10 ข้อเท็จจริงที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับ อะลาดิน

10 ข้อเท็จจริงที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับ อะลาดิน

วิล สมิธ แสดงเป็นยักษ์จินนีที่มีพลังพิเศษแต่รู้สึกอึดอัดรำคาญพื้นที่อาศัยของตนในภาพยนตร์รีเมค อะลาดิน (2019) ภาพถ่ายโดย TCD/PROD.DB, ALAMY


บรรดานักชมภาพยนตร์ต่างตื่นเต้นเมื่อภาพยนตร์ อะลาดิน ฉบับคนแสดงออกฉาย แต่ยังมีความจริงเบื้องหลังของนิทานเรื่องนี้ที่น่าตกตะลึง หรืออาจรบกวนใจ

ในปี 1992 ค่ายภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ได้สร้างภาพยนตร์ยอดฮิตที่ทำให้ผู้คนตกหลุมรักหนุ่มกำพร้าที่เป็นเหมือน “เพชรในโคลนตม” ผู้เดินทางด้วยพรมที่บินได้ ยักษ์จินนีที่มีพลังมากมาย และเจ้าหญิงที่มีความเป็นตัวของตัวเอง

แต่เรื่องราวในแบบที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์นั้น ตรงกับเรื่องเล่าต้นฉบับมากเพียงไร

นี่คือข้อเท็จจริงเปรียบเทียบ 10 ข้อ ของเนื้อหาที่ปรากฏในภาพยนตร์กับเรื่องเล่าดั้งเดิม

1. อะลาดินเป็นเพียงนิทานเรื่องหนึ่งใน 1,001 เรื่อง

เรื่อง อะลาดิน เป็นเพียงนิทานย่อยเรื่องหนึ่งของนิทานโบราณที่ชื่อว่า อาหรับราตรี หรือพันหนึ่งราตรี (A Thousand and One Nights) นิทานเรื่องนี้เล่าเรื่องบุตรสาวของขุนนางชั้นสูง นามว่า เชเฮราซาด ผู้แต่งงานกับ สุลต่านชาร์ยาร์ กษัตริย์ผู้ก่อนหน้านี้ได้สั่งประหารภรรยาของตนจำนวนมากหลังจากแต่งงานและเป็นเจ้าสาวได้เพียงหนึ่งคืนเท่านั้น เนื่องจากพระองค์มีความจงเกลียดจงชังผู้หญิง เพราะอดีตภรรยาคนหนึ่งได้ไปมีชายชู้ และทิ้งพระองค์ไป

ดังนั้น เพื่อรักษาชีวิตของเธอ เชเฮราชาดได้เล่านิทานให้สุลต่านผู้นี้ฟังในคืนหลังจากแต่งงาน แต่ไม่ได้เล่าจนจบ และสัญญาว่าจะเล่าต่อให้จบในคืนถัดไป ซึ่งเป็นเช่นนี้คืนแล้วคืนเล่า เรื่องเล่าที่น่าตื่นเต้นเหล่านี้ทำให้สุลต่านเลื่อนการประหารชีวิตเชเฮราชาดออกไปเรื่อยๆ เพราะอยากฟังเรื่องส่วนที่เหลือให้จบ และในคืนที่ 1,001 สุลต่านตัดสินใจล้มเลิกการประหารชีวิตเธอ เพราะตกหลุมรักเธอเสียแล้ว

อะลาดิน
เชเรฮาซาดหลอกล่อสามีของเธอด้วยนิทานก่อนนอน พันหนึ่งราตรี หรืออาหรับราตรี (A Thousand and One Nights) ภาพวาดโดย LEBRECHT MUSIC & ARTS, ALAMY

2. ชื่อเรื่อง อาหรับราตรี ที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากอาหรับ

ย้อนกลับไปเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่สิบ เรื่องเล่าทั้งหลายมีต้นกำเนิดมาจากทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา อาราบิก เตอร์กิช เปอร์เซีย อินเดีย และเอเชียตะวันออก ใน ค.ศ. 947 นักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับ Al-Masudi อธิบายว่า นี่เป็นเรื่องเล่าที่มาจากทั่วทุกมุมโลกยุคโบราณ ซึ่งเขาเรียกว่า Persian Hazar afsana (เรื่องราว 1000 เรื่อง) ซึ่งได้มีการเล่าต่อ และตีความกันใหม่มาเป็นเวลานับร้อยปี

ในปี 1712 นักวิชาการชาวฝรั่งเศส Antoine Galland ได้แปลนิทานเรื่องอาหรับราตรีจากภาษาอาหรับเป็นภาษาฝรั่งเศส และเขาได้เพิ่มนิทานเรื่องใหม่ๆ ที่ชาวซีเรียคนหนึ่ง นามว่า Hanna Diyab จากเมืองอะแลปโป เป็นผู้เล่าให้เขาฟัง โดย “อะลาดินกับตะเกียงวิเศษ” เป็นหนึ่งในนิทานเรื่องใหม่นี้

3. อะลาดินไม่ได้มาจากเมืองอัคราบาห์ (Agrabah)

ในฉบับแปลภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษโดย Richard Burton ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เล่าว่า อะลาดินอาศัยอยู่ในเมืองหนึ่งที่ประเทศจีน และนิยายฉบับนี้ก็บรรยายภาพของเขาว่าเป็นคนจีน ทั้งประเทศฉากหลังและเชื้อชาติตัวละครเริ่มเปลี่ยนมาเป็นตะวันออกกลาง เมื่อนิทานเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ

4. อะลาดินอาศัยอยู่กับแม่ของเขา

ข้อแตกต่างสำคัญอย่างหนึ่งในเรื่องเล่าต้นฉบับคือ อะลาดินนั้นไม่ได้เป็นหนุ่มกำพร้า พ่อของเขาเป็นช่างตัดเสื้อและเสียชีวิตไปแล้ว แต่แม่ของเขาซึ่งเป็นแม่ม่าย ยังมีชีวิตอยู่ และแม่ของเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ถูตะเกียงเพื่อปลดปล่อยยักษ์จินนีออกมาเช่นกัน

5. อะลาดินนั้นไม่ได้เป็น “เพชรน้ำดีในโคลนตม”

ในเรื่องเล่าฉบับแอนิเมชัน อะลาดินเป็นคนฉลาด เจ้าปัญญา และมีความจงรักภักดี แต่ถูกเหยียดหยามเพราะเขาเป็นชายยากจน แต่ในเรื่องเล่าฉบับของ Richard Burton อะลาดินเป็นคนตื้นเขิน ขี้เกียจ ตระหนี่ และถูกชักจูงด้วยภาพลวงแห่งความร่ำรวย พ่อของเขาเสียชีวิตลงเพราะอะลาดินปฏิเสธที่จะเรียนวิชาค้าขาย

อะลาดิน
โรบิน วิลเลียม ได้สร้างการแสดงที่โดดเด่นในบทบาทของ ยักษ์จินนี ในภาพยนตร์แอนิชัน อะลาดิน เมื่อปี 1992 อนุเคราะห์ภาพโดย COURTESY AF SRCHIVE, ALAMY

6. ยักษ์จินนี่มี 2 ตน

อะลาดินได้ใช้งานยักษ์จินนี 2 ตน ซึ่งได้มาช่วยเหลือเขาในเรื่องอาหรับราตรี ตนหนึ่งนั้นอยู่ในตะเกียง อีกตนอยู่ในแหวนวิเศษ ยักษ์ทั้งสองตนมาช่วยเหลืออะลาดินในจุดที่ต่างกันในเรื่อง มอบพรวิเศษให้ และช่วยอะลาดินในสถานการณ์ที่ลำบาก

7. ในเรื่องนั้นมีตัวร้าย 3 คน

เรื่องเล่าฉบับดิสนีย์ อะลาดินต้องเผชิญหน้ากับตัวร้ายอย่างขุนนาง จาฟาร์ แต่ในเรื่องเล่าต้นฉบับนั้นมีผู้ร้าย 3 คน คนแรกคือนักเวทย์ชั่วร้ายผู้แปลงกายเป็นลุงของอะลาดินที่หายสาบสูญไปนาน เพื่อหลอกให้อะลาดินเอาตะเกียงให้ คนที่สองคือน้องชายของนักเวทย์ที่ชั่วร้ายยิ่งกว่า และคนที่สาม คือลูกชายของขุนนางผู้เป็นคู่แข่งความรักของอะลาดินที่มีต่อเจ้าหญิง

8. เจ้าหญิงนั้นหมั้นอยู่ก่อนที่จะมาเจอกับอะลาดิน

หลังจากอะลาดินได้เห็นใบหน้าของลูกสาวสุลต่านนามว่า Badr al-Budur (ไม่ใช่เจ้าหญิงจัสมิน) เขาได้ติดตามเธอโดยการใช้วิธีอวดความร่ำรวยกับบิดาของเธอ สุลต่านรับของขวัญของอะลาดินมา แต่ก็ให้ลูกสาวแต่งงานกับลูกชายของขุนนางที่หมั้นหมายไว้แล้วเหมือนเดิม

9. มีพรมากกว่า 3 ประการ

หลังจาก Badr al-Budur ไม่ได้แต่งงาน อะลาดินก็เริ่มเกี้ยวพาราสีเธออย่างจริงจัง โดยใช้พรหลายประการจากยักษ์จินนีเพื่อทำให้เธอและพ่อของเธอนั้นลุ่มหลงไปกับทองคำ อัญมณี พระราชวังอันหรูหรา คนรับใช้ กองทหาร และม้าพันธุ์ดี หลังจากทั้งคู่ได้แต่งงานกัน ก็ยังมีการใช้พรเหล่านั้นต่อไป ทั้งทรัพย์สินและความมั่งคั่งของอะลาดินก็เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ

10. มี “ภาคต่อ” ออกมา

เช่นเดียวกับเรื่องเล่าชั้นดีโดยทั่วไป อะลาดินก็มีเรื่องเล่าภาคสองเช่นกัน หลังจากอะลาดินและ Badr al-Budur ได้สังหารนักเวทย์ผู้ชั่วร้าย (ด้วยวิธีการล่อลวง วางยาพิษ และแทงจนถึงแก่ชีวิต) ทั้งสองคนก็ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในประเทศจีนเรื่อยมา จนกระทั่งน้องชายของนักเวทย์ที่ถูกสังหารไปเดินทางไปที่จีนเพื่อแก้แค้น

เรื่องโดย MANAL KHAN


อ่านเพิ่มเติม ทอยสตอรี จากแอนิเมชันชื่อดังสู่โรงแรมแนวแฟนตาซี

Recommend