ในฤดูร้อนปี 1945 สหรัฐฯ มีแผนการทิ้ง ระเบิดนิวเคลียร์ ใส่เมืองอื่นๆ นอกจากฮิโรชิมะและนากาซากิ
ในฤดูร้อนปี 1945 สงครามได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เมื่อสหรัฐฯ จุด ระเบิดนิวเคลียร์ ลูกแรกๆ ของโลก ระเบิดลูกหนึ่งถูกทดสอบในทะเลทรายในมลรัฐนิวเม็กซิโก ส่วนอีกสองลูกทำให้เมืองฮิโรชิมะและนากาซากิในญี่ปุ่นต้องราบเป็นหน้ากลอง ณ บัดนี้ บรรดาเมืองต่างๆ สามารถถูกกวาดล้างไปพร้อมๆ กับผู้อยู่อาศัยได้ด้วยการโจมตีเพียงครั้งเดียว
กระนั้น ชื่อเสียงในฐานะ “เครื่องมือจบสงคราม” ของระเบิดเหล่านี้จะยังไม่เป็นที่จดจำจนกว่าจะมีข้อเสนอการยอมจำนนครั้งสุดท้ายของญี่ปุ่น ห้าวันให้หลังจากการทิ้งระเบิดที่เมืองนากาซากิ ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว คำถามที่ว่าจะมีการใช้งาน “ระเบิดลูกที่สาม” อย่างไร คือสิ่งที่ถูกพิจารณาอย่างจริงจัง
หนึ่งในคำกล่าวอ้างที่พูดถึงกันมากที่สุดเกี่ยวกับการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองคือเรื่องที่ว่าสหรัฐฯ ไม่มี ระเบิดนิวเคลียร์ เหลืออยู่หลังการทิ้งระเบิดครั้งที่สอง และคำกล่าวของ ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน ที่ลั่นวาจาว่าจะทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ใส่ญี่ปุ่นอีกหากรัฐบาลของประเทศแห่งนี้ไม่ยอมจำนนโดยไม่มีข้อแม้ เป็นเพียงคำขู่ แต่สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงมายาคติ เพราะสิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำขู่
ในช่วงเดือนท้ายๆ ของสงคราม สหรัฐฯ ได้สร้าง ระเบิดนิวเคลียร์ เป็นจำนวนมากที่สุดที่จะทำได้ ก่อนการจำนนของญี่ปุ่น สหรัฐฯ ต้องใช้เวลาอีกเพียงไม่กี่วันในการสร้างระเบิดอีกลูกสำหรับการโจมตีครั้งที่สาม เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการยอมจำนนครั้งสุดท้ายของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 1945 ทรูแมนกล่าวกับทูตของสหราชอาณาจักรคนหนึ่งอย่างเศร้าโศกว่าเขา “ไม่มีทางเลือกอื่น” นอกจากการออกคำสั่งให้มีการโจมตีครั้งที่สาม หากสงครามดำเนินต่อไปอีกเพียงไม่กี่วัน โอกาสที่ระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่สาม — และอีกหลายลูก — จะนำมาใช้งานนั้นมีสูงมาก
สร้างระเบิด
มีการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ลูกแรกๆ ในโครงการแมนแฮตตัน (Manhattan Project) ปฏิบัติการลับสุดยอดซึ่งอนุมัติโดยประธานาธิบดี แฟรงกลิน รูสเวลต์ เมื่อปลายปี 1942 ที่ตั้งและสถานที่อำนวยการต่างๆ สำหรับการร่วมมือเพื่อสร้างอาวุธชนิดใหม่นี้มีนับอยู่ร้อยแห่งทั่วสหรัฐฯ (และบางแห่งอยู่ในต่างประเทศ)
ทรัพยากรและแรงงานเกือบทั้งหมดถูกใช้ไปกับขั้นตอนที่ยากที่สุดสำหรับการสร้างระเบิด นั่นคือการผลิตเชื้อเพลิงยูเรเนียมและพลูโตเนียมเสริมสมรรถภาพ ในเดือนกรกฎาคม 1945 สหรัฐฯ ผลิตเชื้อเพลิงเพียงพอสำหรับระเบิดพร้อมใช้งานสามลูก หนึ่งในบรรดาลูกระเบิดเหล่านี้คือ “แกดเจ็ต (Gatget)” ซึ่งใช้พลูโตเนียม และถูกจุดขึ้นในการทดสอบที่ชื่อ ทรินิตี (Trinity) ในทะเลทรายของมลรัฐนิวเม็กซิโกด้วยความสำเร็จแบบไร้ที่ติ เพราะขีดความสามารถในการระเบิดของมันนั้นมีมากกว่าที่เหล่านักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้หลายเท่าตัว ส่วนอีกสองลูกคือ “ลิตเติลบอย (Little Boy)” ซึ่งใช้ยูเรเนียม และ “แฟตแมน (Fat Man)” ซึ่งใช้พลูโตเนียม นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีพลูโตเนียมเหลือเกือบเพียงพอสำหรับการสร้างระเบิดลูกที่สี่ ในเวลานั้น โรงงานต่างๆ ของโครงการฯ สามารถผลิตเชื้อเพลิงสำหรับระเบิดได้เกือบสามลูกครึ่งต่อเดือน แต่ในกรณีที่สงครามดำเนินต่อไป การดัดแปลงการออกแบบ ซึ่งจะช่วยให้สร้างระเบิดขึ้นได้อีกหลายลูกในเวลาที่เท่ากัน กำลังถูกนำมาพิจารณา
หลังการทดสอบทรินิตีไม่นาน พลตรีเลสลีย์ อาร์. โกรฟ หัวหน้าฝ่ายกองทัพของโครงการ ทำนายกับเจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ว่า อาจจำเป็นที่จะต้องทิ้งระเบิดถึงสามลูก “ตามแผนการดั้งเดิมของเรา” เขาคาดว่าอาจจำเป็นต้องทิ้งระเบิดถึงสี่ลูกเสียด้วยซ้ำ
มุมมองของโกรฟส์ไม่ใช่เรื่องแปลก แผนการต่างๆ ของสหรัฐฯ ไม่เคยคาดการณ์ว่าสงครามจะจบลงได้ด้วยระเบิดนิวเคลียร์เพียงสองลูก บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐรู้สึกว่าพวกเขาจะต้องใช้ทั้งสงครามนิวเคลียร์และการรุกรานแผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่น พวกเขาเชื่อว่าระเบิดเหล่านี้คืออาวุธใหม่ที่ทรงอานุภาพ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าพวกมันเป็นอาวุธขั้นเด็ดขาดหรือไม่ และผลกระทบที่ระเบิดเหล่านี้จะมีต่อความประสงค์ในการสู้รบของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็ยังไม่ชัดเจน
สหรัฐฯ ทราบจากการสื่อสารของสำนักข่าวกรองต่างประเทศของญี่ปุ่นที่ถูกดักฟังได้ว่า คณะรัฐมนตรีระดับสูงของประเทศแห่งนี้กำลังแบ่งฝักฝ่าย ฝ่ายนิยมทหาร ซึ่งเป็นเสียงข้างมากในคณะรัฐมนตรีในช่วงกลางปี 1945 เชื่อว่าพวกเขาควรทำให้ฝ่ายสหรัฐฯ “บาดเจ็บ” ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ว่ามันจะทำให้ “ประชาชนของศัตรู” เหนื่อยหน่ายกับสงคราม ในขณะที่ฝ่ายสันติภาพเห็นตามความเป็นจริงว่ากลยุทธ์นี้ช่างโง่เขลาและจะทำให้ญี่ปุ่นล่มสลาย
หากสหรัฐฯ ต้องการให้ญี่ปุ่นยอมจำนน ประเทศนี้จำเป็นต้องหาทางเอาชนะอำนาจของฝ่ายนิยมทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ด้วยการทิ้งระเบิดแบบปกติ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 1945 เป็นต้นมา การทิ้งระเบิดเพลิงใส่เมืองต่างๆ ของญี่ปุ่นทำให้การทำลายล้างเมืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วไป การโจมตีทิ้งระเบิดตอนกลางคืนอย่างมโหฬารที่กรุงโตเกียวเป็นครั้งแรกส่งผลให้ผู้คนกว่าหนึ่งแสนคนเสียชีวิต และอีกหนึ่งล้านคนต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยภายในค่ำคืนเดียว เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม สหรัฐฯ ก็ได้ทำลายเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่นด้วยวิธีเดียวกันนี้ แต่กระนั้น ท่าทีการยอมจำนนของญี่ปุ่นก็ยังไม่เกิดขึ้น หากสหรัฐฯ ต้องการให้ระเบิดนิวเคลียร์สร้างผลกระทบอย่างทันทีทันใด ก็ต้องทำให้เห็นว่าความร้ายแรงของมันนั้นต่างจากการทิ้งระเบิดเหล่านี้โดยสิ้นเชิง
เลือกเป้าหมาย
ผู้วางแผนของสหรัฐฯ ต้องการให้ผลลัพธ์ของการใช้ ระเบิดนิวเคลียร์ ครั้งแรกเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน พวกเขาจึงตัดสินใจอย่างระมัดระวังว่าจะทำอย่างไรให้การใช้ครั้งแรกได้ผลที่ดีที่สุด คณะกรรมาธิการเลือกเป้าหมาย (Target Committee) ของโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งนำโดยบรรดานักวิทยาศาสตร์และสมาชิกคนสำคัญของกองทัพ เข้าประชุมกันเมื่อฤดูร้อนของปี 1945 เพื่อหารือกันว่า เมืองไหนควรจะเป็นเป้าหมายแรกๆ ของการโจมตี ในการประชุมครั้งแรกเมื่อปลายเดือนเมษายน 1945 พวกเขาเจาะจงลักษณะของเป้าหมายว่าต้องเป็น “เขตชุมชนเมืองขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 4.82 กิโลเมตร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณซึ่งมีผู้อยู่อาศัยขนาดใหญ่กว่าระหว่างโตเกียวและนากาซากิ และควรมีคุณค่าทางยุทธศาสตร์สูง” โดยพวกเขาเลือกเป้าหมายที่เป็นไปได้ 17 แห่ง ได้แก่อ่าวโตเกียว, คาวาซากิ, โยโกฮามะ, นาโกยะ, โอซากะ, โกเบ, เกียวโต, ฮิโรชิมะ, คุเระ, ยามาตะ, โคคุระ, ชิโมเซนกะ, ยามากุจิ, คุมาโมโตะ, ฟูกุโอกะ, นากาซากิ, และซาเซโบะ
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 1945 หลังการประชุมหารืออีกครั้ง รายชื่อเป้าหมายได้ถูกปรับปรุงและแก้ไขจนเหลือเพียงห้าเมืองซึ่งถูกเรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ เกียวโต, ฮิโรชิมะ, โยโกฮามะ, โคคุระ, และนีงาตะ โดยเกียวโตถูกเลือกให้มีความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะมันเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่ยังไม่เคยถูกทิ้งระเบิด ส่วนฮิโรชิมะ ซึ่งเป็นอีกเมืองที่ยังไม่เคยถูกโจมตี อยู่ในการพิจารณาเนื่องจากมีฐานทัพขนาดใหญ่บริเวณกลางเมือง และล้อมรอบไปด้วยเนินเขาซึ่งจะช่วย “บีบอัด” แรงระเบิดและเพิ่มอนุภาพการทำลายล้างของมัน
เมื่อถึงสิ้นเดือนมิถุนายน คณะกรรมาธิการฯ ได้คัดเลือกเกียวโต, ฮิโรชิมะ, โคคุระ, และนีงาตะเข้าในรายชื่อของ “เป้าหมายซึ่งถูกจอง” เพื่อ “ป้องกัน” เมืองเหล่านี้จากการถูกโจมตีด้วยระเบิดเพลิงในอนาคต (ส่วนโยโกฮามะนั้นไม่ใช่หนึ่งในเป้าหมายของระเบิดนิวเคลียร์อีกต่อไป เนื่องจากถูกโจมตีด้วยระเบิดเพลิงเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม) ต่อมาไม่นาน เกียวโตก็ถูกคัดเลือกออกจากรายชื่อเป้าหมายสำหรับระเบิดนิวเคลียร์หรืออาวุธอื่นใด เนื่องจากเฮนรี สติมสัน รัฐมนตรีว่าการสงคราม ตัดสินใจรักษาอดีตเมืองหลวงแห่งนี้ด้วยทั้งเหตุผลทางยุทธศาสตร์และความรู้สึก โกรฟส์ ประท้วงสิ่งนี้อย่างแข็งขันและโต้แย้งบ่อยครั้งว่ามันคือเป้าหมายที่สำคัญและอยู่ในขอบเขตของการโจมตี แต่ในท้ายที่สุด สติมสันก็จูงใจทรูแมนได้สำเร็จ และเกียวโตก็ถูกถอดออกจากรายชื่อของเป้าหมาย
ในการประชุมพอตส์ดัมในเดือนกรกฎาคม 1945 ทรูแมนและสติมสันได้รับทราบถึงการทดสอบทรินิตี ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีผู้นี้ตื่นเต้นอย่างมาก ณ ตอนนี้ ตัวเขาที่เคยไม่สนใจการทดลองทางวิทยาศาสตร์ซึ่งดำเนินอยู่ที่นิวเม็กซิโกเท่าใดนัก กลับเปลี่ยนใจว่าอาวุธชนิดใหม่นี้คือหนทางสำหรับการทำสงครามกับญี่ปุ่น และส่งสารที่ทรงพลังถึงสหภาพโซเวียต
รายชื่อของเป้าหมายกำลังถูกทำให้เสร็จสิ้นในการสื่อสารเข้ารหัสระหว่างสติมสันที่พอตส์ดัมและโกรฟส์ที่วอชิงตัน ดี.ซี. โกรฟส์ตัดสินใจว่าเป้าหมายหลักแต่ละแห่งจำเป็นต้องมีเป้าหมายสำรองที่สามารถถูกโจมตีได้ในกรณีที่สภาพอากาศย่ำแย่หรือมีปัญหาอื่นๆ เกิดขึ้น เป้าหมายเหล่านี้เสนอแนะโดยพลตรีลอว์ริส นอร์สตัด ผู้บัญชาการการการวางเป้าหมายประจำกองบินทัพบก เนื่องจากเกียวโตถูกถอดออกจากรายการเป้าหมาย พวกเขาจึงต้องเพิ่มเป้าหมายสำรองซึ่งอยู่ใกล้กับกับฮิโรชิมะและโคคุระเข้าเป็นเป้าหมายสำรอง โดยเป้าหมายนั้นได้แก่ นากาซากิ ซึ่งเป็นเมืองท่าบนเกาะคิวชูและเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตกระสุนสองแห่ง แม้ว่าภูมิลักษณ์ของมันจะไม่เอื้ออำนวยและมีค่ายเชลยศึกอยู่ก็ตาม
เป้าหมายลำดับสุดท้ายถูกร่างโดยโกรฟส์และเสนอให้ทรูแมน ก่อนจะได้รับการอนุมัติโดยสติมสันและพลเอกจอร์จ มาร์แชลล์ ประธานคณะเสนาธิการกองทัพบก และประกาศในวันที่ 25 กรกฎาคม คำสั่งปฏิบัติการถูกส่งจากพลโทโธมัส แฮนดี รองประธานคณะเสนาธิการ และถูกส่งไปถึงพลเอกคาร์ล สปาตซ์ ผู้บัญชาการทัพอากาศยุทธศาสตร์ (Strategic Air Forces) ในแปซิฟิก คำสั่งดังกล่าวระบุว่า “หลังจากวันที่ 3 สิงหาคม 1945” กองทัพอากาศที่ 20 จะทิ้ง “ระเบิดแบบพิเศษ” ลูกแรกลงที่ฮิโรชิมะ, โคคุระ, นิกาตะ, หรือนากาซากิ (ร่างคำสั่งก่อนหน้านี้ระบุอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายเหล่านี้ถูกเรียงลำดับตามความสำคัญ” ส่วนการเล็งเป้าหมายจะทำโดยสายตาแทนที่จะเป็นเรดาร์ เนื่องจากความกังวลว่าวิธีหลังมีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง (แม้ตามหลักเหตุผลแล้ว การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ “พลาดเป้า” จะดูเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยอำนาจการระเบิดของอาวุธเหล่านี้ที่ถูกใช้ในสงครามโลกครั้งที่สอง การทิ้งระเบิดพลาดเป้าไปหลายกิโลเมตร —ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายมากหากเป็นการเล็งเป้าหมายด้วยเรดาร์— อาจหมายถึงการทิ้งระเบิดถูกเป้าหมายหรือเพียงแค่เฉียดไปเท่านั้น) และเครื่องบินทิ้งระเบิดจะมีเครื่องบินสังเกตการณ์ร่วมไปด้วยเพียงไม่กี่ลำ ยิ่งไปกว่านั้น “ระเบิดนิวเคลียร์ลูกอื่นๆ จะถูกทิ้งใส่บรรดาเป้าหมายที่กล่าวมาในทันทีที่มีการเตรียมพร้อม” เป้าหมายใหม่จะถูกเลือกหลังจากเป้าหมายทั้งสี่ถูกโจมตี ซึ่งหมายความว่านี่ ไม่ใช่คำสั่งให้มีการใช้ระเบิดเพียงลูกเดียว แต่เป็นคำสั่งที่อนุมัติให้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ทุกลูกที่มีอยู่หรือกำลังจะสร้างแล้วเสร็จ
เริ่มจากเดือนพฤษภาคม 1945 หรือช่วงที่การวางแผนเลือกเป้าหมายเริ่มขึ้น โครงสร้างสำหรับการประกอบระเบิดก็ถูกตั้งขึ้นที่ Tinian เกาะเล็กๆ ในหมู่เกาะมารีนาตอนเหนือ ซึ่งถูกใช้เป็นฐานทัพอากาศสำหรับเที่ยวบินทิ้งระเบิดโจมตีญี่ปุ่นตั้งแต่หลังจากที่สหรัฐฯ ยึดมันมาได้เมื่อฤดูร้อนของปี 1944 แผนการต่างๆ ถูกวางขึ้นเพื่อให้ส่วนประกอบอันมีค่าของระเบิดฯ ถูกนำมาที่เกาะแห่งนี้โดยปราศจากอุบัติเหตุ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม หรือวันทดสอบทรินิตี ส่วนประกอบของลิตเติลบอยก็เริ่มถูกส่งมาที่เกาะ เมื่อถึงวันที่ 29 กรกฎาคม ส่วนประกอบทุกชิ้นมาก็ถึงที่หมาย และพร้อมใช้งานภายในสิ้นเดือน ทางด้านส่วนประกอบทั้งหมดของแฟตแมนมาถึงภายในวันที่ 2 สิงหาคม และการประกอบระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่สองก็เสร็จสิ้นลงในวันที่ 7 สิงหาคม
การเล็งเป้าหมายด้วยสายตาหมายความว่าท้องฟ้าต้องแจ่มใสพอสมควร ดังนั้น ในทุกๆ วัน เครื่องบินบี-29 จะบินเดี่ยวเหนือเป้าหมายแห่งต่างๆ และส่งรายงานสภาพอากาศด้วยวิทยุ ในวันที่ 5 สิงหาคม ท้องฟ้าก็ถูกพิจารณาว่า “แจ่มใสเพียงพอ” สำหรับการทิ้งระเบิดในวันต่อมา และในคืนนั้น มีการบรรจุลิตเติลบอยใน อีโนลาเกย์ (Enola Gay) เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-29 และถูกส่งไปทำภารกิจทิ้งระเบิดเมืองหนึ่งในสามเมืองที่ถูกเลือก ได้แก่ ฮิโรชิมะ, โคคุระ, หรือนากาซากิ
ราวหนึ่งนาฬิกาของเช้ามืดวันที่ 6 สิงหาคม อีโนลาเกย์ก็ขึ้นสู่น่านฟ้า ในวันนั้น ฮิโรชิมะมีเมฆปกคลุมเบาบาง หลัง 8 นาฬิกาไม่นาน ทัศนวิสัยของทั้งเมืองก็เห็นได้อย่างชัดเจน และเมื่อเวลา 8 นาฬิกา 15 นาที ลิตเติลบอยก็ถูกทิ้งและดิ่งตัวลงไปเป็นเวลา 44 วินาที ก่อนจะระเบิดด้วยอำนาจซึ่งเทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นทีราว 15,000 ตัน เมืองแห่งนี้ประทุในวงวายุแห่งเปลวเพลิงและถูกทำลายล้างในทันที ชีวิตของผู้คนหลายหมื่นดับสูญลงในเวลาเพียงไม่กี่นาที และอีกราว 100,000 คนต้องเสียชีวิตลงเนื่องจากผลกระทบที่ตามมา อีโนลาเกย์สังเกตุเหตุการณ์เบื้องล่างจากบนฟ้าเหนือขึ้นไปสิบกิโลเมตร บินวนเป็นเวลาน้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง ก่อนจะมุ่งหน้ากลับสู่เกาะ Tinian
โจมตีครั้งที่สอง
ทรูแมนดีใจอย่างยิ่งเมื่อเขาทราบข่าวการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมะขณะกำลังเดินทางกลับจากพอตส์ดัมและประกาศว่า “นี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” ข่าวการใช้ระเบิดนิวเคลียร์เผยแพร่ต่อสื่อเกือบทันที และมีการประกาศข่าวดังกล่าวนี้ในวิทยุในญุี่ปุ่นอีกด้วย
กองทัพญี่ปุ่นทราบว่ามีการโจมตีครั้งใหญ่บางอย่างในฮิโรชิมะในวันที่ 6 สิงหาคม แต่ไม่ทราบว่าการโจมตีครั้งนี้มีความพิเศษ หลังพวกเขาได้ยินเกี่ยวกับการประกาศทางวิทยุของฝ่ายอเมริกัน กองบัญชาการสูงสุดได้ประชุมกันและเห็นพ้องกันว่าควรส่งทีมนักวิทยาศาสตร์ไปสืบสวน ศาสตราจารย์โยชิโอะ นิชินะ หัวหน้านักฟิสิกส์ด้านนิวเคลียร์รายงานกลับมาจากเมืองแห่งนี้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมว่ามัน “แทบไม่มีสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ถูกโค่น” เพราะสิ่งนี้เขาสามารถบอกได้ว่า “แท้จริงแล้ว ระเบิดที่เรียกกันว่า ‘ระเบิดชนิดใหม่’ นี้คือระเบิดนิวเคลียร์”
ในขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นกำลังยืนยันสิ่งที่เกิดขึ้นในฮิโรชิมะ ภารกิจทิ้งระเบิดครั้งต่อไปก็กำลังเริ่มต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นักพยากรณ์อากาศคาดการณ์ว่า สภาพอากาศในวันที่ 10 ซึ่งเป็นวันที่วางแผนให้มีการโจมตีครั้งที่สองจะไม่เป็นใจ ดังนั้น บรรดาเจ้าหน้าที่บนเกาะ Tinian จึงตัดสินใจโดยไม่ปรึกษาผู้ใดในวอชิงตันดีซี (รวมถึงทรูแมนหรือแม้แต่สติมสัน) ว่าพวกเขามีอำนาจบัญชาการทิ้งระเบิดลูกต่อไปได้ภายใต้คำสั่งการโจมตี ด้วยการโหมทำงานอย่างต่อเนื่อง พวกเขาประกอบแฟตแมนและบรรจุมันใส่บ็อคส์คาร์ เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-29 อีกลำ และส่งมันไปสู่เป้าหมาย
โคคุระ เมืองผลิตอาวุธซึ่งตั้งอยู่ที่ตอนเหนือของเกาะคิวชูคือเป้าหมายหลัก แต่ทัศนวิสัยของเมืองนี้เลวร้ายจากการถูกปกคลุมด้วยเมฆหรือควัน (หรืออาจเป็นทั้งคู่ เพราะเมืองยาวาตะซึ่งอยู่ใกล้กันถูกทิ้งระเบิดเพลิงใส่เมื่อวันก่อนหน้า) หลังใช้เวลา 45 นาทีไปกับการค้นหาโคคุระอย่างไร้ผล บ็อคส์คาร์จึงมุ่งหน้าไปที่ ‘นากาซากิ’ ซึ่งอยู่ใกล้กันแทน เมื่อเวลา 11 นาฬิกา 2 นาทีของวันที่ 9 สิงหาคม 1945 แฟตแมนก็ระเบิดเหนือเมืองดังกล่าวด้วยอำนาจแรงระเบิดเทียบเท่ากับทีเอ็นทีขนาดสองหมื่นตัน การโจมตีครั้งนี้ส่งผลให้ผู้คนกว่า 70,000 ชีวิตต้องเสียชีวิตลง บ็อคส์คาร์ตรวจตราความเสียหายเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนจะบินกลับฐาน
กองบัญชาการสูงสุดของญี่ปุ่นกำลังประชุมหารือเกี่ยวกับเรื่องที่สหภาพโซเวียตเพิ่งประกาศสงครามกับญี่ปุ่นและรุกรานแมนจูเรีย เมื่อพวกเขาทราบถึงการโจมตีที่นากาซากิ จึงยากที่จะทราบว่าฝ่ายญี่ปุ่นเชื่อว่าจะมีการโจมตีครั้งอื่นตามมาอีกหรือไม่ แน่นอนว่าการใช้ระเบิดนิวเคลียร์สองครั้งนั้น ‘ปิดฉาก’ ความหวังที่ว่าสหรัฐฯ มีระเบิดเพียงลูกเดียว กระนั้น ทั้งระเบิดลูกที่สองและการรุกรานของโซเวียตก็ยังไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ญี่ปุ่นยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข แต่เหล่าเจ้าหน้าที่รัฐเตรียมพร้อมการยอมจำนนต่อสหรัฐฯ ภายใต้เงื่อนไขว่าองค์พระจักรพรรดิจะต้องดำรงไว้ซึ่งฐานะเดิมและอยู่ในพระราชอำนาจต่อไปได้เท่านั้น
รอคอยและเตรียมพร้อม
ในเมืองหลวงของสหรัฐ สิ่งต่างๆ กำลังวุ่นวาย ในวันที่ 10 สิงหาคม ข้อเสนอยอมจำนนอย่างมีเงื่อนไขของญี่ปุ่นถูกพิจารณาตรวจสอบอย่างใกล้ชิดโดยทรูแมนและคณะรัฐมนตรี ขณะที่พลเอกโกรฟส์ส่งจดหมายรายงานถึงนายพลมาร์แชลล์ ผู้เป็นประธานคณะเสนาธิการ ว่า “ระเบิดลูกต่อไป” จะพร้อมใช้งานเร็วกว่าที่คาดคิด ในลอสอลามอสในนิวเม็กซิโก เหล่านักวิทยาศาสตร์ทำงานตลอดเวลาเพื่อดำเนินการขั้นตอนสุดท้ายสำหรับการขนส่งระเบิดลูกต่อไปไปสู่เกาะ Tinian พวกเขาจะส่งชิ้นส่วนชิ้นสุดท้ายจากนิวเม็กซิโกในวันที่ 12 หรือ 13 สิงหาคม และเตรียมใช้งานมันในเวลาราวหนึ่งสัปดาห์
ทรูแมนรับทราบถึงสิ่งนี้และตอบสนองในทันทีทันใด มาร์แชลล์ส่งจดหมายกลับถึงโกรฟส์ว่า “ระเบิดจะไม่ถูกทิ้งลงใส่ญี่ปุ่นโดนไม่มีคำอนุมัติอย่างชัดเจนจากท่านประธานาธิบดี” ทรูแมนอาจมีบทบาทเพียงผิวเผินอย่างมากในการออกคำสั่งให้ใช้ระเบิดนิวเคลียร์ — บทบาทหลักของเขา ตามที่โกรฟส์กล่าวไว้ในภายหลัง คือการไม่สอดแทรกแผนที่กำลังดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว — แต่เขามีบทบาทโดยตรงในการออกคำสั่งหยุดการทิ้งระเบิดที่มากไปกว่านั้น
เหตุใดที่ทรูแมน ผู้ป่าวประกาศว่าการโจมตีฮิโรชิมะคือ “สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์” จึงออกคำสั่งหยุดทิ้งระเบิดอย่างกระทันหัน? บางคนเชื่อว่าเขากังวลว่าระเบิดนิวเคลียร์อีกลูกจะเป็นอุปสรรคต่อการหยุดสงคราม แทนที่จะทำให้สงครามยุติเร็วขึ้น นักประวัติศาสตร์รายอื่นๆ เชื่อว่าทรูแมนต้องการหยุดการนองเลือดนี้ จากบันทึกของเฮนรี วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประจำรัฐบาลของเขาและอดีตรองประธานาธิบดี ทรูแมนกล่าวกับคณะรัฐมนตรีในเช้าวันนั้นว่าเขาออกคำสั่งหยุดทิ้งระเบิดเนื่องเพราะ “ความคิดการล้างบางผู้คนอีก 100,000 คนนั้นมันโหดร้ายเกินไป เขาไม่ชอบความคิดของการสังหาร
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทรูแมนต้องการให้อำนาจสั่งการกลับมาอยู่กับตัวเขาอีกครั้งหลังการอนุมัติโดยอาจไม่รู้ตัว ทำให้กองทัพตัดสินใจว่าตัวเองมีอำนาจควบคุมว่าจะใช้อาวุธชนิดใหม่เหล่านี้ได้อย่างไรโดยเบ็ดเสร็จ เขารับทราบถึงการทิ้งระเบิดครั้งแรกขณะในที่มันกำลังดำเนินไป แต่ไม่ใช่สำหรับการโจมตีครั้งที่สอง หากจะมีการโจมตีครั้งที่สามเกิดขึ้น ต้องมาจากคำสั่งโดยตรงของทรูแมน
โจมตีครั้งที่สาม?
ข้อเสนอการยอมจำนนครั้งแรกของญี่ปุ่นคือสัญญานที่ให้ความหวัง แต่ไม่ดีพอสำหรับทรูแมนและคณะรัฐมนตรี มีเพียงการยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขเท่านั้นที่เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เขาตอบกลับ เวลารอคอยนานหลายวัน — ตั้งแต่วันที่ 10 ถึง 14 สิงหาคม — การคาดเดาต่างๆ ว่าจะมีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์มากขึ้นอีกหรือไม่ และพวกมันจะถูกทิ้งลงใส่เมืองแห่งใด ผุดขึ้นมากมายทั้งภายในกองทัพและท่ามกลางบรรดาสื่อต่างๆ
หลังได้รับคำสั่งห้ามใช้ระเบิดฯ โกรฟส์โทรศัพท์หาออปเพนไฮเมอร์ในนิวเม็กซิโกในวันต่อมาและบอกให้เขาไม่ต้องส่งแกนพลูโตเนียมแกนต่อไปไปที่เกาะ Tinian อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้กล่าวกับโกรฟส์ว่าเขาสามารถรายงานถึงความคืบหน้าในการออกแบบระเบิดนิวเคลียร์แบบใหม่ นั่นคือระเบิดแบบ “ผสม” ชนิดจุดเข้าด้านใน (implosion bomb) ซึ่งใช้ทั้งพลูโตเนียมและยูเรเนียมเสริมสมรรถนะในระเบิดลูกเดียว ทำให้มันถูกสร้างได้รวดเร็วขึ้นอย่างอักโข
แม้ทรูแมนจะออกคำสั่งหยุดการใช้ระเบิดนิวเคลียร์เป็นการชั่วคราว แต่เหล่าผู้บัญชาการของกองบินทัพบกสหรัฐฯ นั้นยังคงคิดว่าการโจมตีครั้งต่อๆ ไปคือสิ่งจำเป็น ในวันที่ 10 สิงหาคม พลเอกสปาตซ์ส่งโทรเลขถึงพลเอกนอร์สตัด ผู้วางแผนเป้าหมาย เพื่อ “แนะนำอย่างแข็งขัน” ให้เลือกโตเกียวเป็นเป้าหมายสำหรับการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ในครั้งถัดไป “การโจมตีเป้าหมายที่ไม่ถูกป้องกันจะสร้างความเสียหายได้มากกว่า” เขาเขียน “แต่เชื่อกันว่า ในบัดนี้ ผลกระทบทางจิตวิทยาที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาล [ที่โตเกียว] นั้นคือสิ่งที่สำคัญมากกว่าการสร้างความเสียหาย”
ในวันเดียวกัน สปาตซ์ได้รับทราบว่าคำแนะนำของเขา “กำลังพิจารณาในระดับสูง” การพิจารณานี้สัญญาว่า “การตัดสินใจขั้นสุดท้าย” จะเสร็จสิ้นภายในสองวันให้หลัง และเป็นในวันนี้เช่นกันที่พลตรีเคอร์ติส เลอเมย์ ผู้รับผิดการก่อร่างแผนการทิ้งระเบิดเพลิงใส่เมืองต่างๆ ได้ส่งคำขอเร่งด่วนให้มีการติดตั้งสถานที่อำนวยการต่างๆ ที่สามารถประกอบระเบิดนิวเคลียร์ได้บนโอกินาวา ซึ่งอาจเป็นเพราะเขาคาดว่าจะต้องใช้พวกมันสำหรับการบุกแผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่น
ในวันที่ 13 สิงหาคม สติมสันกล่าวชี้ว่าบางที ควรเริ่มต้นการ “ขนส่ง” ส่วนประกอบของระเบิดนิวเคลียร์ไปสู่ เกาะ Tinian อีกครั้ง โกรฟส์รับทราบข้อมูลซึ่งเป็นปัจจุบันที่สุดของกำหนดการการโจมตีที่อาจมีขึ้นในอนาคต และทำให้แน่ใจว่ามันจะถูกส่งต่อไปถึงพลเอกมาร์แชลล์ ผู้กำลังใคร่ครวญว่าการใช้ระเบิดในทันทีที่พร้อมใช้นั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือพวกมันควรถูกเก็บสะสมไว้สำหรับการใช้รุกรานแผ่นดินใหญ่ ในกรณีหลัง อาจจะต้องใช้ระเบิดนิวเคลียร์ถึง 12 ลูก แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับระเบิดลูกที่สาม ผู้แทนของโกรฟส์ผู้หนึ่งกล่าวกับผู้แทนของมาร์แชลล์ว่า “พร้อมส่งแล้ว—กำลังรอคำสั่ง”
ในวันที่ 14 สิงหาคม สปาตซ์ยังคงผลักดันให้โตเกียวเป็นเป้าหมายต่อไป และแนะนำด้วย “ความเร่งรีบอย่างที่สุด” ให้ระเบิดลูกที่สามถูกส่งมาที่เกาะ Tinian “เพื่อทิ้งใส่โตเกียว” และเช่นเคย เขาได้รับข้อมูลว่าการตัดสินใจนี้ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา โดยการตัดสินใจว่าจะใช้ระเบิดลูกที่สามหรือไม่จะเกิดขึ้นในวันถัดไป
ต่อมาในบ่ายวันเดียวกัน ทรูแมนได้ประชุมกับเอกอัคราชทูตจากสหราชอาณาจักรและ “สำทับอย่างเศร้าโศก” ว่า ดูเหมือนว่าฝ่ายญี่ปุ่น ‘ไม่ประสงค์’ ที่จะยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข “ในตอนนี้เขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการสั่งให้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ใส่โตเกียว” หากเขาออกคำสั่งนั้น การปฏิบัติการจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่วัน
เคราะห์ดีที่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้น ในวันนั้น ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขเพียงไม่นานหลังการประชุมดังกล่าว จนถึงทุกวันนี้ เหล่านักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงกันว่าเป็นเพราะเหตุใดกันแน่ที่ทำให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนใจ เพราะบทบาทของทั้งระเบิดนิวเคลียร์ทั้งสองลูก? การประกาศสงครามโดยฝ่ายโซเวียต? และการเมืองภายในของญี่ปุ่นเอง ล้วนแล้วแต่พัวพันกันอย่างแยกออกได้ยาก และเป็นไปได้ว่าเหตุผลเหล่านี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด
ระเบิดลูกที่สามและลูกอื่นๆ ที่อาจตามมาคือส่วนสำคัญยิ่งยวดในยุทธศาสตร์การปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สองของสหรัฐฯ แม้พวกเขาจะมีความหวังว่าอาวุธนิวเคลียร์อาจทำให้สงครามครั้งนี้จบลง แต่บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศแห่งนี้ — ตั้งแต่ตัวทรูแมนเองไปจนถึงเหล่าผู้บังคับการในกองทัพ —- มิได้คาดหวังว่ามันจะจบลงในทันทีทันใด สัญญานต่างๆ บ่งชี้ว่าการดำเนินการทิ้งระเบิดต่อไปคือสิ่งจำเป็น และเหล่าผู้นำของสหรัฐฯ ก็เตรียมตัวสั่งให้มีการโจมตีเพิ่มอย่างรวดเร็ว หากสงครามดำเนินต่อไปแล้วนั้น โอกาสที่การใช้ระเบิดนิวเคลียร์เพิ่มอีกหลายลูกคือสิ่งที่เป็นไปได้อย่างมาก
หากสิ่งนี้เกิดขึ้น ระเบิดนิวเคลียร์จะยังถูกมองว่าเป็น “เครื่องมือจบสงคราม” หรือไม่? และหากคำตอบคือไม่ จะเป็นไปได้มากขึ้นหรือไม่ที่พวกมันจะถูกใช้ในสงครามเย็น? แน่นอนว่าไม่มีทางทราบถึงสิ่งเหล่านี้ได้อย่างแน่ชัด แต่สิ่งที่เรารู้แน่ชัดคือ โอกาสที่ระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่สามจะถูกใช้งานนั้นมีสูงกว่าที่ผู้คนส่วนมากรับรู้
แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน