ชีวิตที่จำต้องเลือกของ แรงงาน ชาวพม่าในไทย

ชีวิตที่จำต้องเลือกของ แรงงาน ชาวพม่าในไทย

จาก แรงงาน ต่างด้าวถึงผู้หนีภัยสงคราม แรงงานพม่า หลายแสนคนต้องพลัดพรากจากแผ่นดินเกิด เมื่อความหวังเริ่มทอประกาย พวกเขาต่างรอคอยวันหวนคืนสู่มาตุภูมิ

เรื่อง ลำไผ่ อินตะเทพ

ภาพถ่าย สิทธิชัย จิตตะทัต

ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2556

ภาพปก สภาพภายในอาคารที่พักของ แรงงานพม่า ในตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นชุมชนแรงงานพม่าที่ใหญ่และหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย แรงงานเหล่านี้อาศัยรวมกันในสภาพแออัดทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและเหลือเงินไว้สำหรับจ่ายค่านายหน้าและค่าเอกสารอีกสารพัด

นอกจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่ว่ากันว่ามีถึง 135 กลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งแต่พม่า มอญ กะเหรี่ยง ยะไข่ ไทใหญ่ ไปจนถึงพม่ามุสลิมหรือโรฮิงยา สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่ายังเป็นแดนดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดดินแดนหนึ่งในภูมิภาค ทว่าประชาชนในประเทศกลับได้รับอานิสงส์จากความเพียบพร้อมดังกล่าวเพียงกระผีกริ้น ผนวกกับบทเรียนราคาแพงจากยุครัฐบาลทหารอันยาวนาน ประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้ง เช่น การฉีกสนธิสัญญาปางโหลง และเหตุการณ์นองเลือด 8888 (จากการเรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนการนักศึกษาซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988) ตลอดจนการปฏิเสธบทบาทพรรคการเมืองฝ่ายค้าน สงครามยืดเยื้อกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย ความยากจนอัตคัดแทบทุกพื้นที่ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ยังคงเป็นปัจจัยผลักดันชาวพม่ากว่าล้านคนให้เดินทางมาสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยไม่ขาดสาย ณ สยามเมืองยิ้มที่มักพรากรอยยิ้มไปจากผู้มาเยือน

แรงงานพม่า, เรือประมง
ลูกเรือประมงชาวพม่ากำลังนั่งพักรอเวลาผลัดเปลี่ยนกะ แม้อุตสาหกรรมประมงในประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานจำ นวนมาก แต่คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะปฏิเสธงานนี้ เพราะเป็นงานหนัก เสี่ยงอันตราย และได้ค่าตอบแทนตํ่าอาชีพแรงงานประมงจึงถูกยึดครองโดยแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนใหญ่

แรงงานพม่า

“ทำไมมาไทยน่ะหรือ อยู่พม่ามีหวังคงอดตาย” นายวิน (นามสมมุติ) อายุ 30 ปี ตอบคำถามเราเป็นภาษาพม่าผ่านล่าม เขานั่งเหยียดขา มือทั้งสองยันพื้นห้อง ขณะพักผ่อนด้วยการดูทีวีในห้องพักขนาดเท่ารูหนูกับเพื่อนร่วมห้องอีกสองคนผู้ปิดปากเงียบ ผิวกายของเขาหยาบกร้าน สีหน้าและแววตาดูอิดโรย สันนิษฐานว่าคงเหนื่อยล้าจากการแบกลังอาหารทะเลตั้งแต่เช้ามืด

วินทำงานในเมืองไทยมานานกว่า 3 ปีแล้ว ได้ค่าแรงวันละ 200 บาท มีแต่ขาด ไม่มีเกิน ” จริงๆก็ไม่อยากมาหรอก อยู่เมืองไทยไม่สนุก ห้องก็แคบ” เขาเล่า พลางชี้ไปรอบๆ ห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ซอยแบ่งด้วยไม้กระดานบางๆ เป็นห้องเช่าชั้นละ 3-4 ห้อง ค่าเช่าห้องตกพันต้นๆ ต่อเดือนสำหรับกล่องสี่เหลี่ยมไร้หน้าต่าง แถมมีกลิ่นอับชื้น ความมืด และแมลงสาบวิ่งไปมาให้ดูเล่น

วินเล่าต่อว่า นอกจากค่าห้องและค่าอาหารแล้ว เขายังต้องจ่ายค่าปรับให้ตำรวจด้วยข้อหาสารพัด เหลือเงินเท่าไรก็จะโอนหรือฝากเพื่อนไปให้ครอบครัวที่พม่า ถ้าขยันหน่อยก็ทำงานล่วงเวลา ได้เพิ่มอีก 30 บาท แต่พวกเขามักเหนื่อยล้าเกินกว่าจะทำได้

“พม่าดีขึ้นก็จริง แต่ยังไม่แน่หรอก ต้องรอดูก่อน ถ้าดีจริงก็จะกลับ” เขาบอก “ทุกคนรอเวลาที่จะได้กลับบ้านทั้งนั้นแหละ” เพื่อนร่วมห้องคนหนึ่งพูดโพล่งขึ้นมา ก่อนหันหน้ากลับไปยังจอทีวี ขณะที่อีกคนยังคงนั่งนิ่งไม่แสดงความเห็น ไม่แม้แต่ชายตามองมายังเรา

แรงงานพม่า, กะเหรี่ยง
พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบบ้านแม่หละ ตั้งอยู่บริเวณพรมแดนไทย-พม่า อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก พื้นที่พักพิงแห่งนี้ถือว่าใหญ่ที่สุดจากทั้งหมดเก้าแห่งในประเทศไทย โดยผู้พักพิงส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง หลายคนใช้ชีวิตในฐานะผู้พักพิงมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ในจำนวนนี้ยังมีเด็กๆ ที่เกิดและเติบโตขึ้นในพื้นที่พักพิงด้วย

ประเทศไทยเป็นทั้งจุดหมายปลายทางและทางผ่านสำหรับแรงงานพม่า บางคนเลือกมาอยู่ด้วยเหตุผลที่ว่าทั้งสองประเทศเป็นเพื่อนบ้านกันมาเนิ่นนาน เดินทางไปมาหาสู่กันง่าย (ไทยกับพม่ามีอาณาเขตติดต่อกันตั้งแต่เหนือจรดใต้เป็นระยะทางรวมกันมากกว่า 2,000 กิโลเมตร) บางคนบอกว่าหางานง่าย บางคนว่าทุกสิ่งรอบตัว ที่นี่ล้วนดูคุ้นเคย

พวกเขากำลังพูดถึงชุมชนตลาดกุ้งมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร อาคารพาณิชย์สภาพทรุดโทรมสูง 4-5 ชั้นเรียงรายกันกว่า 30 คูหาตลอดความยาวสามช่วงตึก ชั้นล่างบางห้องเปิดเป็นร้านโชห่วย ขายสินค้าที่หาซื้อไม่ได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป ตั้งแต่ท่อนไม้ทานาคา แป้งทานาคา ดินสอพอง โสร่ง เครื่องแกง แม้กระทั่งพัดลม

ที่นี่คลาคลํ่าไปด้วยผู้คนจากทั่วทุกสารทิศของพม่า ตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดงไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ ทั้งที่รู้จักกันและไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อน เข้าประเทศมาอย่างถูกกฎหมายบ้าง ลักลอบเข้ามาบ้าง หลายคนอยู่ที่นี่มาเกือบสิบปี หลายคนเพิ่งมาได้ไม่กี่วัน

พวกเขาจำต้องพํานักอยู่ใต้ชายคาเดียวกันอย่างแออัด ร้อยรัดด้วยสายสัมพันธ์เดียวที่มีร่วมกัน คือ สัญชาติพม่า

ด้วยทางเลือกที่มีจำกัด พวกเขาจำต้องพำนักอยู่ใต้ชายคาเดียวกันอย่างแออัด ร้อยรัดด้วยสายสัมพันธ์เดียวที่มีร่วมกัน คือสัญชาติพม่า จนที่นี่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมียนมาร์ทาวน์” หรือย่างกุ้งประจำ ประเทศไทย พอตกเย็น ผู้ใหญ่นั่งจับกลุ่มคุยกัน เด็กหนุ่มเตะตะกร้อ เด็กเล็กวิ่งไล่จับ แม้ว่าเราจะมากับมิน ทูน ล่ามชาวพม่าที่ยิ้มทักทายและแวะสนทนากับผู้คนที่นี่อย่างสนิทชิดเชื้อ สายตาเกือบทุกคู่กลับจับจ้องคนแปลกหน้าอย่างเราทุกย่างก้าว ราวกับว่าพวกเขามีความลับที่ต้องปกปิดซ่อนเร้นไม่อยากให้ล่วงรู้  “พวกเขาแค่ระวังตัวน่ะคุณ เขารู้ว่าใครเป็นคนแปลกหน้า” มิน ทูน กล่าว

(อ่านต่อหน้า 2)

Recommend