แพร่ อดีตเมืองศูนย์กลางการค้าไม้สัก ได้พลิกโฉมเป็น ศูนย์กลางแฟชั่น ผ้าหม้อห้อม ชื่อดัง ฟื้นคืนภูมิปัญญางานฝีมือเพื่อส่งต่อสู่คนรุ่นใหม่
“ตอนป้ายังเด็ก ผ้าหม้อห้อม ที่ทำจะใช้กรรมวิธีดั้งเดิมทั้งหมด” คุณประภาพรรณ ศรีตรัย หรือ ป้าเหงี่ยม หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ จังหวัดแพร่ ในวัย 69 ปี รำพึงถึงความหลังขณะพาเดินชมบริเวณที่เธอใช้ทำงาน ที่ซึ่งสามีของเธอกำลังยืนคนตะกอนห้อมสีน้ำเงินเข้มในหม้อให้ขึ้นฟองอยู่
ป้าเหงี่ยมเป็นหนึ่งในช่างย้อมผ้าหม้อห้อมรุ่นที่ 3 ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวลาวพวน กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักในด้านผ้าทอ เดิมทีแล้วชาวพวนหรือไทพวนเป็นชาวลาวที่อพยพออกจากประเทศพร้อมภูมิปัญญาด้านการย้อมผ้าหม้อห้อม และเข้ามาตั้งรกรากบริเวณจังหวัดแพร่ในช่วงปี พ.ศ. 2344 ถึงประมาณปี 2443 หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 จนเกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น
ศูนย์เรียนรู้การย้อมผ้าหม้อห้อมของป้าเหงี่ยมตั้งอยู่ในซอยเล็ก ๆ ในบ้านทุ่งโฮ้ง หมู่บ้านชานเมืองในจังหวัดแพร่ ณ หมู่บ้านแห่งนี้มีเขาอันเขียวชอุ่มที่มีลำน้ำสาขาของแม่น้ำยมตัดผ่าน และมีต้นห้อมซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการย้อมผ้าขึ้นอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ น้ำห้อมสำหรับย้อมผ้าและผลิตภัณฑ์จากการย้อมสีโดยเฉพาะชุดหม้อห้อมชาวนากลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดแพร่ แทนที่อุตสาหกรรมไม้สักที่ซบเซาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
ป้าเหงี่ยมสืบทอดกิจการหม้อห้อมเล็ก ๆ ของครอบครัวมาเป็นเวลากว่า 30 ปี อีกทั้งยังกลายเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการปรับรูปแบบผ้าหม้อห้อมให้มีดีไซน์ที่สร้างสรรค์และทันสมัยมาร่วม 10 กว่าปีแล้ว “ร้านผ้าทุกร้านขายแต่เสื้อหม้อห้อมเรียบ ๆ เหมือนกันหมด ป้าก็เริ่มคิดหาวิธีที่จะทำให้ผ้าของเรามีความโดดเด่นขึ้นมา ก็เลยลองเอาเสื้อผ้าสไตล์วัยรุ่นมาย้อมสีแล้วใช้เทคนิคมัดย้อมเพิ่มเข้ามา” หลังจากนั้น ผ้าหม้อห้อมมัดย้อมที่ป้าเหงี่ยมเป็นผู้ริเริ่มก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จนในปัจจุบันนี้ผ้าหม้อห้อมในรูปแบบนี้วางขายอยู่ตามตลาดทั่วประเทศไทย
ผ้าหม้อห้อมมีส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่ได้เช่นเดียวกับเรือนขนมปังขิงจากไม้สักซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ย้ำเตือนถึงความมั่งคั่งของจังหวัดแพร่ในช่วงปี พ.ศ. 2423 ถึงปี 2432 หรือยุคที่แพร่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไม้สักระดับโลก ป้าเหงี่ยมได้ร่วมมือกับเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้งในการส่งเสริมภูมิปัญญาโบราณ ผ่านเวิร์กชอปมัดย้อมผ้าหม้อห้อมสำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งมีผู้สนใจและเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมายังมีการจัดงานแพร่คราฟท์ (Phrae Craft) งานที่รวบรวมกิจกรรมเกี่ยวกับงานคราฟท์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตลาดนัด หรือการจัดงานแฟชั่นโชว์ขึ้นเพื่อให้เหล่าเจ้าของธุรกิจผ้าหม้อห้อมรายเล็ก ๆ มีพื้นที่ให้แสดงผลงาน โดยงานนี้จะจัดขึ้นเพียงปีละหนึ่งครั้งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น
งานนี้จัดขึ้นโดยคุณนันทนิจ บอยด์ อดีตลูกศิษย์ของป้าเหงี่ยม นอกจากคุณนันทนิจจะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งงานแพร่คราฟท์แล้ว เธอยังเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Natcharal แฟชั่นจากผ้าหม้อห้อมซึ่งเปิดตัวในปี 2559 และในทุกวันนี้แบรนด์ของเธอได้พาผ้าหม้อห้อมก้าวข้ามขีดจำกัดโดยการนำผลงานจากผ้าพื้นเมืองไปสู่เวทีแฟชั่นโชว์ในกรุงเทพฯ “ถึงแพร่เป็นจังหวัดที่เงียบสงบมากแต่ก็มีการจัดกิจกรรมงานฝีมือต่าง ๆ และงานแสดงผลงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรือ creative showcase ตลอดทั้งปีค่ะ” นันทนิจกล่าว
จากนั้นเธอได้พาชมเวิร์กชอปของคุณภาสกร แสงด้วง ข้ามสาม ชายหนุ่มรูปร่างสูงที่มือเปรอะไปด้วยคราบสีน้ำเงินจากห้อม เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Nat Craft หม้อห้อมแพร่ เขาเพิ่งกลับมาจากการเล่นวอลเลย์บอลให้กับทีมชาติไทยที่ประเทศกัมพูชา คุณภาสกรเล่าว่าก่อนหน้านี้เขารับราชการมาก่อน แต่เปลี่ยนสายงานมาประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมหม้อห้อมในปี 2563 ตามคำแนะนำของป้าเหงี่ยมและแรงสนับสนุนจากครอบครัวที่เป็นช่างทอและช่างถักผ้า ในช่วงที่เว้นว่างจากการเล่นวอลเลย์บอล ภาสกรจะออกแบบลวดลายและดีไซน์ใหม่ ๆ สำหรับการย้อมสีหม้อห้อม โดยเขาเลือกใช้สิ่งทอซึ่งที่บ้านผลิตเป็นวัตถุดิบหลัก “เราทำทุกอย่างด้วยความรักครับ” ภาสกรกล่าวพร้อมรอยยิ้มพร้อมเสริมว่าครอบครัวของเขามักจะมาช่วยในขั้นตอนการผลิตสินค้าต่าง ๆ
ธุรกิจหม้อห้อมที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นนั้นพบเห็นได้ทั่วไปในจังหวัดแพร่ สำหรับจุดต่อไปที่เรามาเยี่ยมชมคือ เวิร์กชอปมัดย้อมห้อมของบ้านมัดใจ คาเฟ่พร้อมพื้นที่สำหรับจัดเวิร์กชอปงานศิลปะซึ่งเปิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วโดยคุณชิดชนก สุชนก ลูกสาวของตระกูลศิลปินเมืองแพร่ เธอเปิดคาเฟ่เล็ก ๆ แห่งนี้ขึ้นหลังเรียนจบจากสาขาการออกแบบ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัดสินใจกลับมาทำงานที่บ้านเกิด
คุณชิดชนกกล่าวว่า “ปรางสงสัยว่าทำไมคนรุ่นเราถึงไม่นิยมใส่ผ้าหม้อห้อมหรือเอาผ้าหม้อห้อมมาดัดแปลง ทั้ง ๆ ที่มันเป็นมรดกตกทอดมาจากชาวพวน บรรพบุรุษของเรา และเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น” ปัจจุบันนี้คุณชิดชนก ร่วมกับน้องสาวและคุณแม่ ผู้เป็นหนึ่งในเจ้าของสถานที่เวิร์กชอปที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่
บ้านมัดใจเป็นสถานที่สงบและร่มรื่นด้วยเงาไม้เล็กใหญ่ ภายในมีลานสำหรับการมัดย้อมหม้อห้อมของคุณชิดชนก มีสตูดิโอที่น้องสาวอย่างคุณชฎานุชใช้สอนปั้นเซรามิก รวมไปถึงร้านกาแฟ และร้านเสื้อผ้าเล็ก ๆ ที่สามแม่ลูกวางจำหน่ายเสื้อผ้าที่ตัดเย็บและย้อมสีอย่างประณีต ทั้งสามคนเห็นตรงกันว่าการเปิดคาเฟ่นี้เป็นเหมือนกับการทำภารกิจที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้คนอื่น ๆ ได้ลองทำกิจกรรมในสายงานฝีมือที่ตนสนใจ
คุณชิดชนกยังเสริมอีกว่า “พวกเราชอบช่วยเหลือคนที่กลับมาบ้านเกิดแล้วอยากทำงานเกี่ยวกับผ้าหม้อห้อมค่ะ เพราะมันเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น” นับตั้งแต่โรคโควิด 19 ระบาด ผู้คนที่ทำงานในกรุงเทพฯ ก็เริ่มทิ้งชีวิตในเมืองใหญ่แล้วกลับมาทำงานในแพร่เยอะขึ้น พวกเขามองหางานใกล้บ้านที่ทั้งสร้างสรรค์และสามารถเติมเต็มความต้องการของตนเองกันมากขึ้น
นอกจากนี้ ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทในการส่งต่อความรู้ด้านการย้อมหม้อห้อม คุณชิดชนกมีความเห็นว่า แพร่ได้เกิดใหม่ในฐานะศูนย์กลางทางด้านงานฝีมือ พร้อมอัตราการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าจากภูมิปัญญาพื้นบ้านขนาดเล็ก และจากการสนับสนุนให้ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติมาเยี่ยมเยียนจังหวัดอันสงบเงียบแห่งนี้
“แพร่เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ ทำให้สิ่งดี ๆ เหล่านี้เปล่งประกายยิ่งขึ้นเพื่อให้ผู้คนได้เห็นเห็นความสวยงามของมันค่ะ บางคนก็คิดว่าแพร่ควรจะมีแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเด่น ๆ สักที่ แต่เราคิดต่าง เราคิดว่าคนแพร่ไม่ต้องการอะไรแบบนั้นเพราะจังหวัดของเรามีเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อยู่แล้ว ” คุณนันทนิจกล่าว
เรื่อง ลูซี่ เกรซ
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ