ชีวิตที่จำต้องเลือกของ แรงงาน ชาวพม่าในไทย

ชีวิตที่จำต้องเลือกของ แรงงาน ชาวพม่าในไทย

ผู้หนีภัยแห่งการประหัตประหาร

นอกจากชาวพม่าจะแห่แหนมาประเทศไทยในฐานะแรงงานข้ามชาติแล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาด้วยเหตุผลอื่น นอกจากความยากจนข้นแค้น พวกเขาตกเป็นเหยื่อของความกระหายอำนาจ เงินทอง และความขัดแย้งที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น แต่กลับต้อง
ละทิ้งแผ่นดินถิ่นฐานของตนเอง แล้วระเหเร่ร่อนเอาชีวิตรอดในต่างแดนในฐานะผู้หนีภัยจากการสู้รบ

“ชาติพันธุ์มอญ” เคยมีราชธานีที่ยิ่งใหญ่ในอุษาคเณย์ แต่ด้วยภัยแห่งการประหัตประหาร พวกเขากลายเป็นชนชาติที่ไร้ประเทศ ไม่ปรากฏชื่อในแผนที่โลก เชื่อกันว่าชาวมอญอพยพมายังประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

การสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนชาติมอญผลักดันให้คนมอญต้องระเห็จออกจากมาตุภูมิ หนีภัยสงครามไปยังประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งไทย แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ ค.ศ. 1951 ที่ระบุไว้ว่า ผู้ลี้ภัยคือผู้ที่หลบหนีออกจากประเทศตนด้วยความหวาดกลัว ที่มีมูลว่าจะถูกประหัตประหาร ด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติสัญชาติ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง และการเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมใดกลุ่มสังคมหนึ่ง โดยไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะได้รับความคุ้มครองจากรัฐแห่งสัญชาติตนเนื่องด้วยความหวาดกลัวนั้น

ฉะนั้น คนมอญกลุ่มดังกล่าวจึงไม่ได้มีสถานภาพของผู้ลี้ภัย แต่มีสถานะเป็นเพียงผู้หนีภัยจากการสู้รบ ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า หรือผู้หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า

แรงงานพม่า
สมเกียรติ เอ่าจี่มิด (ล่าง ตรงกลาง) อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเกือบ 20 ปี เขาจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยในเมืองไทย และปัจจุบันทำงานให้คำแนะนำ เกี่ยวกับอนาคตทางการศึกษาของแรงงานพม่า

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการอพยพของชาวมอญมีสาเหตุแบบต่างกรรมต่างวาระ หลายคนเข้ามาเพราะหนีภัยสงคราม หลายคนประสบปัญหาปากท้อง พวกเขากระจายตัวอยู่ตามภาคต่างๆของไทย โดยเฉพาะเมืองเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่ที่อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน เห็นจะเป็นที่ชุมชนชาวมอญพลัดถิ่นวังกะ (วังกะ เป็นภาษามอญแปลว่า วังปลา หรือวังขนาดใหญ่ที่มีปลาอยู่ชุกชุม) ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่นี่มีชาวมอญพลัดถิ่นกว่า 20,000 คนที่อาศัยอยู่รวมกันมานานหลายทศวรรษ

“เราไม่ใช่พม่า” กะต้าวมอญ หรือมอญชัย ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมมอญ ณ ชุมชนชาวมอญพลัดถิ่นวังกะ ยืนยันหนักแน่น ความเป็นชาตินิยมยังคงเป็นเรื่องเปราะบางสำหรับคนกลุ่มนี้เสมอ เขาขยายความให้เราฟังด้วยคำ พูดก่นแค้นว่า พม่าขโมยศิลปวัฒนธรรม และภาษามอญไปใช้ แม้ว่าคนมอญจะไม่มีประเทศแล้ว แต่ก็มีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง

“พวกเรารักษาวัฒนธรรม เพื่อแสดงความมีตัวตนเอาไว้”

แรงงานพม่า, นักเรียนพม่า
เด็กชาวพม่าภายในศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตชายแดนไทย-พม่า ที่ชุมชนบ้านปากคลอง จังหวัดระนอง ได้รับการส่งเสริมด้านการศึกษาภายใต้การสนับสนุนจากหลายองค์กร เพื่อให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญไทย

กว่าจะถึงวันนั้น…ชีวิตต้องดำเนินต่อไป

เรากลับไปยังชุมชนตลาดกุ้งสมุทรสาครอีกครั้ง ทุกอย่างดูครึกครื้นเหมือนเดิม ร้านขายหมากยังคงได้รับความนิยมกว่าร้านค้าอื่นๆ เราได้รับการต้อนรับด้วยสายตาหวาดระแวงระคนสงสัยจากผู้คนที่นี่เช่นเคย

จากนั้น เราก็เข้าไปที่มูลนิธิแอลพีเอ็น ที่นั่นยังคงเป็นสถานที่ที่เราสามารถพบเหยื่อธุรกิจค้าพม่าหน้าใหม่ๆ โดยไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า แม้สถานการณ์ด้านต่างๆ ในพม่าจะมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น กระนั้นความโลภยังคงไม่ไว้หน้าใครเช่นเคย…

“ผมถูกตำรวจจับครับ ทั้งๆที่เอกสารก็มีครบ” คือคำร้องทุกข์จากปากของเหยื่อรายล่าสุด


อ่านเพิ่มเติม ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายที่ชุมชนเมงตาสุและโมงติสุ เมืองมัณฑะเลย์ : ร่องรอยเชลย ไทยสมัยอยุธยา

Recommend