“สินค้ารักโลก ถ้าไม่สวยคนก็ไม่ซื้อ” แฟชั่นและยั่งยืนในแบบ‘ประวรา เอครพานิช’ แห่งบูติคนิวซิตี้

“สินค้ารักโลก ถ้าไม่สวยคนก็ไม่ซื้อ” แฟชั่นและยั่งยืนในแบบ‘ประวรา เอครพานิช’ แห่งบูติคนิวซิตี้

เชื่อว่าสาววัยทำงานทั้งหลายคุ้นเคยกับเสื้อผ้าของ Guy Laroche C&D หรือ GSP มาพอควร ในฐานะแบรนด์แฟชั่นคุณภาพโดยช่างฝีมือคนไทยภายใต้อาณาจักรธุรกิจเครือสหพัฒนพิบูล

เรามักได้ยินประโยคคุ้นหูว่า ‘แฟชั่นเดี่ยวก็มา เดี๋ยวก็ไป (Fashion comes and goes)’ แต่ใช่ว่าเสื้อผ้าจะมีส่วนในการผลักดันเรื่องความยั่งยืนไม่ได้ เพราะ ‘ประวรา เอครพานิช’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน)หรือ BTNC ซึ่งบริหารแบรนด์เสื้อผ้าในเครือสหพัฒน์ ยังเชื่อมั่นเรื่องสินค้าคุณภาพดีที่สวย (ย้ำว่าต้องสวย) ทน ใส่ได้นาน เป็นจุดเริ่มต้นของความสุขและการบริหารห่วงโซ่อุปทานภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจยังรักษาโลกใบนี้เอาไว้เพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ในอนาคตได้

บริหารธุรกิจเสื้อผ้ามานานแค่ไหนแล้ว?

อยู่ในธุรกิจนี้มาน่าจะยี่สิบปีแล้ว อย่างที่บูทีค นิวซิตี้น่าจะ 5 ปีได้ เริ่มต้นโดยคุณแม่ (ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา) เราเป็นบริษัทลูกในเครือสหพัฒน์ซึ่งเขามีนโยบายแตกแล้วโต คือกระจายธุรกิจออกไปให้ลูกๆทำแล้วก็บริหารให้มันเติบโต แยกกันออกไปตามวิชา ตามความถนัดของตัวเอง คุณแม่เป็นลูกผู้หญิงคนเดียวก็ออกมาทำเรื่องเสื้อผ้า ซึ่งธุรกิจนี้มันเปลี่ยนไปเป็นระลอกค่ะ อย่างช่วงแรกเราจะเห็นว่าผู้หญิงไทยไปตัดเสื้อผ้าที่ร้านกัน ต่อมาก็เริ่มมีแบรนด์ต่างๆมาทำตลาดเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ยุคหนึ่งคนก็จะใส่เสื้อดีไซเนอร์แบรนด์กัน ถัดมาก็เป็นแบรนด์ที่นำเข้ามาทำการตลาด (Licensed Brand) ซึ่งเราก็เข้ามาทำในช่วงนี้ เรานำเข้าแบรนด์มาจากต่างประเทศ สิ่งที่เราได้รับจากเขาก็คือองค์ความรู้เรื่องธุรกิจเสื้อผ้า มีช่างมาสอนเลย อย่างเครือเราเป็นที่แรกที่ทำสูทสำหรับผู้หญิง เราก็พบว่าผู้หญิงไทยไม่ได้ตัวสูงเหมือนผู้หญิงฝรั่ง ขนาดและตำแหน่งของหน้าอกก็ไม่เหมือนกัน คนไทยจะมีหน้าท้องที่ใหญ่กว่า มีสะโพกไม่เหมือนบ้านเขาก็ต้องเรียนรู้และพัฒนามาเรื่อยๆ

ปัจจุบันเราจะเห็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นมาทำตลาดเยอะ ทุนเขาใหญ่ ร้านหนึ่งก็ใช้พื้นที่หนึ่งในสี่ของห้างแล้ว ห้างเองก็ชอบเพราะว่ามีแบรนด์ใหญ่มาเช่าที่ ส่วนเราเองเป็นจุดเล็กๆเท่านั้น เราก็เลยต้องหาจุดยืนของเราให้เจอ ว่าตลาดของเราอยู่ที่ตรงไหน ก็คือความเนี้ยบ คุณภาพสินค้าที่ดี ใส่ได้นาน อย่างฟาสต์แฟชั่น บางกลุ่มก็มองว่าสร้างขยะจำนวนมากเพราะเขาเน้นใช้ไม่กี่ครั้งก็ทิ้งแล้ว

แล้วทำไมต้องทำเสื้อผ้าให้ใส่ได้นานๆ?

เสื้อผ้าเป็นปัจจัยสี่ มีเพื่อปกปิดร่างกาย ให้ความอบอุ่น นี่คือที่มาของมัน หลังจากผ่านเวลามา มีวิวัฒนาการต่อเนื่อง เสื้อผ้าเป็นสิ่งที่บอกความคิด บอกทัศนคติของผู้ส่วมใส่ ไม่ว่าจะใส่สูท ใส่เสื้อเชิ๊ต ใส่เสื้อยืด ใส่ส้นสูง มันบอกหมด คือการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง บริษัทเราเชื่อมาโดยเรื่องการผลิตของที่ดี เราต้องทำของที่ดีไม่พังง่าย ถ้าเป็นรุ่นคุณแม่เขาจะชอบมาก ใส่แล้วทน ส่งต่อไปให้ลูกหลานหรอคนอื่นได้ เคยมีลูกค้ามาคุยให้ฟังว่าเสื้อของเราสวย ทนมาก เก็บมาตั้งแต่ยี่สิบปีก่อนสมัยเรียนจบ ป่านนี้ก็ยังใส่ได้ เราก็ดีใจ ส่วนเรื่องการแข่งขัน ก็เลยคุยกับดีไซเนอร์ว่าเราจะเย็บให้รายละเอียดมันน้อยลงแบบฟาสต์แฟชั่นมั้ยล่ะ ก็ไม่มีใครเอา เพราะเขาเชื่อว่าลูกค้าเราต้องการเสื้อ้ผาที่เย็บตะเข็บเนี้ยบ ดูฝีเข็ม ดูวิธีเก็บงาน ไม่อย่างนั้นคนเย็บเองก็ทำใจไม่ได้

บูติคนิวซิตี้บริหารธุรกิจสู่ความยั่งยืนในมุมใดบ้าง?

ตอนนี้เราร่วมมือกับหลายองค์กรทำโครงการต่างๆออกมา เรามีโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม A’maze Green Society ใน A’maze (เอ-เมส) ร้านมัลติสโตร์ที่รวมสินค้าหลายแบรนด์ไว้ด้วยกัน ต้องเล่าจากเรื่องของเสื้อเหงาก่อน คือเสื้อบางตัวที่เป็นสีขาว พอลูกค้าผู้หญิงเอาไปลองบางทีก็เปื้อนลิปสติกบ้าง คราบแป้งบ้าง เวลาเขาซื้อก็จะขอเอาตัวใหม่ เสื้อที่เขาลองแล้วก็เป็นเสื้อที่ไม่มีใครเอา หรือเสือ้บางตัวที่เราโชว์ มีเข็มกลัดอยู่ พอเอาเข็มกลัดออกก็เป็นรู เขาก็ขอเสื้อตัวใหม่ เราจะเรียกเสื้อพวกนี้ว่า “เสื้อเหงา” ที่มันเหงาก็เพราะว่าไม่ได้ถูกใช้แล้ว ถือเป็นของที่ขายไม่ได้ ซึ่งมีอยู่เยอะ จะมีส่งกลับมาที่บริษัทเป็นระยะ

เราก็เลยไปคุยกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเรื่องการทำผ้ามัดย้อม โดยส่งเสื้อไปชุบสีครามธรรมชาติ ก็เหมือนชุบชีวิตใหม่ให้เสื้อแล้วเอากลับมาขายราคาเดิมจริงๆคือต้นทุนเราเพิ่มขึ้นนะคะ แต่ก็ดีกว่าเอาไปทิ้ง นี่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดการจ้างงานอีกด้วย เกิดเป็นโครงการ Organic Indico ขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้

อีกอันหนึ่งคือโครงการ’ระลึกรักษ์’ ที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้พวงหรีด คือโดยทั่วไปของกระบวนการตัดเย็บเสื้อผ้า เราใช้ผ้าจริง 80% อีก 20% เป็นส่วนที่ไม่ได้ใช้ เขาก็ทิ้งกัน เราก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง อย่างส่วนของ 20% ที่ต้องทิ้ง ก็มาดูว่าสามารถทำลาย ตัดเป็นชิ้นเล็กๆเช่นลายดอกไม้ได้หรือเปล่า พอได้มาก็ต้องมานั่งคิดอีกว่าจะเอาไปทำอะไร ก็เกิดไอเดียเป็นพวงหรีดขึ้นมาทำร่วมกับบริษัท อโกร่า ดีไซน์ แมท จำกัด ซึ่งเขาเป็นผู้ผลิตพวงหรีดจากเสื่อ เขาก็เอาดอกไม้ของเราไปประดับพวกหรีดให้สวยงามมากขึ้น

แบบนี้ก็เท่ากับจัดการเศษผ้าที่เหลือไปได้ 15% แล้วอีก 5%ล่ะ มันเป็นเศษผ้าแล้วเราก็เอาไปหลอมทำถุงผ้าต่อ เราจับมือกับ Moreloop เขาเป็นแพลตฟอร์มที่ไปเก็บรวบรวมเศษผ้าเหลือที่ไม่ได้ใช้หรือ ‘ผ้าเหงา’จากโรงงานและขายให้กับคนที่ต้องการผ้าคุณภาพดีเอาไปตัดเย็บในจำนวนที่ไม่เยอะมาก ก็เลยออกแบบเสื้อผ้าแนวสตรีทมีลายเป็นการ์ตูรชื่อ ‘มีมี่(Mimi)’บนเสื้อผ้า ใช้ชื่อว่า Mimi Sustainability Collection นอกจากนี้ก็ชวนบริษัท เดอะ แพคเกจจิ้ง จำกัด ผู้ผลิตกระเป๋าแนวรักษ์โลก ทำกระเป๋าผ้ามิมี่ขึ้นมา โดยเราส่งผ้าโพลีเอสเตอร์ให้เขา จากนั้นเอาไปรีไซเคิลและทอเป็นกระเป๋าใบใหม่ขึ้นมา

แต่ก่อนเวลามีเศษผ้าเราก็ขาย เราไม่รู้หรอกว่าขายได้เท่าไหร่ เขาเอาไปทำอะไร พอเรากลับมาคิดและทำโครงการพวกนี้ขึ้นมา เวลาดีไซเนอร์วาดแบบใหม่ก็ต้องวาดดอกไม้ด้วย จะได้เอาไปใช้ต่อได้ ส่วนเศษผ้าที่ตัดเย็บไม่ได้เราก็รวมใส่ถุงไว้ เราก็ให้เขาไปเลย เป็นการใช้ผ้าแบบเกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพราะธุรกิจเราส่วนที่สำคัญที่สุดของห่วงโซ่อุปทานคือผ้า ซึ่งถ้าย้อนกลับไปก็เกี่ยวข้องกับต้นไม้ เราเอามาทอ ย้อมสี อบ พิมพ์ งานทั้งหมดอยู่ที่ผ้า จากนี้เวลาคุยกับคู่ค้าเราก็ต้องคุยกันลงลึกว่าที่มาของผ้าคุณมาจากไหน อย่างไร ใช้แบบไหนถึงจะคุ้มที่สุด

ผ้าที่เราใช้ก็จะมีคอตตอนกับโพลรีเอสเตอร์ พวกชุดทำงานจำเป็นโพลีเอสเตอร์ คงทน ใช้แล้วใช้อีก อยู่ได้นาน ส่วนผ้าคอตตอนเน้นความสบายจากเส้นใยธรรมชาติ นอกจากนี้ก็มีผ้าลินินบ้าง เราคุยกับทีมออกแบบว่าทำอย่างไรเสื้อผ้าของเราจึงจะอยู่เหนือกาลเวลาได้ ใส่ได้นานเท่านาน ไม่เปลี่ยนบ่อย ไม่ทิ้งง่าย เจ้าของก็อยากใส่ซ้ำ อย่างเสื้อผ้าผู้ชาย ใส่เสื้อเชิ๊ตแบบเดิมๆได้ตลอด แต่ความยากของเสื้อผ้าผู้หญิงคือ จะมีความเยอะ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา บริษัทเราเก่งเรื่องชุดทำงาน ทั้งสูท แจ็คเกต เสื้อเชิ๊ต เราถนัดมาก ก็ต้องมาดูต่อว่าทำอย่างไรจะใส่ได้นาน อยากให้ส่งต่อไปถึงลูกหลานได้เลย เชื่อว่ายังมีตลาดของเราอีกมาก สำหรับคนที่ต้องการเสื้อผ้าคุณภาพดี หลายคนไม่รู้หรือไม่มีโอกาสเข้าถึง ตรงนี้เราก็โตต่อได้

ความท้าทายของการนำเสนอสินค้ายั่งยืนใน A’maze คืออะไร?

มีหลายประเด็น อย่างเสื้อมัดย้อมที่ทำจากเสื้อเหงา ทีแรกเราก็ตื่นเต้น คิดว่าลูกค้าจะรับได้ไหมที่เสื้อแต่ละตัวไม่เหมือนกันเพราะมันมีชิ้นเดียว ลายเดียว ทำไมอันนั้นขาวเยอะ อันนี้ฟ้าเยอะ ก็เพราะว่ามันทำด้วยมือทุกตัว มัดและย้อมด้วยมือ ไม่มีทางที่จะเหมือนกันได้เลย เราก็ต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่านี่เป็นกระบวนการจากภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เขามีองค์ความรู้เยอะมาก ก็เป็นการใช้ความรู้จากหิ้งสู่ห้าง ทำงานวิจัยใช้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง เราเข้าไปในพื้นที่ ก็จ้างคนในพื้นที่ทำ เราก็มีรายได้เพิ่มด้วย เราก็บอกอาจารญ์ว่าทำลีละร้อยตัวก็ได้ ค่อยๆทำ ไม่รีบนะ เรารับซื้อทุกตัว

คำว่า A’maze มาจากคำว่า Amazing คือความงงงวย อัศจรรย์ใจ สิ่งที่เราทำถือเป็นการสร้างความสุขรูปแบบหนึ่งให้กับลูกค้าของเราด้วยกลุ่มสินค้าเพื่อความยั่งยืน เราชูแนวคิด A’maze yourself ต้องทำตัวเองให้มีความสุขก่อน ตอนนี้มีหลายจุดกระจายตัวในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เป็น Muli-Brand Store คือรวมหลายแบรนด์ของเราเอาไว้ในร้านเดียว  เป็นการผสมผสานที่ดี อย่างลองคิดถึงตัวเราเอง ก็ยังมีอวตารหลายเวอร์ชั่นเลย มุมหนึ่งเราเป็นผู้บริหารก็แต่งตัวแบบหนึ่ง อีกบทบาทเราก็เป็นแม่ของลูกเราก็มีบทบาทหนึ่ง บางวันเราก็ต้องการความทะมัดทะแมงมากกว่าปกติหน่อย ทุกอย่างก็ตอบโจทย์ได้หมดในร้านเดียวที่ A’maze นี่ล่ะค่ะ

การคุยเรื่องความยั่งยืนหรือเรื่องการทำธุรกิจโดยคำนึงถีงสิ่งแวดล้อม สังคมและมีธรรมาภิบาล(ESG) ก็ใช่ว่าพูดแล้วจะฟังกันทุกคน หลายคนที่อายุเท่าเราก็บอกว่าเขาไม่ได้อยากรู้ บางคนอายุเยอะก็บอกว่าเป็นไม้ใกล้ฝั่ง จะตายแล้วต้องมารู้เรื่องยั่งยืนทำไม หรือบางคนก็ไม่เห็นคุณค่าของการแยกขยะ แบบนีเป็นต้น ซึ่งพวกเราก็ต้องพยายามสื่อสารเรื่องพวกนี้ออกไปให้ได้มากที่สุด อย่างตัวดิฉันเองก็สอนลูก อายุสิบเอ็ดปีแล้ว เขาก็รู้เรื่องพวกนี้นะ คือสิ่งที่เราทำ ทำเพื่อโลกในอนาคตของพวกเขา เขาต้องอยู่ต่อ อย่าให้มันแย่ลงไปมากกว่านี้เลย

วางแผนขยายธุรกิจของ A’maze อย่างไร?

เรารองรับธุรกิจในวันที่เปลี่ยนไปออยู่แล้ว ต้องมีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อย่างออฟไลน์คือมีหน้าร้าน พนักงานการบริหารจัดการ ต้นทุนค่อนข้างสูง คิดว่าอาจจะไม่ได้ขยายไปทางนี้มากนัก ก็มาคิดต่อว่าเราจะเติบโตทางออนไลน์ได้อย่างไรด้วยชื่อของ A’maze ก็ต้องต่อยอดเรื่องการสร้างความสุข ต้องเริ่มจากสุขด้วยตัวคุณเอง ใส่เสื้อผ้าเราแล้วมั่นใจก็แปลว่ามีความสุข พอใส่ทนใส่ได้นาน มันก็เป็นความสุขที่ยั่งยืนขึ้น อย่างช่วงเทศกาลวันแม่ที่ผ่านมา สินค้าเรากลายเป็นของขวัญที่ลูกๆซื้อให้แม่ ก็ทึ่งเหมือนกันที่เสื้อผ้าจากแนวคิดยั่งยืนทำหน้าที่ตรงนั้นได้ด้วย

การทำเรื่องพวกนี้เหมือนวิ่งมาราธอนเลยค่ะ ต้องใช้เวลาและความพยายาม อย่างคนเราจะแต่งตัวเพราะฉันรักโลก แบบนี้หรอ ไม่มีหรอกค่ะ บางคนก็ว่าเชย ความจริงคือลึกqแล้วเรารักตัวเอง ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ความสุขเราก็จะเอาตัวเองเป็นทีตั้งก่อน คือสินค้าที่รักโลกแต่ไม่สวย คนก็ไม่ซื้อค่ะ ดังนั้นทำสินค้าก็ต้องทำให้คุณภาพดีและสวยด้วย สิ่งที่เราทำคือการทำสิ่งที่ดีให้กับคนในอนาคต ถามว่ากระบวนการทำงานยุ่งยากขึ้นหรือไม่ มันก็ใช่ แต่เชื่อว่ามุนษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เก่งมาก เมื่อเราได้เรียนรู้อะไรที่ยุ่งยากแล้ว มันก็จะไม่ยาก ดังนั้นต้องให้กำลังใจตัวเองในการทำสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราคิดว่าเราทำสิ่งที่ดีกับส่วนรวมอยู่ก็มีความสุขแล้ว อีกเรื่องคืออย่าทำอะไรที่ยากเกินไป ทำจากสิ่งที่ทำได้ ตัดทอนความสำเร็จลงมาให้สั้นๆ ทำได้ถี่ๆ สำเร็จไปทีละอัน เรื่องนี้เราทำเองคนเดียวไม่ได้ ต้องมีเพื่อน มีคู่ค้า มีพันธมิตร

ในฐานะผู้บริหารหญิง คิดว่าผู้หญิงจะเปลี่ยนโลกใบนี้ได้ดีกว่าผู้ชายหรือเปล่า?

เรื่องเพศไม่ได้เกี่ยวหรอกค่ะ เพียงแต่ว่าผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ แต่ผู้ชายทำไม่ได้ ผู้ชายเก่งที่ทำเรื่องนี้ก็มีเยอะ หรืออย่างกลุ่มหลากหลายทางเพศ สมองพวกเขาก็สุดยอด อย่างที่บริษัทเราเปิดเรื่อง LGBTQ มานานแล้ว มีเยอะมากเลยที่ตอนแรกเข้าบริษัทมาเป็นผู้ชาย พอออกไปก็เป็นผู้หญิง ดังนั้นการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนเรื่องเพศไม่เกี่ยว ทุกคนเป็นผู้นำได้หมด หรือย่างคนรุ่นใหม่เองก็เหมือนกัน ถ้าเขาต้องมานำเรา เราก็ต้องทำตามเขาเพราะวันหนึ่งโลกก็ต้องเป็นของเขาอยู่ดี สักวันตัวเราก็ต้องล้มหายตายจากไปจะยึดถืออะไรมาก นี่พูดเรื่องสิ่งแวดล้อมนะคะ (หัวเราะ)

เรื่อง : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส

อ่านเพิ่มเติม : ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ เล่าเรื่อง Upcycling ผ่านผลิตภัณฑ์ Qualy เมื่อการออกแบบกับการลดขยะไปด้วยกันได้จริง

ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์

Recommend