ศาสนาเชน: วิถีแห่งอหิงสา

ศาสนาเชน: วิถีแห่งอหิงสา

ศาสนาเชน : วิถีแห่งอหิงสา

“จัยจีเนนดระ” น้ำเสียงแผ่วเบาที่เปล่งออกมา พร้อมอากัปกิริยาการยกมือไหว้อย่างนอบน้อม อาจเป็นคำทักทายที่ไม่คุ้นหูใครหลายคน เมื่อเทียบกับคำทักทายยอดฮิตอย่าง “นมัสเต” ของภารตชนแต่นี่เองคือจุดเริ่มต้นในการเดินทางเพื่อตามหาที่มาของความหมาย “ขอให้เชนจงมีชัย” ของผม

หลายพันปีก่อน ณ ดินแดนชมพูทวีปอันรุ่มรวยไปด้วยการแสวงหาคุณค่าความหมายทางจิตวิญญาณสายธารความเชื่อเก่าแก่ที่หยั่งรากลึกมายาวนาน หล่อหลอมจนเกิดเป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการชี้นำทางสังคมในดินแดนแห่งนี้ ทว่าในช่วงเวลาที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูรุ่งเรืองอยู่นั้น ในดินแดนชมพูทวีปยังให้กำเนิดลัทธิความเชื่อทางจิตวิญญาณใหม่อีกสองศาสนา ได้แก่ ศาสนาเชนและศาสนาพุทธ ซึ่งเกิดจากการ “ปฏิวัติ” ความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยที่ทั้งเชนและพุทธต่างเป็นศาสนาแบบอเทวนิยม (ต่างจาก”พหุเทวนิยม” ของพราหมณ์-ฮินดู) ในความหมายที่ว่า มนุษย์และธรรมชาติเป็นตัวกำหนดความจริงของชีวิตมิได้ขึ้นอยู่กับพระเจ้าหรือเทพเจ้า

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ศาสนาเชน ถือกำเนิดก่อนคริสตกาลราว 600 ปี และยังร่วมสมัยกับพุทธศาสนาศาสดาหรือผู้ให้กำเนิดศาสนาเชนคือพระมหาวีระ ผู้มีพระประวัติคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้าอย่างมาก จนบางครั้งหลายคนถึงกับหลงเข้าใจผิดคิดว่า ทั้งสองพระองค์เป็นบุคคลคนเดียวกัน

ศาสนาเชน
นักบวชเชนกำลังสักการะพระรูปพระโคมเฏศวร บุตรองค์ที่สองของพระอทินาถภควันต์ปฐมตีรถังกร ศาสดาองค์แรกของศาสนาเชน พระรูปนี้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองศรวณพลโคละ รัฐกรณาฏกะ

พระมหาวีระประสูติในวงศ์กษัตริย์ลิจฉวี ผู้ครองนครเวสาลี แคว้นวัชชี ดินแดนทางตอนเหนือของประเทศอินเดียเมื่อราว 635 ปีก่อนคริสตกาล ขณะมีพระชนมายุ 30 พรรษา พระมหาวีระทรงสละชีวิตทางโลกและเสด็จออกผนวชมุ่งแสวงหาโมกขธรรมอย่างจริงจัง พระองค์ทรงบำเพ็ญสมาธิและอัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตน) โดยปราศจากเครื่องทรง ทั้งทรงถือสัจวาจาไม่ยอมเอ่ยปากพูดคุยกับใครเป็นระยะเวลายาวนานถึง 12 ปี จนบรรลุธรรมขั้นสูงสุด หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง จากนั้นจึงทรงละวางสัจวาจาเพื่อออกประกาศศาสนา ซึ่งได้ชื่อในเวลาต่อมาว่า “เชน” แปลว่า “ชนะ”

ศาสนาเชน มีปรัชญาความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนา ทุกชีวิตมิอาจดับสูญ มนุษย์ สัตว์ พืช จุลินทรีย์ และไม่เว้นแม้กระทั่งธาตุดิน นํ้า ลม ไฟ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีชีวิตที่ต้องพึ่งพาตัวเอง ไม่สามารถพึ่งพาชีวิตอื่นได้ ทุกชีวิตมีกรรมอันเป็นผลของการกระทำที่จะส่งผลในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดหรือสังสารวัฏ ศาสดาในศาสนาเชนมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ตีรถังกร” ชาวเชนเชื่อว่า ที่ผ่านมาตีรถังกรประสูติมาในโลกแล้ว 24 พระองค์ โดยพระมหาวีระคือตีรถังกรองค์ที่ 24

ปัจจุบัน มีชาวอินเดียนับถือศาสนาเชนอยู่เพียงราวห้าล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 1,200 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของประชากรทั้งประเทศ สาธุชนชาวเชนมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศอินเดีย แต่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐแถบตะวันตกและตอนใต้ เช่น ราชสถานคุชราต มัธยประเทศ และกรณาฏกะ นอกจากนี้ ยังมีชาวเชนโพ้นทะเลอีกจำนวนหนึ่งที่ไปตั้งรกรากในต่างประเทศ เช่น ยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา สาธุชนชาวเชนมักประกอบอาชีพด้านค้าขาย ครูบาอาจารย์ นักธุรกิจ นักลงทุน เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม เพราะการปลูกพืชผลทางการเกษตรมีความเสี่ยงที่จะไปเบียดเบียนที่อยู่อาศัยและทำลายสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้พื้นดิน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดต่อหลักอหิงสธรรม หลักธรรมสำคัญที่สุดข้อหนึ่งในศาสนาเชน การที่ศรัทธา-ชนชาวเชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย พวกเขาจึงมักรํ่ารวยและบริจาคเงินให้วัดเพื่อทำนุบำรุงศาสนา

บนถนนจาวรีบาซาร์ในนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย ผมเดินฝ่ากระแสคลื่นภารตชนที่วุ่นวายสับสนเป็นระยะทางเกือบสามกิโลเมตร จากที่พักในย่านชุมทางรถไฟสถานีนิวเดลีมุ่งหน้าไปยังถนนจาดนีจ๊อก ที่ตั้งของวัดเชนเก่าแก่และมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่สิบหก ศิขรสีแดงชาดสามยอดกระทบกับแสงอาทิตย์ยามเย็นเด่นเป็นสง่า เป็นที่มาของชื่อวัดว่า “ศรีทิคัมพรเชนลา” วัดเชนแห่งนี้เป็นวัดในนิกายทิคัมพรหนึ่งในสองนิกายหลักของศาสนาเชน (อีกนิกายหนึ่งคือเศวตัมพร ทั้งสองนิกายยังมีนิกายแยกย่อยออกไปอีก

เมื่อคนแปลกหน้าต่างศาสนาพร้อมอุปกรณ์บันทึกภาพมาเยือน บรรดาสาธุชนจึงคอยจับจ้องพวกเราชนิดไม่ยอมให้คลาดสายตา ผู้ดูแลวัดเดินประกบเราทุกฝีก้าว ผมพยายามถามไถ่ถึงแก่นสารสาระของศาสนา ก็ไม่ได้คำตอบจากผู้ดูแล ราวกับว่าพวกเขาหวงแหนอะไรบางอย่าง ที่นั่นมีเพียงข้อมูลที่เขียนไว้ตามผนังและหนังสือบทสวดมนต์ภาษาปรากฤตที่วางไว้สำหรับผู้มาประกอบพิธีทางศาสนา

ที่นี่ผมได้พูดคุยกับศรัทธาชนชาวเชนจำนวนหนึ่งซึ่งแวะเวียนมาสวดมนต์ประติกรมนะ (อโหสิกรรมต่อบาป) ในยามเย็นหลังเลิกงาน และสนทนาธรรมกับเหล่าจีเซีย (แม่ชี) ใต้ร่มไม้ใหญ่ภายในลานธรรม ซึ่งมีเพียงรั้วเหล็กเตี้ย ๆ เป็นกำแพงกั้นระหว่างโลกทางธรรมกับโลกภายนอกที่เวลานี้อึงอลไปด้วยเสียงแตรรถที่บีบประชันกันราวกับกำลังทำสงคราม “คนพวกนี้หัวเก่า ปิดกั้นคนนอกศาสนา คุณลองหาโอกาสมาใหม่วันพรุ่งนี้แล้วกัน” สาธุชนวัยหนุ่มคนหนึ่งบอกพวกเราในที่สุด

 

Recommend