พระร้องไห้ได้ไหม แล้วทำไมเราจึงไม่อยากเห็น?

พระร้องไห้ได้ไหม แล้วทำไมเราจึงไม่อยากเห็น?

ภาพจากมิวสิควิดีโอ คนสุดท้ายของหัวใจ โดย บอย พนมไพร OST.ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2

พระร้องไห้ ได้ไหม แล้วทำไมเราจึงไม่อยากเห็น?

มหาปรินิพพานสูตรในพระไตรปิฎก ระบุถึงเหตุการณ์ที่พระอานนท์ยืนเหนี่ยวต้นไม้ร้องไห้ เมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าใกล้ปรินิพพาน พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งว่าอย่าได้เศร้าตรม เพราะทุกสิ่งบนโลกนี้ต้องมีพลัดพรากเป็นธรรมดา ขอให้พระอานนท์จงปฏิบัติธรรมต่อไปแล้วจะละอาสวะเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด

พระมหาโมคคัลลานะ ผู้เป็นพระภิกษุอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าก็เคยกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่เช่นกัน ในความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายมหายานแบบจีน เมื่อครั้งท่านเพ่งจิตถึงมารดาและพบว่านางต้องทนทุกข์แย่งชิงอาหารกับเปรตในนรก พระโมคคัลลานะรู้สึกสลดสังเวชใจมาก พระพุทธเจ้าจึงแนะนำให้ท่านโปรยทานแก่ภูติผีในวันเพ็ญเดือน 7 เพื่อช่วยเหลือมารดาให้พ้นทุกข์ เกิดเป็นเทศกาลสารทจีนตามมา แต่ครั้นเมื่อพระเซียง ตัวละครในภาพยนตร์ “ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2” ร้องไห้เสียใจกับการจากไปของอดีตคนรักที่เสียชีวิตลงกระทันหัน ฉากนี้ถูกพิจารณาให้ไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ทันที เนื่องจากกรรมการมองว่า “อ่อนไหวทางศาสนา”

พระร้องไห้
ภาพเขียนแสดงเหตุการณ์พระโมคคัลลานะ หรือในชื่อจีนว่ามู่เหลียนช่วยมารดาที่อยู่ในนรก
ศิลปกรรมโดย https://people.reed.edu/~brashiek/scrolls/Aseries/10/A10c.html

ความพยายามเซ็นเซอร์เนื้อหาภาพยนตร์เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐฯ เมื่อปี 1896 โดยเป็นฉากจูบจากภาพยนตร์เรื่อง The Widow Jones แต่กว่าจะมีการกำหนดเป็นกฎหมายชัดเจนก็เมื่อปี 1907 ส่วนในไทยความพยายามเซ็นเซอร์ภาพยนตร์มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 หลังรับรู้ว่าในต่างประเทศมีการตรวจสอบภาพยนตร์ก่อนฉาย

เหตุใดผู้คนบางกลุ่มจึงไม่ต้องการให้เนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ถูกเผยแพร่? ริชาร์ด แรนดอลล์ นักวิชาการที่ศึกษาการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์มองว่า “เพราะภาพยนตร์เป็นสื่อชนิดแรกที่ปราศจากรากฐานของกลุ่มชนชั้นและกลุ่มชาวบ้าน ไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีประเพณีเดิม เป็นสาธารณะ มีความสากล ทั้งยังราคาถูก”

ด้วยเนื้อหาของภาพยนตร์ที่หลากหลายกว้างขวาง ส่งผลให้เหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมถูกนำเสนอมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น การทุจริตทางการเมือง ไปจนถึงปัญหาต่างๆ เช่น การใช้แรงงานเด็ก หรือโสเภณี ประเด็นทั้งหมดทั้งมวลนี้มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของคนดู และด้วยการที่ชนชั้นแรงงานเข้าถึงภาพยนตร์ได้ง่ายดาย ฉะนั้นบรรดาผู้ปกครอง ผู้นำศาสนา และผู้มีอำนาจเองจึงไม่อยากให้ภาพยนตร์เป็นพิษภัยต่อพวกเขา แนวคิดเรื่องการเซ็นเซอร์เนื้อหาบางอย่างออกจึงเกิดขึ้นตามมา

เกณฑ์ที่เข้าข่ายถูกเซ็นเซอร์มีตั้งแต่เนื้อหาที่กระทบความมั่นคง, ศีลธรรม, ลบหลู่ศาสนา, ยุยงก่อความไม่สงบ ไปจนถึงประเด็นลามกอนาจาร เสียงที่เกิดขึ้นแตกออกเป็นสองฝั่งมาตลอด ฝ่ายเซ็นเซอร์มองว่าตนปกป้องอิทธิพลเลวร้ายจากภาพยนตร์ที่จะก่อปัญหาตามมาโดยเฉพาะในเยาวชน ด้านฝั่งผู้สร้างและคนดูบางกลุ่มมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการดูถูกผู้ชมและชี้ว่าผู้ชมมีวิจารณญาณแยกแยะเองได้โดยไม่ต้องพึ่งกองเซ็นเซอร์ ทางออกที่ช่วยไกล่เกลี่ยในปัจจุบันคือการกำหนดประเภทผู้ชมที่เหมาะสม เช่น เรททั่วไป หรือเรทอายุ 18 ปีขึ้น ทว่าข้อพิพาทจากการเซ็นเซอร์ยังคงเกิดขึ้นเรื่อยมา

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 ได้ที่นี่

 

ในวันที่พระเสียใจ

ในความเป็นจริง การที่สมณะท่านหนึ่งจะรู้สึกเศร้าสลด หรือต้องการปลดปล่อยความเสียใจออกมานั้นผิดบาปแค่ไหน? พระมหาบุญเลิศ ยสวฑฺฒโน เจ้าหน้าที่มูลนิธิมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยกล่าวว่า ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ เพียงแต่มองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากขณะนั้นตัวละครพระเซียงกำลังทำกิจสงฆ์ซึ่งเป็นพิธีสวดในงานศพ การลุกออกมาเช่นนั้นเข้าข่ายไม่สำรวมมากกว่า

พระมหาบุญเลิศหมายความถึงฉากงานศพเจ้าปัญหาที่พระเซียงมองเห็นแม่ของอดีตคนรักร้องห่มร้องไห้ด้วยความเสียใจ สุดท้ายตนจึงทนไม่ไหวและลุกขึ้นเดินไปเคาะโลงเอ่ยชื่อคร่ำครวญถึงคนรัก “หรืออาจจะเปลี่ยนให้เป็นตัวละครน้ำตาค่อยๆ ไหลออกมา แล้วมีญาติโยมไปถามความรู้สึกก็ได้ แบบนั้นน่าจะดีกว่าร้องไห้ฟูมฟาย” พระมหาบุญเลิศให้ความเห็น “หรือถ้าจะเคาะโลงก็ควรให้เสร็จกิจสงฆ์เสียก่อน”

หากไม่ได้บรรลุถึงขั้นพระอรหันต์แล้ว พระมหาบุญเลิศมองว่าความเศร้าสลดเป็นอารมณ์พื้นฐานที่มีกันทุกคนและเกิดขึ้นได้กับพระสงฆ์ทุกองค์ สำคัญคือเมื่อเกิดความเสียใจขึ้นแล้ว ควรทำความเข้าใจ พิจารณาหลักเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปมากกว่าที่จะแสดงอาการคร่ำครวญ “เราจักพลัดพรากจากของที่รักของชอบใจทั้งหลายเป็นธรรมดา” ส่วนหนึ่งจากบทสวดทำวัตรเช้าที่ย้ำให้สมณะพึงพิจารณาอยู่เสมอ ซึ่งคนทั่วไปสามารถนำไปปรับใช้ได้

“เมื่อญาติอาตมาตาย อาตมาก็ไปแอบร้องไห้เหมือนกัน” พระรูปหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามจากวัดไตรมิตรเล่าถึงประสบการณ์ความเสียใจที่เคยเผชิญมาเช่นกัน “กว่าจะบรรลุธรรมขั้นสูงสุดได้ บางครั้งความเป็นปุถุชนก็ยังอยู่” หายใจเข้าลึกๆ และพิจารณาว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้บนโลกนี้ คือวิธีที่หลวงพี่ใช้เมื่อเกิดความรู้สึกเสียใจขึ้นมา

ชมฉากพระเซียงร้องไห้ลุกไปเคาะโลงได้ที่นาที 1.30 – 4.50

 

ทว่าหากความเสียใจคือเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้แม้แต่กับพระ เหตุใดทางกองเซ็นเซอร์จึงมองว่าฉากดังกล่าวเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม? หลวงพี่จากวัดไตรมิตรมองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจหรือไม่มีความรู้ทางด้านศาสนาที่มากพอ หรืออีกปัจจัยหนึ่งก็เพราะความเสียใจที่พระเซียงแสดงออกมาในเรื่องนั้น คือความเสียใจที่มีต่ออดีตคนรัก ซึ่งแตกต่างจากความเสียใจที่บรรดาพระสงฆ์มีเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เป็นไปได้ว่าทางกรรมการเลยพิจารณาว่าไม่สมควรที่พระจะยังคร่ำครวญถึงสีกาอดีตคนรักอยู่ ด้านพระมหาบุญเลิศให้อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจ สังคมไทยมีค่านิยมว่าผู้ชายไม่ควรแสดงออกถึงความอ่อนแอด้วยการร้องไห้ ต้องเข้มแข็ง เป็นผู้นำครอบครัว และยิ่งกับผู้ชายที่บวชเป็นพระเพื่อเรียนธรรมะแล้ว มีความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์มากกว่าคนทั่วไป ยิ่งต้องมีสติมากกว่า

เศร้าได้ แต่ต้องสำรวม พระมหาบุญเลิศเน้น ด้านหลวงพี่จากวัดไตรมิตรเสริมว่า หากสำรวมตั้งแต่ในใจแล้ว น้ำตาจะไม่ไหลออกมาง่ายๆ ซึ่งทำได้ แต่ต้องใช้เวลาฝึกฝน “ถ้าจะแก้ไขไม่ใช่ประเด็นเสียใจ ควรแก้ฉากที่พระลุกขึ้นมาระหว่างปฏิบัติกิจของสงฆ์มากกว่า” พระมหาบุญเลิศกล่าวทิ้งท้าย “พระพุทธเจ้าให้เราเรียนรู้ความทุกข์ ไม่ใช่กระวนกระวายไปกับมัน ถ้าเราศึกษาหลักธรรมจะพบว่าความทุกข์เกิดขึ้นได้ และดับไปได้เช่นกัน แต่บางคนมัวแต่ยึดติดกับความทุกข์ที่ตั้งอยู่ กังวลกับมันมากเกินไปจนลืมดับทุกข์ในที่สุด”

 

มาตรฐานการเซ็นเซอร์

ล่าสุดหลังประเด็นการเซ็นเซอร์ “ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์มากมาย ในที่สุดทางกองเซ็นเซอร์ก็อนุมัติให้ฉายได้ โดยมีเงื่อนไขว่าให้ตัดฉากที่พระเซียงจับโลงศพของอดีตคนรักออกไปราว 7 – 10 วินาที เพื่อให้ภาพรวมดูฟูมฟายน้อยลง และกำหนดเรทผู้ชมอยู่ที่วัย 15 ปีขึ้นไป ทว่าหลังจากตัดแล้วยังต้องส่งให้กองเซ็นเซอร์ตรวจอีกครั้งหนึ่ง

ประเด็นที่น่าสนใจไม่ใช่แค่การเซ็นเซอร์ฉากดังกล่าว หากคือมาตรฐานของกองเซนเซอร์ไทย ฉากพระเซียงร้องไห้ถูกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยนำไปเปรียบเทียบกับหลายฉากในภาพยนตร์ไทยก่อนหน้า เช่น หลวงพี่แจ๊ส ,ส่ม ภัค เสี่ยน และหลวงพี่เท่ง ซึ่งมีฉากที่รุนแรงและอ่อนไหวต่อศาสนากว่ามาก เพียงแต่ถูกนำเสนอในบริบทตลกโปกฮา เช่น ฉากพระเล่นมุกสองแง่สองง่าม หรือพระจ้องหน้าอกหญิงสาว เป็นต้น ส่งผลให้กองเซ็นเซอร์ไทยถูกตั้งคำถามถึงมาตรฐานการทำงาน ทั้งทางสมาคมเองยังกังวลถึงอนาคตของภาพยนตร์ไทย หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเซ็นเซอร์ซึ่งรวมไปถึงกระทรวงวัฒนธรรมยังไม่มีความชัดเจนเช่นนี้

และแม้ภาพยนตร์จะได้ฉายแล้ว หลายคนก็ยังคงต้องการคำตอบว่าการที่พระหนุ่มองค์หนึ่งซึ่งเพิ่งบวชเรียนจะแสดงออกถึงอารมณ์พื้นฐานที่สุดของความเป็นมนุษย์นั้น มันบ่อนทำลายศาสนาอย่างไร?

พระร้องไห้
ภาพยนตร์เรื่องมะลิลาที่ออกฉายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ปรากฏฉากตัวละครในสมณะเพศร้องไห้เมื่อพบเห็นซากศพเช่นกัน แต่กลับไม่มีปัญหาการเซ็นเซอร์
ขอบคุณภาพจาก https://pbs.twimg.com/media/DM5syV1VoAAxDj2.jpg

 

อ่านเพิ่มเติม

ยองเก มิงยูร์ ริมโปเช กับการปฏิบัติธรรมอันเบิกบาน

 

แหล่งข้อมูล

พระมหาบุญเลิศ ยสวฑฺฒโน เจ้าหน้าที่มูลนิธิมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 : กองเซ็นเซอร์ ฯ อนุมัติให้ฉายแล้วหลังปรับฉากที่เป็นปัญหาให้ ‘สั้นและซอฟท์ลง’

การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ โดย กฤษดา เกิดดี

ปัญหาและแนวโน้มของการจำกัดอายุผู้ชมภาพยนตร์ในประเทศไทย โดย ชัยยุทธ อภินันท์ธรรม

 

Recommend