กีฬาน่าสนใจในเอเชียนเกมส์ 2018

กีฬาน่าสนใจในเอเชียนเกมส์ 2018

กีฬาน่าสนใจใน เอเชียนเกมส์2018

การแข่งขัน เอเชียนเกมส์2018 หรือชื่อทางการ กีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 18 ในปีนี้จัดขึ้นที่กรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย เริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา มีโปรแกรมการแข่งขันมากมายยาวไปจนถึงวันที่ 2 กันยายน

นอกเหนือจากกีฬาที่เรารู้จักกันดีอย่างตะกร้อ, มวย หรือยกน้ำหนักแล้ว มาปีนี้อินโดนีเซียเพิ่มกีฬาใหม่ๆ เข้ามาในตารางการแข่งขัน ตอบสนองความหลากหลายทางวัฒนธรรมในฐานะทวีปที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และประกอบด้วยผู้คนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดเช่นกัน หลายกีฬาเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วในการแข่งขันอื่น แต่บางกีฬาก็เป็นข้อมูลที่เราไม่เคยทราบมาก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมใหม่ๆ จะมีอะไรบ้างไปชมกัน

 

1.ปันจักสีลัต (Pencak Silat)

ปันจักสีลัตคือ ศิลปะการต่อสู้ในวัฒนธรรมของชาวอินโดนีเซีย ทั้งยังเป็นที่นิยมเล่นอย่างแพร่หลายในคาบสมุทรมลายู ตั้งแต่ภาคใต้ของไทยไปจนถึงมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, บรูไน และสิงคโปร์ มีตำนานเล่าขานกันจากเกาะสุมาตราว่าการต่อสู้ลักษณะนี้เกิดขึ้นเมื่อหญิงคนหนึ่งเห็นการต่อสู้กันของเสือและเหยี่ยว จึงนำมาใช้รับมือกับคนเมา…อย่างไรก็ดีแต่ละภูมิภาคก็มีตำนานการเกิดปันจักสีลัตที่ต่างกันไป ในบางจังหวัดของอินโดนีเซียเอง นอกจากเป็นกีฬาแล้ว ปันจักสีลัต ถือเป็นวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านที่ใช้โชว์ในงานแต่งงาน ตลอดจนวันหยุดสำคัญอีกด้วย

เอเชียนเกมส์ 2018
ภาพการแข่งขันปันจักสีลัต ในเอเชียนเกมส์ 2018
ภาพถ่ายโดย Bay Ismoyo, AFP

ในการแข่งขัน นักกีฬาจะหันหน้าเข้าหากันใช้เพียงมือเปล่าเข้าต่อสู้ซึ่งเป็นกระบวนท่าเข้าชุดที่ต้องทำตามลำดับอย่างต่อเนื่อง แต่ท่าที่ใช้นั้นต้องไม่ซ้ำกันจึงจะได้คะแนน นอกจากนั้นยังมีเทคนิคการหลบหลีก การปัดป้อง ทำให้คู่ต่อสู้ล้ม หรือพลิกจากที่ล้มกลับมามีชัย เรียกได้ว่าเป็นกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวอย่างสวยงามกีฬาหนึ่ง

 

2.บาสเกตบอล 3×3

จากกีฬาตามท้องถนนที่ใช้พื้นที่น้อยสู่การแข่งขันในระดับโลก ครั้งแรกที่เอเชียนเกมส์จัดการแข่งขันบาสเกตบอลแบบแบบ 3×3 แตกต่างจากบาสเกตบอลแบบทั่วไป กีฬาชนิดนี้มีแป้นบาสเพียงแค่ฝั่งเดียวเท่านั้น และนักกีฬาแค่ละทีมก็ถูกลดจำนวนเหลือเพียงทีมละ 3 คน ผู้เล่นสามารถเล่นอย่างไรก็ได้ตามกติกาในเขตสนาม ทีมใดทำได้ 21 คะแนนก่อนก็เป็นฝ่ายชนะไป

 

3.แซมโบ (Sambo)

แซมโบ ในภาษารัสเซียมีความหมายว่า การป้องกันตัวโดยไม่ใช่อาวุธ เดิมเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่ถูกพัฒนาและคิดค้นขึ้นโดยสหภาพโซเวียตหลังการปฏิวัติในปี 1917 เพื่อให้กองทัพแดงใช้ฝึกฝนทหาร ต่อมากลายมาเป็นกีฬามวยปล้ำที่ได้รับความนิยมในมองโกเลีย, จอร์เจีย, อุซเบกิสถาน และอาเซอร์ไบจาน แซมโบคือส่วนผสมของยูโด, มวยปล้ำ และยิวยิตสู โดยเน้นไปที่การทุ่มคู่ต่อสู้เป็นหลัก จึงจะได้คะแนน

เอเชียนเกมส์2018
แซมโบมีความหมายว่าการป้องกันตัวโดยไม่ใช้อาวุธ กีฬามวยปล้ำจากโซเวียตนี้ผู้เล่นต้องพยายามทุ่มคู่ต่อสู้ลงกับพื้นให้ได้
ภาพถ่ายโดย Adek Berry, AFP

 

4.คูราช (Kurash)

กีฬาพื้นบ้านจากอุซเบกิสถาน คล้ายคลึงกับแซมโบ แต่การทุ่มอีกฝ่ายลงพื้นนั้นต้องทำภายในเวลาที่กำหนด จึงจะได้คะแนน คำว่าคูราช เป็น ภาษาอุซเบกิสถาน หมายถึง “การไปให้ถึงจุดหมายอย่างสมเหตุสมผลหรือวิธีที่ยุติธรรม” ทั้งยังเชื่อว่าการฝึกฝนคูราชนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังเป็นการฝึกฝนจิตใจอีกด้วย ทุกวันนี้หากเดินทางไปยังอุซเบกิสถานสามารถพบเห็นการละเล่นคูราชได้ง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันหยุดเฉลิมฉลอง

เอเชียนเกมส์2018
ภาพการแข่งขัน Kurash Asian Championship เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศอินเดีย
ภาพถ่ายโดย vruttaonline.wordpress.com

 

5.เรือมังกร (Dragon Boating)

ประเพณีการแข่งขันเรือมังกร หรือเรือยาวย้อนกลับไปได้ไกลถึงเมื่อ 2,000 ปีก่อน โดยมีจุดกำเนิดในภูมิภาคทางตอนใต้ของจีน ก่อนจะกลายมาเป็นกีฬาในเวลาต่อมา โดยกุญแจสำคัญของชัยชนะอยู่ที่ความสามัคคีของฝีพายทุกคนบนเรือ

และล่าสุดในการแข่งขันเรือมังกรหญิง 200 เมตร เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ณ เมืองปาเลมบัง บนเกาะสุมาตรา มีไฮไลท์น่าสนใจคือ ทีมรวมชาติเกาหลี ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของนักกีฬาเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ สามารถคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้สำเร็จ แม้จะไม่เคยฝึกซ้อมร่วมกันมาก่อนก็ตาม

 

6.บริดจ์ (Bridge)

บริดจ์ถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2018 บริดจ์ก็ถูกรวมอยู่ในตารางการแข่งขันด้วยเช่นกัน อุปกรณ์คือไพ่ และ bidding box นักกีฬาจะเล่นเป็นทีมทีมละ 2 คน ทั้งนี้บริดจ์เป็นกีฬาที่มีวิธีการเล่น และกฎกติกาซับซ้อน ทั้งยังต้องใช้สมาธิ ประกอบกับการวางแผนอย่างมากเพื่อให้ได้ชัยชนะ

ภาพการแข่งขันกีฬาบริดจ์ใน European Bridge League
ภาพถ่ายโดย theconversation.com

 

7.กาบัดดี้ (Kabaddi)

คล้ายคลึงกับการละเล่นตี่จับในบ้านเรา กาบัดดี้เป็นการละเล่นที่มีประวัติยาวนานในอินเดีย เชื่อกันว่าเกิดขึ้นพร้อมๆ กับศาสตร์โยคะเมื่อ 4,000 ปีก่อน กติกาคือผู้เล่นจะแบ่งทีมเป็นสองทีม หนึ่งในทีมจะบุกเข้าไปในแดนของฝ่ายตรงข้ามเพื่อแตะตัว โดยจะต้องเปล่งเสียงคำว่า “กาบัดดี้” ในลมหายใจเดียว และจะต้องรีบกลับไปแตะเส้นกลางสนามให้ทัน มิฉะนั้นอีกฝ่ายจะได้คะแนนไป

เอเชียนเกมส์2018
นักกีฬากาบัดดี้พยายามหนีจากวงล้อมของนักกีฬาอินเดีย ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 17 ประเทศเกาหลีใต้
ภาพถ่ายโดย India Today

ทั้งนี้กาบัดดี้ถือเป็นกีฬายอดนิยมอย่างหนึ่ง เนื่องจากใช้อุปกรณ์และค่าใช้จ่ายน้อย ปัจุบันมีสหพันธ์กาบัดดี้สมัครเล่นแห่งเอเชีย จัดตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 1978 โดยประเทศอินเดีย, เนปาล, บังคลาเทศ, ปากีสถาน และศรีลังกา เพื่อให้กีฬานี้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

 

8.วูซู (Wushu)

ศิลปะการต่อสู้แบบชาวจีนโบราณ หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อการรำมวยจีน คำว่าวูซู มีความหมายว่า วิทยายุทธ ประกอบด้วยศาสตร์การป้องกันตัวและต่อสู้แบบมือเปล่า ไปจนถึงการใช้อาวุธ เช่นทวน หรือไม้พลอง ในการแข่งขันจะแบ่งกลุ่มนักกีฬาเป็นกลุ่มตามน้ำหนัก ส่วนรูปแบบการแข่งขันนั้นมีทั้งรูปแบบการต่อสู้ ที่ใช้ระบบแพ้คัดออก กับรูปแบบยุทธลีลา ที่ตัดสินชัยชนะจากท่วงทาและลีลาที่สวยงาม

 

9.พาราไกลดิ้ง (Paragliding)

เอเชียนเกมส์ปีนี้ไม่ได้แข่งกันแค่บนบกหรือในน้ำ แต่รวมไปถึงกลางอากาศด้วย! พาราไกลดิ้ง หรือที่เรียกกันว่ากีฬาร่มร่อน เป็นกีฬาเอ็กซตรีมที่มีมานานแล้ว แต่เพิ่งได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อุปกรณ์คือร่มขนาดใหญ่ที่ใช้ลอยและพยุงตัวของนักกีฬาไปบนอากาศ โดยการแข่งขันจะแบ่งไปตามประเภท เช่น ประเภทลงเป้าหมายแม่นยำ หรือประเภทเดินทางไกล เป็นต้น

ภาพการเล่นพาราไกลดิ้ง กีฬาเอ็กซตรีมที่กลายมาเป็นหนึ่งในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2018
ภาพถ่ายโดย scmp.com

 

10.eSports

ย่อมาจากคำว่า electronic sports หมายถึงการแข่งขันวิดีโอเกมประเภทบุคคลหรือทีม โดยในเอเชียนเกมส์ 2018 การแข่งขันกีฬา eSports จัดเป็นกีฬาสาธิตที่ไม่มีเหรียญและเงินรางวัลมอบให้ เพื่อเตรียมบรรจุลงไปในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ปี 2022 ในอนาคต

สำหรับ eSports ในเอเชียนเกมส์ที่กรุงจาการ์ตา จัดการแข่งขันทั้งหมด 6 เกม ในจำนวนนี้มีสองเกมที่เป็นการแข่งขันแบบทีม ได้แก่ Arena of Valor และ League of Legends (ใช้เวลาการแข่งขันราว 3 วัน) โดยนักกีฬาจากประเทศไทยเองก็เข้าร่วมการแข่งขันด้วยเช่นกัน

 

อ่านเพิ่มเติม

เทคโนโลยีช่วยผลักดันขีดจำกัดของมนุษย์อย่างไร?

 

แหล่งข้อมูล

Pencak silat and eSports: a guide to the most fascinating 2018 Asian Games events

Overlooked by Olympics, Asian Games offer platform to alternative disciplines

TEN THRILLING SPORTS TO BE COMPETED FIRST TIME IN ASIAN GAMES 2018

Kurash, bridge and sambo: 10 unusual Asian Games sports

Recommend