ประวัติศาสตร์ไทยก่อนสุโขทัย ที่ไม่มีในแบบเรียน

ประวัติศาสตร์ไทยก่อนสุโขทัย ที่ไม่มีในแบบเรียน

บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ

ชาวจ้วง คือชนชาติเก่าแก่ที่อาศัยอยู่ในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีประชากรมากที่สุดในจีน หากไม่นับรวมชาวฮั่น จากข้อมูลเมื่อปี 1990 ประเทศจีนมีชาวจ้วงอยู่ราว 15 ล้านคน ในจำนวนนี้ 80 – 90% อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ส่วนที่เหลือกระจายกันตั้งถิ่นฐานอยู่ในมณฑลยูนนาน, กวางตุ้ง และก้วยโจว

จ้วงคือส่วนหนึ่งของชนเผ่าไป่เยว่ หรือชาวเยว่ร้อยเผ่า ตามบันทึกของจีนโบราณอายุ 3,000 ปีระบุไว้ว่า บริเวณทางตอนใต้ของจีนเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชนชาติไป่เยว่ ที่ประกอบด้วยชนเผ่ามากมายหลายร้อยเผ่า ด้านข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า บริเวณมณฑลกว่างซีเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมาตั้งแต่ 600,000 – 10,000 ปีก่อน มีการค้นพบซากศพมนุษย์โบราณที่มีใบหน้าแบนราบ สันจมูกไม่โด่ง โหนกแก้มสูง คางยื่น คล้ายคลึงกับรูปลักษณ์ของชาวจ้วงในปัจจุบัน จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบรรพบุรุษของชาวจ้วง นอกจากนั้นยังพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหิน ไปจนถึงภาพวาดบนหน้าผาแสดงการประกอบพิธีกรรม บ่งชี้ว่าชาวจ้วงที่อาศัยอยู่ยังพื้นที่นี้มีลูกหลานสืบทอดวัฒนธรรมต่อกันมาเรื่อยๆ

ประวัติศาสตร์ไทย
การแต่งกายตามวัฒนธรรมของชาวจ้วงเผ่าต่างๆ
ภาพถ่ายโดย https://pantip.com/topic/34991800

ข้อมูลจากศูนย์จ้วงศาสตร์ แห่งสภาสังคมศาสตร์กว่างซี ประเทศจีน ร่วมกับโครงการศึกษาชนชาติไท ฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยพายัพเล่าว่า ชาวจ้วงเป็นชนชาติที่ให้ความสำคัญกับครอบครัว นับถือผู้อาวุโส มีระบบเครือญาติที่แน่นแฟ้น ทั้งยังเคารพนับถือสตรี ซึ่งข้อหลังนี้เป็นเอกลักษณ์

ในวิถีดั้งเดิมที่ยังคงพบได้ตามชนบท บ้านของชาวจ้วงจะมีลักษณะยกพื้นสูง ด้านหน้ามีชานบันไดไม้ไว้เดินขึ้น ภายในแบ่งเป็นห้องๆ และมีห้องโถงส่วนกลางที่ตั้งหิ้งบูชาบรรพบุรุษ รับประทานข้าวและข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก และบางท้องที่ยังนิยมรับประทานเลือดดิบ ปลาดิบ  ดำรงชีวิตแบบสังคมเกษตร ทำนาและปลูกข้าวโพด นอกจากนั้นยังปลูกผักอื่นๆ มากมาย และทำหัตถกรรม ตลอดจนเครื่องปั้นดินเผา

(อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชาวจ้วงได้ ที่นี่)

สำหรับหลักฐานที่บ่งชี้ว่าชาวจ้วงคือเครือญาติบรรพบุรุษชนชาติไทมีมากมายตั้งแต่นิทานปรัมปรา ตำนานที่ว่าด้วยการกำเนิดผู้คนซึ่งคล้ายคลึงกับไทย และลักษณะสำคัญคือภาษาจ้วงกับภาษาไทยที่อยู่ในตระกูลไท-กะไดเช่นเดียวกัน แม้ภาษาจ้วงจะแบ่งออกเป็นจ้วงเหนือ และจ้วงใต้ ทว่าร่องรอยเดิมยังคงปรากฏ เช่น คำว่าฟ้า ภาษาจ้วงเหนือใช้คำว่า “ฟ้า” เหมือนกัน ส่วนภาษาจ้วงใต้ใช้คำว่า “บ๋นฟ้า” หรือคำว่า ตะวัน ชาวงจ้วงเหนือเรียกดวงอาทิตย์ว่า “ตั๋งหง่อน” ส่วนชาวจ้วงใต้เรียกว่า “ทาหวัน” และหากเป็นเวลากลางคืน เมื่อชาวจ้วงเหนือพบเห็นดวงดาวส่องสว่างบนฟากฟ้า พวกเขาจะชี้นิ้วเรียกสิ่งนั้นว่า “ดาวโด๊ย” ส่วนชาวจ้วงใต้เรียก “ดาวดี๊” แม้ทั้งสองภาษาจะอยู่ในตระกูลเดียวกัน แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เมื่อผู้คนอพยพย้ายถิ่นฐานแยกจากกันเป็นเวลานานๆ เสียงและคำศัพท์ของภาษาจึงผิดเพี้ยนและแตกต่างเกิดเป็นภาษาใหม่ในที่สุด เช่นเดียวกับกรณีภาษาไทย และภาษาลาว

ประวัติศาสตร์ไทย
ตัวอย่างคำศัพท์ในภาษาจ้วง เปรียบเทียบกับภาษาไทย ข้อมูลจากบท “ภาษาและอักษรจ้วง” โดย พาน ชิ ชือ จากหนังสือชาวจ้วง โดยภาษาจ้วงเหนือคืออู่หมิง และภาษาจ้วงใต้คือ เต๋อป่าว

(บทเพลงตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวจ้วงที่มีคำศัพท์บางคำคล้ายคลึงกับภาษาไทย)

มากไปกว่านั้นในการสืบค้นเรื่องราวชาวจ้วง เมื่อปี 2533 คณะผู้แทนมหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะผู้แทนสถาบันวิจัยชนชาติแห่งกว่างซีของจีน ได้แลกเปลี่ยนดูงานภาคสนามกันในสองประเทศ พบว่า “มโหระทึก” ซึ่งเป็นกลองที่ทำจากสำริด และเป็นวัฒนธรรมของชาวอุษาคเนย์โดยเฉพาะกว่า 3,000 ปีมาแล้วน่าจะมีถิ่นกำเนิดขึ้นที่นี่ ในวัฒนธรรมของชาวจ้วง ปกติแล้วชาวจ้วงใช้มโหระทึกเป็นเครื่องมือประกอบพิธีกรรมขอฝนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ หลักฐานเก่าแก่ปรากฏผ่านภาพเขียนรูปกลองบนหน้าผาหินสืบอายุไปได้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และทุกวันนี้ชาวจ้วงที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านยังคงมีมโหระทึกใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมขอฝนบูชากบเช่นบรรพบุรุษในทุกปี

ประวัติศาสตร์ไทย
ศิลปะบนภูเขาของชาวจ้วงโบราณมีอายุเก่าแก่ก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏเป็นภาพผู้คนกำลังใช้มโหระทึกประกอบพิธีกรรมขอความอุดมสมบูรณ์ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการเขียนภาพเหล่านี้ถูกสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
ภาพถ่ายโดย http://www.bradshawfoundation.com/china/huashan/gallery.php
ประวัติศาสตร์ไทย
ในมณฑลกว่างซีมีภูผาหลายแห่งที่เต็มไปด้วยภาพเขียนโบราณ แต่ภาพเขียนที่ “ผาลาย” ถือว่ามีขนาดใหญ่โต และสลับซับซ้อนมากที่สุด
https://skift.com/2016/08/05/the-newest-unesco-world-heritage-sites-you-can-easily-visit/

มโหระทึกเป็นวัฒนธรรมร่วมที่แพร่กระจายตั้งแต่ในกว่างซี ยูนนาน เวียดนาม มาจนถึงลุ่มแม่น้ำโขง และแม่น้ำปิงบ้านเรา ในเมืองไทยพบหลักฐานหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น เครื่องปั้นดินเผาในจังหวัดอุดรธานีที่เขียนรูปวงกลมรัศมีแฉกๆ แบบเดียวกับภาพเขียนมโหระทึกที่พบบนหน้าผาในกว่างซี หรือจะเป็นภาพเขียนที่กาญจนบุรีที่สะท้อนถึงพิธีกรรมขอฝนบูชากบ ร่องรอยเหล่านี้บอกเล่าว่าในอดีตชาวจ้วงกระจัดกระจายตั้งถิ่นฐานกันอยู่ในภาคใต้ของจีนปัจจุบัน และมีบางกลุ่มที่อพยพแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ แม้จะผสมปนเปเข้ากับชนพื้นเมือง แต่ผู้คนเหล่านี้ยังคงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมความเชื่อแบบไทไว้ ดังคำกล่าวของ หลุยส์ ฟิโนต์ อดีตผู้อำนวยการสำนักศึกษาของฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ จากสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตสถาน เล่มที่ 14 ซึ่งกล่าวไว้ว่า

“การเดินทางเคลื่อนที่ของเชื้อชาติไทยนั้น อ่อนนุ่ม และไหลเหมือนน้ำ แทรกซึมไปเรื่อย เปลี่ยนสีตามท้องฟ้า เปลี่ยนรูปไปตามความคดเคี้ยวของฝั่ง แต่ก็ยังรักษาไว้ซึ่งลักษณะสำคัญของชาติและภาษา ชนชาติไทได้แผ่ออกไปเหมือนผ้าผืนใหญ่มหึมา ปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ ตังเกี๋ย ลาว สยาม จนกระทั่งถึงพม่า และอัสสัม…”

การค้นพบเรื่องราว หลักฐาน และวัฒนธรรมของชาวจ้วงช่วยฉายภาพให้เห็นว่า แท้จริงอารยธรรมของชนชาติไทแห่งอุษาคเนย์มีที่มาตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปีก่อน เก่าแก่จนเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมแรกเริ่มของภูมิภาคเลยก็ว่าได้ ก่อนที่ผู้คนในดินแดนนี้จะรับเอาอารยธรรมจากจีนและอินเดีย

ประวัติศาสตร์ไทย
ตัวอย่างของมโหระทึก วัฒนธรรมที่พบได้แพร่หลายในภูมิภาคอุษาคเนย์ หล่อขึ้นจากสำริด ผู้คนโบราณนิยมใส่รูปลักษณ์ของ “กบ” เอาไว้บริเวณขอบของกลอง สื่อความหมายถึง “ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณจากฟ้าฝน”
ขอบคุณภาพจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai/2016/12/21/entry-1

 

ชาวจ้วงรุ่นใหม่

แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ชาวจ้วงไม่ใช่คนไทย ปัจจุบันพวกเขาคือพลเมืองของประเทศจีนที่อาศัยอยู่ในมณฑลกว่างซี แม้ชาวจ้วงจะเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีประชากรมากที่สุดในบรรดาชนกลุ่มน้อยในจีนทั้งหมด แต่ทุกวันนี้ชาวจ้วงกำลังเผชิญสถานการณ์เช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยทั่วโลก คือการกลืนกินทางวัฒนธรรม ด้วยความที่ถูกผนวกรวมเข้ากับประเทศจีนมานาน ทำให้ชาวจ้วงนิยมใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร เด็กชาวจ้วงรุ่นใหม่ไม่สามารถพูดภาษาจ้วงได้เช่นพ่อแม่ พวกเขารู้แค่เพียงภาษาจีนเท่านั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกับชาวอาหม ชาวไทอีกกลุ่มที่อพยพไปอาศัยอยู่ในรัฐอัสสัมของอินเดียเมื่อนานมาแล้ว ทุกวันนี้ภาษาอาหม ซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาตระกูลไทกะไดถูกคงไว้แค่ในบทสวดและพิธีกรรมเท่านั้น เพราะชาวอาหมหันมาพูดภาษาอัสสัมกันหมดในชีวิตประจำวัน

การประหัตประหารทางการเมือง, การขาดการอนุรักษ์ไปจนถึงโลกาภิวัฒน์ เหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้ความหลากหลายของภาษาชนกลุ่มน้อยกำลังตายลงเรื่อยๆ ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 20 รัฐบาลในหลายประเทศบังคับใช้ภาษาแก่ชนพื้นเมือง นับตั้งแต่ยุโรปเข้ามาตั้งรกรากในออสเตรเลียมีภาษาของชาวอะบอริจินสูญหายไปแล้วถึง 100 ภาษา และตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เมื่อจีนผนวกทิเบตเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนหลายสิบสำเนียงภาษาต้องล้มหายไป ทว่าหนึ่งในปัญหาใหญ่จริงๆ มาจากการที่ภาษานั้นๆ ไม่สามารถใช้อะไรในชีวิตประจำวันได้ต่างหาก เมื่อภาษาแม่ที่พูดกันในครอบครัว ไม่อาจช่วยหางานหรือใช้ในการศึกษาได้ จำนวนผู้พูดจึงลดน้อยถอยลงตาม

ทุกวันนี้ในเมืองกว่างซี ชาวจ้วงพูดภาษาจีน แต่งกายแบบสมัยใหม่ และใช้ชีวิตแทบไม่ต่างจากคนจีน จึงยากที่จะมองออกด้วยตาว่าใครคือชาวจ้วง และใครคือชาวฮั่น อย่างไรก็ดียังมีชาวจ้วงรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษาภาษาจ้วง และภาษาไทย โดยมองว่ารากเหง้าของพวกเขาคือวัฒนธรรมทรงคุณค่าที่คู่ควรแก่การอนุรักษ์ไว้

(ติดตามวิถีชีวิตของชาวจ้วงที่อาศัยอยู่ในสังคมเมืองผ่านรายการ Spirit of Asia ได้ที่นี่)

เรื่องราวของชาวจ้วงนับวันจะยิ่งเลือนราง คงเหลือไว้แค่เพียงความรู้สึกในหัวใจของคนรุ่นใหม่ หรือกระแสชาตินิยมจะตีกลับให้พวกเขาลุกขึ้นมารื้อฟื้นธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนใช้ภาษาจ้วงในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของอนาคตที่ยากจะตอบได้ อันที่จริงในประวัติศาสตร์ชาติไทยยังมีเรื่องราวของผู้คนอีกมากมายที่หล่นหายไป เพียงเพราะพวกเขาไม่ได้อาศัยอยู่ในภาคกลาง เช่น ชาวเหนือ ชาวอีสาน ชาวมลายู หรือแม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามา

เมื่อไม่มีที่ทางให้แก่พวกเขาเหล่านี้ เรื่องราวความเป็นมาของ “ชนชาติไท” นอกประวัติศาสตร์จึงจางหายไปด้วย ทั้งที่ในความเป็นจริง ในอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่นี้ ก่อนที่เส้นแบ่งเขตแดนจะถูกกำหนด ก่อนที่ภาษาหนึ่งในตระกูลไท-กะไดจะถูกกำหนดให้เป็นภาษาของชาติใดชาติหนึ่ง ก่อนที่สำนึกเรื่องชาตินิยมจะถูกปลูกฝัง อุษาคเนย์คือดินแดนของผู้คนที่ประกอบขึ้นจากความหลากหลาย การผสมปนเปของผู้คนเหล่านี้ส่งผลต่อวัฒนธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของเราที่หล่อหลอมให้ไทกลายมาเป็นไทยทั้งสิ้น ประวัติศาสตร์นอกบทเรียนของชนชาติไทนอกเหนือจากชาวจ้วงแล้วยังมีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ชาวอาหม บรรพบุรุษไทยในรัฐอัสสัม หรือชาวไทนุง ในเวียดนาม รากเหง้าอันเก่าแก่เหล่านี้ควรค่าแก่การศึกษาทั้งสิ้น และคงน่าเสียดายหากคำว่า “ไทย” จะมีเพียงความหมายเดียวแคบๆ แค่ชื่อของประเทศเท่านั้น

(บทเพลงสมัยใหม่ของชาวจ้วง สะท้อนให้เห็นรูปแบบของภาษาตระกูลไท-กะได เมื่อครั้งยังไม่ได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่น เช่นบาลี หรือสันสกฤต)

 

อ่านเพิ่มเติม

ผมก็เป็นอเมริกันคนหนึ่ง เสียงจากชาวญี่ปุ่นใน ค่ายกักกัน สหรัฐฯ

 

แหล่งข้อมูล

คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ความไม่ไทยของคนไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

กว่าจะรู้ค่าคนไท…ในอุษาคเนย์ โดย ธีรภาพ โลหิตกุล

ชาวจ้วง โดย หลี่ ฟู่ เซิน, ฉิน เซียน อาน, พาน ชิ ชือ และแปลโดย รัตนาพร เศรษฐกุล

อสุราอาหม โดย พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์

ชาวจ้วงในกวางสี พูด”ภาษาไทย” 3,000 ปีมาแล้ว

“จ้วง-ไทย รากเหง้าเดียวกัน”

 

Recommend