วิเคราะห์ ดีเอ็นเอ อายุ 2 ล้าน เผยให้เห็น ภูมิภาคอาร์กติก ที่เคยอุดมสมบูรณ์ ก่อนกลายเป็นน้ำแข็ง
มิกเกล เพเดอร์เซน (Mikkel Pedersen) นักภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน เขียนรายงานการวิเคราะห์ชิ้นส่วนดีเอ็นเอโบราณอายุประมาณ 2 ล้านปี ซึ่งคาดว่าเก่าแก่ที่สุดที่เคยวิเคราะห์ได้สำเร็จ พวกเขาได้สร้างสิ่งที่ “ไม่เคยปรากฎมาก่อน” นั่นคือภูมิทัศน์โบราณอันอุดมสมบูรณ์บน ภูมิภาคอาร์กติก
.
ภูมิภาค อาร์กติก ดินแดนทางตอนเหนือสุดของโลก ห่างจากขั้วโลกเหนือประมาณ 805 กิโลเมตร แม้ปัจจุบันจะดูไม่ต่างจากทะเลทรายขั้วโลกอันแห้งแล้ง แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า พื้นที่เหล่านั้นเคยเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชพรรณมากมายหลายชนิด รวมทั้งสัตว์ใหญ่หลายสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นกวางเรนเดียร์ สัตว์ฟันแทะ และแม้แต่มาสโตดอนอันสง่างาม สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่ง
.
“ไม่ใช่แค่หน้าต่างสู่งโลกเก่า แต่เป็นความจริงของสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างออกไป” ไบรอัน บูมา (Brian Buma) นักนิเวศวิทยาจากกองทุนปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษากล่าวถึงการค้นพบนี้ เขาระบุว่ามันเป็นเรื่องน่าทึ่งที่เคยมีแหล่งที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์เช่นนี้อยู่ แม้จะไม่ใช่ป่าตอนเหนืออย่างที่พบในแถบสแกนดิเนเวียปัจจุบันหรือป่าเขตอบอุ่น
.
.
แต่มันเป็นการผสมผสานที่ไม่เหมือนใคร พืชกว่าร้อยชนิด แมลงที่เป็นพันธุ์สัตว์ทะเล และที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือสัตว์มีกระดูกสันหลัง 9 สายพันธุ์ที่ไม่เคยมีการค้นพบฟอสซิลในกรีนแลนด์ ตั้งแต่สัตว์ฟันแทะขนาดเล็กไปจนถึงบรรพบุรุษกระต่างที่สปริงตัวได้ และร่องรอยของมาสโตดอนหนึ่งตัว
.
เมื่อรวมข้อมูลดีเอ็นเอแล้ว ทีมงานสามารถวาดภาพระบบนิเวศอันซับซ้อนและสมบูรณ์ ซึ่งอยู่ในยุคที่ขั้วโลกมีอุณหภูมิระหว่าง 11 ถึง 17 องศาเซลเซียส โดยอุ่นกว่าปัจจุบัน และมีความใกล้เคียงกับอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง การทำความเข้าใจอดีตของอาร์ติกจะทำให้มองเห็นอนาคตได้ชัดเจนขึ้น เอคเซ วิลเลอร์สเลฟ (Ekse Willerslev) ผู้ร่วมวิจัยและนักพันธุศาสตร์วิวัฒนาการของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า “นี่จะเป็นวิธีเดียวที่จะให้แนวคิดบางอย่างแก่เราว่าธรรมชาติสามารถตอบสนองต่ออุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร” แม้เมื่อ 2 ล้านปีที่แล้วจะไม่ใช่การเปรียบเทียบที่สมบูรณ์แบบสำหรับอนาคต แต่มันก็เป็นตัวอย่างที่มีคุณค่า
.
“มีมรดกทางความหลากหลายทางชีวภาพที่น่าทึ่งมาก” นาตาเลีย ริบซินสกี (Natalia Rybczynski) นักบรรพชีวินวิทยาแห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติประเทศแคนาดา ผู้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษากล่าว
.
(อ่านเพิ่มเติม: ทะเลน้ำแข็งฤดูร้อนของอาร์กติกอาจละลายหมดในปี 2035 ดังช่วงหลังยุคน้ำแข็ง)
.
เธอระบุว่า ความอบอุ่นนี้ได้ก่อให้เกิดผืนป่าทั่วอาร์ติกที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่อย่างมากมาย “น่าทึ่งมากที่ได้เห็นสิ่งเหล่านั้นยังคงอยู่” เธอเสริม มีดีเอ็นเอจากแมงดาทะเลซึ่งบ่งบอกว่าน่านน้ำแถบนี้เคยมีความอุดมสมบูรณ์ และการมีกวางเรนเดียร์ที่เป็นสัตว์ใหญ่อันบริโภคอาหารจำนวนมาก แสดงว่าภูมิประเทศนี้มีผลผลิตที่สูง
.
แม้ทีมงานจะไม่พบร่องรอยของสัตว์กินเนื้อ ซึ่งมักเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบนิเวศที่สมบูรณ์ แต่พวกเขาก็คาดว่ามันมีแนวโน้มที่จะมีอยู่จริง เพียงแต่หายาก หรือไม่สารพันธุกรรมของมันมีน้อยมากจนระบุไม่ได้ “หากเราจัดลำดับต่อไป เก็บตัวอย่าง และมองลึกลงไป การคาดการณ์ของผมคือ ณ จุด ๆ หนึ่ง เราน่าจะพบสัตว์กินเนื้อบางตัวได้” เพเดอร์เซนกล่าว
.
การค้นพบเหล่านี้เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถวิเคราะห์และจัดลำดับดีเอ็นเอทั้งหมดได้อย่างละเอียดแม้จะมีเพียง 30 คู่เบสก็ตาม
.
“เกือบมหัศจรรย์มาก ๆ ที่สามารถสร้างภาพอนุมานอันสมบูรณ์ของระบบนิเวศโบราณจากชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของดีเอ็นเอ” เบธ็ท ชาพิโร (Beth Shapiro) นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่ไม่ได้ส่วนร่วมกับงานวิจัยกล่าว “เรากำหนดขีดจำกัดอายุสูงสุดสำหรับตัวเราเอง และทำลายขีดจำกัดเหล่านั้นเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น”
.
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
.
ที่มา