การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ทั้ง 5 ของสิ่งมีชีวิตบนโลก

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ทั้ง 5 ของสิ่งมีชีวิตบนโลก

19609

อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกมีความไม่แน่นอนอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วง 500 ล้านปีที่ผ่านมา มีสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตมากกว่า 5,000 ล้านสปีชีส์ (ราวร้อยละ 70-90 ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด) สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปแล้วอย่างถาวรจากหายนะครั้งรุนแรงที่สุดของโลกที่เรียกว่า “การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่” (Mass Extinction Events)

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ที่หมายถึงการสิ้นสุดการดำรงชีวิตของกลุ่มชนิดพันธุ์ (Species) บนโลก เกินกว่าร้อยละ 75 ของสายพันธุ์ทั้งหมดภายในช่วงระยะเวลาไม่กี่ล้านปี หายนะที่ทำลายสมดุลของการวิวัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของสภาวะแวดล้อมโลกหรือการคุกคามจากวัตถุอวกาศ ตลอดช่วงระยะเวลา 500 ล้านปีที่ผ่านมา มีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง ดังต่อไปนี้

การสูญพันธุ์ในยุคออร์โดวิเชี่ยน-ไซลูเรียน (Ordovician-Silurian Extinction) เมื่อราว 444 ล้านปีก่อน คือ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมากกว่าร้อยละ 85 ของสายพันธุ์ทั้งหมดทั่วโลก ทำให้สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเลจำพวกแบรคิโอพอด (Brachiopod) โคโนดอนต์ (Conodont) ที่มีลักษณะคล้ายปลาไหลและไทรโลไบต์ (Trilobite) สูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก

การสูญพันธุ์, การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่, การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต, การสูญพันธุ์ในประวัติศาสตร์
ภาพประกอบ : factrepublic.com

สาเหตุของการสูญพันธุ์ : การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก (Continental Drift) และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงที่ทำให้เกิด “ยุคน้ำแข็ง” อย่างฉับพลัน ทำให้เกิดธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ทางขั้วโลกใต้และการยกตัวของเทือกเขาแอปพาลาเชียนส์ (Appalachians) ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกา

การแข็งตัวของน้ำส่งผลให้แหล่งน้ำและมหาสมุทรทั่วโลกหดตัวลง สัตว์น้ำจำนวนมากสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยอย่างกะทันหัน นอกจากนี้ การเกิดก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ยังส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศถูกดูดซับออกไปอีกด้วย สภาพอากาศของโลกจึงเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และเมื่อน้ำแข็งเหล่านี้ละลาย น้ำทะเลจึงเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งมีชีวิตในน้ำที่อยู่รอดแย่งกันเจริญเติบโต ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดต่ำจนทะเลมีสภาวะเป็นพิษจากการเจือปนของโลหะในมหาสมุทร

การสูญพันธุ์ในปลายยุคดีโวเนียน (Late Devonian Extinction) ช่วงราว 383-359 ล้านปีก่อน คือ การสูญพันธุ์ที่ต่อเนื่องจากหายนะครั้งที่ผ่านมา โดยมีระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 100 ล้านปี ทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกที่เพิ่งเริ่มมีการปรับเปลี่ยนและมีวิวัฒนาการขึ้นมาใหม่ ทั้ง แมลง พืช และต้นตระกูลของสัตว์พวกครึ่งบกครึ่งน้ำต่าง ๆ ที่ย้ายถิ่นฐานขึ้นมาอาศัยอยู่บนบกต้องเผชิญกับความวิบัติอีกครั้ง นับเป็นการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตกว่าร้อยละ 80 ของสายพันธุ์ทั้งหมดบนโลกตลอดช่วงระยะเวลากว่า 20 ล้านปี

การสูญพันธุ์, การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่, การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต, การสูญพันธุ์ในประวัติศาสตร์
ภาพประกอบ : Zina Deretsky, National Science Foundation

สาเหตุของการสูญพันธุ์ : ยังไม่มีสมมติฐานและหลักฐานทางนิเวศวิทยาที่มีน้ำหนักมากเพียงพอ แต่มีการตั้งข้อสันนิษฐานหลักว่าการสูญพันธุ์ครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการวิวัฒนาการของพืชบกที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการพัฒนาของระบบรากอันซับซ้อนและใหญ่โตที่ส่งผลต่อการผุพังของหินและดินต่าง ๆ ทำให้เกิดการชะล้างและการละลายของแร่ธาตุลงไปในแหล่งน้ำและมหาสมุทรปริมาณมาก และสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวในน้ำเติบโตจนเกิดปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง (Algae Bloom) จนแหล่งน้ำขาดออกซิเจน

ประกอบกับการเติบโตของพืชบกจำนวนมาก ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศลดลง โลกเย็นตัวลงอย่างเฉียบพลัน นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ถึงเหตุระเบิดของภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาล และการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยที่ทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นทะเลสาบซิลจา (Siljan Crater) ในสวีเดนอีกด้วย

การสูญพันธุ์ในยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสซิก (Permian-Triassic Extinction) ช่วงราว 252 ล้านปีก่อน คือการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกหรือที่เรียกว่า “การตายครั้งใหญ่” (The Great Dying) ซึ่งกวาดล้างสิ่งมีชีวิตไปมากกว่าร้อยละ 95 ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหมดในช่วงเวลานั้น

การสูญพันธุ์ครั้งนั้นเป็นหายนะในยุครุ่งเรืองที่สุดของสัตว์ขาปล้อง (Arthropod) และไทรโลไบต์ (Trilobite) นอกจากนี้ยังเป็นจุดจบของวิวัฒนาการที่สำคัญของสัตว์บกอย่างสัตว์เลื้อยคลานที่คล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกด้วย

ภายหลังหายนะครั้งนี้ สิ่งมีชีวิตที่มีกระดูกสันหลังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวยาวนานถึง 30 ล้านปีและเปิดโอกาสให้กับสัตว์ในกลุ่มของ “อาร์โคซอร์” (Archosaur) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของไดโนเสาร์ จระเข้ และนก ได้เข้ามามีบทบาทต่อระบบนิเวศของโลกในเวลาต่อมา

สาเหตุของการสูญพันธุ์ : การเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลกและการพุ่งชนของอุกกาบาตที่กระตุ้นให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟที่ปะทุลาวาในปริมาณมหาศาลผ่านพื้นที่ไซบีเรียในปัจจุบัน พร้อมกับการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาอย่างมากมาย จนทำให้โลกอยู่ในภาวะร้อนระอุ เกิดปรากฏการณ์ฝนกรดที่เร่งการผุผังของหินต่าง ๆ บนพื้นผิวโลก ทำให้น้ำทะเลได้รับการปนเปื้อนและมีปริมาณออกซิเจนลดต่ำลงอย่างรุนแรง

การสูญพันธุ์ในยุคไทรแอสซิก-จูแรสซิก (Triassic-Jurassic Extinction) เมื่อราว 201 ล้านปีก่อน คือ การสูญพันธุ์ที่ทำให้สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตกว่าร้อยละ 75 สูญหายไปจากโลก โดยเฉพาะเธอแรพสิด (Therapsid) และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดใหญ่ในกลุ่มของอาร์โคซอร์ เหลือทิ้งไว้เพียงไดโนเสาร์ (Dinosaur) ที่มีอยู่เป็นจำนวนน้อยนิดในขณะนั้น

สาเหตุของการสูญพันธุ์ : การเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการระเบิดของภูเขาไฟใต้น้ำครั้งใหญ่ ณ บริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเป็นผลมาจากการแยกตัวของอภิมหาทวีปแพนเจีย (Pangaea) ซึ่งปลดปล่อยลาวาและก๊าซเรือนกระจกออกมาอย่างมากมายมหาศาล ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขั้นวิกฤติ ทะเลตกอยู่ในสภาวะความเป็นกรดอย่างรุนแรง

การสูญพันธุ์ในยุคครีเทเชียส–พาลิโอจีน (Cretaceous-Paleogene Extinction) เมื่อราว 66 ล้านปีก่อน คือ การสูญพันธุ์ที่ทำให้สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตกว่าร้อยละ 75 สูญพันธุ์ไปจากโลก โดยเฉพาะแอมโมไนต์ (Ammonite) พลีซิโอซอร์ (Plesiosauria) และโมซาซอรัส (Mosasaurus)

ในขณะเดียวกัน ไดโนเสาร์ที่ไม่ใช่สัตว์ปีกทั้งหมดล้วนสูญพันธุ์ไปในช่วงเวลานี้ นับเป็นหายนะที่ก่อให้เกิดความแปรปรวนเป็นอย่างมากต่อห่วงโซ่อาหาร ทำให้เกิดความอดอยากแก่สัตว์กินพืชและสัตว์นักล่าขนาดใหญ่จำนวนมาก และในทางกลับกัน กลับกลายเป็นการเปิดโอกาสให้กับเหล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกที่สืบเชื้อสายมาจากเทโรพอด (Theropod) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่แทนที่ไดโนเสาร์นั่นเอง

สาเหตุของการสูญพันธุ์ : การพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 12 กิโลเมตร ด้วยความเร็วกว่า 72,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่บริเวณคาบสมุทรยูคาทัน (Yucatan Peninsula) ใต้อ่าวเม็กซิโก ซึ่งทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า “ชิกซูลูบ” (Chicxulub Crater) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 190 กิโลเมตร ซึ่งมีพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งจมอยู่ใต้อ่าวเม็กซิโก

เป็นการพุ่งชนที่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยฝุ่นควันและก๊าซกำมะถันจำนวนมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดโลกมีอุณหภูมิลดลงอย่างรุนแรงหรืออย่างน้อยราว 26 องศาเซลเซียส เนื่องจากฝุ่นควันเหล่านี้บดบังแสงอาทิตย์และยังทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้อย่างที่เคย สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร อีกทั้ง การพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยครั้งนี้ ยังก่อให้เกิดไฟป่าเป็นบริเวณกว้างกว่า รวมถึงการเกิดคลื่นสึนามิยักษ์อีกด้วย

ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญหน้ากับภาวะการถูกคุกคามทางสายพันธุ์เช่นเดียวกัน อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลก ณ ขณะนี้ ยังมีค่าสูงกว่าอัตราการสูญพันธุ์ตามธรรมชาติในอดีตหลายพันหลายหมื่นเท่า จากการกระทำต่าง ๆของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่าหรือภาวะโลกร้อนในตอนนี้ และหากอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตยังมีค่าคงที่อย่างต่อเนื่องไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ 6 อาจเกิดขึ้นในอีก 240 ถึง 540 ปีข้างหน้านี้เอง

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.nationalgeographic.com/science/article/mass-extinction

https://il.mahidol.ac.th/e-media/150charles-darwin/Less2_6.html

https://www.geothai.net/mass-extinctions/

https://www2.mtec.or.th/th/e-magazine/admin/upload/304_68.pdf


อ่านเพิ่มเติม เราสามารถโคลนนิ่ง สัตว์สูญพันธุ์ ได้ แต่เราจะทำหรือไม่ และทำเพื่ออะไร

Recommend