“ไถหนาน (Tainan)” เมืองวัฒนธรรมหลากยุค จากดั้งเดิมสู่สีสันร่วมสมัย

“ไถหนาน (Tainan)” เมืองวัฒนธรรมหลากยุค จากดั้งเดิมสู่สีสันร่วมสมัย

[BRANDED CONTENT FOR TAIWAN TOURISM]

ในขณะที่กำลังเดินข้ามทางม้าลาย ก็พลันสังเกตว่า ไฟสัญลักษณ์รูปคนก้าวเท้านั้นเร่งขึ้นจากช้ากลายเป็นเร็วตามเวลานับถอยหลัง กระตุ้นให้เราเร่งฝีเท้าข้ามให้ทันเวลา เป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ในไต้หวันที่ทำให้เราอมยิ้มและนึกขึ้นมาได้ว่า แม้นี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ไปเที่ยวไต้หวัน แต่เป็นครั้งแรกที่สังเกตเห็นนัยของไฟเขียวนี้ไม่แปลกใจเลยที่ไต้หวันยังมีอะไรให้ค้นพบเสมอ ไม่ว่าจะเป็นจุดหมายหรือรายละเอียดระหว่างทางที่ทำให้อยากกลับมาอีก

ครั้งนี้เรามุ่งหน้าไปยัง 3 เมืองทางตอนใต้ ไถหนาน (Tainan) เกาสง (Kaohsiung)  และผิงตง (Pingtung) ตั้งต้นกันที่เมืองไถหนาน เมืองหลวงแห่งแรกของไต้หวัน คล้ายเป็นภาคต่อจากปีที่แล้ว โดยตั้งต้นในเขตสำคัญที่เราอยากไปเป็นพิเศษ

เขตอันผิง (Anping District) ย่านเก่าเมืองท่า

  • ป้อมปราการอันผิง

ไถหนานเป็นเมืองที่มีมิติของวัฒนธรรมที่หลากหลาย เพราะความเป็นเมืองหลวงแรกของไต้หวันที่มีอายุกว่า 400 ปี ไต้หวันมีความสำคัญด้านภูมิรัฐศาตร์ เป็นเส้นทางการค้าและการเดินเรือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประวัติศาสตร์การเข้ามาของประเทศต่าง ๆ ที่สนใจในทำเลที่ตั้งนั้นจึงประทับอยู่ในสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมหลายแห่งในเมืองไถหนาน 

ในเขตเมืองเก่าอย่างเขตอันผิง เคยมีชื่อว่า ต้าหยวน (Dayuan) ชื่อเดิมของไต้หวัน เป็นที่ตั้งของป้อมปราการอันผิง (Anping Old Fort) หรือชื่อสมัยแรกก่อตั้งคือ Fort Zeelandia ซึ่งสร้างโดยชาวดัตช์ในปี ค.ศ. 1624 เพื่อเป็นป้อมปราการป้องกันศัตรู และเป็นศูนย์กลางการค้า ป้อมปราการแห่งนี้ผ่านกาลเวลาตามพลวัตทางการเมืองการปกครอง ทั้งถูกทิ้งร้าง ถูกรื้อวัสดุไปสร้างป้อมอีกแห่ง

จนกระทั่งในเวลาต่อมารัฐบาลได้บูรณะให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งออกแบบให้เหมาะสำหรับการมาพักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนเมือง ภายในป้อมมีหอคอยสูงสำหรับชมวิว สวนด้านนอกก็มีการผสมผสานศิลปะสมัยใหม่เข้ามา ชุมชนโดยรอบป้อมก็เป็นตรอกซอกซอยที่มีบรรยากาศของย่านเมืองเก่าที่น่าคิดถึง 

สำหรับเรามันน่าสนใจมาก เพราะกว่าจะมาเป็นรัฐประชาธิปไตยไต้หวัน ต้องผ่านการต่อสู้มาอย่างยาวนาน และทุกอย่างไม่ได้ถูกลบออกไปจากประวัติศาสตร์ แต่รัฐบาลยังคงเก็บรักษาและต่อยอดให้เปลี่ยนผ่านสู่ความสร้างสรรค์ใหม่

  • ท่าเรืออันผิง 

เราเป็นคนที่หลงรักบรรยากาศของเมืองท่าอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไต้หวันซึ่งเต็มไปด้วยท่าเรือและเมืองท่าสำคัญ แต่ละเมืองมักจะมีการออกแบบบริเวณท่าเรือให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน

ท่าเรืออันผิง (Anping Habour) จึงเป็นจุดที่เราหมายตาไว้ ท่าเรืออันกว้างขวางซึ่งมีจังหวะชีวิตหลากหลาย เป็นทั้งท่าเรือของชาวประมง ที่มีตลาดปลาในช่วงเช้ามืดตั้งแต่ตี 1 ถึง 6 โมงเช้า จุดจอดเรือประมง เรือยอร์ช บรรดาอาคารโกดังเดิมได้เปลี่ยนเป็นอาคารสำหรับกิจกรรมสาธารณะ และใช้วาฬเป็นสัญลักษณ์ของโซนท่าเรืออันผิง

เน้นย้ำด้วยประติมากรรมวาฬขนาดใหญ่ ยาว 23 เมตร สานด้วยเหล็กสีน้ำเงิน โดยรอบเป็นลานกว้างที่เหมาะสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถมาวิ่งเล่นได้ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ นอกจากประติมากรรมวาฬที่ขึ้นไปวิ่งเล่นข้างในได้แล้ว ข้างเคียงนั้นเป็นสนามเด็กเล่น เรายังเห็นคุณพ่อคุณแม่พาเด็ก ๆ มาเล่นจนถึงหัวค่ำ ซึ่งมีไฟส่องสว่างไม่น่ากลัว

ที่นี่ยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินยอดนิยม แม้เรามาไม่ทันเห็นตะวันลับขอบฟ้า  แต่ก็ไม่พลาดจะกลับมาเก็บบรรยากาศยามเช้าในวันรุ่งขึ้น แดดใสกับลมหนาวปลายเดือนกุมภาพันธ์ัพัดเย็น ทำให้เดินเล่นได้อย่างสบายใจ ชมวิวจุดจอดเรือยอร์ชจากลานท่าเรือวาฬ (Whale Harbour) อันกว้างขวาง จะเดินเล่น วิ่งออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน หรือนั่งเล่น ก็มีม้านั่งจัดวางเป็นระยะ ๆ เปิดโอกาสสำหรับกิจกรรมหลากหลาย ทั้งกิจกรรมหมุนเวียนไม่ว่างานเล็กหรืองานใหญ่ไปจนถึงงานระดับประเทศ

  • ชายหาดเกาะอวี๋กวง 

อีกฟากทางตะวันตกของท่าเรืออันผิง คือเกาะอวี๋กวง (Yuguang Island) ที่มีชายหาดโค้งมีหมู่ต้นไม้คั่นระหว่างถนนอวี๋กวงกับชายหาด ซึ่งมีแลนด์มาร์กเป็นแนวกันคลื่นที่ยื่นโอบออกไปในทะเล เป็นอีกจุดเดินเล่นที่มีทางเดินลัดเลาะท่ามกลางแมกไม้ เป็นรอยต่อเดินลงไปชมวิวทะเลอันปลอดโปร่ง ในฤดูร้อนที่นี่เป็นแหล่งเล่นกิจกรรมทางน้ำทั้งพายคายัค ซัพบอร์ด และเซิร์ฟบอร์ด ยามเย็นยังเป็นจุดถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงาม เราไปถึงที่นั่นช่วงเช้าของปลายฤดูหนาว ผู้คนบางตา แต่ก็ยังเห็นคนไต้หวันมานั่งรับลม จินตนาการได้ไม่ยากว่า เมื่ออากาศอบอุ่นขึ้นที่นี่จะเป็นเหมือนสวนหลังบ้านให้คนไต้หวันได้มาพักใจกับธรรมชาติใกล้ตัว

สัมผัสมิติทางวัฒนธรรมดั้งเดิมสู่ความสร้างสรรค์ใหม่ในเขต West Central District

  • ศาลเจ้าแม่หมาจู่ หรือวัดเทพเจ้าหมาจู่แห่งเมืองไถหนาน 

ในไต้หวันมีศาลเจ้ามากมาย หนึ่งในศาลเจ้าสำคัญที่เราไปสักการะในครั้งนี้คือ “ศาลเจ้าแม่หมาจู่แห่งเมืองไถหนาน (Tainan Grand Mazu Temple)” เจ้าแม่หมาจู่ถือเป็นเทพนารีแห่งท้องทะเล เทวีแห่งมหาสมุทร หรือบางครั้งก็เรียกว่าเป็นแม่ย่านาง เป็นความศรัทธาที่ติดตัวชาวจีนไม่ว่าจะล่องสู่น่านน้ำไหนใกล้หรือไกลโพ้นทะเล จึงเป็นเทพีที่คู่กับการเดินเรือและเผื่อแผ่มาถึงการประมง

ในเมืองไทยเองก็มีศาลเจ้าแม่หมาจู่นะ เพียงแต่เรารู้จักกันในนาม “เจ้าแม่ทับทิม” ตามสีแดงของเครื่องทรง

เจ้าแม่หมาจู่ได้รับการเคารพนับถืออย่างสูงในไต้หวัน จึงมีศาลเจ้าแม่หมาจู่อยู่ทั่วเกาะไต้หวันอันล้อมรอบด้วยมหาสมุทร ศาลเจ้าแม่หมาจู่ที่เก่าแก่ที่สุดในไถหนาน หรือ ต้าเทียนโฮ่ว (Datianhou Temple) ซึ่งแปลว่าจักรพรรดินีผู้ยิ่งใหญ่ ถือเป็นศาลเจ้าแม่หมาจู่แห่งแรก ดั้งเดิมศาลเจ้าแห่งนี้คือที่ประทับของเจ้าชายหนิงจิง (Ning Jing Prince) แห่งราชวงศ์หมิง หลังจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองการปกครองมามาก รัฐบาลจึงบูรณะสถานที่แห่งประวัติศาสตร์นี้เป็นศาลเจ้าของเจ้าแม่หมาจู่  เพราะความศรัทธาคือศูนย์รวมใจของประชาชน ยิ่งประกอบเข้ากับศิลปกรรมอันงดงามแต่ดั้งเดิมทำให้ศาลเจ้าแห่งนี้ทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น

อาคารของศาลเจ้าแม่หมาจู่แห่งเมืองไถหนานวางผังเป็นคอร์ทตรงกลางให้เราค่อย ๆ สักการะไปตามลำดับ  จนพบกับอาคารหลัก อันเป็นที่ประดิษฐานองค์เจ้าแม่หมาจู่ ซึ่งสร้างมานานกว่า 300 ปี พระพักตร์สีทองอร่ามให้รู้สึกถึงความสง่าและเปี่ยมด้วยเมตตา เมื่อย่างเท้าเข้าไปจึงสัมผัสได้ถึงพลังงานแห่งศรัทธาที่สั่งสมมาหลายร้อยปี

ผู้คนนิยมมาขอพรกับศาลเจ้าแม่หมาจู่เรื่องความร่ำรวยและความสำเร็จด้านการงาน สำหรับเราแล้ว เจ้าแม่หมาจู่ผู้มีสถานะเป็นเทวีแห่งท้องทะเล มีความหมายถึงการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ฝ่าฟันอุปสรรคด้วยความมุ่งมั่นและความหวังได้อย่างราบรื่น  เราจึงเลือกที่จะขอพรกับการทำงานที่เต็มไปด้วยคลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลง ให้เราสามารถรับมือกับทุกความท้าทายของงานได้อย่างมีสติ และยินดีกับผลลัพธ์ของงาน

นอกเหนือจากการเป็นจุดหมายแห่งการขอพรแล้ว ความงามของศิลปกรรมโดยรอบของศาลเจ้านั้นน่าประทับใจ จนเราอยากชวนให้ทุกคนค่อย ๆ เดินชมรายละเอียดของโครงสร้าง เครื่องไม้แกะสลัก ภาพเขียนบนฝ้าเพดาน สีสันมลังเมลือง กับเทพหลายองค์ล้อมไปด้วยเครื่องสักการะสร้างบรรยากาศแห่งศรัทธา ศิลปกรรมที่เราประทับใจเป็นพิเศษคือเสาหินมังกรสลักเสลามีรายละเอียดงดงาม ที่เราไม่อยากให้คุณเดินผ่านไปเฉย ๆ

  • ถนนสายศิลปะ Shennong Street

ยามค่ำคืน เราเดินไปยังถนนคนเดิน Shennong ที่เต็มไปด้วยสีสันยามค่ำคืน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมที่พัก บนถนน Hai’an ที่จัดว่าเป็นถนนสายศิลปะซึ่งมี Installation Art ติดตั้งอยู่ตรงสี่แยกเป็นระยะ ๆ ตลอดทางคือร้านอาหาร ร้านกินดื่มที่น่านั่ง หลายร้านตั้งโต๊ะเชิญชวนผู้คนออกมาเติมท้องด้วยมื้ออาหารเคล้าบรรยากาศเมืองที่รื่นรมย์

 

เดินไปจนถึง Shennong Street เป็นซอยเล็ก ๆ ที่ยังรักษาสถาปัตยกรรมของอาคารห้องแถวในยุคเก่าก่อนแล้วเติมสีสันของความเป็นคนรุ่นใหม่เข้าไปในย่านดั้งเดิมจนมีชีวิตชีวา โคมหลากสีย้อมแสงให้สลัวสวย เป็นถนนศิลปะที่มีงานฝีมือ และร้าน selected shop ที่คนชอบศิลปะและดีไซน์ต้องติดใจ

ขากลับเองก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจในทุกย่างก้าว เพราะมี Food Stall ระหว่างทางให้เลือกชิมตั้งแต่ กัวเปา (Gua Bao) หมั่นโถวไส้ขาหมู ถังหูลู่ (Tanghulu) ผลไม้เสียบไม้เคลือบน้ำตาล ไปจนถึงเถียนปู๋ล่าหรือโอเด้งไต้หวัน (Tian Bu La)

Ten Drum Cultural Village จากโรงงานน้ำตาลสู่หมู่บ้านวัฒนธรรมกลอง

อีกหนึ่งความพิเศษของไถหนาน คือหมู่บ้านวัฒนธรรมกลอง (Ten Drum Cultural Village) จากจุดเริ่มต้นของเหล่าศิลปินกลอง Ten Drum Art Percussion มองหาสถานที่ซ้อมกลองนอกเมืองแบบไม่รบกวนผู้คน พวกเขาได้มาเจอกับโรงงานน้ำตาลเก่าไกลเมือง จากที่ซ้อมกลองค่อย ๆ พัฒนาสู่ศูนย์วัฒนธรรมและการแสดงกลองที่น่าทึ่งมาก

กลุ่มผู้ก่อตั้งยังรักษาโครงสร้างเดิมของโรงงานน้ำตาลไว้ แล้วออกแบบพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกให้ราวกับเป็นดินแดนแห่งเวทย์มนตร์ กับขบวนรถไฟ Magic Train คาเฟ่ในบรรยากาศห้องสมุดแห่งโลกมหัศจรรย์ และห้องนิทรรศการที่เพิ่งเปิดใหม่ “Time Traveling Magic Flowers” เป็นการเดินทางผ่านมิติกาลเวลาไปกับดอกไม้ที่ออกแบบให้เป็นสัญลักษณ์ของ “พื้นที่และเวลา (space and time)” ดอกไม้และสิ่งมีชีวิตในแต่ละถิ่นนั้นแตกต่างและยังเปลี่ยนแปลงไปตามกาล แม้ทุกสิ่งคือความไม่แน่นอน แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้หมายถึงด้านลบแต่คือความหวังที่ผู้ออกแบบอยากให้เราสัมผัส 

สิ่งที่เป็นไฮไลต์สำหรับเราก็คือการแสดงกลอง (Drum performance) ที่ทำให้หัวใจเต้นรัว

เราเดินเข้าไปในโรงงานน้ำตาลที่ยังคงเห็นเครื่องจักรดั้งเดิม ที่เปลี่ยนเป็นอัฒจันทร์พื้นใสมองลงไปเห็นเครื่องจักรด้านล่าง และเวทีการแสดงกลองที่ผสมผสานทั้งการตีกลองแนวประเพณีและการแสดงร่วมสมัยเข้ากันอย่างทรงพลัง

การตี การเคาะ (Percussion) ถือเป็นดนตรีอย่างแรกของมนุษยชาติ เพียงสร้างเสียงกระทบกันขึ้นมาก็สามารถกลายเป็นดนตรีได้ เสียง แรงสั่นสะเทือน และความพร้อมเพรียง ถูกสร้างสรรค์และขัดเกลา จนกลายเป็นศิลปะการตีกลองที่แตกต่างกันไปตามชนชาติ ศิลปะการตีกลองของไต้หวันถูกพัฒนาขึ้นมาจากกลองศึกในสงครามโบราณที่กระตุ้นขวัญและกำลังใจทหารในสนามรบ สู่กลองในพิธีกรรม ศาสนา การเฉลิมฉลอง และการละเล่นพื้นบ้าน

การแสดงกลองของเหล่าศิลปิน Ten Drum Art Percussion ผ่านการฝึกฝนอย่างหนักมาแรมปี เริ่มต้นอย่างปลุกเร้าให้เห็นความขึงขังอลังการ แล้วค่อย ๆ พาเราไปสู่การสร้างสรรค์ร่วมสมัยที่น่าตื่นเต้น ร่วมกับการเคลื่อนไหวร่างกายเช่นเดียวกับศิลปะการแสดงสด พร้อมดนตรีร่วมสมัยหลากสไตล์ กลิ่นอายนิวเอจไปถึงร็อคมิวสิค ชมการแสดงอย่างเต็มอิ่มแล้ว ถ้าใครนึกอยากลองฝึกตีกลองบ้าง ที่นี่เขาก็มีกิจกรรมให้ลองตีกลองแบบพื้นบ้านไต้หวันด้วย เราไปลองมาแล้ว บอกเลยว่าสำหรับขั้นพื้นฐานนั้นดูเหมือนไม่ยาก แต่มันไม่ง่ายเลย

ออกมาเดินเล่นที่พื้นที่ด้านนอกบนสะพานทางเดินลอยฟ้าชมภูมิทัศน์โดยรอบจากมุมสูง เชื่อมเข้าสู่ส่วนต่าง ๆ เช่น คาเฟ่ ห้องกิจกรรมซึ่งบอกเล่าความเป็นมาของโรงงานน้ำตาลจนมาเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมกลองอยู่บนผนัง มีให้มุมนั่งเล่น เดินเล่น ใช้เวลาอย่างเพลิดเพลินมากมาย

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ที่นี่จึงได้รับรางวัล UNESCO Asia-Pacific Heritage Award เพราะเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกับปัจจุบันได้อย่างดี

ไถหนานรอบนี้ เราท่องเที่ยวกันจากย่านเมืองท่า สู่กลางเมืองเก่า สัมผัสวัฒนธรรมดั้งเดิมและร่วมสมัย สูดลมหายใจที่ชายหาด แล้วบ่ายหน้าลงใต้ เดินทางสู่เมืองเกาสง ก่อนไปจบที่ผิงตง โปรดติดตาม


อ่านเพิ่มเติม ท่องธรรมชาติเมืองชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน

Recommend