ชีวิตที่จำจากจรของแรงงานอพยพ

ชีวิตที่จำจากจรของแรงงานอพยพ

การอพยพย้ายถิ่นเพื่อโอกาสที่ดีกว่า เป็นเรื่องเก่าแก่พอๆ กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่ในปัจจุบัน ดูเหมือนผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่นอกประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตนจะมีจำนวนมากกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา ผู้คนและเม็ดเงินมหาศาลถ่ายโอนข้ามแดนทุกวัน ชาติที่ด้อยทรัพยากรกว่าส่งพลเมืองชนชั้นแรงงานผู้ทะเยอทะยานของตนไปยังต่างประเทศ และพึ่งพาเม็ดเงินที่ไหลกลับเข้ามาแทนที่คนเหล่านั้น

“เงินส่งกลับบ้าน” (remittance) คือศัพท์ที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้เรียกเงินที่โอนจากบุคคลถึงครอบครัว ไม่ว่าจะผ่านบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ หรือนำส่งด้วยมือโดยใช้บริการไปรษณีย์ ปัจจุบันปริมาณเงินส่งกลับบ้านทั่วโลกรวมกันแล้วคือเม็ดเงินมหาศาลที่ไหลเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ในบรรดาประเทศที่มีผู้ส่งเงินออกซึ่งได้แก่ชาติที่รํ่ารวยที่สุด สหรัฐอเมริกาจัดอยู่ในอันดับสูงสุด แต่ไม่มีเมืองใดในโลกที่บรรจุแรงงานนานาชาติแห่งศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดอยู่ในพื้นที่โอ่อ่าหรูหราเพียงแห่งเดียวได้มากเท่ากับดูไบอีกแล้ว

แรงงานข้ามชาติ
แรงงานชั่วคราวชาวกานาที่เพิ่งมาถึงหมาดๆ คนนี้รับหน้าที่ “ทูตประจำสระว่ายนํ้า” โดยจะคอยเสิร์ฟเครื่องดื่มให้กับแขกที่สระว่ายน้าของโรงแรม ริตซ์ – คาร์ลตัน โรงแรมหรูระดับห้าดาวในดูไบ

เพียงก้าวเข้าสู่สนามบินนานาชาติอันใหญ่โตโอฬาร คุณจะเดินผ่าน แรงงานข้ามชาติ ที่ส่งเงินกลับประเทศอย่างเทเรซากับลูอิสนับร้อยๆ คน หญิงสาวที่กำลังเทเอสเปรสโซใส่แก้วในร้านสตาร์บัคส์เป็นคนฟิลิปปินส์หรือไม่ก็ไนจีเรีย พนักงานทำความสะอาดห้องนํ้าเป็นคนเนปาลหรือไม่ก็ซูดาน ส่วนคนขับแท็กซี่มาจากทางเหนือของปากีสถานหรือไม่ก็ศรีลังกา หรืออาจมาจากรัฐเกรละทางตอนใต้ของอินเดีย

แล้วตึกระฟ้านอกหน้าต่างแท็กซี่นั่นล่ะ ทุกตึกล้วนสร้างจากหยาดเหงื่อของแรงงานต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชายจากเอเชียใต้อย่างอินเดีย เนปาล ปากีสถาน และบังกลาเทศ ถ้าเป็นตอนกลางวัน รถโดยสารว่างเปล่าจะจอดอยู่ใต้ตึกระฟ้าที่กำลังก่อสร้าง เพื่อรอส่งคนงานตอนโพล้เพล้กลับไปยังบ้านพักคนงานที่แออัดเหมือนเรือนจำ

สภาพชีวิตแสนลำเค็ญของ แรงงานข้ามชาติ พบเห็นได้ทั่วโลก แต่ทุกสิ่งในดูไบล้วนหวือหวาเกินจริง ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของนครแห่งนี้เพิ่งเปิดฉากขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมานี้เอง หลังมีการค้นพบนํ้ามันในอาบูดาบีที่อยู่ใกล้กัน ซึ่งตอนนั้นยังเป็นดินแดนปกครองโดยชีคที่เป็นอิสระจากกัน

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สถาปนาขึ้นเมื่อปี 1971 โดยมีสถานะเป็นสหพันธรัฐ ประกอบด้วยหกรัฐที่ปกครองโดยชีค (รัฐที่เจ็ดเข้าร่วมในปีถัดมา) และเนื่องจากดูไบมีนํ้ามันค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ ราชวงศ์ผู้ปกครอง เมืองจึงนำส่วนแบ่งที่ได้จากความมั่งคั่งใหม่ของประเทศมาใช้ในการแปลงโฉมเมืองการค้าเล็กๆแห่งนี้ให้กลายเป็นเมืองหลวงแห่งการค้าที่โลกต้องตะลึง

ดูเหมือนผู้นำที่อยู่เบื้องหลังการเนรมิตดูไบยุคใหม่ได้ตัดสินใจแล้วว่า นครอันน่าตื่นตาแห่งนี้จะก่อร่างสร้างขึ้นและขับเคลื่อนด้วยแรงงานต่างชาติ เพราะมีชาวเอมิเรตส์น้อยคนนักที่ยอมทำงานประเภทนี้ ทำไมประเทศเศรษฐีใหม่จะต้องให้ประชากรวัยผู้ใหญ่ของตนเสิร์ฟอาหารหรือเทปูนท่ามกลางความร้อน 48 องศาเซลเซียสด้วยเล่า ในเมื่อพวกเขารํ่ารวยพอที่จะเชื้อเชิญคนนอกให้มาทำงานเหล่านี้แทนได้

แรงงานข้ามชาติ
ภาพของชีคมุฮัมมัด บิน รอชิด อัล มักตูม เจ้าผู้ครองนครดูไบซึ่งสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือด ตั้งเด่นอยู่ด้านหลังเคาน์เตอร์ร้านขายคัปเค้กในห้างสรรพสินค้าใหญ่โตห้างหนึ่งของดูไบ ความที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน ทั้งทำงาน กินอาหาร และจับจ่ายใช้สอย ภาษาหลักของเมืองนี้จึงเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาอาหรับ

เรื่องนี้ก็เช่นกันที่พวกเขาทำอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูจากผู้คน 2.1 ล้านคนในดูไบ มีเพียงหนึ่งในสิบคนเท่านั้นที่เป็นชาวเอมิเรตส์ ส่วนที่เหลือเป็นประชากรหยิบยืมจากต่างชาติที่เข้ามาทำงานตามสัญญาจ้างชั่วคราวโดยรู้ดีว่าพวกเขาไม่มีวันได้รับสัญชาติเอมิเรตส์

สังคมที่แรงงานเหล่านี้อาศัยอยู่มีการแบ่งแยกลำดับชั้นอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่เชื้อชาติ เพศ ชนชั้น ประเทศบ้านเกิด ไปจนถึงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ

ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆในแถบอ่าวเปอร์เซียที่ปัจจุบันต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ในดูไบ คนทำงานระดับผู้เชี่ยวชาญและผู้จัดการส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป อเมริกัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา พูดรวมๆก็คือคนขาวซึ่งส่วนใหญ่ทำ เงินได้มากเกินกว่าจะเรียกว่าเป็นแรงงานส่งเงินกลับประเทศ เงินเดือนของพวกเขาสูงพอที่จะพาครอบครัวมาอยู่ด้วยและอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์หรูหราระฟ้าหรือไม่ก็คฤหาสน์ล้อมรอบด้วยสวนสวย

ขณะที่แรงงานส่งเงินกลับประเทศอื่นๆทำอาหารและดูแลลูกๆของคนเหล่านี้อีกทอดหนึ่ง พวกเขายังกวาดถนนหนทาง เป็นพนักงานตามห้างสรรพสินค้า จัดยาตามใบสั่งแพทย์ในร้านขายยา และสร้างตึกระฟ้าท่ามกลางแสงแดดแผดเผา และเป็นผู้ที่ทำให้ดูไบขับเคลื่อนไปข้างหน้า ระหว่างนั้นก็ส่งเงินกลับบ้านที่อยู่แสนไกล

(อ่านต่อหน้า 3)

Recommend