ที่เมืองศรวณพลโคละ แหล่งจาริกแสวงบุญสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของผู้นับถือศาสนาเชน ผมใช้เวลาเดินทางกว่า 40 ชั่วโมงบนรถโดยสารประจำทาง เพื่อมาเยือนเมืองอันเงียบสงบแห่งนี้ เมืองศรวณพลโคละตั้งอยู่ในรัฐกรณาฏกะทางตอนใต้ของอินเดีย ห่างจากกรุงนิวเดลี 2,300 กิโลเมตร ที่นี่ผมพบกับวันทนา เชน อาจารย์วิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งหนึ่งจากกรุงนิวเดลี เธอใช้เวลาพักร้อนยาวนานกว่าสองสัปดาห์เพื่อจาริกแสวงบุญไปยังสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในศาสนาเชน “นี่เป็นครั้งที่สามแล้วที่ฉันกลับมาที่นี่” เธอบอก และเล่าว่า เมืองศรวณพลโคละเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวเชน เพราะเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่แกะสลักจากหินแกรนิตก้อนเดียว จารึกภาษากันนัฑที่ฐานบอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีตรูปเคารพนี้มีความสูง 17.38 เมตร สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่เก้า มีชื่อเรียกว่า “พระโคมเฏศวร” หรือ “พระพหุพลี” (ผู้มีแขนที่มีพลัง) พระโคมเฏศวรใช้สถานที่แห่งนี้ฝึกบำเพ็ญตบะจนบรรลุเป็นพระอฤหันต์ หรือผู้สิ้นแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวงจนชีวาตมันหลุดพ้น พระอฤหันต์ในศาสนาเชนนั้นเทียบเท่ากับพระอรหันต์ในพุทธศาสนานั่นเอง
ในอดีตมีนักบวชทิคัมพรมาบำเพ็ญตบะจนร่างกายแตกดับ ณ ที่แห่งนี้เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันยังมีให้พบเห็นอยู่บ้าง วันทนาบอกว่า ชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่สัญจรผ่านมา ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด มักหยุดพักที่เมืองแห่งนี้ และทุก ๆ เช้าพวกเขาจะเดินขึ้นบันไดหลายร้อยขั้นที่ทั้งชันและอันตราย เพื่อมาสักการบูชาพระโคมเฏศวรโดยเชื่อว่าจะเป็นมงคลแก่ชีวิต
วันทนา เชน เป็นชาวเชนนิกายเตระปันถะ ซึ่งเป็นหนึ่งในนิกายย่อยของนิกายทิคัมพร วันนี้เธอตั้งใจจะมาทำสมาธิและสวดมนต์ก่อนจะเดินทางต่อไปยังเมืองอื่นในวันรุ่งขึ้น หลังเธอขอตัวไปทำสมาธิ เราได้พบกันอีกครั้งที่ร้านอาหารใต้โรงแรม วันทนาเล่าถึงความเป็นไปในสังคมเชนยุคปัจจุบัน เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเคร่งศาสนา แต่ก็ยอมรับหลักธรรมปฏิบัติที่ผ่อนปรนมาจาก “มหาพรต” หรือหลักธรรมสำหรับนักบวช มาสู่ “อนุพรต” ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์อย่างเธอ วันทนาบอกว่า ความเคร่งครัดของเธอควรมีผลกระทบต่อคนรอบข้างให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เธอยกกรณีเวลาเดินทางไปต่างประเทศและต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คนต่างวัฒนธรรม “หลักอหิงสาคือหลักการที่ดีมากในสังคมโลกปัจจุบันค่ะถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงและนำไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจังหลายสิ่งหลายอย่างคงเข้ารูปเข้ารอยมากกว่านี้” เธอออกความเห็น “คุณรู้ไหม มีพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งของอินเดียเอาสัญลักษณ์ฝ่ามือของศาสนาเชนไปเป็นสัญลักษณ์ของพรรค แล้วหลังจากนั้น พรรคการเมือง พรรคนั้นก็ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ที่น่าขันคือ พวกเราชาวเชนกลับไม่มีพรรคการเมืองของตนเอง แตกต่างจากศาสนาอื่นในอินเดีย”
กลิ่นหอมจากดอกไม้ที่ประดับประดาตามธงเชนรอบองค์พระมหาวีระ เนื่องในวันเฉลิมฉลองงานมหาวีระชยันติ งานสำคัญครั้งนี้ตระเตรียมล่วงหน้ามาหลายวัน ย่านธุรกิจในเมืองไมซอร์ต่างปิดกิจการชั่วคราวเพื่อเฉลิมฉลองสาธุชนชาวเชนในเมืองไมซอร์แบ่งออกเป็นนิกายทิคัมพรประมาณ 1,000 ครัวเรือน และนิกายเศวตัมพร 2,000 ครัวเรือน “วันนี้เป็นวันของพวกเรา พวกเราชาวเชนทุกคนจะมารวมตัวกันที่วัดเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวันสำคัญ” เอส วิโนด กุมาร ประธานสมาคมศรีมหาวีระ เสวาสันสถาน กล่าวกับเรา
ในวันนี้ชาวเชนจะออกมาฟังเทศน์ที่วัดและแต่งกายด้วยชุดสีขาว มีขบวนแห่องค์พระมหาวีระไปตามท้องถนนพร้อมเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน คนสูงวัยจะนั่งสวดมนต์ นมัสการมหามันตราภายในวัด พร้อมเรียงเมล็ดข้าว ถั่ว และดอกไม้ เป็นรูปสวัสติกะ แสดงถึงวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด รวมทั้งสัญลักษณ์รูปแบบอื่นตามความเชื่อของแต่ละคน เมล็ดพันธุ์ข้าวที่สาธุชนนำมาประกอบพิธี จะรวบรวมนำไปบริจาคให้ผู้ยากไร้ต่อไป
จิรัน วี เด็กหนุ่มวิศวกรไฟฟ้าอนาคตไกล บุตรชายของเอส วิโนด กุมาร เล่าว่า “วัยรุ่นชาวเชนอย่างพวกเรามีบ้างที่ใช้ชีวิตในที่อโคจร ในสถาบันการศึกษา เรามีเพื่อนร่วมชั้นเรียนต่างศาสนามากมาย แต่เราก็ใช้ชีวิตร่วมกันในงานปาร์ตี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์มากมายเป็นสิ่งเย้ายวน แต่เราจะมองข้ามและไม่ให้ความสนใจ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะครับ” เขาพูดจบแล้วเสียงหัวเราะก็ตามมา
แม้สาธุชนชาวเชนจะมีจำนวนเพียงน้อยนิด แต่พวกเขาอาจเป็นกลุ่มคนที่ทรงอิทธิพลที่สุดกลุ่มหนึ่งในอินเดีย บางคนถึงกับตั้งฉายาให้ว่า “ฟันเฟืองแพลทินัม” ชาวเชนไม่เพียงจ่ายภาษีรวมกันคิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 24 ของยอดรวมทั้งประเทศในปีที่ผ่านมา แต่ยังบริจาคเพื่อกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 อีกทั้งเป็นเจ้าของอาคารสถานที่ และโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ราวร้อยละ 28 ในอินเดีย หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ในอินเดียมีเจ้าของเป็นชาวเชน พวกเขาคือกลุ่มคนจำนวนน้อยไม่ถึงร้อยละหนึ่งของประชากร แต่กลับเป็นกลุ่มคนที่จัดว่ารํ่ารวยที่สุดในอินเดีย ชาวเชนเกือบทั้งหมดเป็นผู้มีการศึกษา พวกเขาเป็นเจ้าของสถานศึกษามากมายในอินเดีย นักบวชเชนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีการศึกษาสูง จึงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้นับถือศาสนาเชนและคนต่างศาสนาที่เปิดใจยอมรับทุกหลักการความเชื่อ “แต่ละชีวิตเกื้อกูลซึ่งกันและกัน นี่แหละคือความ-หมายของชีวิตครับ ผมเชื่อในหลักอหิงสธรรมที่ท่านศาสดามหาวีระกล่าวไว้ก่อนนิพพาน พวกเราชาวเชนไม่ว่าจะนิกายทิคัมพรหรือเศวตัมพร ต่างยึดถือหลักธรรมนี้เป็นยอดคำสอนสูงสุด” จิรัน วี ทิ้งท้าย
คำพูดของจิรันทำให้ผมหวนนึกถึงอมตวาจาของมหาตมาคานธี เอกบุรุษผู้นำเอกราชกลับสู่อินเดีย คานธีพูดถึงหลักอหิงสาไว้ว่า “ความหมายของคำว่า ‘อหิงสา’ ตามตัวอักษรนั้น อาจมีความหมายถึงการไม่ใช้ความรุนแรงแต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว มันมีความหมายที่สูงส่งอย่างยิ่งและเป็นความหมายที่สูงส่งอย่างไร้ขีดจำกัดเสียด้วย”
เรื่อง ทรงวุฒิ อินทร์เอม และ อธิวัฒน์ ศิลปเมธานนท์
ภาพถ่าย ทรงวุฒิ อินทร์เอม
อ่านเพิ่มเติม