ประเทศไทย

พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland)

คำจำกัดความตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ กล่าวว่า

พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) หมายถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือ น้ำท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงชายฝั่งทะเลและที่ในทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร

พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้

1. พื้นที่ชุ่มน้ำทางทะเล และชายฝั่งทะเล (Marine and Coastal Wetlands) ได้แก่ แนวปะการังชายฝั่ง หาดทราย แหล่งน้ำกร่อย หาดโคลน หาดเลน ป่าชายเลน

2. พื้นที่ชุ่มน้ำภายในแผ่นดินใหญ่ (Inland Wetlands) เช่น ทะเลสาบ หนอง บึง ห้วย ป่าพรุ

3. พื้นที่ชุ่มน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น (Human-made Wetlands) เช่น อ่างเก็บน้ำ สระน้ำ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่เกษตรกรรม

ลุ่มแม่น้ำสงคราม, พื้นที่อนุรักษ์, พื้นที่ชุ่มน้ำ, ความหลากหลายทางชีวภาพ, ธรรมชาติ,
ภาพถ่าย: ไทยพีบีเอส https://news.thaipbs.or.th/content/250440

ลุ่มแม่น้ำสงคราม พื้นที่ชุ่มน้ำที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิต

แม่น้ำสงครามเป็นแม่น้ำสายหลักของลุ่มน้ำสงคราม ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำสงครามเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ เป็นสาขาแม่น้ำโขงรองลงมาจากลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี

พื้นที่ของลุ่มน้ำสงครามตอนบนส่วนใหญ่เป็นเนินเตี้ย ๆ พื้นที่ราบอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสงครามและแม่น้ำสาขา มีความกว้างวัดจากแนวลำน้ำประมาณ 1,000 – 3,000 เมตร แม่น้ำสงครามมีความยาวประมาณ 465 กิโลเมตร ไหลจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ

แม่น้ำสงครามประกอบด้วยลำน้ำสาขาที่สำคัญคือ น้ำอูม น้ำยาม ห้วยโนด ห้วยชาง ห้วยสามยอด ห้วยคอง ห้วยฮี้ และน้ำเมา ซึ่งแม่น้ำสาขาเหล่านี้จะไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสงครามตามจุดต่าง ๆ ทำให้ลำน้ำใหญ่ขึ้น

แม่น้ำสงครามเป็นแม่น้ำที่ไหลคดเคี้ยว มีตลิ่งสูงค่อนข้างชัน ในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน ค่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะสูงขึ้นเร็ว ทำให้มีน้ำไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำสงครามเป็นระยะ  เนื่องจากพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเป็นที่ราบลุ่ม

ในช่วงที่มีฝนตกชุกหรือช่วงที่ระดับน้ำของแม่น้ำโขงขึ้นสูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำสงคราม พื้นที่ดังกล่าวจะถูกน้ำท่วมขังเป็นประจำ พื้นที่บริเวณแม่น้ำสงครามมีอุณหภูมิเฉลี่ย 25.8 องศาเซลเซียส ปริมาณฝน 1,548.2 มิลลิเมตรต่อปี ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าวและพืชไร่

ลุ่มแม่น้ำสงคราม, พื้นที่อนุรักษ์, พื้นที่ชุ่มน้ำ, ความหลากหลายทางชีวภาพ, ธรรมชาติ,
ภาพถ่าย WWF Thailand

ทรัพยากรป่าไม้และพืชลอยน้ำ

ลุ่มน้ำสงครามเป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขง ป่าที่พบในบริเวณลุ่มน้ำนี้ประกอบด้วย ป่าบึงน้ำจืดหรือป่าบุ่ง-ทาม (freshwater swamp forest) ตามที่ลุ่มของลำน้ำ มีน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก นอกจากนี้ยังพบป่าเต็งรัง (dry dipterocarp forest) และป่าดิบแล้ง (dry dipterocarp forest) บนเขาหินทรายและที่ราบลุ่ม พื้นที่ป่าที่เหลืออยู่มักอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ส่วนพื้นที่ราบมักจะถูกบุกรุกครอบครองเพื่อตั้งชุมชนและเป็นพื้นที่การเกษตร

ในพื้นที่ศึกษาพบพืชหายาก รวม 7 ชนิด ได้แก่ กระโดนเบี้ย ตะแบกทามหรือเปือยน้ำ ไชยวาน อินทวาน้อย สรัสจันทร กกปากน้ำนครพนม และกระถินโคก

ในบริเวณพื้นที่ที่น้ำท่วมขังพบพรรณไม้น้ำที่ขึ้นในป่าบุ่ง-ทาม ค่อนข้างหลากหลาย เช่น สนุ่น ไชยวาน จิกนา กระเบาใหญ่ ชุมแสง จอกหูหนู บอน ผักกระเฉด และธูปฤาษี Typha angustifolia L. เป็นต้น

ส่วนบริเวณชายขอบพื้นที่พบพรรณไม้หลายชนิด เช่น เสียวใหญ่ ไคร้หางนาค พลองเหมือด เสม็ดชุน เสม็ดแดง มะเค็ด มะพอก และมังตาน เป็นต้น

ทรัพยากรสัตว์ป่า

ชนิดสัตว์ป่าที่มีความสำคัญในการอนุรักษ์โดยมีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ในระดับประเทศตามการจัด ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติพบว่า มีสัตว์ป่าที่มีสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU) สามชนิด คือ เต่านา (Malayemys subtrijuga) เต่าดำ (Siebenrockiella crassicollis) และตะพาบน้ำ (Amyda cartilaginea)

ทรัพยากรปลา

แม่น้ำสงครามเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาจำนวน 183 ชนิด ชนิดที่เป็นพันธุ์เฉพาะถิ่น (Endemic) เช่น ปลากระเบนแม่น้ำโขง ปลาตองลาย ปลาหมากผาง ปลาซิวแคระ เป็นต้น ชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) เช่น ปลากระเบนแม่น้ำโขง ปลาตองลาย ปลากระโห้ ปลาเอนฝ้าย ชนิดที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) เช่น ปลาหมากผาง ปลาแมวหูดำ ปลายี่สก ปลานวลจันทร์ ปลาดุกด้าน ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ เป็นต้น ชนิดที่อยู่ในสถานภาพถูกคุกคามในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (Threatened in the wild) เช่น ปลาสวาย ปลากัดเขียวเป็นต้น

สัตว์หน้าดิน

สัตว์หน้าดินที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำสงคราม พบความหลากชนิดของสัตว์หน้าดินประมาณ 3ไฟลั่ม มากกว่า 15วงศ์ ประกอบด้วยสัตว์หน้าดินในไฟลั่มAnnelida มากกว่า 2วงศ์เช่น วงศ์ Tubificidaeไฟลั่มArthropodaมากกว่า 9 วงศ์ เช่น วงศ์ Chironomidae, Gomphidae, Libellulidae, Baetidae, Corixidae, Gyrinidae, Ceratopogonidae, HeptageniidaeและPalaemonidaeเป็นต้น และไฟลั่มMollusca มากกว่า 6วงศ์ เช่น วงศ์ Viviparidae,Ampullariidae, Bithyniidae, Corbiculidae,Thiaridae และ Planorbidae เป็นต้น

การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชุ่มน้ำ 

เป็นแหล่งอาหารและอาชีพของชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณลำน้ำ มีการทำการประมงตลอดลำน้ำ ซึ่งลักษณะ การจับปลาจะเป็นแบบเพื่อยังชีพมากกว่าเพื่อการค้า ใช้เป็นสถานที่แข่งเรือพายในประเพณีแข่งเรือและใช้เป็น เส้นทางคมนาคมระหว่างชุมชนที่อยู่ริมน้ำในระยะทางใกล้ๆ กัน

สถานภาพของพื้นที่

การบุกรุกทำลายป่าในเขตต้นน้ำและที่สาธารณะเพื่อทำการเกษตร โดยเฉพาะมันสำปะหลัง อ้อย และปอ เป็นต้น ทำให้เกิดอัตราการพังทลายของดินบริเวณต้นน้ำลำธารสูง ส่งผลให้ลำน้ำตื้นเขิน ประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ ลดลง ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ จึงมีแนวทางในการจัดการโดยการจัดทำโครงการฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ด้วยการ ปลูกต้นไม้ จัดทำศูนย์เพาะชำกล้าไม้ ส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่ปลูกไม้ผลและทำปศุสัตว์แทนการปลูกพืชไร่ บริเวณต้นน้ำ จัดทำหลักเขตพื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่สาธารณะ นอกจากนี้ยังต้องมีการหาแนวทางป้องกัน ปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ในเขตจังหวัดสกลนคร ปัจจุบันถูกคุกคามด้วยการทำการประมงจับสัตว์น้ำเกินขนาด ในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะมีโครงสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศของลุ่มน้ำเปลี่ยนแปลง


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: พรุควนเคร็ง : พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่อชีวิต

Recommend