วิกฤตต้นสนคริสต์มาสเกาหลี ผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศบนเกาะเจจู

วิกฤตต้นสนคริสต์มาสเกาหลี ผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศบนเกาะเจจู

บนฮันลา ภูเขาที่สูงที่สุดในเกาหลีใต้มีป่าต้นสนขนาดเล็กกระจุกตัวอยู่ จนมีชื่อเล่นว่า “ป่าต้นคริสต์มาส” แม้จะมองเผิน ๆ เหมือนกับต้นสนคลาสสิกแบบที่ทั่วโลกคุ้นเคย แต่แท้จริงแล้วนี่คือต้นสน Abies koreana สายพันธุ์เฉพาะที่เติบโตบนเกาะเจจูเท่านั้น

ความพิเศษของต้นสนพันธุ์นี้ อยู่ที่ขนาดเล็กเพียง 30-60 ฟุต เมื่อเทียบกับต้นสนสายพันธุ์อื่น ๆ ที่อาจสูงถึง 300 ฟุต ใช้เวลาเกือบ 30 ปีกว่าจะเติบโตเต็มที่ และยังผลิตโคนต้นสนซึ่งเป็นรวงบรรจุเมล็ดตั้งแต่ยังมีความสูงเพียง 3 ฟุตเท่านั้น

ต้นสนคริสต์มาส
โคนอ่อนของต้นสน Abies koreana สายพันธุ์พิเศษที่ผลิตโคนตั้งแต่ยังมีความสูงเพียง 3 ฟุตเท่านั้น
ต้นอ่อนอายุ 2 ปี ของ Abies koreana

ปรากฏการณ์ของต้นสนคริสต์มาสในเกาหลีพึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมกับจำนวนประชากร 30% ของประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์ และกลายมาเป็นวันหยุดประจำชาติหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน บวกกับข้อจำกัดของสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้คนต้องอยู่แต่บ้าน นั่นทำให้ผู้คนกระตือรือร้นในการมองหาต้นไม้สำหรับการตกแต่งบ้านมากขึ้น เช่นเดียวกันกับต้นสนคริสต์มาสที่ช่วยสร้างชีวิตชีวาสำหรับการอยู่อาศัยก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ความต้องการต้นคริสต์มาสที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นตัวการที่ทำให้ป่าต้นคริสต์มาสลดจำนวนลง หากแต่สภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นต่างหากที่ทำให้เกือบครึ่งหนึ่งของต้นสนสูญหายไปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

จากเดิมที่เคยเป็นทิวทัศน์เขียวขจีที่ปกคลุมไปด้วยหิมะบนความสูงเกือบ 6,000 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ในตอนนี้ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนป่าแห่งนี้ได้พบกับความสูญเสียของป่าอย่างเห็นได้ชัด – ต้นไม้หลายร้อยต้นล้มลงแบบถอนรากถอนโคน เปลือกลำต้นที่ลอกออกเป็นแผ่น และกิ่งก้านเหี่ยวแห้งที่แผ่นออกไปยังท้องฟ้า

ปี 2009 ต้นสนที่ความสูงประมาณ 5,900 ฟุตบนภูเขาฮันลา
ปี 2016 วิวที่จุดเดิม จากเดิมที่เคยเป็นทิวทัศน์เขียวขจีที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ ในตอนนี้ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะได้พบกับความสูญเสียของป่าอย่างเห็นได้ชัด – ต้นไม้หลายร้อยต้นล้มลงแบบถอนรากถอนโคน เปลือกลำต้นที่ลอกออกเป็นแผ่น และกิ่งก้านเหี่ยวแห้งที่แผ่ออกไปยังท้องฟ้า

“กลายเป็นว่าผู้คนหยุดถ่ายเซลฟี่กันตรงนี้ เพราะต้นไม้ดูแปลกมาก” โดยที่ก็ไม่รู้ว่าเป็นต้นไม้ชนิดใด หรือทำไมมันถึงตาย คิม จิน นักวิจัยภาคสนามที่สถาบันวิทยาศาสตร์ป่าไม้แห่งชาติกล่าว

ด้วยกายภาพของต้นสนที่รากเติบโตขนานไปกับแนวพื้นดิน แทนที่จะแทงรากลงในแนวดิ่งเช่นเดียวกับต้นไม้ชนิดอื่น ต้นสนจึงถูกพายุไต้ฝุ่นโค่นล้มได้อย่างง่ายดาย หากแต่อีกปัจจัยซึ่งเป็นสาเหตุของการลดจำนวนลงของต้นสนที่นี่ คืออากาศที่ร้อนขึ้นทุกปี และการกัดเซาะจากลมและความแห้งแล้งที่เปลี่ยนสภาวะในดิน “ปีที่แล้ว ภูเขาฮันลาไม่มีหิมะเลย!” คิมจินกล่าว

คิม อึนซุก นักวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจาก National Institute of Forest Science กล่าวว่า เพราะภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เธอชี้ให้เห็นว่า พืชสายพันธุ์นี้ปรับตัวให้เข้ากับความหนาวเย็น ลมกรรโชกแรง และหิมะได้ดี แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็วเช่นนี้ทำให้ต้นไม้ไม่สามารถรับมือกับความร้อนได้ และหากไม่มีต้นสนแล้ว เธอกลัวว่าระบบนิเวศของภูเขาฮันลาทั้งหมดจะพังทลาย

ต้นสนที่ปกคลุมไปด้วยหิมะบนภูเขาฮันลา สายพันธุ์นี้ต้องการความหนาของหิมะที่ปกคลุมบนต้นเพื่อเก็บกักความชื้นให้พอดีเช่นเดียวกันกับช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน
หากมีหิมะตกในฤดูหนาวไม่เพียงพอ สุดท้ายแล้วต้นสนก็จะไม่สามารถยืนต้นผ่านฤดูแล้งได้ และจะตายในที่สุด

นอกจากความพยายามของกรมป่าไม้เกาหลีในการกระจายพันธุ์ต้นสนนี้บนภูเขากึมวอน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแผ่นดินใหญ่แล้ว ทางหน่วยงานบริหารบนเกาะเจจูเองก็เริ่มต้นโครงการปลูกต้นสน 5,000 ต้น ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี และต้องใช้เวลา 5-10 ปี เพื่อสังเกตการณ์ว่าต้นไม้เหล่านั้นหยั่งรากและต้านทานแรงลมได้ดีเพียงใด

คิม จิน เชื่อว่า ความต้องการต้นสนคริสต์มาสที่เพิ่มขึ้นในเกาหลีใต้ จะช่วยดึงความสนใจและการตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาต้นสน Abies koreana ได้มากขึ้นอีก “ฉันไม่รู้ว่าต้นสนสายพันธุ์นี้จะตายภายในเวลาร้อยปีหรือไม่ แต่ฉันคิดว่าพวกมันจะอยู่รอดตลอดชีวิตของฉัน”

 

เรื่อง ยุน ฮานา
ภาพถ่าย คิม จิน


อ่านเพิ่มเติม ธรรมชาติกลางความขัดแย้งของสองเกาหลี

Recommend