ขณะสงครามคุกคามชาว เยเมน นับล้าน นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี กำลังดิ้นรนเพื่อรักษาสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมโบราณที่เคยรุ่งโรจน์
ขณะยืนอยู่ที่ก้นธารวาดี [wadi – ธารน้ำในทะเลทราย] อันแห้งผาก ฉันแหงหน้าขึ้นไปซึมซับโครงสร้างใหญ่ยักษ์ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องบนนั่นคือหินที่ตัดอย่างแม่นยำแถวแล้วแถวเล่า ก่อเรียงซ้อนกันอย่างไร้รอยตะเข็บโดยไม่มีปูนเชื่อมผสานเมื่อราว 2,500 ปีก่อน ทะยานสูงขึ้นไป 15 เมตรสู่ท้องฟ้าที่กำลังโรยแสงเหนือทะเลทราย
การเรียกสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมยุคโบราณนี้ว่าเป็นแค่เขื่อนให้ความรู้สึกเหมือนดูแคลน ตอนที่มหาเขื่อนแห่งมะริบ (Great Dam of Marib) สร้างขึ้นในดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศ เยเมน กำแพงเขื่อนที่ก่อด้วยดินและหินแผ่กว้างกินพื้นที่เกือบสองเท่าของเขื่อนฮูเวอร์ โครงสร้างประตูระบายน้ำขนาดมหึมาที่ยังเหลืออยู่เป็นส่วนหนึ่งของระบบอันซับซ้อนที่ควบคุมการไหลของน้ำฝนตามฤดูกาลจากแถบภูเขาสูงของ เยเมน ไปยังทะเลทรายแห้งผากทางตะวันออก หล่อเลี้ยงโอเอซิสทางการเกษตรบนพื้นที่รกร้างว่างเปล่า 60,000 ไร่ และใจกลางของทั้งหมดคือมะริบ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอันรุ่งเรือง เมืองหลวงของอาณาจักรซาบาในคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดเพราะเกี่ยวข้องกับผู้นำในตำนานนามว่า บิลควิส ที่ถูกจารึกให้เป็นอมตะในพระคริสตธรรมคัมภีร์และคัมภีร์อัลกุรอานในนาม ราชินีแห่งชีบา
ในยุครุ่งเรืองสูงสุดของมะริบ ซึ่งเริ่มจากศตวรรษที่แปดก่อนคริสตกาล เขื่อนนี้เป็นที่มาแห่งความมั่งคั่งสำหรับนครหลวงของซาบา และเป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังสถานะจุดแวะพักอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งเป็นแหล่งผลิตอาหาร หลากล้นด้วยน้ำสำหรับเหล่าอูฐที่กระหายน้ำและบรรดาพ่อค้าวาณิชผู้หิวโหย
อาณาจักรซาบาเจริญเฟื่องฟูอยู่ทางใต้ของคาบสมุทรอาหรับ ที่ซึ่งยางสนหอม ยางมดยอบ และยางไม้หอมล้ำค่าอื่นๆ ถูกซื้อขายกันที่ศูนย์กลางอันมั่งคั่งของเส้นทางกำยาน ที่ทอดยาวจากอินเดียไปจดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นอกจากนี้ ซาบายังเป็นจุดสำคัญของเศรษฐกิจคาราวาน ซึ่งสินค้าล้ำค่าอย่างงาช้าง ไข่มุก ผ้าไหม และไม้เลอค่า ถูกเก็บภาษีระหว่างเคลื่อนย้ายจากโลกตะวันออกสู่โลกตะวันตก
ตัดเวลามาถึงศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ความมั่งคั่งของมะริบตอนนี้มาจากแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้ผืนทราย ปัจจัยนี้ทำให้มะริบเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ในสงครามระหว่างกลุ่มกบฏเผ่าฮูษีของเยเมนกับกลุ่มพันธมิตรนำโดยซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งสนับสนุนกองกำลังท้องถิ่นที่ต่อต้านการขยายอำนาจของกลุ่มฮูษี เป็นสงครามที่ทำลายล้างเยเมนมาแปดปีแล้ว นับจากปี 2020 เมืองหลวงโบราณแห่งนี้กลายเป็นแนวหน้าหลัก และหนึ่งในเมืองที่มั่นแห่งท้ายๆ ของรัฐบาลเยเมนที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
ในแสงโรยรา ฉันเดินเตร็ดเตร่อยู่แถวกำแพงที่หลงเหลืออยู่ของเครือข่ายพนังกั้นน้ำของเขื่อนมะริบ รู้สึกทึ่งกับการก่อสร้างกำแพงดินมหึมา และอัศจรรย์ใจกับระบบโลจิสติกส์อันซับซ้อนที่จำเป็นต้องใช้เพื่อค้ำจุนเมืองที่กำลังรุ่งเรืองทางใต้ของคาบสมุทรอาหรับแห่งนี้เมื่อหลายพันปีก่อน แล้วเสียงระเบิดอันคุ้นเคยจากภูเขาใกล้เคียงก็ก้องสะท้อน ทั่ววาดีแห่งนี้
“ได้ยินไหมครับ” อัมมาร์ เดอร์วิช ผู้ช่วยและล่ามชาวเยเมนของฉัน กระซิบถามในแสงใกล้มืด เสียงระเบิด ครั้งต่อมาดังกว่าเดิมเล็กน้อย แล้วเขาก็ได้คำตอบก่อนจะเอ่ยถามซ้ำ
“ค่ะ ได้ยินค่ะ”
สงครามในเยเมนขณะนี้ดำเนินคู่ขนานไปกับเรื่องราวและในบางพื้นที่ก็อยู่เหนือทรัพย์สมบัติในอดีตของชาติ บรรดาอาณาจักรโบราณของเยเมน ทั้งซาบา กอตอบัน มะอิน ฮัดเราะเมาต์ ฮิมยาร์ และอาวซัน คือแหล่งกำเนิดอารยธรรมในคาบสมุทรอาหรับ จากความสำเร็จทางวิศวกรรมชลศาสตร์จนถึงจารึกอันละเอียดพิสดาร ประวัติศาสตร์นี้บอกเล่าถึงชนชาติวาณิช และอารยธรรมที่หยั่งรากมั่นคงและซับซ้อน
สงครามเปิดฉากขึ้นในปี 2014 เมื่อกลุ่มกบฏฮูษีจากทางเหนือบุกยึดกรุงซานา เมืองหลวงของประเทศ ด้วยความช่วยเหลือจากกลุ่มภักดีต่อประธานาธิบดีอะลี อับดุลลอฮ์ ศอลิห์ ที่ถูกโค่นล้มไป ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขาอับดุรร็อบบุห์ มันศูร ฮาดี ถูกควบคุมตัวไว้ที่บ้าน จากนั้น เมื่อฮาดีหนีไปลี้ภัยในซาอุดีอาระเบีย ฝ่ายหลังก็เปิดฉากยุทธการทิ้งระเบิดทางอากาศ โดยการสนับสนุนจากกลุ่มพันธมิตรในภูมิภาคที่หนุนหลังโดยสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกอื่นๆ ทุกฝ่ายใส่ใจน้อยมากต่อชีวิตพลเรือน 30 ล้านคนที่อยู่ในกำมือพวกเขา ชาวเยเมนเผชิญภัยคุกคามใหญ่หลวง เช่นเดียวกับมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพวกเขาที่ตกอยู่ในอันตราย
บรรดาพิพิธภัณฑ์ถูกถล่มราบเป็นหน้ากลองจากการโจมตีทางอากาศ บ้านเรือนประจำตระกูลอายุเก่าแก่หลายศตวรรษที่ตกทอดมาหลายชั่วรุ่นนับร้อยแห่งพังพินาศ วิหารอารามยุคก่อนอิสลามถูกระเบิดเสียหาย อารามประกอบกิจทางศาสนาของลัทธิซูฟีถูกบุกทำลายโดยกองกำลังติดอาวุธ
แม้ยามเผชิญกับหายนะ เครือข่ายเล็กๆ ของนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และชาวเยเมนอื่นๆ ที่รักและหวงแหนอดีตของประเทศ กำลังมุ่งมั่นทำภารกิจของตนเองอย่างเงียบๆ เพื่อรักษามรดกเก่าแก่ของเยเมน ซึ่งได้แก่ ศิลปวัตถุตกทอดจากบรรพบุรุษที่ถูกล็อกเก็บอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในประเทศ ซุกซ่อนอยู่ตามโกดัง และที่ยังฝังอยู่อย่างปลอดภัยใต้ผืนทราย ด้วยตระหนักถึงลำดับความสำคัญของพลเมืองร่วมชาติ รวมทั้งผู้คนนับล้านที่ต้องพลัดถิ่นจากความขัดแย้ง พวกเขาพุ่งเป้าความพยายามไปที่การสงวนรักษาเพื่ออนาคตให้กับชาวเยเมนในปัจจุบันที่มีความกังวลเร่งด่วนกว่าคือ การประคองชีวิตให้รอดท่ามกลางไฟสงคราม
เรื่อง ไอโอนา เครก
ภาพถ่าย มัวเซส ซามาน
ติดตามสารคดี ปกปักประวัติศาสตร์เยเมน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2565
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/557158