ชาวจ้วงขณะกำลังทำการละเล่นในพิธีบูชาฝังกบศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อของชาวจ้วงกบคือตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ และเป็นผู้คุ้มครองหมู่บ้าน
ภาพถ่ายโดย https://www.asiaculturaltravel.co.uk/zhuang-festivals/
ประวัติศาสตร์ไทย ก่อนสุโขทัย ที่ไม่มีในแบบเรียน
ในอาณาบริเวณที่ตั้งของประเทศไทยปัจจุบัน นักโบราณคดีขุดพบเครื่องมือหินกะเทาะ หลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์โบราณที่ย้อนอายุได้ไกลถึง 5 แสนปี และในเวลาต่อมาเมื่อผู้คนโบราณเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการหาของป่าล่าสัตว์มาเป็นการทำเกษตรกรรม ชุมชนที่มีก็ขยายตัวใหญ่ขึ้นเป็นเมือง เป็นอาณาจักรตามมา จากบันทึกทางราชการของจีน และบันทึกของพระภิกษุจีน ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 12 บ่งชี้ว่าในขณะนั้นมีอาณาจักรก่อตั้งขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็น อาณาจักรทวารวดี, เจนละ, ละโว้, ฟูนัน, ขอม หรือแม้แต่ทางตอนใต้ก็มีอาณาจักรลังกาสุ ทว่าในสำนึกของใครหลายคนมักเข้าใจว่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติไทยเรามีจุดเริ่มต้นที่การก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งสถาปนาขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 18 หลังการล่มสลายของอาณาจักรขอม
ต่อจากนั้นอาณาจักรสุโขทัยก็เลื่อมอำนาจลง และถูกผนวกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยา หลังกรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้แก่ทัพพม่า ผู้คนก็ได้อพยพมาตั้งเมืองหลวงใหม่ยังกรุงธนบุรี และย้ายมายังกรุงรัตนโกสินทร์สืบมาจนปัจจุบัน นี่คือบทคัดย่อของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่แทบทุกคนจดจำได้ ว่าแต่ผู้คนที่ก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยพวกเขาเป็นใครกัน? ในการจะตอบคำถามนี้จำต้องเข้าใจว่าในความเป็นจริงนั้น เรื่องราวของคนไทยไม่ได้มีขอบเขตครอบคลุมแค่พื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเท่านั้น เครือญาติผู้มีบรรพบุรุษร่วมกับเรากระจายถิ่นฐานอยู่อาศัยกันมากมากทั้งในและนอกอาณาเขตประเทศไทย การศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของคนไทยนอกบ้านนอกจากจะเป็นการเปิดเผยเรื่องราวของพวกเขาแล้ว ยังช่วยฉายภาพองค์ความรู้ที่มีให้เห็นเด่นชัดขึ้นถึงที่มาของตัวเราเอง
คนไทยมาจากไหน?
“ถ้าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต อพยพกันลงมา 6 แสนคน คงเหลือรอดแค่ 6 คน” คำกล่าวจากนักวิชาการท่านหนึ่ง ที่ต้องการจะบอกว่าทฤษฎีคนไทยมาจากอัลไตนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากต้องเดินทางข้ามพื้นที่ทุรกันดารมากมาย อีกทั้งยังขาดหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาสนับสนุน ปัจจุบันมีทฤษฎีสำคัญอยู่ 3 ทฤษฎีที่ใช้อธิบายที่มาของคนไทยในแง่มุมต่างๆ
1 คนไทยอพยพมาจากพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน – เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วไปในบริเวณตอนใต้ของจีน และทางตอนเหนือของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงรัฐอัสสัมในอินเดีย หลักฐานจากชนเผ่ามากมายที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดังกล่าว พวกเขาพูดภาษาตระกูลไท-กะได และมีวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณีบางอย่างที่บ่งชี้ว่าเคยมีอารยธรรมร่วมกันมาก่อน (นักวิชาการผู้สนับสนุนแนวคิดนี้: วูลแฟรม อีเบอร์ฮาร์ด, เฟรเดริก โมต, วิลเลียม เจ. เก๊ดนีย์)
2 คนไทยอยู่ที่นี่ ผสมปนเปกันในดินแดน – เชื่อว่าถิ่นเดิมของคนไทยอยู่บริเวณพื้นที่ประเทศไทยในปัจจุบัน ในดินแดนแถบนี้ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน มลายู มอญ เขมร อีกทั้งในอดีตยังเป็นเมืองท่าค้าขายสำคัญที่ต้องแลกเปลี่ยนสินค้าจากชาวต่างชาติ ดังนั้นคนไทยจึงถือกำเนิดขึ้นที่นี่อยู่แล้ว และรับเอาวัฒนธรรมมากมายมาดัดแปลงจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตน (นักวิชาการผู้สนับสนุนแนวคิดนี้: นพ.สุด แสงวิเชียร, ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี)
3 คนไทยมาจากคาบสมุทรมลายู – เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยมาจากทางตอนใต้ สมมุติฐานนี้ต่อยอดจากงานวิจัยเปรียบเทียบหมู่เลือดของชาวไทยและชาวอินโดนีเซีย พบว่ามีความคล้ายคลึงกัน อีกทั้งรูปลักษณ์หน้าตาของคนไทยก็คล้ายกับคนฟิลิปปินส์มาก จึงเชื่อกันว่าคนไทยมาจากมลายูก่อนที่จะแพร่กระจายตั้งถิ่นฐานไปทั่วภูมิภาค (นักวิชาการผู้สนับสนุนแนวคิดนี้: นพ.สมศักดิ์ พันธุ์สมบูรณ์, ศ. นพ.ประเวศ วะสี)
ปัจจุบันด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และความคล้ายคลึงกันของภาษาตระกูลไท-กะได บรรดานักวิชาการยกให้ทฤษฎีคนไทยมีถิ่นกำเนิดบริเวณพื้นที่ทางตอนใต้ของจีนเป็นทฤษฎีหลัก สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในจดหมายเหตุเก่าของจีนที่บันทึกถึงอาณาจักร “เซียน” และอาณาจักร “ฉาน” ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน สองคำนี้มีความคล้ายคลึงกับคำว่า สยาม ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวต่างชาติใช้เรียกดินแดนแถบนี้อันประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ บทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ “ชาวจ้วง” เครือญาติชาวไทยที่มีความเก่าแก่ที่สุด การคงอยู่ซึ่งตัวตนของพวกเขาเป็นข้อพิสูจน์ว่าอารยธรรมชาวไทยของเรานั้นไม่ได้มีจุดเริ่มต้นแค่ในสมัยสุโขทัย แต่แท้จริงแล้วย้อนหลังไปได้ไกลหลายพันปี ไม่น้อยไปกว่าอารยธรรมกรีก, โรมัน หรือแม้แต่จีน