หลังจากพิษของสงครามอันยาวนานได้ฉุดรั้งเวียดนามให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก แต่สามทศวรรษให้หลัง เวียดนามกลายเป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญ เศรษฐกิจเวียดนาม พุ่งทะยานอย่างหยุดไม่อยู่ไปเสียแล้ว
เศรษฐกิจเวียดนาม เปรียบได้กับคนหนุ่มสาวที่กำลังเติบโตและมีความหวังว่าทุกสิ่งเป็นไปได้
หากเดินไปในกรุงฮานอยของเวียดนาม ก็จะพบว่ามีพลังงานที่ไร้ขีดจำกัดอยู่ทุกที่ ผู้คนมากมายขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ฉวัดเฉวียนบนถนนที่มีการซื้อขายทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่โทรศัพท์มือถือไปจนถึงอาหารในร้านขนาดเล็กนับไม่ถ้วน โดยพวกเขาล้วนเร่งรีบกันไปทำงานหรือเรียนหนังสือ
ในบรรยากาศเดียวกันนี้เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน เวียดนามคือหนึ่งประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้กลายมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางภายในระยะเวลาอันสั้นได้อย่างไร
หลังสงครามเวียดนามที่กินเวลานาน 20 ปี สิ้นสุดลงในปี 1975 รัฐบาลคอมมิวนิสต์เริ่มออกนโยบายวางแผนเศรษฐกิจจากศูนย์กลาง ช่วงกลางปี 1980 มูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ต่อหัวอยู่ที่ 200 – 300 ดอลลาร์สหรัฐ แน่นอนว่าในขณะนั้นยังไม่มีนโยบายเปิดรับทุนต่างชาติ จุดเปลี่ยนสำคัญของ เศรษฐกิจเวียดนาม เกิดขึ้นในปี 1986 รัฐบาลเวียดนามออกแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองชื่อว่าโด่ยเหม่ย (DoiMoi) อันหมายถึง บูรณะหรือดำเนินการใหม่ แผนปฏิรูปนี้เปลี่ยนเวียดนามให้กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม (a socialist-oriented market economy) และในปีเดียวกันก็ได้ออกกฎหมายให้การลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ
ทุกวันนี้เวียดนามคือดาวเด่นในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 6 – 7 ที่สามารถแข่งขันได้กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างประเทศจีน โดยมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศมีค่าเท่ากับมูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP)
คำถามมีอยู่ว่า การเติบโตราวกับปาฏิหาริย์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ธนาคารโลกและสถาบันคลังสมอง Brookings ของสหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์ไว้ว่า การผงาดขึ้นของเศรษฐกิจเวียดนามเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ หนึ่งการนำนโยยายการค้าเสรีมาใช้อย่างกระตือรือร้น ละทิ้งแนวคิดที่กิจการทุกอย่างเป็นของรัฐตามแบบประเทศคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม สอง การเปิดเสรีต่อโลกภายนอก พร้อมกับการปฏิรูปภายในประเทศโดยการผ่อนคลายกฎระเบียบและลดค่าใช้จ่ายในดำเนินการทางธุรกิจ สาม การลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์และทุนทางกายภาพผ่านการลงทุนภาครัฐ
การค้าเสรีเพื่อนำเงินเข้าประเทศ
ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้ทำข้อตกลงด้านการค้ากับกลุ่มประเทศที่มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ เช่นเมื่อปี 1995 เข้าร่วมเขตการค้าเสรีอาเซียน ปี 2000 ได้ลงนามข้อตกลงทางการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา จากนั้นได้เข้าร่วมองค์การการค้าโลก และเข้าร่วมกับข้อตกลงอาเซียนที่ตามมาด้วยจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น การมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจเหล่านี้ทำให้เวียดนามลดภาระภาษีศุลกากรในการนำเข้าและส่งออก อัตราการเข้ามาของการลงทุนจากต่างชาติและการจำหน่ายสินค้าเพื่อหารายได้เข้าประเทศจึงเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งยวด
เปิดเสรีสู่ภายนอก พร้อมปฏิรูปเศรษฐกิจภายใน
ในปี 1986 (ปีที่ออกแผนปฏิรูปโด่ยเหม่ย) เวียดนามออกกฎหมายอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนได้เป็นครั้งแรก สิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นของความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจของเวียดนาม
ในปี 2016 เวียดนามได้ปรับปรุงกฎหมายหลายครั้งโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุน และลดขั้นตอนทางราชการเพื่ออำนวยความสะดวกบริษัทต่างชาติให้เข้ามาตั้งธุรกิจได้ง่ายกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้ทำให้เวียดนามเป็นที่จับตามองในระดับนานาชาติมากขึ้น
ในรายงานความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกของสภาเศรษฐกิจโลก (The World Economic Forum’s Global Competitiveness Report) เวียดนามได้ไต่อันดับในหัวข้อนี้จากอันดับที่ 77 ในปี 2006 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 55 ในปี 2017 และในปีเดียวกันนี้ ธนาคารโลกกล่าวว่าความก้าวหน้าของเวียดนามนั้นเกิดจากการบังคับใช้สัญญาเพื่อเพิ่มการเข้าถึงเครดิตเงินทุน พลังงานไฟฟ้า การจ่ายภาษี และการค้าขายระหว่างชายแดน อีกทั้งยังมีการจัดการเงินทุนผ่านนโยบายที่ดี และรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามได้รับประกันถึงสภาวะการเมืองภายในที่มั่นคง การเปิดและปฏิรูปประเทศ และพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐบาลให้ดีขึ้น
ด้วยเหตุนี้เอง เวียดนามจึงกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการผลิตของบริษัทต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายบริษัท เช่น บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ บริษัทเครื่องแต่งกายที่มีชื่อเสียงจากทั้งยุโรปและอเมริกาก็ใช้บริการ Made in Vietnam หลายบริษัทด้วยกัน
สำนักข่าว The Financial Times ออกรายงานว่าในปี 2017 เวียดนามจะเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะเป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่อันดับสองรองจากประเทศสิงคโปร์ อาจกล่าวได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ชุดเครื่องกีฬาไปจนถึงโทรศัพท์สมาร์ตโฟนต่างผลิตในประเทศอาเซียนแห่งนี้
การลุงทุนอย่างยิ่งยวดในทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี
เวียดนามลงทุนในทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นอย่างมาก ในขณะที่บรรดาประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศกำลังเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และอัตราการเกิดที่ลดลง เวียดนามกลับมีการเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็ว ในจำนวนตัวเลขประชากร 95 ล้านคนของเวียดนาม เป็นคนที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีเกือบครึ่งหนึ่ง และค่าจ้างแรงงานหนุ่มสาวเหล่านี้มีอัตราต่ำ ประกอบกับอัตราการเกิดของคนรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงมีมาตรการลงทุนภาครัฐในด้านการศึกษาอย่างจริงจัง
ผลตอบแทนจากการลงทุนนี้คือคุณภาพของนักเรียนชาวเวียดนามนั้นอยู่ในอัตราที่สูง ผลการทดสอบในโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA ที่จัดทดสอบโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) อันเป็นการทดสอบศักยภาพด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ในปี 2015 เวียดนามอยู่อันดับที่ 8 จาก 72 ประเทศที่เข้าร่วม ซึ่งสูงกว่าประเทศในกลุ่ม OECD ที่พัฒนาแล้วอย่างเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์
นอกจากนี้ เวียดนามก็ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการสร้างการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในระดับมวลชนที่ราคาถูก และในขณะนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ได้มาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ดังนั้น การมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและสารสนเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยปัจจัยที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา การเติบโตทาง GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี และในปี 2017 ก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.8 ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นนี้ เวียดนามจึงเปลี่ยนจากประเทศที่เคยยากจนที่สุดในโลกมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างผาสุข ตัวเลข GDP ต่อหัวในปี 1985 อยู่ที่ 230 ดอลลาร์ ในปี 2017 ตัวเลขนี้พุ่งขึ้นไปถึง 2,343 ดอลลาร์ (ราวสิบเท่าของตัวเลขเดิม) เลยทีเดียว
ปัจจัยทางการเมืองที่ยังอยู่ในกรอบ
ในทางการเมือง เวียดนามมีสภาวะทางการเมืองที่มั่นคงอันเป็นผลมาจากการควบคุมที่เข้มงวดจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดนักลงทุน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามกลับสวนทางในเรื่องการเติบโตของสิทธิมนุษยชนและความเป็นส่วนตัวของพลเมือง และเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีดัชนีเสรีภาพสื่อต่ำที่สุดในโลก การใช้สื่อออนไลน์ของพลเมืองถูกตรวจตราอย่างเข้มงวด และเวียดนามไม่ต้อนรับบรรดานักสิทธิมนุษยชนเข้ามาประเทศ
สิ่งใดที่จะหยุดเวียดนามในการพุ่งทะยานนี้
เนื่องด้วยความมุ่งมาดปรารถนาของผู้คนมีที่ต่อภาวะโลกาภิวัตน์นั้นลดลงในหลายพื้นที่ของประเทศเวียดนาม จึงเกิดภาวะที่ไม่ค่อยมั่นคงในแง่มุมของเศรษฐกิจที่เป็นรูปแบบเฉพาะตัวของเวียดนาม สำนักข่าว The Financial Times ได้ออกรายงานว่า การส่งออกที่มีมูลค่ากว่าร้อยละ 99.2 ของจีดีพีเวียดนามนั้นการเกิดจากการลงทุนและการค้าของบริษัทต่างชาติ สิ่งนี้อาจเป็นตัวฉุดรั้งเวียดนามในฐานะประเทศในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ ในกรณีเกิดภาวะการแข็งค่าหรือความผันผวนของเงินตราต่างประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกายังดำเนินอยู่ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้จำกัดการนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากจีนซึ่งมีมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ ทำให้บริษัทที่มีฐานการผลิตในประเทศจีนพิจารณาย้ายไปยังเวียดนาม และถึงแม้ว่าเวียดนามอาจจะต้องพบเจอกับกระแสการปกป้องตัวเองจากประเทศตะวันตก เวียดนามก็จะยังพึ่งพาการเติบโตของชนชั้นกลางที่จะนำพาประเทศมาสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต
การเมืองมีเสถียรภาพ (และมุ่งปรับปรุงคุณภาพการบริหารอยู่เสมอ) นโยบายที่เปิดกว้างกับทุนต่างชาติ ประชากรแรงงานคุณภาพที่ราคาถูก และระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ เป็นแรงผลักดันให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตได้อย่างน่าภาคภูมิ
แต่อย่างไรก็ตาม เวียดนามก็ยังมีโจทย์ที่สำคัญว่า จะสามารถลดการพึ่งพาบริษัททุนต่างชาติและสร้างสรรค์อุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นด้วยตัวเองได้อย่างไร และถ้าหากเวียดนามยังคงรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นนี้ต่อไป ในอนาคต ภาพในกรุงฮานอยที่เต็มไปด้วยมอเตอร์ไซค์และร้านค้าขายขนาดเล็ก อาจกลับกลายเป็นรถยนต์รุ่นใหม่สมรรถนะดี มีห้างสรรพสินค้าใหญ่โตหลายแห่งตั้งเรียงราย พร้อมกับประชากรที่เดินขวักไขว่ในเมืองที่เติบโตอย่างมีคุณภาพในอาเซียนก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง
The story of Viet Nam’s economic miracle
Vietnam’s manufacturing miracle: Lessons for developing countries
Vietnam set to be next Asian growth miracle