ชีวิตที่จำจากจรของแรงงานอพยพ

ชีวิตที่จำจากจรของแรงงานอพยพ

ในเมืองแห่งแรงงานต่างชาติ เรื่องราวที่ได้ยินบ่อยที่สุด คือ เหตุผลที่เรามาอยู่ที่นี่ หรือผู้คนที่เราจากมา ซึ่งบ่อยครั้งก็คือเรื่องเดียวกัน ลูกสาวฉัน สามีฉัน พ่อแม่ฉัน หรือน้องชายฉันซึ่งยังอยู่ที่หมู่บ้านและฉันกลัวว่าเขากำลังติดยา เพราะว่าฉันอยากให้น้องชายคนที่ว่านี้เรียนถึงมัธยมปลาย… เพราะแม้พวกเราผู้ชายแปดคนจะอยู่รวมกันในห้องขนาดสำหรับสี่คน แต่นายจ้างก็ออกค่าที่พักให้ ทำให้ผมมีเงินส่งกลับบ้านมากขึ้น… เพราะผมประหยัดค่าเช่าบ้านได้โดยแบ่งห้องเช่ากัน หรือกระทั่งแบ่งเตียงนอนกันด้วย โดยคนงานกะกลางวันกับกะกลางคืนจะผลัดกันนอนบนเตียงเดียวกัน… หรือเพราะภรรยาผมท้องและเราเป็นห่วงอนาคตของลูก…

ในกรุงมะนิลา มีหลายย่านที่หน้าต่างร้านรวงเกือบทุกร้านติดป้ายประกาศจูงใจให้ออกเดินทาง ซาอุดีอาระเบียรับพนักงานทำแซนด์วิช 30 ตำแหน่ง ฮ่องกงรับแม่บ้าน 150 ตำแหน่ง ดูไบรับพี่เลี้ยงสนามเด็กเล่น พนักงานบรรจุผัก คนงานปูกระเบื้อง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าว ภารโรงหญิง (หน้าตาดี) นักแกะสลักนํ้าแข็ง/ผลไม้ ประกาศรับสมัครงานเหล่านี้ดึงดูดให้ชาวฟิลิปปินส์ละถิ่นฐานไปยังจุดหมายปลายทางทั่วทุกมุมโลก

ตอนที่ลูอิสยังเป็นเด็ก พ่อของเขาทำงานเป็นช่างเชื่อมในดูไบ และไม่ได้ย้ายกลับมาอีกเลยตั้งแต่นั้น ปัจจุบัน ลูอิสผู้พ่อกลับมาเยี่ยมบ้านเฉพาะระหว่างลาพักงานสองปีหนเพื่อมาอยู่ร่วมกับผู้หญิงซึ่งยังเป็นภรรยาเขาอยู่ (กฎหมายฟิลิปปินส์ไม่อนุญาตให้หย่าร้าง) ลูอิสกับพี่น้องอีกสี่คนเติบโตโดยคุ้นเคยกับการไม่มีพ่อ  พวกเขาเกลียดสภาพนั้น “เราจะไปส่งพ่อที่สนามบิน  ทุกคนจะต้องกอดและจูบพ่อ นั่นเป็นส่วนที่แย่ที่สุดครับ ทุกคนร้องไห้” ลูอิสเล่าให้ฉันฟัง

แรงงานข้ามชาติ
ป้ายโฆษณาในฟิลิปปินส์ให้ภาพฝันอันบรรเจิดเว็บไซต์ของบริษัทบ้านจัดสรรรายหนึ่งที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นแรงงานที่กลับบ้าน บอกว่าโครงการของพวกเขาทำ ให้ชาวฟิลิปปินส์ “มีเหตุผลดีที่สุดที่จะกลับบ้าน”

เช่นเดียวกับหลายชาติที่เผชิญปัญหาความยากจนเรื้อรัง ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการจากลาเหล่านี้ พวกเขามีชื่อเรียกเป็นอักษรย่ออย่างเป็นทางการ ซึ่งบ่อยครั้งใช้ควบคู่กับคำสรรเสริญการเสียสละอันกล้าหาญเพื่อประเทศชาติและครอบครัว ชื่อที่ว่านี้คือ โอเอฟดับเบิลยูเอส (OFWs ย่อมาจาก Overseas Filipino Workers) หรือแรงงานชาวฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ  ศูนย์โอเอฟดับเบิลยูที่ตั้งขึ้นเป็นพิเศษกินพื้นที่ส่วนหนึ่งของสนามบินนานาชาติในกรุงมะนิลา และมีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยคอยดูแลแรงงานเหล่านี้อยู่ทั่วประเทศ

ลูอิสยังจำเงินก้อนแรกที่เขาส่งกลับมาฟิลิปปินส์หลังจากทำงานที่ดูไบได้ไม่กี่สัปดาห์ เป็นเงิน 350 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบเท่าค่าแรงเก่าของเขารวมกันสามเดือน เขาส่งเงินให้แม่โดยตรงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน แม้จะเหงาจนแทบสิ้นหวัง แต่เขาก็หาเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เขามีพ่อเป็นเพื่อน หลังจากนั้นไม่นาน น้องชายชื่อโทมัส ก็ถอดใจกับฟิลิปปินส์และเดินทางมาดูไบด้วย โดยทิ้งภรรยากับลูกสาวคนหนึ่งไว้ข้างหลัง

นักข่าวและกลุ่มสิทธิมนุษยชนรายงานถึงความทุกข์ยากของแรงงานข้ามชาติอยู่เนืองๆ ตั้งแต่เรื่องเงินค่าจ้างค้างชำระ อันตรายในที่ทำงาน สภาพความเป็นอยู่ที่ยํ่าแย่ ไปจนถึงการยึดหนังสือเดินทางไว้อย่างผิดกฎหมาย

แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทำให้การรายงานเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย องค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งถึงกับโดนห้ามไม่ให้เข้ามาทำงานที่นี่ ขณะที่สื่อมวลชนในประเทศจะเขียนข่าวอย่างระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความไม่พอใจให้เจ้าหน้าที่ทางการแรงงานข้ามชาติ

แรงงานข้ามชาติ
ในแต่ละปี มีชาวฟิลิปปินส์ที่ได้งานในต่างประเทศเป็นคนทำงานบ้านหรือแม่บ้านตามโรงแรมเพิ่มขึ้นมากกว่า 100,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่จำ ต้องทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลัง แรงงานหลายคนที่รองานอยู่อย่างมีความหวัง เข้ารับการฝึกอบรมศิลปะการจัดเตียงที่หน่วยงานรัฐบาลสนับสนุน (บน) ส่วนคนอื่นๆ ฝึกหัดการดูแลเด็กกับตุ๊กตาพลาสติกเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นพี่เลี้ยงเด็ก พวกเธอหวังว่าจะได้งาน ที่สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย

คนที่ถือหางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แก้ต่างว่าประเทศนี้ยังคงเป็นชาติที่เป็นมิตรกับแรงงานต่างชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งในอ่าวเปอร์เซีย ที่นี่ผู้หญิงจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ มีสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นมุสลิมมากมายหลายแห่ง และถนนหนทางก็จัดว่าปลอดภัย

“เมืองใหญ่ทั่วโลกก็มีปัญหาแบบนี้ทั้งนั้นแหละครับ” อับดุลคอลีก อับดุลลอฮ์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่เกษียณแล้วบอกฉัน “เมืองเหล่านั้นล้วนสร้างขึ้นโดยคนงานต่างชาติและแรงงานราคาถูก ดูไบโอบอุ้มโลกาภิวัตน์ทั้งในแง่ดีที่สุดและแย่ที่สุด ส่วนที่ดีที่สุดคือ เมืองนี้มีขันติธรรมต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา ให้อิสระ และเปิดกว้าง แต่ก็มีความทุกข์ยากอยู่มากเช่นกัน มีคนจนมากมาย อีกทั้งการเอารัดเอาเปรียบ คุณอยากมองในแง่ไหนล่ะครับ แบบมองโลกในแง่ดี หรือมองโลกในแง่ร้าย ผมเองมักจะมองจากทั้งสองด้านครับ”

มาตรการที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นำมาใช้ควบคุมแรงงานต่างชาติให้อยู่ในโอวาทอย่างได้ผลชะงัด คือการขู่ว่าจะส่งกลับประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าพวกคุณคนงานต่างชาติไม่สำนึกบุญคุณและสร้างปัญหาที่นี่ เราจะส่งพวกคุณกลับไปใช้ชีวิตจนๆ ที่บ้านเกิดที่พวกคุณจากมาทันที นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศที่นำเข้าแรงงานทุกประเทศในโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย

นอกจากนี้ ผู้คนทั้งที่ดูไบและฟิลิปปินส์ยังคอยเตือนฉันเสมอว่า แรงงานส่งเงินกลับประเทศเดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองเพราะพวกเขาตัดสินใจเลือกเอง

(อ่านต่อหน้า 4)

Recommend